ในฐานะที่ได้ติดตามอ่านคำพิพากษาคดีโกง (ฉบับเต็ม)มาพอสมควร ขอเรียนว่า คดีสินบนบ้านเอื้ออาทรที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาไปแล้วนั้น นับเป็นคดีที่ปรากฏพยานหลักฐานแน่นหนาที่สุด ละเอียดชัดเจน และสะท้อนภาพ “โคตรโกง”อย่างอุกอาจที่สุดอีกหนึ่งคดี
คงน่าเสียดาย และเสียประโยชน์ หากสังคมไม่ได้ “ตระหนักรู้” ไว้เป็นเครื่องเตือนสติ
1. น่าชื่นชมผู้เกี่ยวข้องอย่างยิ่ง เพราะรายละเอียดพยาน หลักฐาน เกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบน หรือค่าตอบแทน หรือค่าหัวคิว แลกกับการได้รับโควตาบ้านเอื้ออาทรนั้น เนื้อหาส่วนใหญ่ยังไม่เคยถูกเปิดเผยสู่สาธารณะเลย
กระทั่งนักการเมืองบางคน นำไปกล่าวอ้างฟอกตัวดิสเครดิตในทางคดี ทำนองว่าไม่มีหลักฐานเอาผิดบ้าง สอบสวนคดีมานับสิบปีไม่พบหลักฐานบ้าง ถูกกลั่นแกล้งใส่ร้ายบ้าง
แต่สุดท้าย หลักฐานข้อมูลจริงทั้งหลายมาปรากฏอยู่ในคำพิพากษาโดยละเอียด โจ่งแจ้ง ล่อนจ้อน
2. ในคำพิพากษาคดีสินบนบ้านเอื้ออาทร คดีหมายเลขดำที่ อม.42/2561 คดีหมายเลขแดงที่อม.15/2563
ขอสรุปให้ฟังง่ายๆ เอาเฉพาะส่วนที่เป็นข้อมูล พยาน หลักฐาน อันเกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินสินบน หรือค่าตอบแทน หรือค่าหัวคิว เส้นทางสินบนที่ผู้ประกอบการเอกชนได้จ่ายแก่เสี่ยเปี๋ยงและลูกน้อง
ปรากฏทั้งหมด 11 กรณี ตัวอย่างบางกรณี เช่น
(1) กรณีบริษัท พ.
ได้รับอนุมัติจำนวนหน่วยก่อสร้าง 7,500 หน่วย ได้เงินล่วงหน้าจากการเคหะแห่งชาติ 11.23% จำนวนเงิน 353,750,000 บาท
เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัท ได้รับคำสั่งจัดทำใบสั่งจ่ายเงินจำนวน 82.5 ล้านบาท ลงบัญชีเป็นรายจ่ายต้องห้าม ต่อมาบริษัท สั่งจ่ายเช็คเงินสด 11 ฉบับรวมเป็นเงิน 18.75 ล้านบาท และสั่งจ่ายเช็คเงินสดอีก 34 ฉบับ เป็นเงิน 63.75 ล้านบาท เช็คดังกล่าวนำไปเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีลูกน้องเสี่ยเปี๋ยง จากนั้นมีการโอนเงินเข้าบัญชีเสี่ยเปี๋ยงและบริษัทของเสี่ยเปี๋ยง รวมเป็นเงิน 82.5 ล้านบาท
(2) กรณีบริษัท พ. (มหาชน)
ผู้บริหารบริษัทเบิกความยืนยันว่า เดิมบริษัทขอจัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทร แต่ไม่ได้รับอนุมัติ หลังจากนั้น ได้ติดต่อกับเอกชนด้วยกันหลายราย บริษัทเหล่านั้นแนะนำให้ไปติดต่อเสี่ยเปี๋ยง เมื่อไปพบเสี่ยเปี๋ยง เสี่ยเปี๋ยงรับปากจะช่วย โดยคิดค่าใช้จ่ายในการผลักดันเป็นรายโครงการ โดยจะต้องชำระหลังได้รับอนุมัติโครงการ
เมื่อได้รับอนุมัติ 40,000 หน่วย จึงขอเบิกเงินล่วงหน้า งวดแรก 420 ล้านบาท งวดที่สอง 420 ล้านบาท และงวดที่สาม 840 ล้านบาท รวมเงินล่วงหน้า 1,680 ล้านบาท
หลังได้รับเงินล่วงหน้างวดแรก ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงโทรมาตามทวงเงินตามที่ตกลงไว้ จึงสั่งจ่ายเช็คเงินสด 3 ครั้ง ครั้งที่หนึ่งสั่งจ่ายเช็คเงินสด 8 ฉบับ ฉบับละ 10 ล้านบาท รวม 80 ล้านบาท ครั้งที่สอง สั่งจ่ายเช็คเงินสด 11 ฉบับ ฉบับละ 10 ล้านบาท รวม 110 ล้านบาท และครั้งที่สามอีก 7 ฉบับ รวม 73.33 ล้านบาท (6 ฉบับฉบับละ 10 ล้านบาท และอีกหนึ่งฉบับ 13.33 ล้านบาท)รวมเช็ค 26 ฉบับ 263.33 ล้านบาท นำไปมอบให้เสี่ยเปี๋ยง เช็คดังกล่าวมีการเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของลูกน้องเสี่ยเปี๋ยง 172 ล้านบาท ที่เหลือโอนเข้าบัญชีชื่อบุคคลอื่น
(3) กรณีกิจการร่วมค้า พ.
ผู้บริหารกิจการร่วมค้าฯ ให้การยืนยันว่า ได้เข้าร่วมประชุมผู้ประกอบการรายใหญ่กับนักการเมือง นักการเมืองแจ้งว่า บริษัทที่ประสงค์เข้าโครงการจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอัตราหน่วยละ 11,000 บาท
หลังจากนั้น ได้รับแจ้งให้ติดต่อเสี่ยเปี๋ยงให้ดำเนินการเรื่องนี้
ต่อมา ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงแจ้งว่า การเคหะฯ อนุมัติโครงการที่ยื่นไว้แล้ว รวมจำนวน 14,537 หน่วย กิจการร่วมค้า พ.ได้รับเงินล่วงหน้าจากการเคหะฯ หลายครั้ง ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงโทรมาทวงถามเงินตามที่ตกลงไว้ จึงสั่งจ่ายเช็คเงินสดลงวันที่ 22 ก.พ.2549 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 55 ล้านบาท และเช็คเงินสดลงวันที่ 2 มี.ค.2549 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 6.457 ล้านบาท และยังให้ลูกสาวเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คเงินสดลงวันที่ 7 เม.ย.2549 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 55 ล้านบาท และสั่งจ่ายเช็คเงินสดลงวันที่ 20 ก.ค.2549 จำนวน 33 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 149.457 ล้านบาท
โดยนำเช็คดังกล่าวไปมอบให้ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงจากนั้นมีการนำเช็คไปเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงและโอนต่อไปบางส่วน
(4) กรณีกิจการร่วมค้า อ.
ยื่นข้อเสนอจัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทร 4,000 หน่วย เป็นโครงการรังสิตคลองเก้า 1,360 หน่วย และโครงการพัทยา (หนองปรือ) 2,051 หน่วย ได้ทราบว่าหากจะให้โครงการได้รับอนุมัติจะต้องติดต่อเสี่ยเปี๋ยงผู้บริหารจึงได้ไปพบเสี่ยเปี๋ยง จากนั้นลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงเป็นผู้ประสานงานและต่อรองค่าใช้จ่ายจากหน่วยละ 10,000 บาท เป็นหน่วยละ 9,000 บาท เมื่อตกลงค่าใช้จ่ายได้แล้ว ก็ได้รับอนุมัติ 4,000 หน่วย ต่อมา ได้รับอนุมัติเบิกเงินล่วงหน้าจากการเคหะฯ 84 ล้านบาท แต่ก่อนจะได้รับเงินล่วงหน้าลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงได้เร่งรัดขอเงินจำนวนแรกก่อน ผู้บริหารจึงเดินทางไปพบลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงที่โรงแรมและมอบเงิน 4 ล้านบาท
หลังจากนั้น การเคหะฯ จ่ายเงินล่วงหน้า 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 จำนวน 83.215 ล้านบาท และครั้งที่ 2 จำนวน 80.275 ล้านบาท เมื่อได้รับเงินล่วงหน้าแต่ละจำนวนแล้ว ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงคนเดิมจะตามทวงเงินส่วนที่เหลือหลายครั้ง
วันที่ 4 พ.ค. สั่งจ่ายเช็คเงินสด 10.3 ล้านบาท แล้วนำไปมอบให้เสี่ยเปี๋ยง เช็คดังกล่าวนำไปเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงแล้วถอนเงินสดไปเข้าบัญชีบริษัทของเสี่ยเปี๋ยง
สำหรับเงินส่วนที่เหลือเมื่อได้รับเงินล่วงหน้าแล้ว ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงคนเดิมก็เร่งรัดให้รีบชำระให้ครบถ้วนตามที่ตกลง จึงได้ให้ภรรยาออกเช็คเงินสด ลงวันที่ 7 ก.ค.2549 จำนวน 21.63 ล้านบาท แล้วนำไปมอบให้ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงคนเดิม
(5) กรณีบริษัทไชน่า สเตทฯ (ประเทศไทย)
ผู้จัดการโครงการของบริษัท ยืนยันว่า ได้ยื่นเสนอโครงการบ้านเอื้ออาทรต่อการเคหะฯ ต่อมา ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงโทรศัพท์ติดต่อ แล้วจากนั้นได้มาพบที่บริษัท ขอค่าใช้จ่ายในการผลักดันโครงการร้อยละ 3 ต่อหน่วย หลังจากนั้น ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมบริษัทและเห็นว่าเป็นอัตราที่สูงเกินไป จึงให้ต่อรองไม่เกินอัตราร้อยละ 2.5 ต่อหน่วย จากนั้น จึงติดต่ออีกหลายครั้ง จนเมื่อบริษัทได้เข้าทำสัญญา 30,000 หน่วย ในการอนุมัติเบิกเงินล่วงหน้าเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2548 นักการเมืองพิจารณาจำนวนเงินล่วงหน้าให้แก่บริษัทจำนวนแรกเป็นเงิน 210 ล้านบาทโดยบริษัทได้ขอเบิกเงินล่วงหน้า 5 ครั้ง หลังจากนั้น การเคหะฯ จ่ายเงินล่วงหน้ารวมจำนวน 1,470 ล้านบาท
ทุกครั้งลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงจะโทรแจ้งให้ทราบก่อนว่าการเคหะฯ อนุมัติจ่ายเงินล่วงหน้าแล้ว ให้เตรียมรับเงิน กับให้จ่ายเงินตามที่ตกลงกันไว้
เมื่อบริษัทได้รับเงินล่วงหน้าแล้ว จึงได้สั่งจ่ายเช็คเงินสด จำนวน 8 ฉบับ รวมเป็นเงิน 301 ล้านบาท มอบให้ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยง เช็คดังกล่าวนำไปเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงอีกคน
(6) กรณีบริษัทไชน่า หัวฟงฯ (ประเทศไทย)
ผู้บริหารบริษัทให้การยืนยันว่า เคยยื่นโครงการแต่ไม่ได้รับการอนุมัติ ต่อมาทราบจากผู้ประกอบการรายอื่นว่า หากจะยื่นใหม่ให้ติดต่อเสี่ยเปี๋ยง จึงจะได้รับอนุมัติจากนั้นให้ที่ปรึกษาไปพบเสี่ยเปี๋ยงรับปากจะผลักดันโครงการโดยคิดค่าใช้จ่ายเป็นเงินหน่วยละ 10,000 บาท ต่อมา การเคหะฯอนุมัติรับซื้อ 1 โครงการ คือ โครงการสมุทรสาคร 2 (คลองสี่วาพาสวัสดิ์) รวม 1,244 หน่วย ทำสัญญาจริง 1,228 หน่วย ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงเจ้าเก่าโทรทวงถามให้ชำระเงิน บริษัทจึงสั่งจ่ายเช็ค 11 ฉบับรวมเป็นเงิน 13.480 ล้านบาท แล้วนำไปมอบให้ลูกน้องเสี่ยเปี๋ยง
ต่อมา บริษัทยังจ่ายเช็คเงินสด ลงวันที่ 29 ก.ย. 2549 จำนวน 89 ล้านบาท
(7) กรณีบริษัท ซ. และบริษัท น.
ทั้งสองบริษัทได้ทำสัญญาร่วมทุนเพื่อดำเนินการค้าเกี่ยวกับโครงการบ้านเอื้ออาทร ได้รับอนุมัติ 6,500 หน่วย
ได้รับเงินล่วงหน้าจากการเคหะฯ สองครั้งครั้งที่หนึ่ง 137 ล้านบาท และครั้งที่สอง 136 ล้านบาท
รวมเงินล่วงหน้า 273 ล้านบาท
หลังได้รับเงินล่วงหน้า ได้สั่งจ่ายเช็คเงินสด2 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 10 เม.ย.2549 35.75 ล้านบาทฉบับที่สอง ลงวันที่ 19 เม.ย. 2549 จำนวน 35.75ล้านบาท รวมเป็นเงิน 71.5 ล้านบาท เช็คดังกล่าวมีการนำไปเรียกเก็บเข้าบัญชีลูกน้องเสี่ยเปี๋ยง ฯลฯ
ในคำพิพากษาคดีสินบนบ้านเอื้ออาทรดังกล่าว มีกรณีระบุถึงเส้นทางสินบน ตลอดจนขั้นตอนการเจรจาและการจ่ายเงินค่าตอบแทน หรือค่าสินบน หรือค่าหัวคิว เพื่อแลกกับการได้รับอนุมัติเข้าทำสัญญา และได้เงินล่วงหน้าจากการเคหะฯ รวมทั้งสิ้น 11 กรณี
เนื่องจากคดียังไม่ถึงที่สุด จึงขอสงวนชื่อจริงของผู้เกี่ยวข้อง (แต่ผู้อ่านสามารถอ่านคำพิพากษาฉบับเต็มได้ในเว็บไซต์ของศาลฎีกาฯ ซึ่งเปิดเผยข้อมูลจริงทั้งหมด)
ปรากฏรายละเอียด ขั้นตอน ตัวบุคคล สถานที่ สอดรับกับการจ่ายเช็คเงินสด โจ่งแจ้งแดงแจ๋
นอกจากนี้ ยังมีการระบุชัดเจนว่า นักการเมืองมีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดดังกล่าวด้วยอย่างไร มีรายละเอียดเป็นขั้นเป็นตอน และสอดคล้องเชื่อมโยงกัน มีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำเป็นขบวนการอย่างมีระบบอย่างไร แม้จะไม่ปรากฏว่าได้รับเงินสินบนโดยตรงก็ตาม
3. คดียังไม่จบ
คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทรนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา จำคุกนักการเมือง และเอกชน 6 ราย
นักการเมือง อดีตรัฐมนตรี พม. ถูกพิพากษาจำคุก 50 ปี
เสี่ยเปี๋ยง จำคุก 50 ปี และลูกน้องเสี่ยเปี๋ยงก็ต้องโทษจำคุกลดหลั่นกันลงไป
นอกจากนี้ ยังพิพากษาให้ริบทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดกว่า 1,323 ล้านบาท
ขณะนี้ คดียังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากจำเลยยังขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์คดีต่อไป
4. เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ทางรอดคนโกง
น่าเสียดาย... การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ย่อมจะตามมาด้วยการยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และกฎหมายประกอบอื่นๆ
ซึ่งหากไม่มีการรับรองให้การดำเนินคดีและคำพิพากษาต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม ย่อมมีผลทำลายล้าง ตลอดจนยกเลิกการลงโทษบุคคลที่ถูกศาลพิพากษาในคดีทุจริตตามกฎหมาย ป.ป.ช.ที่ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการสอบสวนและฟ้องคดีต่อศาลไปก่อนหน้านี้
หรืออย่างน้อย ย่อมเป็นการ “เปิดช่องทาง” ให้ผู้กระทำผิดได้หยิบยกขึ้นต่อสู้ในเชิงเทคนิค
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี