เมื่อวาน 10 ธันวาคม 2563 เป็นวันครบรอบ 88 ปี ของ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกหรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญรวมจำนวนทั้งสิ้น 20 ฉบับ นับตั้งแต่พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 จนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน การจัดทำรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับนี้ มีทั้งบุคคลคนเดียวเป็นผู้จัดทำหรือเป็นมันสมองหลัก คณะบุคคลร่วมกันร่าง ไปจนถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภานิติบัญญัติและสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ในระยะแรก ผู้มีบทบาทในการจัดทำรัฐธรรมนูญจะมาจากกลุ่มชนชั้นนำชนชั้นปกครองหรือผู้มีอำนาจในเวลานั้น เช่น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม(ปรีดี พนมยงค์) ผู้เป็นมันสมองในการจัดทำ ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ส่วนคณะบุคคลที่ร่วมกันเป็นมันสมองร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ก็มี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา(ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และอนุกรรมการอีก 8 คน คือ พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี พระยามานวราชเสวี พระยานิติศาสตรไพศาล พระยาปรีดานฤเบศร์ พระยาศรีวิสารวาจา พระยาราชวังสัน หลวงสินาดโยธารักษ์และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
ขณะที่ รัฐธรรมนูญฉบับต่อมา คือรัฐธรรมนูญ ปี 2489 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็ถือกำเนิดมาจากคณะผู้ร่างที่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย นำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ท่านอาจารย์ปรีดี พยมยงค์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเมื่อต่อมาท่านอาจารย์ปรีดี ต้องลาออกจากตำแหน่งนี้เพื่อไปเป็นนายกรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการก็ได้เลือก พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) เป็นประธานกรรมาธิการแทน
จารีตการจัดทำรัฐธรรมนูญไทยได้เริ่มขยายพื้นที่จากการถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนคนสามัญบ้างเมื่อมีการจัดทำ รัฐธรรมนูญ ปี 2492 ด้วยการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรก ประกอบไปด้วยสมาชิก 40 คน โดยมาจากสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้เลือกจากสมาชิกวุฒิสภา 10 คน จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 10 คน และจากผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญอีก 20 คน
สภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 นี้มี เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และมี ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย เป็นเลขาธิการสภาร่างรัฐธรรมนูญการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 นี้ได้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนประกอบการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรก
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ปี 2475 ถึงปัจจุบัน มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งหมด 4 ครั้งคือ
สภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2491 ที่จัดทำ รัฐธรรมนูญปี 2492
สภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2502 ที่จัดทำ รัฐธรรมนูญปี 2511
สภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2539 ที่จัดทำ รัฐธรรมนูญปี 2540
สภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2549 ที่จัดทำ รัฐธรรมนูญปี 2550
สภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2502 เป็นผลพวงของการรัฐประหารในปี 2500 และ 2501 อันนำมาซึ่ง ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2502 ที่บัญญัติไว้ว่า “ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีฐานะเป็นรัฐสภา ทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย” และ “สภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยสมาชิกจำนวน สองร้อยสี่สิบคน ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง”
ในยุคเผด็จการครองเมืองช่วงนี้สภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2502 ใช้เวลาเกือบสิบกว่าปีในการจัดทำให้ได้มาซึ่ง รัฐธรรมนูญปี 2511 โดยมี พลเอกสุทธิ์ สุทธิสารรณกร เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ และ นายทวี บุญเกตุ เป็นรองประธานสภาคนที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นำมาซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2517 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่แสดงความเป็นประชาธิปไตยสูง ผู้คนสรรเสริญและชื่นชมเช่นเดียวกับ รัฐธรรมนูญปี 2489 โดย ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมี ศาสตราจารย์ประกอบ หุตะสิงห์ รองนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานศาลฎีกาเป็นประธานและมีศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม ปรมาจารย์ผู้สอนกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญอีกชั้นหนึ่ง แต่ก็เป็นที่น่าเสียดาย รัฐธรรมนูญปี 2517 กลับมีอายุเพียงแค่ประมาณสองปี เมื่อมีการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
นับตั้งแต่ปี 2519 คณะบุคคลผู้มีบทบาทในการจัดทำรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ยังคงเป็นนักกฎหมายจากกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยเริ่มมีอาจารย์มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในสายนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์สอดแทรกเข้ามาบ้าง
เช่น ภายหลังการทำรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 คณะทหารที่รวมตัวกันทำรัฐประหารในนามของคณะปฏิวัติที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เจ้าเก่า ก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อร่าง ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย 2520 ขึ้นใช้แทนรัฐธรรมนูญเป็นการชั่วคราว คณะกรรมการชุดนี้มี ศ.ดร.สมภพ โหตระกิตย์ เป็นประธาน และ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำหน้าที่เลขานุการของคณะกรรมการ โดยมาตรา 9 ของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อร่าง รัฐธรรมนูญปี 2521
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2521 มี ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ เป็นประธาน นายมีชัย ฤชุพันธุ์
และนายอักขราทร จุฬารัตน์ เป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการตามลำดับโดยมีอาจารย์ทางรัฐศาสตร์ อย่าง ศ.ดร.กระมล ทองธรรมชาติ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่าง ศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม และ ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมอยู่ในคณะกรรมาธิการชุดนี้ด้วย (ยังมีต่อ)
ดร.ธิติ สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี