เมื่อกล่าวถึง “ประชาธิปไตยในสถาบันอุดมศึกษา” ผมรู้สึกว่าในสถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบันถูกครอบงำด้วยอำนาจบริหารในลักษณะเบ็ดเสร็จทางความคิด ทำให้ “ประชาธิปไตยในสถาบันอุดมศึกษาบิดเบี้ยว”เพราะกลุ่มบุคคลที่อ้างประชาธิปไตยในอุดมศึกษาเสียงข้างมาก ก็มีส่วนที่ทำให้ประชาธิปไตยบิดเบี้ยว โดยใช้เสียงข้างมากออกกฎระเบียบหรือใช้ความคิดครอบงำ ผ่านสภาขององค์กร เพื่อตนเองและใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเอง บริหารสถาบันอุดมศึกษาในรูปแบบเอกชน “นิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน” ไม่ใช่รูปแบบ “นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน” กลายเป็น “เผด็จการทางความคิด” คือ ฝ่ายสภาสถาบันกับฝ่ายบริหารสถาบันเป็นพวกเดียวกัน การบริหารแบบนี้ไม่ค่อยจะถูกต้องนัก
สำหรับผมสถาบันอุดมศึกษาต้องเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณลักษณะของความเป็นประชาธิปไตยที่ดี ประกอบด้วย 6 ประการที่สำคัญ ดังนี้
ประการที่ 1“การมีศรัทธาในความสามารถของบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา” ในสติปัญญา การรู้จักใช้เหตุผล การยึดหลักเหตุผลด้วยวิธีการทดสอบค้นหาแบบวิทยาศาสตร์ ตลอดจนมองบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาในแง่ดีว่าสามารถร่วมมือกันทำงานเพื่อความสุขส่วนรวมได้ ภายใต้แนวคิด positive thinking (การคิดเชิงบวก)ไม่ใช่มองกลุ่มบุคคลที่เห็นแย้งเป็นกลุ่มบุคคลที่ทำร้ายหรือทำลายองค์กร กลายเป็นคู่ขัดแย้งที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้พ้นหรือไล่ออกจากองค์กร ซึ่งการกระทำเหล่านี้ ก่อให้เกิดปัญหาฟ้องร้องคดี จบที่ศาลอยู่ร่ำไป
ประการที่ 2 “การมีความเชื่อในความเป็นอิสระและเสรีภาพของบุคลากร” สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกแสดงความคิดเห็น การพูด เขียนพิมพ์ โฆษณา การเผยแพร่การประชุม การรวมกลุ่ม ในสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่เดือดร้อนบุคคลอื่นดังนั้นสภาคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ จึงมีความสำคัญต่อการเรียกร้องและการเชื่อมระหว่างบุคลากรกับสภาสถาบันและผู้บริหารสถาบัน แต่อย่างไรก็ตามถ้าสภาคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่มาจากเลือกของบุคลากรยอมเป็นเครื่องมือของผู้บริหารสถาบันการมีความเชื่อในความเป็นอิสระและเสรีภาพของบุคลากรก็จะไม่เกิดขึ้นได้หรือเกิดได้ยากลำบาก
ประการที่ 3 “การยอมรับให้ความเท่าเทียมกันของคนตามกฎหมายและทางการศึกษา” ทุกคนได้รับการปฏิบัติจากผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษา ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายโดยเท่าเทียมกันและมีสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และโอกาสต่างๆ ที่จะปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่แบ่งแยกพรรคพวก กลุ่ม คณะ สาขา/ภาควิชา เพศหรือฐานะทางเศรษฐกิจของบุคลากร
4. “การมีส่วนร่วมของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา” อำนาจสูงสุดในการบริหารสถาบันอุดมศึกษา ในการตัดสินปัญหาของสถาบันอุดมศึกษาอยู่ที่ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาที่บุคลากรมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้บริหารไปบริหารสถาบันอุดมศึกษาและมีส่วนร่วมการตัดสินใจในการบริหารงานในสถาบันอุดมศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม
5.“การใช้อำนาจอันชอบธรรมของผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาโดยมีสภาสถาบันทำหน้าที่ถ่วงดุลการใช้อำนาจผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา”มิใช่เป็นการใช้อำนาจที่สนับสนุนจากสภาสถาบันก่อให้เกิดการกระทำที่ลุแก่อำนาจเป็น “การกระทำตามอำเภอใจ” ในการออกกฎระเบียบ ข้อบังคับที่เอื้ออำนวยต่อพวกพ้องโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม รวมไปถึงการกระทำที่เรียกรับผลประโยชน์ในอนาคต เช่น เป็นกรรมการสภาสถาบัน เป็นผู้เลือกผู้บริหารสถาบัน (อธิการบดี) ลาออกจากสภาสถาบันมาเป็นผู้บริหารสถาบัน(รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสำนัก) ซึ่งเป็นการกระทำที่มีส่วนได้เสียและขัดกันแห่งผลประโยชน์ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลเป็นอย่างมาก หรือ แม้กระทั่งการใช้อำนาจที่ฟาดฟัน เช่น ไล่ออกโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดหรือใช้อำนาจต่อรองให้สยบยอมเป็นพวกของตนโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น
6.“สิทธิที่คัดค้านและโต้แย้งของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา” ผู้บริหารต้องยอมรับเปิดกว้าง ไม่ใช่เห็นต่างแล้ว กลับใช้วาจาหรือคำพูดเสียดสี ทิ่มแทงกัน แทนที่จะหาเหตุผลโต้แย้ง ที่สร้างสรรค์ในการพัฒนาองค์กร องค์กรไม่ใช่เป็นของพวกท่าน แต่เป็นของทุกคนที่อยู่ในองค์กร
คุณลักษณะประชาธิปไตยในสถาบันอุดมศึกษา6 ประการข้างต้น ผมหวังว่าผู้บริหารสถาบันและสภาสถาบันอุดมศึกษา รวมไปถึงตัวแทนสภาคณาจารย์และเจ้าหน้าที่คำนึงและเคารพปฏิบัติตาม กฎหมายกฎระเบียบ ข้อบังคับที่ถูกต้องชอบธรรมภายใต้หลักนิติรัฐ(Legal State) และหลักนิติธรรม (The Rule of Law)ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่ควรเป็นต้นแบบหรือเป็นตัวอย่างที่ดีกับการมีประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์ส่วนรวม“ประชาธิปไตยในสถาบันอุดมศึกษาที่บิดเบี้ยว” อ้างประชาธิปไตยในอุดมศึกษาเสียงข้างมากออกกฎระเบียบหรือใช้ความคิดครอบงำและใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเองผ่านสภาสถาบันอุดมศึกษา ก็จะหมดไปในสถาบันอุดมศึกษา
รองศาสตราจารย์ สิทธิกร ศักดิ์แสง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี