“ผมคิดว่าจริงๆ แล้วเมืองไทยมีคนที่พร้อมจะช่วยคนจนไม่น้อยนะ แต่ว่ามันไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ได้แต่เดาๆ เอา แล้วก็ที่ช่วยไปบางทีก็ไม่ได้ช่วยคนจน ส่วนคนจนแท้ๆ ไม่อยู่ในสำรวจ แต่มันก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรามีข้อมูลที่มันชัดขึ้นอย่างที่เรามาทำ 7 เดือน”
คำกล่าวของ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ในงานแถลงข่าวผลการดำเนินงานและทิศทางการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม“พลังของข้อมูลระดับพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างสร้างสรรค์” เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งในงานดังกล่าวมีการเปิดตัว “ฐานข้อมูลคนจน” ที่ดำเนินโครงการสำรวจมาได้ระยะหนึ่ง
มุมมองข้างต้นของ รมว.อว. ดูจะไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก บ่อยครั้งที่มีข่าวผู้คนตกทุกข์ได้ยากไม่ว่าในประเทศหรือไกลถึงต่างแดน ในเวลาไม่นานธารน้ำใจจากชาวไทยจะหลั่งไหลไปถึงผ่านการระดมบริจาคเงินและสิ่งของจำเป็น แต่ถึงกระนั้น คำถามหนึ่งที่ตามมาเสมอคือ “เราช่วยถูกคนหรือเปล่า?” เพราะก็มีหลายกรณีที่พบปัญหา “คน(อ)ยากจน..ไม่ใช่คนยากจน” ความช่วยเหลือไปถึงคนที่ไม่ได้ลำบากในขณะที่คนที่ต้องการจริงๆ กลับเข้าไม่ถึง และยิ่งเป็นโครงการช่วยเหลือของรัฐที่ใช้เงินภาษีอากรจากประชาชนก็ต้องบอกว่าน่าเสียดายงบประมาณ
นั่นทำให้ หน่วยบริหารและจัดการทุน เพื่อการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หนึ่งในหน่วยงานที่กระทรวง อว. ให้การสนับสนุน เริ่มขับเคลื่อนโครงการฐานข้อมูลคนจน โดย กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็น “มิติใหม่” ของการทำวิจัยในสังคมไทย “เป็นการสำรวจแบบปูพรมไม่ใช่การสุ่มตัวอย่าง” และขณะนี้ก็ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้นเนื่องจากเพิ่งเริ่มทำไปเพียง 7 เดือน โดยการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลคนจนแบบเจาะลึกนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ประเทศจีน ที่มีดำเนินการ 4 ขั้นตอนคือ
1.วางนโยบายจากรัฐบาล ที่แข็งแรงและต่อเนื่อง 2.สร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของคนจนแบบปูพรม มีการสำรวจลงลึกไปถึงระดับครัวเรือนและระดับบุคคล นำไปสู่การตอบคำถามว่าคนจนอยู่ที่ไหนจนเพราะเหตุใด และทำอย่างไรจึงจะหลุดพ้นจากความจน3.ดึงภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และ 4.กำหนดตัวชี้วัดผลงานของเจ้าหน้าที่รัฐผูกกับการที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ในระดับ 1เจ้าหน้าที่รัฐ ต่อ 1 ครัวเรือนประชาชน
สำหรับประเทศไทย ดำเนินโครงการใน 10 จังหวัดที่มีปัญหาความยากจนสูง คือ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท มุกดาหาร ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ สกลนคร กาฬสินธุ์อำนาจเจริญและปัตตานี ใช้สถาบันอุดมศึกษา 10 แห่งที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ คือ วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนวิทยาลัยชุมชนชัยนาท วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร วิทยาลัยชุมชนยโสธร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) มีคณะทำงานกว่า 2,000 คน
“ตอนนี้เรา Classified (จำแนก) คนจนออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คนจนกลุ่มแรกเราเรียกว่าเป็นกลุ่ม 20% ล่างสุดซึ่งช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย คนจนเหล่านี้เราสร้างระบบส่งต่อความช่วยเหลือไปสู่หน่วยงานผู้มีส่วนได้เสียสำคัญที่เกี่ยวข้อง คนจนระดับที่ 2 คือคนจนหนี้สิน หรือเข้าไม่ถึงโอกาส คนจนแบบนี้เราจะใช้ที่เรียกว่า Opportunity Model (ตัวแบบเชิงโอกาส) ดึงตัวแบบเชิงธุรกิจ ดึงชุมชนยากจนขึ้นมาโดยใช้แผนงานวิจัยและนวัตกรรม” กิตติ กล่าว
ผอ.บพท. กล่าวต่อไปว่า หลังค้นหาและสอบทานข้อมูล ซึ่งนอกจากทีมงานกว่า 2,000 คนแล้วยังมีประชาชนในพื้นที่เข้ามาสนับสนุน โดยสถิติที่รวบรวมจนถึง ณ วันที่ 4 ก.พ. 2564 พบมีครัวเรือนยากจนใน 10 จังหวัดนำร่อง รวม 89,710 ครัวเรือน หรือ334,153 คน ซึ่งบางส่วนได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการแล้ว เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. เข้าไปช่วยปรับปรุงบ้านเรือนที่มีสภาพทรุดโทรม หรือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีหน่วยงานประจำจังหวัดให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น
ขณะที่ แมน ปุโรทกานนท์ หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ กล่าวเสริมว่า โครงการนำร่องใน 10 จังหวัด จะเข้าไปดำเนินการกับปัญหาเหล่านี้เมื่อมีความเข้าใจ เช่น เหตุใดถึงจน แล้วจะใช้ทุนอะไรบ้าง แต่ก็ต้องอาศัยนวัตกรรมหรือความรู้จากภายนอกเข้าไปช่วยทำงานระดับชุมชนมากขึ้น
ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับคำแนะนำของ ธนาคารโลก(World Bank) ที่ว่า “การแก้ปัญหาความยากจนควรเริ่มที่ตัวคนที่ถูกต้อง” เรื่องของการปรับแก้ไขมาตรการนโยบายของรัฐให้มีประสิทธิผลมากขึ้น “การทำงานที่ผิดฝาผิดตัวจะทำให้เกิดความผิดพลาดเรื่องของการทำงานในเชิงเป้าหมาย” ทำให้งบประมาณมีปัญหาในเรื่องของการจัด ดังนั้นงานที่ทำในระดับพื้นที่จึงเป็นการนำข้อมูลชี้เป้าคนจนรายบุคคลมาทำให้เป็นข้อมูลครัวเรือนยากจน โดยพยายามเข้าใจถึงทุน 5 ด้าน ที่มาประกอบกันทำให้เกิดความยากจนในพื้นที่
ด้าน ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ทุน 5 มิติ” ที่นำมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาปัญหาและศักยภาพของคนจนในโครงการ โดยยกตัวอย่าง จ.ปัตตานี คือ 1.ทุนมนุษย์ หมายถึงการศึกษา อาชีพและสุขภาพ 2.ทุนทางกายภาพ คือที่อยู่อาศัย ไฟฟ้า น้ำประปา อินเตอร์เนต 3.ทุนการเงิน เช่น เงินทุน ทรัพย์สิน รายได้และอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์
4.ทุนธรรมชาติ เช่น พื้นที่ทำกิน แหล่งน้ำ พื้นที่เกษตร แหล่งอาหาร ทรัพยากร พื้นที่เสี่ยงภัย และทุนทางสังคม หมายถึงระเบียบการอยู่ร่วมกัน กลไกการช่วยเหลือกันในชุมชน ซึ่งเมื่อนำข้อมูลทั้งหมดใส่เข้าไปในระบบ ก็จะสามารถมองเห็นระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ของแต่ละพื้นที่ได้ว่าครัวเรือนยากจนอยู่ตรงไหนบ้าง รวมถึงศักยภาพของพื้นที่ที่ครัวเรือนยากจนตั้งอยู่ด้วย
ปิดท้ายด้วยมุมมองจากคนทำงานในระดับพื้นที่ มาลี ศรีพรหม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครกล่าวว่า โครงการนี้มีคุณค่าและความหมายต่อแผ่นดินเราทำคุณค่าและความหมายนี้ให้กับกลุ่มคนเล็กๆ ที่ไม่ถึง 10% ของประเทศ ทำให้เขาสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ด้วยทุนของเขา ด้วยทุนแวดล้อมและทุนปัญญาของมหาวิทยาลัย!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี