เศรษฐกิจไทยในตอนนี้ แน่นอนว่ายังไม่ดี ยังไม่ฟู่ฟ่า
ประเทศไทยพึ่งการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและการส่งออกมหาศาล จึงได้รับผลกระทบหนัก เรื่องนี้ไม่ยากเกินเข้าใจเลยแม้แต่น้อย
แต่คนบางกลุ่มบางประเภท อ้างว่าเป็นกลางทางการเมือง อาศัยเสียงลือเสียงเล่าอ้าง พยายามจะโจมตีรัฐบาล อยากจะสั่นคลอนด้วยการตัดต่อบิดเบือนข้อมูล เสกสรรปั้นแต่งข้อกล่าวหารุนแรงเกินจริง สารพัดเรื่อง
มีการบิดเบือนข้อมูลทำนองว่า ธนาคารโลกประจานเศรษฐกิจไทยกำลังเจ๊งทั้งระบบ เพราะรัฐบาลโกง ตัวเลขหนี้ประเทศพุ่งทะลุเพดานสูงสุดในรอบ 18 ปี 13 ล้านล้านบาท สูงแตะ 88-90% ต่อจีดีพี การคลังถังแตก-คนจนไม่มีจะกิน ฯลฯ
ล่าสุด แฟนเพจ ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี - PMOC รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงมาสะสางอย่างชัดเจน สมควรที่จะเผยแพร่ บอกกล่าวต่อๆไป โดยเฉพาะในกลุ่มที่ชอบส่งข่าวตัดแปะ นำข้อมูลตัดแต่งมาโจมตีบิดเบือนกัน
เนื้อหาสาระสำคัญโดยสรุปย่อๆ ดังนี้
1. ในปี 2563 จากสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจประเทศต่างๆทั่วโลก ต่างก็มี GDP หดตัวเศรษฐกิจไทยหดตัวที่ร้อยละ -6.1 ต่อปี ซึ่งไม่ได้เป็นประเทศที่หดตัวต่ำที่สุดในอาเซียนแต่อย่างใด ฟิลิปปินส์หดตัวร้อยละ -9.5 สิงคโปร์หดตัวร้อยละ -5.8 และมาเลเซียหดตัวร้อยละ -5.6 เป็นต้น
สหราชอาณาจักรหดตัวร้อยละ -9.9 ยูโรโซนหดตัวร้อยละ -6.8 ฮ่องกงหดตัวร้อยละ -6.1 เป็นต้น
ประเทศไทยยังคงรักษาอันดับความน่าเชื่อถือ (Sovereign credit rating) และมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) จากทั้งบริษัท S&P Moody’s และ Fitch ที่เป็นสถาบันจัดอันดับเครดิตแนวหน้าของโลก จากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง เสถียรภาพทางการคลังและวินัยทางการคลังที่อยู่ในเกณฑ์ดี ฐานะการคลังของประเทศไม่ได้ถังแตกอย่างที่กล่าวหา ระดับเงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563อยู่ที่ 473,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีงบประมาณก่อนหน้า ถึงร้อยละ 49.5
มาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐในช่วงที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากโควิด-19ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน เราชนะ ม33 เรารักกัน คนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐผู้ได้รับประโยชน์ครอบคลุม เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ค้าในตลาด ชุมชน ร้านค้าขนาดเล็ก ให้ก้าวพ้นผลกระทบทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน การที่ประชาชนได้รับความช่วยเหลือราว 40 ล้านคน ไม่ได้แปลว่าเป็นคนอดตายอย่างที่กล่าวหา
หนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ 52% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายวินัยการเงินการคลังไม่เกิน 60% ของ GDP ในขณะที่ประเทศอื่นมีหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่าไทยมาก บางประเทศอยู่ในระดับเกินกว่า 100% เช่น ญี่ปุ่น 226% กรีซ 205% อิตาลี 162% สหรัฐอเมริกา 131% เป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่หนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่าไทย เช่น สิงคโปร์ 131% มาเลเซีย 68%
2. รัฐบาลปัจจุบัน ได้ใช้เงินกู้เพื่อช่วยเหลือประชาชนยามวิกฤติโควิด ขณะเดียวกันก็ใช้ทยอยหนี้เดิมที่รัฐบาลก่อนหน้าทิ้งภาระไว้ให้ และยังเดินหน้าลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานอีกมากมาย ทั้งหมดนี้ หนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ 52% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายวินัยการเงินการคลัง
รัฐบาลมีภาระที่ต้องจ่ายในเรื่องผลการขาดทุนจำนำข้าว ของรัฐบาลปี 2555 ที่รัฐบาลปัจจุบันยังต้องตั้งงบประมาณชดใช้หลายปีแล้ว ตั้งแต่ดำเนินโครงการนี้มา มีภาระที่รัฐชดเชยใช้ไปแล้วกว่า 705,018.05 ล้านบาท
เดือนธันวาคม 2563 เราเหลือหนี้จำนำข้าว อยู่ประมาณ 288,401.35 ล้านบาท
ไม่รวมดอกเบี้ยอีก 803.08 ล้านบาท
ยังต้องตั้งงบประมาณชดใช้แบบไม่ได้อะไรปีละประมาณ 23,000 ล้านบาท
และต้องตั้งไปอีก 12 ปี จึงจะหมด
นอกจากนี้ ยังมีภาระหนี้จากโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ดำเนินการไปแล้ว ทิ้งหนี้ไว้ให้การเคหะฯ กว่า 20,000 ล้านบาท มีบ้านที่สร้างเสร็จแล้วขายไม่ได้หลายหมื่นยูนิต สิบปีที่ผ่านมา การเคหะฯ แบกรับภาระจากโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ล้มเหลว ยอดความเสียหายกว่า 10,000 ล้านบาท ไม่รวมหนี้เน่า ภาระดอกเบี้ยที่กู้มาสร้างแล้วขายไม่ได้ ค่าส่วนกลางที่ต้องจ่าย เพราะไม่มีผู้เช่าห้อง ค่าซ่อมแซมห้องที่ชำรุดเพราะสร้างมานาน 10 ปีแล้ว ซึ่งก็กลายมาเป็นภาระของรัฐบาลนี้ทั้งสิ้น
3. รายงานธนาคารโลก (World Bank) สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยภาพรวม ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลง
อัตราการลดลงของความยากจนในประเทศไทย ลดลงจากร้อยละ 65.2 ในปี 2531 ไปสู่ร้อยละ 9.9 ในปี 2561
รายงานสำนักงานสภาพัฒน์ พบว่า สถานการณ์ความยากจนในปี 2562 ปรับตัวในทิศทางดีขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยสัดส่วนคนจนลดลงจากร้อยละ 10.53 ในปี 2557 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ในปี 2562
จำนวนคนจน 4.3 ล้านคน ในปี 2562 ลดลงจากปี 2556 ที่มีอยู่ประมาณ 7.3 ล้านคน
4. ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยังเป็นปัญหาใหญ่
แต่ถ้าเปรียบเทียบรัฐบาลในอดีตที่พูดบ่นเรื่องนี้มาก แต่กลับลงมือทำเพื่อแก้ไขปัญหาน้อยกว่ารัฐบาลปัจจุบันเสียอีก
ปัจจุบัน สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำปรับตัวดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบจากปี 2556 ถึงปี 2562 ดัชนีความเหลื่อมล้ำปรับตัวดีขึ้นจาก ปี 2556 อยู่ที่ 0.465 เป็น 0.430 ในปี 2562
และจากการสำรวจล่าสุดถึง ตุลาคม 2563 พบว่า ไทยมีแนวโน้มความเหลื่อมล้ำลดลงมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน
มาตรการของรัฐที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ช่วยลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ/การจัดที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย บ้านเช่า บ้านผู้สูงอายุ /การจัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร / การคืนโฉนดให้กับประชาชนผู้ยากไร้ / การปราบปรามหนี้นอกระบบ / การแก้ปัญหาคนไร้รัฐที่พึ่งมาทำสำเร็จในช่วง 6 ปี ที่ผ่านมา / การแก้ไขกฎหมายให้ประชาชนมีโอกาสหารายได้จากการปลูกไม้มีค่า 58 ชนิด ในพื้นที่ของตัวเอง / การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา / การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ / โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิ์ทุกที่ / การให้เงินอุดหนุนเบี้ยคนชรา /การเพิ่มเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เป็น 600 บาท ให้ถึง 6 ปี / การเพิ่มเบี้ยคนพิการ จาก 800 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือน
5. ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พอกพูน เป็นปัญหาสำคัญจริง แต่มีที่มาที่ไปและหนทางแก้ไข
ความจริง หนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยในไตรมาส 4 ปี 2562 อยู่ที่13.49 ล้านล้านบาท
ในขณะที่ ไตรมาส 3 ปี 2563 อยู่ที่ 13.77 ล้านล้านบาท
จะเห็นได้ว่าเพิ่มประมาณ 2%
แต่พอเทียบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP แล้ว กลับเพิ่มขึ้น 6.7% (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 79.9 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 86.6 ในไตรมาส 3 ของปี 2563)
ทำไมตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของ GDP ถึงเพิ่มขึ้น? เพราะ GDP ที่นำมาคำนวณสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 1 - 3 ของปี 2563 หดตัวลงถึง 7.74% ในปี 2563 ที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องประสบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ทำให้ GDP ของไทยและประเทศต่างๆ แทบทุกประเทศ ลดลงอย่างมาก
หลายๆ ประเทศก็มีหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับประเทศไทย เช่น ออสเตรเลีย นอร์เวย์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ แคนาดา ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย ประเทศต่างๆ เหล่านี้ มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ตั้งแต่ ร้อยละ 87.5 ไปจนถึงร้อยละ 128.1
หนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ ร้อยละ 67 ถูกใช้เพื่อซื้อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ จักรยานยนต์ การศึกษา ซึ่งเป็นหนี้ที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน สร้างอาชีพสร้างรายได้ในอนาคต
ลองคิดดู หนี้ครัวเรือนตั้งแต่ปี 2557 จนถึงไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ถ้าเอาตัวเลขมาคำนวณจะพบว่าในรอบ 6 ปีที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 48,000 ล้านบาท ในขณะที่หากย้อนกลับไปดูในไตรมาส 1/2555 จนถึงไตรมาส 2/2557 จะเห็นว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 7.76 ล้านล้านบาท เป็น 10.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 87,000 ล้านบาท มากกว่าช่วงรัฐบาลนี้ 80%
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPL ของหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 3 ปี 2563 ยังอยู่ในระดับต่ำ ร้อยละ 2.91 ของสินเชื่อรวม
รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ว่าจะเป็นการขยายระยะเวลาชำระหนี้ การพักหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย การปรับโครงสร้างหนี้ การยกหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ การให้สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ที่เรียกว่า สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนที่ต้องการเข้าถึงเงินกู้ แต่ไม่มีสินทรัพย์และรายได้ที่มั่นคง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ง่ายกว่าเดิม และลดการกู้หนี้นอกระบบได้อีกทาง และเพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เกิดปัญหาข้อมูลเครดิต การผิดนัดชำระหนี้ จนกระทบต่อการประกอบอาชีพในระยะยาว เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
ล่าสุด มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สำหรับลูกนี้ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกหนี้ NPL ที่มีคำพิพากษาและเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีแล้ว กลุ่มลูกหนี้ NPL ที่ยังไม่ถูกฟ้องหรือถูกฟ้องแล้ว และกลุ่มที่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว ค้างชำระหนี้เกิน 3 เดือน ลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ จนถึง 14 เมษายน 2564 ทาง website ของกรมบังคับคดี หรือธนาคารแห่งประเทศไทย หรือศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
6. ในสถานการณ์ที่ประเทศต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 รุนแรงที่สุด ยังมีแนวโน้มที่ดีหลายๆ เรื่อง และมีมาตรการความช่วยเหลือที่ออกมาช่วยคนไทยด้วยกันหลายทาง
คนไทยในประเทศ ไม่ควรจมอยู่กับข้อมูลที่บิดเบือน ข้อมูลประเภทที่จับแพะชนแกะ หวังสร้างความรู้สึกตึงเครียด สร้างความแตกแยกและต่อต้านในสังคม
ประเทศไทยกำลังเดินไปข้างหน้า อย่าจมพิษข้อมูลบิดเบือน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี