สัปดาห์ที่แล้ว มีการแสดงความเห็นต่อกรณีการสวรรคตของ ร.8
โดยสำนักข่าวบางแห่งนำเสนอตั้งต้นเรื่องว่า วันที่ 29 มีนาคม เป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 8 จากนั้นแนวร่วมคนที่มุ่งโจมตีสถาบัน ก็นำไปแสดงความคิดเห็น
ขยายความกันต่อแบบมั่วซั่ว จับแพะชนแกะ หมิ่นเหม่จะเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 หลายคน
1. น่าแปลกใจ... คนที่เสพรับข้อมูล จินตนาการ นั่งเทียน และการปะติดปะต่อเรื่องราวโจมตีสถาบันจากสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งหลายเรื่องจะเห็นว่าเป็นความเท็จแบบจะแจ้ง อาทิ กล่าวหาท่านจะเอาสนามม้าไปสร้างวังส่วนพระองค์ ก็ชัดเจนว่าความจริงจะเป็นการก่อสร้างสวนสาธารณะ มีที่จอดรถโรงพยาบาล และยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 ด้วย ฯลฯ
คนจำนวนหนึ่งก็ยังคงตามงับข้อมูลจากสมศักดิ์มาขยายผลต่อไป
2. รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค Harirak Sutabutr เล่าเรื่องราวที่เป็นข้อเท็จจริง เกี่ยวกับกรณีสวรรคต
เนื้อหาบางตอน น่าสนใจมาก
“...หากถามว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สวรรคตเพราะอะไร?
คำตอบที่แน่นอนบอกได้เพียงว่า เป็นเพราะพระแสงปืน
แต่ด้วยเหตุใด เพียงบอกได้ดังนี้
โอกาสที่เกิดขึ้นเพราะอุบัติเหตุมีน้อยมาก ไม่ว่าจะเกิดจากพระองค์เอง หรือจากผู้อื่นเนื่องจากวิถีกระสุนเข้าทางพระนลาฏ(หน้าผาก)ค่อนไปทางซ้าย และทะลุออกทางท้ายทอย เป็นมุมที่แทบจะไม่มีโอกาสเกิดจากอุบัติเหตุได้เลย ลักษณะบาดแผลที่กระสุนเข้า มีรอยแฉก 4 แฉก มีเขม่าจับ จากการทดลองยิงศพหลายศพในภายหลัง แสดงว่าเป็นการจ่อยิ่งในระยะใกล้มาก
อีกเหตุผลหนึ่ง คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 ทรงประชวร ปวดพระนาภี(ท้อง) จากอาหารเป็นพิษ เมื่อเสด็จประพาสสมุทรสาคร ก่อนวันสวรรคต แพทย์จึงถวายพระโอสถ หลายขนาน เช้าวันรุ่งขึ้นในเวลาก่อน 6.00 น ในวันสวรรคต สมเด็จพระราชชนนี เสด็จไปที่ห้องพระบรรทม ปลุกให้เสวยน้ำมันละหุ่ง นมสด และน้ำอุ่น จากนั้นทรงบรรทมต่อ จึงไม่มีเหตุผลที่จะทรงเล่นปืนในเวลานั้น
โอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการปลงพระชนม์เอง ก็มีน้อยเช่นกัน เพราะรอยกระสุนอยู่ค่อนไปทางซ้าย แต่พระองค์ทรงถนัดขวา รอยเข้าของกระสุน บ่งชี้ว่า หากยิงด้วยพระองค์เอง น่าจะต้องใช้พระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างจับด้ามปืนและใช้นิ้วโป้งเหนี่ยวไก ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ อีกทั้งพระกรทั้ง 2 ข้างไม่ได้อยู่ในอาการเกร็ง แต่อยู่ในลักษณะเหยียดค่อนข้างตรง
คณะแพทย์จึงให้น้ำหนักของสาเหตุของการสวรรคตไปที่การถูกลอบปลงพระชนม์มากที่สุด
คำถามจึงอยู่ที่ใครเป็นผู้ลอบปลงพระชนม์ ทำเพื่ออะไร และใครอยู่เบื้องหลัง? จึงเป็นคำถามที่ยังไม่มีข้อสรุปที่กระจ่างอย่างปราศจากข้อสงสัย จนกระทั่งทุกวันนี้
ต่อไปนี้จะได้พยายามนำข้อเท็จจริงที่รวบรวมได้จากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา และจากหนังสือ กรณีสวรรคต ที่คุณ วิมลพรรณ ปิตตธวัชชัย เป็นผู้เขียนมาให้ทราบ เพื่อให้ท่านผู้อ่านใช้วิจารณญานเอง ดังนี้
1.เนื่องจากรัฐบาลมีท่าทีจะยกเลิกพระราชบัญญัติ ที่ว่าพระบรมวงศานุวงศ์มีฐานะเหนือการเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยรับสั่งเล่น กับ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ว่าจะทรงสละราชสมบัติให้พระราชอนุชา และจะทรงลงสมัคร สส. และอาจจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วทรงรับสั่งว่า มาจากหนังสือของ เบอร์นาร์ด ชอว์
2.แม้จะมีทางเข้าห้องพระบรรทมได้หลายทาง แต่ในความเป็นจริงในเช้าวันสวรรคต สามารถเข้าได้ทางเดียวคือทางที่นายชิต สิงหเสนี กับนายบุศย์ ปัทมศริน มหาดเล็กหน้าห้องพระบรรทมนั่งเฝ้าอยู่ ดังนั้นหากมีใครผ่านเข้ามา นายชิตกับนายบุศย์ต้องเห็น
3.เช้าวันนั้น เป็นเวรของนายบุศย์ นายชิตออกเวรแล้ว แต่ยังไม่กลับ ยังคงนั่งคู่กับนายบุศย์ หน้าห้องพระบรรทม
ในคำแถลงการณ์ของโจทย์ (พนักงานอัยการ)ในศาลอุทธรณ์ ที่ฟ้อง นายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน ในข้อหา สมคบกันประทุษร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มีข้อความส่วนหนึ่งดังนี้
“เวลาประมาณเวลา ๗ นาฬิกาเศษ นายบุศย์ ปัทมศริน มหาดเล็กห้องพระบรรทมก็เข้ามาอยู่หน้าห้องพระบรรทม แล้วต่อมา นายชิต สิงหเสนี ซึ่งในวันนั้น ไม่ได้เป็นเวรมหาดเล็ก ก็ได้มา ณ ที่นั้นด้วย ครั้นก่อน ๙ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ คือ รัชกาลปัจจุบัน เสด็จไปเสวยพระกระยาหารเช้าที่มุขพระที่นั่งบรมพิมาน ก็ได้เสด็จผ่านมาทางที่ซึ่งนายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน นั่งอยู่ พระองค์รับสั่งถามว่าพระอาการเป็นอย่างไร บุคคลทั้งคู่นี้ก็กราบบังคมทูลว่า ตื่นบรรทมแล้ว เข้าห้องสรงแล้ว และกลับมาบรรทมอีก แล้วต่อมาในราว ๙ นาฬิกา ก็มีเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัดในห้องพระบรรทม และปรากฏว่า นายชิต สิงหเสนี จำเลยที่ ๒ ได้วิ่งไปทูลสมเด็จพระราชชนนี ซึ่งประทับอยู่ชั้นบนพระที่นั่งบรมพิมานอีกส่วนหนึ่ง ว่า “ในหลวงยิงพระองค์เอง” สมเด็จพระราชชนนีก็เสด็จตรงมายังห้องพระบรรทม โดยมีนายชิต สิงหเสนี ตามมาในทันใดนั้น และมีผู้ติดตามมาอีก เช่น พระพี่เลี้ยง เนื่อง จินตดุลย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบัน และนางสาวจรูญ ตะละภัฏ ซึ่งเป็นข้าหลวงสมเด็จพระราชชนนี ได้วิ่งติดตามกันมาที่ห้องพระบรรทม ก็ได้มาพบในหลวงรัชกาลที่ ๘ บรรทมหงายอยู่บนพระแท่นบรรทม พระกรทอดทั้งสองข้าง มีปืนกระบอกหนึ่งวางอยู่ข้างพระหัตถ์เบื้องซ้าย ที่พระนลาฏมีรอยพระโลหิตไหล สมเด็จพระราชชนนีก็เข้าไปที่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ ทรงกรรแสง และทันใดนั้น ในหลวงรัชกาลปัจจุบันก็รับสั่งให้คนไปตามหลวงนิตยฯ(แพทย์ประจำพระองค์) ในขณะนั้น ก็ปรากฏว่า นอกจากจะไปตามหลวงนิตยฯ เข้ามาแล้ว ยังได้มีการบอกกล่าวให้ผู้หลักผู้ใหญ่เข้ามาในพระที่นั่งบรมพิมานอีก เมื่อหลวงนิตยฯ เข้ามาแล้ว สมเด็จพระราชชนนีรับสั่งถามหลวงนิตยฯ ว่า “มีหวังไหม?” หลวงนิตยฯ ตอบว่า “ไม่มีหวัง” แล้วสมเด็จพระราชชนนีจึงรับสั่งให้ทำความสะอาดบาดแผล หลวงนิตยฯ ก็จัดการทำความสะอาด ต่อมา ก็มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อาทิ นายปรีดี พนมยงค์, พระบรมวงศานุวงศ์และพวกรัฐมนตรี..”
4.รัฐบาลออกแถลงการณ์ว่าพระเจ้าหัวรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตจากพระแสงปืนนั้น เป็นอุบัติเหตุ แต่ประชาชนมีความเคลือบแคลง ไม่เชื่อว่าจะเป็นอุบัติเหตุได้ อีก 10 วันหลังจากวันสวรรคต รัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนพฤติการณ์สวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และเปิดให้ประชาชนเข้าฟังการสอบสวนได้ จากนั้นจึงมีการสอบสวน และทำการชันสูตรพระบรมศพอย่างจริงจัง ชาวบ้านเรียกคณะกรรมการชุดนี้ว่า “ศาลกลางเมือง”
5.นายชิต สิงหเสนี ซึ่งเคยอยู่ใต้บังคับบัญชาและมีความใกล้ชิดกับนายเฉลียว ปทุมรส ทูลสมเด็จพระราชชนนี และพระบรมวงศนุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่รวมทั้งท่านปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ที่มาที่พระที่นั่งบรมพิมานเมื่อทราบข่าวว่า ในหลวงยิงพระองค์เอง ทั้งยังทำท่าทางให้ดู แต่หลังจากการสอบสวน จึงทราบว่านายชิตไม่ได้เห็นด้วยตา เนื่องจากเมื่อมีเสียงปืนดังขึ้นนายชิตยังนั่งอยู่หน้าห้องพระบรรทม นายชิตยังได้เก็บปลอกกระสุนที่อ้างว่าตกอยู่บนพื้นห้องให้ตำรวจ แต่ต่อมากรมวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ว่าพระแสงปืนที่พบว่าวางอยู่ข้างพระหัตถ์เบื้องซ้ายนั้นไม่ได้มีการใช้ยิงมาเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์แล้ว
6.ก่อนวันสวรรคต 1 หรือ 2 สัปดาห์ นายชิตได้พูดกับ น.ส.จรูญ ตะละภัฎ ข้าหลวงของสมเด็จ
พระราชนนี เกี่ยวกับในหลวง ซึ่งมีหมายกำหนดการ เสด็จกลับไปศึกษาต่อในวันที่ 13 มิถุนายนว่า
“นี่จะบอกว่า ท่านไม่ได้เสด็จหรอก วันที่ 13 นั่น”
เมื่อน.ส.จรูญซักมากเข้า นายชิตก็ตอบว่า
“ไม่เชื่อก็แล้วไป คอยดูไปก็แล้วกัน”
เรื่องนี้สมเด็จพระราชชนนีทรงยืนยันว่าได้ทรงทราบจาก น.ส.จรูญจริง
7.นายเฉลียว ปทุมรส เคยเป็นราชเลขาธิการในพระองค์ และมีความใกล้ชิดกับท่านปรีดี แต่ไม่เป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่านายเฉลียวขาดความเคารพยำเกรง เช่น ส่งรถยนต์ประจำพระองค์ ที่รัฐบาลจัดถวายให้เป็นรถส่วนพระองค์ ไปให้ผู้อื่นใช้ถวายหนังสือราชการด้วยอาการขาดคารวะ เช่นยืนถวาย และบางครั้งสูบบุหรี่ พระองค์จึงทรงขอให้นายปรีดี เปลี่ยนตัว นายเฉลียวจึงต้องออกจากตำแหน่งในราชสำนัก แต่ต่อมาก็ได้เป็นสมาชิกพฤฒสภา
8.เช่นเดียวกับนายชิต นายเฉลียวได้พูดกับ พ.อ. ประพันธ์ กุลพิจิตร ว่าในหลวงรัชกาลที่ 8 จะไม่ได้เสด็จกลับในวันที่ 13 ในวันงานพระราชทานเพลิงศพพระองค์เจ้าอาทิตยทิพอาภาในคืนวันที่ 8 มิถุนายน คือ ก่อนสวรรคตหนึ่งวัน
9.นายบุศย์ ซึ่งเป็นมหาดเล็กหน้าห้องพระบรรทม เมื่อได้ยินเสียงปืน กลับไม่ได้วิ่งเข้าไปดูปล่อยให้นายชิตเข้าไปคนเดียว อ้างว่า กลัวจะถูกหาว่าเป็นผู้ยิง
10.มีพยานให้การว่า ท่านปรีดี พนมยงค์, นายเฉลียว ปทุมรส, เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวชและนายชิต สิงหเสนี กับอีกคนหนึ่งซึ่งพยานไม่ทราบ ได้ไปประชุมกันที่บ้านพระยาศรยุทธเสนีก่อนวันสวรรคต และได้มีข้อความทำนองที่จะมีการลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8
11.มีพยานเห็นเรือเอก วัชรชัย ซึ่งเป็นราชองครักษ์ เข้ามาด้านหลังของพระที่นั่งบรมพิมานในเช้าวันสวรรคต และออกไปในภายหลังอย่างรีบเร่ง
12.ในระหว่างนี้ได้มีการสร้างข่าวลือ ไปในทางที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชชนนีต้องได้รับความเสื่อมเสีย
13.ศาลอาญาตัดสินประหารชีวิตนายชิต ยกฟ้องนายบุศย์ นายเฉลียว นายชิตยื่นอุทธรณ์ และโจทย์ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของนายบุศย์และนายเฉลียว ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำตัดสินศาลอาญา ให้ประหารชีวิตนายบุศย์ และพิพากษายืนคำตัดสินกรณีนายเฉลียว เมื่อถึงศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืนกรณีนายชิตและนายบุศย์ และพิพากษาให้ประหารชีวิต
นายเฉลียว กระบวนการยุติธรรมทั้งหมดใช้เวลาถึง 8 ปี
15.ท่านปรีดี หลบหนีหลังมีการทำรัฐประหารโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ และหลบหนีอีกครั้งหลังกลับมาทำการรัฐประหารที่เรียกกันว่า “กบฏวังหลวง” ไม่สำเร็จ ส่วน เรือเอกวัชรชัยก็หลบหนีไปเช่นกัน
ท่านปรีดี พนมยงค์ และ เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช จะมีความเกี่ยวข้องกับการลอบปลงพระชนม์หรือไม่อย่างไร จะเห็นว่ามีพยานเพียงปากเดียวที่ให้การพาดพิงถึง ซึ่งพยานปากนี้จะเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ก็ไม่ทราบ เพราะพยานเป็นพ่อค้าไม้ที่มาที่บ้านพระยาสรยุทธเสนี และอ้างว่าได้ยินการสนทนากัน ที่เป็นข้อเท็จจริงมีเพียงว่าท่านปรีดี ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีความขัดแย้งกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลอยู่บ้าง
หลังจากหลบหนีไป ท่านปรีดี ไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ในที่สาธารณะ แต่เมื่อมีคนเขียนปรักปรำว่าท่านอยู่เบื้องหลังการลอบปลงพระชนม์ ท่านจะฟ้องผู้เขียนผู้นั้น และชนะคดีทุกครั้ง
หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 ถูกลอบปลงพระชนม์จริง ผู้ปลงพระชนม์จะต้องเข้ามาทางที่นายชิตและนายบุศย์เฝ้าอยู่เท่านั้น เพราะเป็นทางเดียวที่จะเข้ามาได้ และผู้ปลงพระชนม์ต้องมีความอำมหิตเลือดเย็นอย่างยิ่ง เรียกว่าต้องเป็นมืออาชีพเลยทีเดียว ยากที่คนธรรมดาทั่วไปจะทำได้
สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 19 พรรษา คงเป็นไปไม่ได้ที่ทรงมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ยิ่งถ้าตัดเรื่องอุบัติเหตุออกไป ยิ่งไม่มีความเป็นไปได้เลย
ความลับนี้คงยังเป็นความลับต่อไป อาจไม่มีวันจะได้ทราบความจริง แต่ไม่แน่ว่า หากเอกสารลับของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ว่ากันว่าอยู่ที่หอจดหมายเหตุ กระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสมีจริง และจะเปิดเผยได้ในปี 2024 จริง บางทีเราอาจจะทราบความจริงเพิ่มขึ้นก็ได้”
3.น่าระอาใจ คนบางกลุ่มไปหลงเชื่อผู้อ้างตัวเป็นนักวิชาการที่พยายามบิดเบือนข้อมูล อ้างหลักฐานเท็จ มโนนึกพล็อตเรื่องเป็นตุเป็นตะ แล้วอ้างว่าเป็นประวัติศาสตร์สมัยใหม่ พยายามปรักปรำสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่เป็นธรรม แล้วฝังหัวคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งว่าตาสว่างแล้ว
“ตาสว่าง” หรือถูก “แหกตา” เข้าแล้ว
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี