ในขณะที่คนบางกลุ่ม ฉวยสถานการณ์แพร่ระบาด มุ่งจะโค่นล้มรัฐบาล (ซ้ำซาก)
แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังรู้จักแยกแยะ เข้าใจสถานการณ์ปัญหา หรือแม้แต่มีข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์เพื่อมุ่งต่อการแก้ปัญหา มิใช่อยากจะโค่นล้มเพื่อแย่งชิงอำนาจการเมือง
1. คุณ Pui Vijitphan อดีตเจ้าหน้าที่บีบีซีเวิลด์ ณ ประเทศอังกฤษ แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊คว่า
“...คือ ไม่ได้อวยรัฐบาลไทยนะ แต่ผลงานทำได้ดีกว่าเมืองนอกที่เป็นประเทศเจริญแล้วเยอะ
แค่ดูสถิติยอดรวมคนเสียชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย 140 คน น้อยกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในเขตบ้านเราในลอนดอนเขตเล็กๆ เขตเดียวกว่า 1 เท่าตัว (ตาย 306 คน) คือไม่อยากให้คนไทยด่าคนทำงานมากมาย เพราะเค้าทำผลงานได้ดี ติดระดับโลกแล้วตอนนี้
ส่วนการติดเชื้อในอังกฤษ ก่อนที่เราจะกลับ หลังเจอระลอกแรกและก่อนล็อกดาวน์ระลอกสองนั้น จำนวนคนติดเชื้อที่ไม่ได้ไป รพ. ในเขตบ้านเราเขตเดียวมีมากกว่าจำนวนการติดเชื้อรายวันทั้งประเทศไทยอีก แม้ว่าเราต้องออกไปซุปเปอร์ ไปตลาด เดินชนกันไปมา คือ มันไม่ได้ติดเชื้อกันได้ง่าย ถ้าเราระวังตัว และไม่ได้อยู่ด้วยกันนานๆกับคนที่เป็นโควิด
ยอดรวมคนติดเชื้อทั้งหมด ของไทยและ อังกฤษ ไทยน้อยกว่าเกือบร้อยเท่า! (5 หมื่น vs 4 ล้านกว่าคน) ถ้าเทียบกับจำนวนประชากรที่พอๆกัน และลอนดอนกับกรุงเทพฯ คล้ายกัน คือ รัฐบาลไทย สาธารณสุขไทย ทำผลงานได้ดีมากแล้ว
เหลือแต่วัคซีน ซึ่งที่ยุโรปก็ยังฉีดแบบจำนวนมากไม่ได้เท่าอังกฤษ เพราะไม่ได้ผลิตเอง ขอให้คนไทยใจเย็นๆ เพราะเหมือนจะได้ AZ พร้อมๆ กับที่ฝรั่งเศสจะได้วัคซีนยี่ห้ออื่นเป็นจำนวนมากพร้อมๆ กัน ในเดือนมิถุนายนนี้ ไทยทำได้ดีกว่าประเทศอื่นเยอะมาก และยังได้เป็นศูนย์ผลิตวัคซีน AZ อีก จึงมีความมั่นคงด้านวัคซีนแน่นอนในภูมิภาคนี้ ประเทศอื่นแถวนี้ ขอถามว่าใครได้เป็นผู้ผลิตบ้างเหรอใน SE Asia
...ไต้หวันรอไม่ไหว การเจรจากับไฟเซอร์ล่มบ่อย ต้องโอนเงินไปก่อนจะมีของหรือไม่ก็ตามแถมวัคซีนก็จะได้ปลายปี ไต้หวันเลยจะลงทุนผลิต mRNA ของตนเอง ซึ่งก็เหมือนไทยเรานี่แหละ
อยากให้คนไทยทุกคนใจเย็นๆ เพราะเท่าที่ดู รัฐบาลและระบบสาธารณสุขไทยจัดการกับโควิด ไม่แพ้ชาติใดในโลก (ยกเว้นเรื่องวัคซีนผลิตเองได้ แต่ช้ากว่าอังกฤษ อเมริกา และในยุโรปก็ยังไม่ได้ฉีดเยอะเท่าอังกฤษซึ่งผลิต AZ ได้เอง จึงเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศได้แล้ว)
ขอส่งกำลังใจให้สาธารณสุขไทยและคนทำงานนี้ในรัฐบาลทุกคนค่ะ”
2. ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝากข้อคิดไปยังผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาอยู่ ซึ่งบางส่วนอาจตัดพ้อต่อว่า ไม่พอใจความเป็นอยู่บางเรื่อง
ดังตารางข้างล่างนี้
หมอสมศักดิ์ เทียมเก่า ยังเสนอแนะว่า
“โควิด-19 อาจทำให้ระบบสาธารณสุขไทยอาจล่มสลาย ถ้าไม่ช่วยกัน
จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นในสัปดาห์นี้อย่างต่อเนื่องนั้น ถ้าไม่มีการควบคุมการระบาด และการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสมเข้ากับสถานการณ์ในแต่ละจังหวัด และเขตสุขภาพ เราอาจได้เห็นการล่มสลายของระบบสุขภาพประเทศไทย
ผมขอเสนอแนวคิดที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับผิดชอบโดยตรงของจังหวัดแห่งหนึ่ง
1. หน้าที่ของประชาชน คือ การสวมใส่หน้ากาก 2 ชั้น เมื่อออกนอกบ้านชั้นแรกเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นที่ 2 เป็นหน้ากากผ้า งดการเดินทาง งดการเข้าสถานที่อโคจร ล้างมือบ่อยๆ ลดการพูดคุยกันในระยะใกล้กว่า 1 เมตร ไม่ควรมีการพบปะสังสรรค์กัน งดงานเลี้ยงต่างๆ ลดหรืองดการดื่มสุรา ไม่ควรกลับไปเยี่ยมครอบครัวหรือใกล้ชิดผู้สูงอายุช่วงเวลานี้ และถ้ามีการฉีดวัคซีนควรรับการฉีดวัคซีนตามที่ทางราชการกำหนด ถ้าเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังอาการคงที่ ควรเข้าโครงการส่งยาถึงบ้าน ดูแลตนเองให้ดี หลีกเลี่ยงการเดินทาง เพื่อลดอุบัติเหตุ เพราะจะเพิ่มภาระให้โรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น
2. หน้าที่ของผู้บริหารประเทศระดับสูง ควรกำหนดนโยบายหลักในการควบคุมการระบาดของโรค และสนับสนุนระบบบริการให้เพียงพอ เช่น การ lock down การจัดหายารักษาโรคที่เพียงพอ การสนับสนุนงบประมาณในการบริหารจัดการโรงพยาบาลสนาม และการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล การรีบจัดหาวัคซีนมาฉีดให้ครอบคลุม
คนไทยมากที่สุด เร็วที่สุด ตลอดจนการสนับสนุนเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ตลอดจนการกำหนดให้หน่วยงานทางราชการ และรัฐวิสาหกิจต่างๆ ต้องให้การสนับสนุนการบริการด้านสาธารณสุขในช่วงเวลานี้อย่างเต็มที่
3. การจัดการระบบบริการด้านสาธารณสุข ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดกับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ด้วย เพราะตอนนี้ รพ.ต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างมาก ต้องงดการให้บริการผู้ป่วย ยกเว้นผู้ป่วยฉุกเฉินเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 จึงต้องมองให้รอบคอบ ต้องให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยอื่นๆ ให้น้อยที่สุด ผมมีแนวคิด ดังนี้
3.1 พิจารณาเปิดโรงพยาบาลโควิด-19 โดยการพิจารณาเลือกโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่เหมาะสมในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความรุนแรง เช่น กลุ่มไม่มีอาการ กลุ่มอาการเพียงเล็กน้อย กลุ่มอาการรุนแรงปานกลางมีปอดติดเชื้อแต่ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ กลุ่มอาการรุนแรงต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ เพราะการกำหนดแต่ละโรงพยาบาลให้ดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบจะช่วยทำให้การดูแล การใช้ทรัพยากร การบริหารจัดการทั้งระบบง่ายกว่าการที่ให้ผู้ป่วยโควิด-19 กระจายไปอยู่ในทุกโรงพยาบาล เพราะเมื่อมีผู้ป่วยโควิดเพียง 1 คน ก็ต้องปิดการบริการของหอผู้ป่วยนั้นทันที
ดังนั้น การกำหนดให้อาคาร 1 อาคารของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเป็นอาคารรักษาผู้ป่วยโควิด ก็ทำให้การจัดการนั้นทำได้ง่าย ส่วนผู้ป่วยในอาคารนั้นก็ต้องย้ายออกมาอยู่อีกอาคารหนึ่งหรือย้ายโรงพยาบาล เพื่อให้การรักษาที่ต่อเนื่อง จะต้องมีหลายโรงพยาบาลที่ไม่มีผู้ป่วยโควิดเลย และรับดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ จากโรงพยาบาลต่างๆ ด้วย
ซึ่งการบริหารจัดการด้านเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ก็นำมาจากทุกๆ โรงพยาบาลมารวมไว้ส่วนกลางและกำหนดแนวทางการใช้ การสนับสนุนอย่างชัดเจน ทำให้เกิดการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพจากส่วนกลางของจังหวัด
3.2 โรงพยาบาลศูนย์ในแต่ละเขตสุขภาพต้องเป็นโรงพยาบาลหลักในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มอาการรุนแรงมากๆ ร่วมกับโรงพยาบาลจังหวัดต่างๆ ในเขตสุขภาพนั้น ส่วนโรงพยาบาลขนาด M1 ก็ต้องรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลุ่มที่มีปอดติดเชื้อที่ไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ และใส่ท่อช่วยหายใจแต่ไม่รุนแรงมาก ภายใต้การให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดของผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาล M2 และระดับ F บางโรงพยาบาลเท่านั้นที่จัดให้เป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยโควิด-19
การบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยก็ต้องมีศูนย์การจัดการอย่างเป็นระบบ ภายใต้การออกแบบแนวทางไว้อย่างชัดเจนว่าผู้ป่วยมีความรุนแรงระดับไหน อยู่พื้นที่ไหนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลไหน และแนวทางนี้ก็ต้องปรับเปลี่ยนได้ถ้าสถานการณ์หรือจำนวนผู้ป่วยไม่สอดคล้องกับการออกแบบไว้
4. การสร้างโรงพยาบาลสนามควรเริ่ม ถ้าเตียงที่มีในระบบการให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 มีการครองเตียงประมาณ 70% โดยมองไปที่หอพักของสถานศึกษาเป็นหลัก เพราะการเรียนก็ต้องเป็นการเรียนออนไลน์ และเลื่อนการเปิดเทอมไปก่อน ซึ่งช่วงนี้ก็เป็นช่วงปิดภาคการศึกษาอยู่แล้ว เหตุที่เลือกใช้หอพัก เพราะจะทำการเปิดบริการโรงพยาบาลสนามได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมใช้ทันที จึงไม่ต้องมีการลงทุนในส่วนนี้ ตลอดจนมีความเป็นส่วนตัว เป็นสัดส่วน
5. การบริการผู้ป่วยโรคอื่นๆ ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่แยกสัดส่วนผู้ป่วยโรคโควิด-19 กับโรคอื่นๆ อยู่กันคนละอาคาร ก็ยังสามารถให้การบริการได้โรงพยาบาลที่ไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 ก็ยังสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้ตามปกติ และผู้ป่วยจากโรงพยาบาลข้างเคียงที่ให้บริการโรคโควิด-19 ได้ด้วย
6. อัตรากำลัง งบประมาณ อุปกรณ์ทางการแพทย์ก็ต้องมีการบริหารอย่างเป็นระบบจากส่วนกลางของจังหวัด และเขตสุขภาพ มิใช่ให้แต่ละโรงพยาบาลรับผิดชอบแก้ไขปัญหากันเอง
7. จังหวัดไหนมีโรงพยาบาลเอกชน ต้องกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนต้องร่วมการบริการรักษาผู้ป่วยด้วย เช่น การรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการและสามารถรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลได้ เช่น ผู้ป่วยมีฐานะดี มีประกันสุขภาพ เป็นต้น หรือสนับสนุนกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่อโรงพยาบาลของรัฐ ตลอดจนโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหมด้วย
8. ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือในแนวทางการรักษา เช่น เมื่ออาการดีขึ้นต้องย้ายออกจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ไปสู่โรงพยาบาลเครือข่าย หรือโรงพยาบาลสนาม ตามแนวทางการรักษาของแพทย์ เนื่องจากช่วงเวลานี้ต้องการความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย รวมทั้งผู้ป่วยและญาติด้วย
9. ทุกคน ทุกฝ่ายต้องคอยสนับสนุน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ใครมีข้อเสนอแนะที่คิดว่าเป็นประโยชน์ก็สามารถส่งถึงผู้นำในแต่ละจังหวัด แต่ละโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลควรเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญ และผู้หวังดีทั้งหลายมาระดมความเห็น เพื่อแก้ปัญหานี้ให้เด็ดขาด รวดเร็ว อย่างรอบคอบ เพราะตอนนี้ทุกคนทำงานหนักเกินกำลังกันมากแล้ว เราควรรีบจบปัญหานี้ให้เร็วเพื่อลดความสูญเสีย....”
เป็นข้อเสนอแนะรูปธรรม อย่างน่าพิจารณาต่อไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี