“เศรษฐกิจ BCG” มาจาก 3 อย่างคือ 1.เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า 2.เศรษฐกิจหมุมเวียน (Circular Economy) ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด เหลือของเสียทิ้งให้น้อยที่สุด และ 3.เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างยั่งยืน โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์เศรษฐกิจทั้ง 3 ดังกล่าว
เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ครั้งที่ 2/2564 ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 และ 13 มาตรการหลักในการขับเคลื่อน
ได้แก่ 1.พัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัลของทุนความหลากหลายทางชีวภาพ ทุนวัฒนธรรม และทุนทางปัญญา ด้วยการพัฒนาระบบ จัดเก็บ และเชื่อมโยงข้อมูลตามมาตรฐาน ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในการวางแผนอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ในการใช้โมเดล BCG สร้างเศรษฐกิจในชุมชน และเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว 2.เพิ่มพูนทรัพยากรชาติด้วยการผสานพลังของรัฐ เอกชน ชุมชน และหน่วยงานวิจัย โดยการส่งเสริมเอกชนในการปลูกและดูแลป่าทุกประเภทในพื้นที่ของรัฐด้วยกลไกและจัดสรรคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) รัฐ : เอกชน (ผู้ปลูกและดูแล)ในสัดส่วนโดยประมาณที่ 10 : 90
และเร่งการวิจัยพัฒนาพันธุ์ สร้างนวัตกรรม ระบบการบริหารจัดการ การดูแลรักษา การติดตามให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 3.พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ BCG โดยเชื่อมโยงอุปสงค์และอุปทานในแต่ละภูมิภาคเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค รวมถึงพัฒนาสินค้าและบริการด้วยหลักการ BCG เชื่อมโยงการเกษตรทางเลือก/เกษตรสมัยใหม่ การแปรรูป การท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน เชื่อมโยงเศรษฐกิจระดับประเทศและเศรษฐกิจโลก4.ปรับระบบการเกษตรสู่ประสิทธิภาพสูงมาตรฐานสูง และมูลค่าสูง เน้นเกษตรพรีเมียม เกษตรปลอดภัย เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) จากความหลากหลายของสินค้าเกษตร
เช่น เมล็ดพันธุ์ ไม้ผล ไม้ตัดดอก ไผ่ ไม้เศรษฐกิจ แมลง สมุนไพร สัตว์เศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงและสามารถใช้องค์ความรู้ที่เหมาะสมได้ รวมถึงการพัฒนาระบบเกษตรแบบองค์รวม เชื่อมโยง B C และ G ทั้งจังหวัด 5.พัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารริมทางและอาหารท้องถิ่น ด้วยการยกระดับด้วยเครื่องจักรผลิตอาหาร (Food Machinery) และมาตรฐานการประกอบอาหารที่ดี 6.สร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ด้วยการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าจากฐานชีวภาพให้มีขั้นนวัตกรรมที่สูงขึ้น อาทิ สารสกัด สารประกอบฟังก์ชั่น อาหารฟังก์ชัน ชีวเคมีภัณฑ์เช่น โอลิโอเคมิคอล วัสดุชีวภาพ อาทิ วัสดุคาร์บอนมูลค่าสูง ยา และวัคซีน เป็นต้น
7.สร้างตลาดเพื่อรองรับนวัตกรรมของสินค้าและบริการ BCG อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลรัฐจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย สิทธิประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาคเอกชนและภาคประชาชน เช่น การลดภาษีให้กับโรงพยาบาลเอกชนที่จัดซื้อสินค้าที่ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย ส่งเสริมฉลากที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว เช่น ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ ฉลากสีเขียว ฉลากสิ่งแวดล้อม รวมถึงการผลักดันกลไกราคาคาร์บอนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันสำหรับผลิตภัณฑ์วัสดุและเคมีชีวภาพการจัดเก็บภาษีผู้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการปลดล็อกการซื้อ-ขายพลังงานชุมชน
8.ส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนและการท่องเที่ยวสีเขียว สร้างโมเดลการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เช่น โมเดลอารมณ์ดีมีความสุข (Happy Model), ส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนและการท่องเที่ยวสีเขียวด้วยการใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral), สร้างคลัสเตอร์การท่องเที่ยวของจังหวัดหลักและกลุ่มจังหวัดรองรวมถึงพัฒนาระบบการใช้จ่ายแบบระบบการชำระเงินเดียว (One Payment System) สำหรับการท่องเที่ยว เพื่อจัดทำคลังข้อมูลด้านการท่องเที่ยว 9.ยกระดับสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานการผลิตยั่งยืนด้วยการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมสีเขียว และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
10.ยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานสากลด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ เช่น โครงสร้างพื้นฐานทางด้านการวิจัยและพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขยายขนาดการผลิต โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ เพื่อการวิเคราะห์ ทดสอบ การรับรองและขึ้นทะเบียนสินค้า BCGโดยเฉพาะสินค้าเกษตรพรีเมียม เกษตรปลอดภัยสารสกัด ชีวเคมีภัณฑ์ ยา วัคซีน เครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่างๆ
11.ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)การประกอบการรูปแบบใหม่บนฐานเศรษฐกิจ BCG การบ่มเพาะผู้ประกอบการทั้งความรู้ด้านนวัตกรรมและการประกอบธุรกิจ ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานในภาครัฐ และการส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งทุนและผู้เชี่ยวชาญในภาครัฐ 12.สร้างและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับเศรษฐกิจ BCG ในทุกระดับ ตั้งแต่กลุ่มชุมชนและฐานราก กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs), กลุ่มผู้พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startups) และผู้ประกอบการเทคโนโลยี
และ 13.เชื่อมโยงกับสากลในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ การดึงดูดบุคลากร การค้า การลงทุน การสร้างและพัฒนาเครือข่ายวิจัย การค้าและการลงทุนทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและโลก รวมถึงการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุนจากต่างประเทศด้วยการให้สิทธิประโยชน์ การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม เช่น สมาร์ทวีซ่า (Smart Visa) นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570
และใช้ 13 มาตรการเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพันธกิจของหน่วยงานด้วยการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและ
สังคมไทยด้วย BCG โดยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในยุคหลังโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงที อาทิ การผลักดันให้เกิดการพัฒนาภาคเกษตรด้วยรูปแบบการบูรณาการเชิงพื้นที่ โดยกำหนดพื้นที่นำร่องใน 5 จังหวัด(ราชบุรี ลำปาง ขอนแก่น จันทบุรี และพัทลุง) ใน 5 ภาค
โดยพิจารณาความเข้มแข็งของแต่ละพื้นที่โดยตอบโจทย์ อุปสงค์และอุปทานของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี