“ภูเก็ต” เป็นเมืองท่องเที่ยว ที่มีความหวัง ในการดึงรายได้จากนักท่องเที่ยวทั่วโลก เข้าประเทศ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ได้เปิดโครงการ Phuket Sandbox ไปแล้ว กำลังเดินหน้าไปได้สวย มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาแล้วร่วมหมื่นคน และทุกหน่วยงานได้เตรียมพร้อมเพื่อรองรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคตข้างหน้า
ขณะเดียวกันภูเก็ต ยังมีอุปสรรคอยู่บ้างในด้านน้ำอุปโภค-บริโภค ในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา ยังคงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และมีค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการที่สูงแต่เมื่อภูเก็ตต้องเป็นต้นแบบในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้ามาท่องเที่ยวแล้ว การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในการรองรับกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาและอุปสรรคกับการดำเนินนโยบายดังกล่าว
เมื่อเร็วๆ นี้ กรมชลประทานจัดประชุมย่อยแบบออนไลน์ เพื่อนำเสนอแนวคิด ทางเลือกในการวางโครงการ ของโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย จังหวัดภูเก็ต
สำหรับโครงการชลประทาน ของกรมชลประทาน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน ประกอบด้วย โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง 3 โครงการ มีความจุ
รวม 21.72 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) และโครงการชลประทานขนาดเล็กทั้งหมด 102 โครงการ มีความจุรวมประมาณ 6.35 ล้าน ลบ.ม.
โครงการชลประทานในปัจจุบัน 1.อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ สร้างเสร็จปี 2551 ความจุ 7.20 ล้าน ลบ.ม น้ำเพื่อการประปา 2.อ่างเก็บน้ำบางวาด สร้างเสร็จปี 2527 ความจุ 10.20 ล้าน ลบ.ม.น้ำเพื่อการประปา และ 3 อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ สร้างเสร็จปี 2561 ความจุ 4.32 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อการประปา รวมความจุ 21.72 ล้าน ลบ.ม. รวม 21.72 ล้าน ลบ.ม.
ในขณะที่ในปัจจุบันมีปริมาณความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆรวม 76.91 ล้านลบ.ม./ปี แบ่งเป็น 1.การอุปโภค-บริโภค 38.01 ล้าน ลบ.ม./ปี 2.การท่องเที่ยว 20.00 ล้าน ลบ.ม./ปี 3.การอุตสาหกรรม 4.51 ล้าน ลบ.ม./ปี 4.การเกษตรกรรม 11.27 ล้าน ลบ.ม./ปีและ 5.การรักษาระบบนิเวศวิทยาท้ายน้ำ3.12 ล้าน ลบ.ม./ปี
โดยแหล่งน้ำต้นทุนของจังหวัดภูเก็ตประกอบด้วย 1.อ่างเก็บน้ำความจุ 21.72 ล้านลบ.ม. น้ำใช้การได้ 27 ล้าน ลบ.ม./ปี2.ขุมเหมืองความจุ 21.03 ล้าน ลบ.ม.น้ำใช้การได้ 16 ล้าน ลบ.ม./ปี 3.น้ำทะเลน้ำใช้การได้ 4 ล้าน ลบ.ม./ปี 4.น้ำท่าจากคลองธรรมชาติ 676 ล้าน ลบ.ม./ปีน้ำใช้การได้ 8 ล้าน ลบ.ม./ปี 5.น้ำบาดาลที่มีศักยภาพการพัฒนา 72 ล้าน ลบ.ม./ปี
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงความต้องการใช้น้ำในอนาคตของภูเก็ตโดยประมาณการไว้ว่า ในปี 2565จะมีปริมาณความต้องการราว 76.91 ล้านลบ.ม./ปี ในปี 2570 จะเพิ่มเป็น 98 ล้านลบ.ม./ปี และ ปี 2580 จำนวน 120 ลบ.ม./ปี สำหรับการผลิตน้ำประปาของเกาะภูเก็ตนั้นมีกำลังการผลิตสูงถึง 75 ลบ.ม./ปี แต่มีปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับผลิตน้ำประปาที่ 60 ลบ.ม./ปี
แนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำตามศักยภาพและความเหมาะสม
1.เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งเก็บกักน้ำและเพิ่มศักยภาพการจ่ายน้ำของแหล่งน้ำ เช่นการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำ/ขุมน้ำ และการขุดลอกแหล่งน้ำ
2.เพิ่มปริมาณการสูบใช้น้ำจากน้ำท่าให้มากขึ้น เช่น การสร้างสถานีสูบน้ำเพิ่ม ทั้งเพื่อการน้ำไปใช้โดยตรงและการสูบเก็บสำรองในแหล่งน้ำ
3.ส่งเสริมเอกชนผลิตขายน้ำประปาให้รัฐในระยะยาว
4.บริหารจัดการน้ำโดยในฤดูฝนมุ่งเน้นให้ใช้น้ำท่าเป็นหลักและเก็บสำรองน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงแล้ง
นอกจากนี้ ยังมีแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 23 โครงการ ประกอบด้วย แผนงานระยะสั้น (ปี 2566-2570) 18 โครงการ แผนงานระยะกลาง(ปี 2571-2580) 4 โครงการ และแผนงานระยะยาว(ตั้งแต่ปี 2580 อีก 1 โครงการ)
ภูเก็ต คือความหวังของคนไทยในการดึงรายได้เข้าประเทศ ตามโครงการPhuket Sandbox ผลงานเหล่านี้ที่กรมชลประทานได้ดำเนินการ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในวันข้างหน้า
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี