Home Isolation หรือการรักษาตัวที่บ้าน เป็นแนวทางที่นำมาใช้ในปัจจุบันเพื่อรับมือสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เนื่องด้วยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย (สีเขียว) หากให้ทุกคนไปอยู่โรงพยาบาลทั้งหมดย่อมกระทบทั้งต่อผู้ติดเชื้ออีกส่วนหนึ่งที่มีอาการปานกลางไปถึงอาการรุนแรง (สีเหลือง-สีแดง) ตลอดจนผู้ป่วยโรคอื่นๆ โดยผู้ที่เข้ากระบวนการรักษาตัวที่บ้าน จะได้รับยาในปริมาณเพียงพอและสามารถติดต่อกับโรงพยาบาลได้ หากอาการทรุดลงก็จะได้รับการส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที
สัปดาห์นี้ “ที่นี่แนวหน้า” ขอนำเสนอตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการ Home Isolation ของ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ซึ่งอยู่ในสังกัด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่พัฒนาระบบจัดการการดูแลผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation Management System)ขึ้นมา โดย รศ.พญ.วริสรา ลุวีระ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายว่า การรักษาแบบ Home Isolation ที่บ้าน มี 2 กรณี คือ
1.ผู้ติดเชื้อรักษาตัวที่บ้านตั้งแต่แรก หลังจากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 กับ 2.หลังจากที่ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลสนามไปประมาณ 7-10 วัน เมื่ออาการดีขึ้นจนไม่มีหรือแทบไม่มีอาการ สามารถกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านในลักษณะของการแยกกักตัว พร้อมกับมีระบบการติดตามของทีมแพทย์และพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยจากที่ใช้ระบบนี้มา พบว่าสามารถใช้งานง่ายและได้ผลดีในแง่ผู้ป่วยสามารถกักตัวที่บ้านได้จนกระทั่งสิ้นสุด 14 วันของการรักษา
“ผู้ป่วยสามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านโดยสามารถที่จะแยกจากชุมชนได้ นอกจากนี้ยังทำให้หมอและพยาบาลทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นลักษณะของการติดต่อสื่อสารผ่านมือถือหรือคอมพิวเตอร์ เมื่อถึงเวลาคนไข้จะรายงานอุณหภูมิร่างกาย ออกซิเจนในเลือด และทีมแพทย์-พยาบาล จะประเมินว่าผิดปกติหรือไม่ผิดปกติ นอกจากนี้ในระหว่างที่มีการรักษาอยู่ที่บ้าน เราก็สามารถที่จะให้คำแนะนำต่างๆ แก่คนไข้ผ่านทางระบบนี้ได้ ถ้าคนไข้มีปัญหา สงสัย จะสามารถสอบถามทางระบบได้ตลอดเวลา” รศ.พญ.วริสรา กล่าว
รศ.พญ.วริสรา กล่าวต่อไปว่า ในการเลือกผู้ป่วยที่จะเข้าสู่กระบวนการรักษาแบบ Home Isolation เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของประเทศไทย โดยคนไข้จะต้องเป็นผู้ที่มีอายุไม่เกิน 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว อยู่ในกลุ่มคนไข้ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก มีการประเมินบ้านผู้ป่วย การใช้เครื่องมือสื่อสารของผู้ป่วยด้วยว่า สามารถที่จะใช้เครื่องมือสื่อสารเพื่อที่จะติดต่อกับทีมแพทย์ได้อย่างดีหรือไม่ ถ้าผ่านเกณฑ์ทั้งหมดผู้ป่วยจึงจะสามารถเข้าสู่ระบบ Home Isolation ได้ ฉะนั้นผู้ที่เหมาะกับการรักษาในลักษณะนี้ มักจะเป็นวัยทำงานหรือนักศึกษา
ทั้งนี้ เน้นย้ำให้ผู้ป่วยอยู่เฉพาะแต่ในบ้าน และเมื่อผู้ป่วยอยู่แต่ในบ้านชุมชนรอบข้างจะไม่มีความเสี่ยง นอกจากนี้ยังเน้นให้เป็นบ้านที่มีผู้อาศัยอยู่ร่วมไม่มาก เช่น อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมอีก 1 คน ในแนวทางปฏิบัติ ต้องต่างคนต่างอยู่ คนไข้จะอยู่ในห้องของตัวเองเป็นห้องที่มีพร้อมทุกอย่าง มีห้องน้ำ เพื่อที่จะไม่ไปสัมผัสกับบุคคลที่อยู่ในบ้าน ถ้าจะติดต่อสื่อสารกันในบ้านแนะนำให้ใช้ระบบสื่อสารที่ไม่ต้องพบเจอกันตรงๆ แต่หากต้องเจอกันก็ต้องให้ใส่หน้ากากอนามัยทั้งคู่และอยู่ห่างกัน 2 เมตรขึ้นไป และเมื่อครบ 14 วันแล้วก็จะกลับไปใช้ชีวิตในชุมชนได้
ด้านอดีตผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาจนหายดีแล้วและยินดีเปิดเผยเรื่องราวอย่าง วราภรณ์ นาบุญ เล่าว่า เมื่อได้รับแจ้งว่าติดเชื้อ ได้เตรียมของใช้ที่จำเป็นสำหรับ 14 วัน โดยวันแรกเข้ารักษาที่รพ.ศรีนครินทร์ ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจึงย้ายไปรักษาโรงพยาบาลสนามอยู่ 11 วัน จึงทำให้ทราบว่ามีโครงการนี้ และคิดว่าตนเองน่าจะเข้าข่ายผู้ป่วยที่เป็นไปตามเกณฑ์โครงการ เพราะตั้งแต่เข้ามาอยู่โรงพยาบาลสนาม ไม่มีอาการไข้ตัวไม่ร้อน แต่ไม่ได้กลิ่น จึงขอกลับมากักตัวที่บ้านเพื่อที่จะให้มีเตียงเหลือสำหรับคนที่มีอายุมากกว่า
“คุณหมอจะโทรมาพูดคุยขั้นตอนการดูแลรักษาตนเอง ขั้นตอนที่เราต้องไปอยู่กับบุคคลอื่น การทิ้งขยะการพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ การห้ามใกล้ชิดผู้อื่น ต่อจากนั้นคุณหมอก็ประสานกับทีมรถจัดส่ง เตรียมเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ที่วัดไข้จะมีเป็นกล่องให้เลย และมีถุงดำสำหรับใส่ขยะส่วนตัวที่แยกจากคนที่อยู่ในบ้าน ชุดยาสามัญประจำบ้าน ชุดแมส แอลกอฮอล์สำหรับฉีดพ่นทุกๆ ที่ ที่จะสร้างความเสี่ยงกับบุคคลอื่น
หนูกลับมาดูแลกักตัวเองที่บ้านอีก 3 วัน โดยมีพี่อยู่บ้านด้วย หนูจะใส่แมสตลอดเวลาและทุกที่ที่ไปก็จะฉีดพ่นแอลกอฮอล์ทุกจุด ขยะ ของใช้ส่วนตัว จะใส่ถุงดำ เพราะคุณหมอกำชับและเคร่งมาก เมื่อเต็มแล้วก็จะมัดปากถุงและใส่ถุงซ้อนกันประมาณ 3 ชั้นฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์พ่นให้ทั่วถุงวางไว้ประมาณ 3 วันและค่อยทิ้ง” วราภรณ์ ระบุ
วราภรณ์ เล่าต่อไปว่า ในทุกวันนี้ที่พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ทีมแพทย์จะติดต่อมาทุกเช้าให้วัดออกซิเจนในเลือด วัดไข้ โดยส่งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ พร้อมกับสอบถาม เช่น ได้พบใครหรือออกไปไหนหรือไม่ รู้สึกเครียดกังวลหรือเปล่า นอกจากนี้ยังมีอาหารมาส่งไว้ที่หน้าประตูบ้านครบทั้ง 3 มื้อ เช้า กลางวันและเย็น โดยมีเมนูให้เลือกสั่ง และส่งข้อความแจ้งเมื่ออาหารมาส่งถึงบ้านแล้ว
“ทุกคนที่ติดเชื้อโควิดและมีอาการในกลุ่มสีเขียวที่สามารถดูแลตัวเองได้ หนูคิดว่าการที่เรากลับมาดูแลรักษาตัวเองที่บ้านไม่ได้น่ากลัวเพราะคุณหมอดูแลดีมาก แตกต่างจากโรงพยาบาลนิดเดียวคือเราอาจจะไม่ได้เจอพี่ๆ พยาบาลที่โรงพยาบาลสนาม แต่ว่าเชื่อว่าการกลับมาอยู่ที่บ้านอาจจะทำให้เราไม่เครียดและผ่อนคลายได้มากกว่า และลดภาวะการครองเตียง มีเตียงเพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการได้ใกล้ชิดคุณหมอมากกว่าเรา การดูแลในลักษณะนี้ไม่ยุ่งยาก เราแค่ต้องปฏิบัติตามข้อที่คุณหมอให้อย่างเคร่งครัด” วราภรณ์ กล่าวในท้ายที่สุด
ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูล Home Isolation มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ที่ https://homeisolation.kku.ac.th/ และอ่านการใช้งานระบบได้ที่ https://th.kku.ac.th/71567/
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี