เมื่อพูดถึง “แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ” ต้องบอกว่าประเทศไทยมีดีไม่เป็นรองใครในโลก โดยเฉพาะ “ทะเลและชายหาด” ที่ทำรายได้อย่างมหาศาลให้เศรษฐกิจไทยตลอดทุกปีเสมอมาในช่วงที่โลกยังไม่เผชิญสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทั้งนี้ หนึ่งในสิ่งของที่หลายคนพกติดตัวไปเสมอคือ “ครีมกันแดด” เพื่อรักษาผิวให้เนียน แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่ซบเซา สิ่งที่นักท่องเที่ยวควรระมัดระวังคือ “การไม่นำครีมกันแดดบางชนิดเข้าไปในพื้นที่อุทยาน” เพราะจะมีความผิดตามกฎหมาย
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ “ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ” ในเล่ม 138 ตอนพิเศษ 175 ง “ผู้ฝ่าฝืนอาจถูกปรับสูงสุดถึง 1 แสนบาท” ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.ภณิดา ซ้ายขวัญ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ได้อธิบายที่มาที่ไปของความจำเป็นที่ต้องมีประกาศฉบับนี้อันเป็นไปเพื่อปกป้องทรัพยากรทางทะเล
รศ.ดร.ภณิดาเปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีงานวิจัยจากหลายประเทศที่ระบุถึงสารเคมีบางชนิดที่ก่อให้เกิดปัญหาปะการังฟอกขาว ซึ่งเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์กันแดดอยู่ 4 ชนิด คือ 1.Oxybenzone(Benzophenone-3, BP-3) 2.Octinoxate(Ethylhexyl Methoxycinnamate) 3.4-MethylbenzylidCamphor (4MBC) และ 4.Butylparaben
โดยงานวิจัยในไทยส่วนใหญ่ระบุตรงกันค่อนข้างชัดเจนว่า Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) และ Octinoxate (Ethylhexyl Methoxycinnamate) ส่งผลกระทบต่อสารคุมรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต หรือ ดีเอ็นเอ (DNA) ของปะการัง โดยไปยับยั้งการสร้างเซลล์ใหม่ ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโต และก่อให้เกิดการฟอกขาวของปะการัง ส่วนงานวิจัยเกี่ยวกับ4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben แม้ไม่ได้ระบุสาเหตุที่ชัดเจนนัก แต่สาระสำคัญในประกาศที่ออกมาล่าสุด ถือว่าครอบคลุมสารเคมีทุกชนิดที่ส่งผลให้เกิดปะการังฟอกขาวแล้ว
ซึ่งจากการตรวจสอบย้อนหลังเกี่ยวกับข้อกฎหมายห้ามใช้ครีมกันแดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยถือเป็นชาติแรกๆ ของโลกที่ออกกฎหมายนี้ ต่อจากรัฐฮาวาย (สหรัฐอเมริกา) และสาธารณรัฐปาเลา ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ ซึ่ง TSE มองว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของมนุษยชาติและเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรทางทะเล โดยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่การคิดค้นผลิตภัณฑ์ ซึ่งวิศวกรเคมีถือเป็นบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมสกินแคร์ (Skincare) ด้วยการขานรับข้อกฎหมาย และช่วยหาทางแก้ไขตั้งแต่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“การเติบโตของอุตสาหกรรมสกินแคร์ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยการนำสารเคมีทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้ผลลัพธ์จากการใช้งานดูเป็นธรรมชาติ แทนสารเคมีรุ่นเก่าที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสง แต่ทำให้ผิวดูขาววอกไม่เป็นธรรมชาติ
แต่เมื่อมีกฎหมายใหม่ที่ห้ามใช้สารเคมีรุ่นใหม่เช่นนี้ ทางออกที่ TSE มองว่าเหมาะสำหรับผู้ที่หลงใหลกิจกรรมทางทะเลที่ง่ายและใช้ได้ทันที คือการเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดที่ส่วนผสมของสารเคมีรุ่นบุกเบิกอย่างไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium dioxide TiO2) และซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) โดยสังเกตได้จากฉลากที่กำกับข้างผลิตภัณฑ์ ซึ่งสารเคมีรุ่นบุกเบิกทั้ง2 ชนิด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างแน่นอน” รศ.ดร.ภณิดา กล่าว
รศ.ดร.ภณิดา กล่าวต่อไปว่า เมื่อพิจารณาจากผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า จะพบว่ายังมีสารเคมีที่เป็นส่วนผสมจำนวนมากที่ส่งผลต่อการฟอกขาวของปะการัง อาทิ ส่วนผสมในสบู่ แชมพู โฟมล้างหน้า เป็นต้น ซึ่งไม่รวมปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นทางสังคมอีกมากมาย แต่การมีกฎหมายห้ามใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีบางชนิดในพื้นที่อุทยานถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ต้องควบคู่กับการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพด้วย
“การตรวจสอบว่าผู้ใดใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีต้องห้ามในพื้นที่อุทยาน เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก TSE จึงมีข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันการออกเครื่องหมายกำกับที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้งานได้มากขึ้น โดยไม่ส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตที่เคร่งครัดมากนัก นั่นหมายถึง การใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดทั่วไปยังสามารถเลือกใช้สารเคมีที่มีขายทั่วไปได้อยู่ แต่เมื่อไหร่ที่มีความจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่อุทยาน ต้องควบคุมให้ใช้งานได้เฉพาะผลิตภัณฑ์กันแดดที่ระบุว่าไม่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งจะช่วยยกระดับการบังคับใช้กฎหมายใช้เป็นรูปธรรมและจับต้องได้มากขึ้น” รศ.ดร.ภณิดา ระบุ
รศ.ดร.ภณิดา ยังกล่าวอีกว่า TSE มีแผนที่จะพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนยุคใหม่ให้มากขึ้น อาทิ การให้ความสำคัญกับ “เศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Economy)” ที่นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal หรือ SDGs) ที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของสังคมในทุกมิติ เพื่อสร้างสมดุลของการเติบโตไปพร้อมกันแบบองค์รวม สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาของประเทศไทย
สัปดาห์นี้ “ที่นี่แนวหน้า” นำเสนอเรื่องราวของกฎหมายใหม่ที่นักท่องเที่ยวต้องรู้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน “ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)” รับโลกหลังยุคโควิด-19 ที่การท่องเที่ยวต้องเปลี่ยนผ่านสู่การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี