ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครับ ฝากเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่ง ไว้ในความคำนึงของท่านและคณะรัฐมนตรีด้วย นั่นคือ อย่าเอาความปลอดภัยของประชากรทั้งประเทศ ไปเป็นเครื่องสังเวยความต้องการ “คะแนนนิยมทางการเมือง” ของพวกท่าน
ความคิดเรื่องจะ “เปิดประเทศ” เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยับตัวได้นั้น ไม่เลวเลย ดีเสียด้วย แต่ช่วยดูองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องให้ครบก่อนนะครับ ว่า “เราพร้อมหรือยัง”
อย่าให้คนทั้งประเทศ ต้องมาร่วมรับผิดชอบคำพูดที่ท่านลั่นวาจาไว้ว่า “อีก 120 วัน เปิดประเทศ” โดยที่ชุดตรวจวัคซีน และแผนปฏิบัติการทั้งหลาย “ยังไม่พร้อม” เลยครับ เพราะสุดท้ายคนที่ต้องรองรับ “ผลของมัน” ก็คือ ประชากรทั้งประเทศนี่แหละ
1) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงการเดินหน้าเปิดประเทศในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19
สายพันธุ์เดลต้าไม่น่ากลัว เพราะทั่วประเทศก็เป็นสายพันธุ์นี้เกือบทั้งหมด ที่ห่วงคือสายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น และมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน
โดยการเปิดประเทศให้มีการท่องเที่ยวเกิดขึ้น เข้าใจว่า น่าจะเป็นการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาของเศรษฐกิจ แต่อยากให้นำบทเรียนของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มาประกอบพิจารณาด้วย เพราะแม้ฉีดวัคซีนครบหมดแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อ และหากยกเลิกมาตรการกักตัวหรือ Quarantine ก็น่าเป็นห่วง เพราะการทำแซนด์บ็อกซ์ หมายถึงการดำเนินการบางพื้นที่เท่านั้น ไม่ใช่พื้นที่ทั้งหมด ไม่เกิดผลกระทบวงกว้างและสามารถยกเลิก หรือแก้ไขได้
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า หากมองในทางวิชาการ การที่ไทยจะเปิดประเทศตามที่จะดำเนินการนั้น ถือว่าเปิดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ เพราะการเปิดประเทศในต่างประเทศ หมายความว่า ประเทศนั้นมีการฉีดวัคซีนเกิน 70% แต่สำหรับประเทศไทย ขณะนี้การเฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ยังแค่ 38%เข็ม 2 เพียง 18% เท่านั้น หากต้องการความแน่นอนว่า เปิดจริงมีความปลอดภัย ต้องฉีดวัคซีนเข็ม 1 ให้ได้ 60% และเข็ม 2 ต้องได้ 40-50% แต่จะเร่งฉีดตอนนี้ ก็คงไม่ได้ความจริงหากจะเปิดประเทศ รออีกสัก 1 เดือนก็ได้เพื่อให้มั่นใจว่าทุกอย่างพร้อมจริงๆ “ใครทำอะไรต้องรับผิดชอบด้วย”
พร้อมกล่าวอีกว่า จากการนี้การทำงานของแพทย์ก็คงต้องกลับมาเหนื่อยกันอีก ยังแทบไม่ได้พักกันเลย ตอนนี้สิ่งที่ห่วงคือหากมีการกลับมาระบาดอีก เตียงผู้ป่วย เตียงไอซียูต้องเพียงพอ ไม่ควรต้องเผชิญกับเตียงไม่พออีก และหวังว่าจะไม่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่มีผลต่อวัคซีน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
2) ข้อมูลจาก “หมอพร้อม” วันที่ 12 ก.ย. 2564 เวลา 12.03 น. พบว่า มีการฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 40.23 ล้านรายหรือ 40.49% แบ่งเป็น กลุ่มประชาชนทั่วไป 22 ล้านคน ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้น 8.02 ล้านคน ผู้มีโรคประจำตัว 4.67 ล้านคน บุคลากรทางการแพทย์ 3.42 ล้านคน เจ้าหน้าที่ด่านหน้า 2.04 ล้านคน และหญิงตั้งครรภ์ 0.07 ล้านคน
เมื่อจำแนกตาม 5 จังหวัด ที่มีแผนการจะเปิดรับการท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วางแผนจะเปิดพื้นที่ในเดือน ต.ค.นี้ พบว่ามีเฉพาะพื้นที่ กรุงเทพฯ ที่มีผู้รับวัคซีนเกิน 30% นั่นคือมีผู้รับวัคซีน 7.92 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อจำนวนประชากร 34.85% ส่วนจังหวัดชลบุรี มีผู้ที่ได้รับวัคซีน 2.32 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.30% เพชรบุรีมีผู้ที่ได้รับวัคซีน 465,410 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.46% ประจวบคีรีขันธ์ มีผู้ที่ได้รับวัคซีน 560,841 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 17.66% และเชียงใหม่ มีผู้ที่ได้รับวัคซีน 1.89 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 15.57%
3) วันที่ 18 กันยายน 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ว่า ภาพรวมขณะนี้ดีขึ้น ประชาชนสามารถใช้ชีวิตวิถีใหม่อยู่กับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ได้อย่างเคร่งครัดตามมาตรการป้องกันตนขั้นสูงสุดแบบครอบจักรวาล เช่น การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาระยะห่าง งดไปในสถานที่แออัด เป็นต้น ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่28 ก.พ.-16 ก.ย. 2564 ฉีดวัคซีนรวม 43,342,103 โดส โดยฉีดครบ 2 เข็ม จำนวน 14,285,995 โดส และฉีดเข็มที่ 1ไปแล้ว จำนวน 28,436,015 โดส ซึ่งฉีดได้ประมาณ9 แสนโดสต่อวัน พร้อมทั้งเร่งรัดให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1ให้ได้ ร้อยละ 50 อย่างช้าภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ตามเป้าของกระทรวงสาธารณสุข
4) นอกจาก 5 จังหวัดที่ว่าแล้ว “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.การท่องเที่ยวฯ จ่อเปิดอีก 21 จังหวัด เริ่ม 15 ต.ค.นี้ ครอบคลุมทั้งประเทศ รวมทั้งเตรียมจับคู่ประเทศเพื่อนบ้านกับจังหวัดชายแดนปีหน้า หวังฟื้นท่องเที่ยวประเทศ โดยบอกว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้พยายามหาทางฟื้นการท่องเที่ยวผ่านการทำพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศแบบไม่มีการกักตัว โดยที่ผ่านมาได้เปิดไปแล้วในระยะแรก และในระยะที่ 2 เตรียมเปิดเพิ่มอีก 5 พื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเชียงใหม่ ส่วนในระยะที่ 3 จะเปิดเพิ่มอีก 21 จังหวัด เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. เป็นต้นไป ซึ่งจะครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ
สำหรับ 21 จังหวัดล่าสุดที่เตรียมเปิดเป็นพื้นที่นำร่องเพิ่มเติม ประกอบด้วย พื้นที่ภาคเหนือ คือ จังหวัดลำพูน แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย และสุโขทัย พื้นที่ภาคอีสาน คือ จังหวัดอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และอุบลราชธานี พื้นที่ภาคตะวันตก คือ จังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี พื้นที่ภาคตะวันออก คือ จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด พื้นที่ภาคกลาง คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ภาคใต้ คือ จังหวัดระนอง ตรัง สตูล สงขลา และนครศรีธรรมราช
5) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ กรณีการเปิดประเทศ โดยเฉพาะ
ใน กทม. วันที่ 15 ต.ค. นี้ ว่า ขณะนี้ได้นับหนึ่งไปแล้วแต่ทยอยเปิดพื้นที่ที่มีความพร้อมและมีความเหมาะสม ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดคือ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และสมุยพลัส ซึ่งได้มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ซึ่งในช่วง 2 เดือน นับตั้งแต่ 1 กรกฎาคม-สิ้นเดือนสิงหาคม มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาภูเก็ต 31,000 กว่าคนแต่ประเด็นใหญ่ก็คือ เมื่อเราคิดจะขยายจากภูเก็ตแซนด์บอกซ์ไปเป็นอันดามันแซนด์บอกซ์ เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวที่มาพักภูเก็ตครบ 7 วันแล้วเดินทางต่อไปยังพังงา กับกระบี่ ยังเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งขยายผลให้บรรลุเป้าหมายต่อไปแม้จังหวัดพังงาจะพร้อมแล้วในบางพื้นที่ที่กำหนดไว้ เช่น เขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ หรือจังหวัดกระบี่ ที่เกาะไหง ไร่เลย์ เกาะพีพี แต่ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยว 31,000 กว่าคน ที่เดินทางไปยังพังงา กระบี่ ยังมีจำนวนน้อยเป็นตัวเลขเพียงหลักร้อย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่จะเป็นการบ้านสำหรับทุกฝ่ายที่จะต้องช่วยกันกระจายนักท่องเที่ยวจากภูเก็ตต่อไปยังพังงา กระบี่ต่อไป
นายจุรินทร์กล่าวว่า ภารกิจที่ควรจะได้เดินหน้าต่อคือ การนำจังหวัดระนองเข้ามารวมกับอันดามันแซนด์บ็อกซ์โดยเฉพาะเกาะพยาม ซึ่งหลังจากได้รับเรื่องจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวจังหวัดระนองที่เห็นว่า เกาะพยามมีความเหมาะสมและตนได้ดูเบื้องต้นแล้วก็เห็นว่ามีความเหมาะสม อีกทั้งใช้จำนวนวัคซีนไม่มาก เพียงหลักพันโดสเท่านั้น ก็สามารถเปิดเกาะพยามได้จึงได้แจ้งเรื่องนี้ต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทราบแล้วซึ่งขณะนี้นายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งการให้นำเรื่องนี้ไปพิจารณาในรายละเอียดต่อไป นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาพื้นที่อื่นเพิ่มเติมด้วย เช่น เชียงใหม่ พัทยา หัวหิน เป็นต้น
“การเปิดประเทศได้ดำเนินการอยู่แล้ว และได้นับหนึ่งมาแล้วตั้งแต่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ต่อไปจะมีพื้นที่ไหนอีก เช่น กรุงเทพมหานคร อันนี้ก็จะต้องมีการพิจารณาร่วมกันระหว่างรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้รับผิดชอบในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ เวลา ศบค. จะเคาะว่าจะเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวตรงไหนก็ฟังความเห็นผู้ว่าราชการด้วยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นกรุงเทพฯ ถ้าจะถามว่าจะเปิดเมื่อไหร่ก็ต้องอยู่ที่ความเห็นร่วมที่จะได้มีการพูดคุยกันต่อไปหลักของการเปิดประเทศยังมีอยู่ เพราะท่านนายกฯประกาศเป็นนโยบายไปแล้ว แต่จะเปิดตรงไหนอย่างไรก็ต้องดูความพร้อม ความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่เป็นกรณี เป็นพื้นที่ไป โดยดูเศรษฐกิจ กับโควิดให้เกิดความสมดุลกัน ให้สามารถดูแลทั้งสองเรื่องได้ในเวลาเดียวกัน” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว
6) ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ จากจังหวัดกระบี่ โพสต์เฟซบุ๊คว่า
“...ที่กระบี่ ติดโควิดปิดหมู่บ้านกัน วัคซีนมาช้า มาน้อยไม่เหมือนที่รัฐบาลสัญญา คนแก่ติดเตียง คนพิการยังรอคอยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปฉีดให้ที่บ้าน เพราะที่ขนมาได้ก็ขนออกมาหมดแล้ว เมื่อไหร่จะมีนโยบาย อพม. สนธิ อสม. ตั้งงบให้ออกฉีดคนเปราะบางที่บ้านสักที เหลือไม่มากแล้ว ทำไมไม่ทำให้ครบ วันนี้จะหารือรัฐมนตรี
...วัคซีนโดนเลื่อนอีกแล้ว ไม่รู้รอบที่เท่าไหร่ ห้องคลอดปิด ห้องผ่าตัดทำความสะอาดฆ่าเชื้อ คนเยี่ยมไข้นำเชื้อมาติด ผู้ป่วยฟอกไตติดเชื้ออีก หมอเหนื่อยจนหมดแรง พยาบาลไม่ได้กลับบ้านมาสามเดือนแล้ว ข่าวว่าปกครองท้องถิ่นเริ่มเคืองสาธารณสุขในบางพื้นที่เพราะต้องรับกันแต่นโยบายส่วนกลาง
...ประกาศปิดหมู่บ้าน เป็นบวกต่อสาธารณสุข แต่ล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ประชาชนยากจนสิ้นทางออก จากคนทำมาหากินได้ กลายเป็นผู้ที่ต้องรอรับถุงยังชีพ
เมืองนอกเมืองนาเปิดประเทศกันแล้ว เราคงต้องเปิดในหกเดือนนี้ถ้าวัคซีนมาทัน รัฐบาลควรประกาศให้ประชาชนออกจากความกลัว ระดมวัคซีนมาฉีด เดินหน้าชีวิตได้แล้ว ลูกอุปการะการศึกษารายงานมา อ่านแล้วท้อใจ นักศึกษามหาลัยมียายตาแก่ มียาง 2 ไร่ และมีน้องพิการ พ่อหายแม่ตาย เค้ารายงานมาแบบนี้.. ใจเราคิดอย่างไร
...Atk เป็นอุปกรณ์สำรอง อุปกรณ์หลักคือวัคซีน กับภูมิคุ้มกันหมู่ ใครๆ ก็รู้ว่า ตอนนี้ราคา atk ลงมากขนาดไหน สามเดือนก่อนเคยได้มา ราคา 250 บาท เดือนก่อนรัฐบาลซื้อขาย 75 บาท แต่ทั้งระบบราชการยังขายกัน 250 บาท
...เพื่อนส่งมาของ อ.ย. 175 บาท ขายกันกระหน่ำเมือง หน่วยงานท้องถิ่นยังตั้งราคาซื้อกัน 250 บาท โฆษณาเต็มบ้านเต็มเมือง ตรวจสอบกันดีหน่อยมั้ยคะ บ้านเมืองบอบช้ำพอแล้ว ทำงานรักษาชีวิตชาวบ้านด้วยความซื่อสัตย์ในสภาวะวิกฤติได้บุญดับเบิลเลยนะคะ ไม่ต้องเข้าคุก เมื่อไหร่ระบบตรวจสอบคอร์รัปชั่นจะทำงานได้จริง ไม่ใช่พิธีกรรมสักที
...สะท้อนความทุกข์ชาวบ้าน คือ หน้าที่สส. #ผู้แทนน้ำผึ้ง#กระบี่อยู่ที่ใจ #ประชาธิปัตย์กระบี่
7) วันที่ 16 กันยายน 2564 นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และนายพันธ์พิสุทธิ์ นุราช ว่าที่ผู้สมัครสส.เขตบึงกุ่ม พรรคประชาธิปัตย์ นำตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหาร และร้านค้ารายย่อย รวมถึงหาบเร่แผงลอยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ยื่นข้อเรียกร้องถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาผ่าน นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภาเรียกร้อง ศบค.ยกเลิกเคอร์ฟิว หรือขยายเวลาเคอร์ฟิวเพิ่มเติมจาก 21.00 น. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยให้กลับมาดำเนินกิจการต่อได้ เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว
นายปริญญ์กล่าวว่า ผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านค้าธุรกิจกลางคืน และหาบเร่แผงลอย เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 และได้มีความพยายามที่จะปรับตัวตามมาตรการการบริหารของภาครัฐมาโดยตลอด แม้ปัจจุบันจะได้รับอนุญาตให้เปิดบริการและนั่งทานในร้านได้แล้ว แต่ยังคงมีปัญหาในเรื่องของการกำหนดระยะเวลาเคอร์ฟิวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ให้เปิดบริการได้ไม่เกิน 21.00 น. ซึ่งไม่เพียงพอต่อการหารายได้ในแต่ละวัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เริ่มดำเนินการในช่วงเย็น ที่จะต้องเตรียมตัวปิดร้านหลังเวลาเปิดได้ไม่นาน ทำให้เสียโอกาสในการประกอบอาชีพ ในขณะเดียวกันประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้รับความสะดวกสบายในการรับประทานอาหารด้วยเช่นกัน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะ Work from Home หรือเลือกทานอาหารได้ในช่วงเวลาจำกัด
ทั้งนี้ ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป.เข้าใจความเดือดร้อนดังกล่าวของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดี จึงอยากให้ ศบค.พิจารณาผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวโดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยผู้ประกอบการให้ประคองธุรกิจผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้ อำนวยความสะดวกให้ประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นคืนในเร็ววัน โดยนายปริญญ์เน้นย้ำในตอนท้ายว่า “เวลา” ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไม่ควรนำมาใช้ตีกรอบการประกอบอาชีพของประชาชน
ด้าน นางดรุณวรรณกล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในการที่จะให้มาตรการด้านสาธารณสุขกับมาตรการทางด้านเศรษฐกิจเดินไปควบคู่กัน เพราะ
อย่างไรก็ตาม ประเทศก็มีความจำเป็นที่จะต้องผ่อนคลายมาตรการบางอย่างเพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ จึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐจัดทำ Good Practice ให้เหมาะสมกับธุรกิจแต่ละประเภท เช่นเดียวกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มี Good Factory Practice เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนได้เตรียมพร้อมกับการเตรียมเปิดประเทศ
“หากวันนี้ยังไม่เตรียมการทำอะไรเพิ่มเติม เชื่อว่าในวันที่รัฐบาลเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ อาจไม่เหลือผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายย่อย ที่จะมารองรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศมาในอนาคตได้” นางดรุณวรรณ กล่าว
สรุป :
1.นโยบายเปิดประเทศรับการท่องเที่ยว เป็นความต้องการของใคร อย่างที่ภูเก็ต ชัดเจนว่าเป็นความต้องการของคนในพื้นที่ เขาเป็นคนริเริ่ม ร่วมมือกันทั้งภาคประชาชน เอกชน และราชการ เมื่อรัฐเข้าไปส่งเสริม สนับสนุนเรื่องวัคซีน และอื่นๆ ก็ดำเนินการได้ บวกกับภูมิประเทศที่เป็นเกาะควบคุมการเคลื่อนไหวของประชากรได้ง่ายกว่าที่อื่นๆ แต่ที่จะเปิดใหม่ๆ เป็นความต้องการของนายกฯ ของรัฐมนตรีหรือว่าพื้นที่นั้นๆ พร้อมแล้วด้วยตัวของเขา
2.ชุดตรวจยังมาแบบ “ฝนหน้าแล้ง” ยังแพง ยังไม่ทั่วถึงยังไม่สร้างยุทธ์ศาสตร์ตรวจเพื่อให้รู้ว่าเชื้ออยู่ตรงไหน แยกไปรักษาก่อนอาการหนัก กักคนมีเชื้อ ปล่อยคนไม่มีเชื้อ ใช้ชีวิตตามหลักนิว นอร์มอลอย่างร่วมไม้ร่วมมือ ตามด้วยวัคซีนทั่วถึง และขีดจำกัดของระบบสาธารณสุขที่ไม่ตึงมื ยุทธศาสตร์เหล่านี้ยังสะเปะสะปะ เลื่อนลอย ประชาชนยังต้อง“เอาตัวรอด” เองให้ได้ จิตอาสายังทำงานหนักกว่าราชการ คือความพร้อม?
ย้ำอีกครั้งว่า “อย่าให้คนทั้งประเทศ ต้องมาร่วมรับผิดชอบคำพูดที่ท่านลั่นวาจาไว้ว่า “อีก 120 วัน เปิดประเทศ”ของท่าน ท่านต้องทำให้คนในประเทศปลอดภัย และพร้อมเปิดไปกับท่านให้ได้เสียก่อน!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี