เศรษฐกิจไทยจะมีอนาคตแค่ไหน?
บางคนอาจไม่แน่ใจว่ารัฐบาลชะล่าใจไปหรือเปล่า? บอกสถานการณ์จริงของภาพรวมเศรษฐกิจหรือเปล่า?
เศรษฐกิจไทยจะหายนะเหมือนที่นักการเมืองฝ่ายค้าน ฝ่ายแค้น หรือฝ่ายที่โจมตีกล่าวอ้างว่าจะต้องเปลี่ยนรัฐบาลเท่านั้น จริงหรือเปล่า?
วันนี้ ขออนุญาตสรุปการประเมินภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ)
แบงก์ชาติได้พิจารณาข้อมูลรอบด้าน ทั้งจากแบบจำลองทางเศรษฐกิจมหภาค ข้อมูลรายสาขาเศรษฐกิจ รวมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นโดยตรงจากผู้ประกอบการทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศ และสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการประเมินภาวะและแนวโน้มทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำ ครอบคลุมทุกมิติทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค
เอกสารอย่างเป็นทางการล่าสุด คือ รายงานนโยบายการเงิน จัดทำขึ้นเป็นรายไตรมาส โดยเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการเงินฯ เพื่อสื่อสารแนวความคิดและเหตุผลของการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการฯ ต่อสาธารณชน (รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินฯ ฉบับย่อ ครั้งที่ 6/2564 วันที่ 29 กันยายน 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยแพร่ ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2564)
กรรมการที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ประธานฯ) นายเมธี สุภาพงษ์ นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวานนายคณิศ แสงสุพรรณ นายรพี สุจริตกุล นายสมชัย จิตสุชน
นายสุภัค ศิวะรักษ์
สรุปประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
1. เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่เลื่อนมาจากช่วงก่อนหน้า (pent-up demand) ในช่วงที่เหลือของปี 2564 จากพัฒนาการด้านวัคซีนที่ปรับดีขึ้น และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด ซึ่งส่งผลให้ประมาณการเศรษฐกิจใกล้เคียงกับการประเมินครั้งก่อน แม้การส่งออกชะลอลง
อย่างไรก็ดี ต้องติดตามพัฒนาการด้านวัคซีนทั้งการนำเข้าและกระจายวัคซีนตามแผนของรัฐบาล รวมถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนที่อาจฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาดหากการระบาดกลับมารุนแรงขึ้น ประกอบกับภาคส่งออกยังเผชิญปัญหา global supply disruption รวมถึง จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามนโยบายการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะจีน
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการฟื้นตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันมากขึ้น (uneven recovery) ทำให้ตลาดแรงงานยังเปราะบาง ซึ่งประเมินว่าจำนวนผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน ณ สิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ 3.4 ล้านคน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ
สะท้อนจากจำนวนลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่ขอรับสิทธิทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยที่เพิ่มขึ้น
ต่อเนื่อง รวมถึงเห็นสัญญาณแรงงานเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนาสูงขึ้นต่อเนื่อง
ภาครัฐจึงควรดูแลภาคเศรษฐกิจและตลาดแรงงานในจุดที่เปราะบางอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวหลังการระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects)
2. ควบคุมโรค กับผ่อนคลายเพื่อเศรษฐกิจ ต้องสมดุล
กนง. เห็นว่า โจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยควรมุ่งเน้นการรักษาสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาด และความสามารถในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและครัวเรือน
ทั้งนี้ ในระยะต่อไป ประเมินว่าการกระจายวัคซีนที่มีความคืบหน้าจะช่วยให้จำนวนผู้ป่วยวิกฤตปรับลดลงมาใกล้เคียงกับระดับศักยภาพของระบบสาธารณสุข ทำให้การใช้มาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวดมีความจำเป็น น้อยลง และภาครัฐสามารถดำเนินมาตรการที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาใกล้เคียงปกติได้มากขึ้น
3. มาตรการคลังคือกลไกสำคัญ ขยายเพดานหนี้สาธารณะจำเป็น
กนง. เห็นว่า มาตรการการคลังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้งการเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ โดยในระยะต่อไป ควรเน้นการสร้างรายได้และเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟู และยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การระบาดคลี่คลาย
นอกจากนี้ กนง.เห็นว่า การขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็นร้อยละ 70 จะเอื้อให้ภาครัฐสามารถผลักดัน
นโยบายเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDPลดลงในระยะต่อไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐที่จะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว
ทั้งนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐควรเน้นโครงการที่มีประสิทธิผลสูง เช่น มาตรการที่รัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายและภาคเอกชนมีส่วนร่วม (co-payment) เพื่อให้มีตัวทวีทางการคลังสูงและได้ผลในวงกว้างขึ้น รวมทั้งควรมีกระบวนการใช้จ่ายที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
โดยระยะต่อไป ภาครัฐควรเตรียมแนวทางที่ชัดเจนในการทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ปรับลดลงเพื่อรักษาวินัยทางการคลัง รวมทั้งสร้างพื้นที่ทางการคลังเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต อาทิ การหารายได้เพิ่มเติมจากการสร้างฐานรายได้ใหม่ การควบคุมสัดส่วนของรายจ่ายประจำ การเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างและยกศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว
4. ควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดและต่อเนื่อง
กนง.เห็นว่า นโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่ยังมีปัญหาในการกระจายสภาพคล่องที่มีอยู่มากไปสู่ธุรกิจ SMEs และครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูระยะที่ 1 ซึ่งเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนเมษายน – กันยายน 2564 ช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วง 6 เดือนแรก
สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อคืบหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่กระจายตัวดี ทั้งด้านจำนวนและความเสี่ยงของลูกหนี้ แต่ควรเร่งผลักดันกระจาย สภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดและต่อเนื่อง อาทิ
(1) มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูระยะที่ 2 หลังจากที่ได้ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้าประกันให้สามารถรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น และขยายวงเงินสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่วงเงินเดิมน้อยหรือไม่เคยมีวงเงิน
(2) มาตรการพักทรัพย์พักหนี้
(3) มาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อาทิ โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด
และ (4) การผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้เห็นผลในวงกว้าง เพื่อให้ลูกหนี้ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ อาทิ การให้ความยืดหยุ่นในการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นหนี้และการกันเงินสำรอง เพื่อลดภาระต้นทุนของสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้ยั่งยืนขึ้นมากกว่าการขยายเวลาชำระหนี้เพียงอย่างเดียว และการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือร้อยละ 0.23 ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปในการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง
สรุป ข้างต้นนั้น คือ ข้อมูลจากรายงานนโยบายการเงินล่าสุด ซึ่งถือว่ามีความแม่นยำ ครอบคลุม และเป็นมืออาชีพอย่างยิ่งในการประเมินสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
สุดท้าย จึงขอให้ความเห็นว่า ถ้าบ้านเมืองไม่มีการสร้างความปั่นป่วนทางการเมือง ก่อม็อบเผาบ้าน
เผาเมือง ยุยงปลุกปั่นด้วยเฟคนิวส์จนก่อให้เกิดการต่อต้านการดำเนินการตามมาตรการภาครัฐที่จะค่อยๆ ผ่อนคลายทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เชื่อแน่ว่า เศรษฐกิจไทยก็จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมา
เศรษฐกิจประเทศไทยรอดแน่ๆ
ไม่ได้จะหายนะอย่างที่กลุ่มการเมืองที่สูญเสียผลประโยชน์ส่วนตัวบางกลุ่มพยายามยุยงบิดเบือน ด้วยต้องการแย่งชิงอำนาจรัฐ เล่นการเมืองกันในสถานการณ์ที่ควรแก้วิกฤตของบ้านเมือง
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี