เห็นลิ่วล้ออดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ออกมาพูดจาหาเสียง ให้ลูกพี่
ทำนองว่า ถ้าลูกพี่ยังอยู่ จะไม่ปล่อยให้ชาวนาเดือดร้อนแบบนี้
เห็นแล้ว เกิดอาการคลื่นไส้ คล้ายจะอาเจียน
ก็ใครมันหนีคดีไปเอง ไม่ยอมมาฟังคำพิพากษา กองเชียร์ยังถูกหลอกให้รอเก้อ ทิ้งบุญทรงและพวก
ติดคุก ทิ้งหนี้ไว้ให้คนไทยทั้งประเทศแบกรับ ผ่อนชำระ โดยไม่ได้อะไรกลับคืนมาอีกนับ 10 ปี มูลค่าเกือบสามแสนล้านบาท
1.ขณะนี้ ราคาข้าวตกต่ำจริง แต่มันมีเหตุปัจจัยของมัน
มันไม่ได้หมายความว่า ถ้าทำโครงการจำนำข้าวแล้ว ราคาข้าวในตลาดโลกมันจะสูง อันนั้นมันพิสูจน์กันแล้วว่าไม่จริง ขี้โม้ โกหก ตรงกันข้าม ตอนทำโครงการจำนำข้าวกลับทำให้ไทยเสียตลาดส่งออกให้ประเทศคู่แข่ง ส่วนชาวนาก็ได้ใบประทวนมาถือไว้ เงินไม่ได้ เพราะมันโกงกันจนไม่มีเงินหมุนมาจ่ายค่าข้าวชาวนา
2.รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้ทำโครงการโคตรโกงจำนำข้าว ลองถ้าทำจำนำข้าวแบบยิ่งลักษณ์ และขายจีทูจีเก๊แบบยิ่งลักษณ์ด้วย ป่านนี้หนี้สินจำนำข้าวน่าจะทะลุไปเกือบ 2 ล้านล้านบาท แล้วจะมีพ่อค้าข้าวที่หากินกับการโกงร่ำรวยเหมือนในยุคเสี่ยเปี๋ยง บุญทรง ยิ่งลักษณ์ ทักษิณ
3.รัฐบาลปัจจุบันใช้นโยบายประกันรายได้
เมื่อราคาข้าวในตลาดจะตกต่ำ ชาวนาก็จะได้รับเงินส่วนต่างเพิ่มเติม
โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินส่วนต่างเติมให้ชาวนาเป็นประจำ เป็นงวดๆ ไป
ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ย้ำว่า ธ.ก.ส.จะเริ่มโอนเงินส่วนต่างงวดแรกให้ในวันที่ 9 พ.ย.ที่จะถึงนี้ จากนั้นจะเป็นงวดทุกสัปดาห์ จะเป็นไปตามที่ได้แจ้งไว้ว่าจะเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่
4.เงินส่วนต่างที่ว่านี้ คือ ส่วนต่างระหว่างราคาเกณฑ์กลางที่ใช้อ้างอิงว่าเป็นราคาตลาด กับราคาที่รัฐบาลประกาศประกันรายได้ไว้
ถ้าราคาตลาดตกต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลประกาศประกันรายได้ไว้ ชาวนาที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ก็จะได้รับเงินส่วนต่างเพิ่มเข้าบัญชี
ถ้าน้ำท่วมข้าว เก็บเกี่ยวไม่ได้ เสียหาย แต่หากขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ชาวนาก็ยังจะได้รับเงินส่วนต่างนี้อยู่ดี
ถ้าไม่อยากขายข้าว เก็บเกี่ยวเสร็จก็ไม่ต้องขาย เก็บข้าวไว้ ชาวนาก็ได้เงินส่วนต่างนี้อยู่ดี
ถ้ามีไอเดีย เอาข้าวไปแปรรูปทำอย่างอื่น ชาวนาก็ทำไปเลย แต่ก็จะยังได้รับเงินส่วนต่างนี้อยู่ดี
เรียกว่า คนจะรัก ยืนเฉยๆ ลุงตู่ก็รัก เอาเงินส่วนต่างมาช่วย ยามที่ราคาตกต่ำ
5.ล่าสุด คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และรายละเอียดการจ่ายชดเชยตามโครงการประกันรายได้ข้าว ปีการผลิต 2564/65 มติเห็นชอบให้คงหลักการการกำหนดผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ แหล่งที่มาของราคา และการคำนวณราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเช่นเดียวกับโครงการประกันรายได้
ปีที่ 1 และปีที่ 2
โดยการคิดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงจะเฉลี่ยมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ ราคาข้าวเปลือกที่กรมการค้าภายในสืบราคา
ข้าวเปลือกจากสมาคมโรงสี และราคาข้าวเปลือกที่คำนวณจากราคาข้าวสาร ซึ่งการคำนวณราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงจะใช้ราคารายวันย้อนหลัง 7 วัน จากทั้ง 3 แหล่งมาเฉลี่ย เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงที่ได้เป็นปัจจุบัน
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงงวดที่ 1 สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2564 จะใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลังระหว่างวันที่ 5-14 ตุลาคม 2564 โดยได้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและชดเชยส่วนต่างข้าวแต่ละชนิด ดังนี้
• ข้าวเปลือกหอมมะลิ 10,864.23 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 4,135.77 บาท
• ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 10,407.75 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 3,592.25 บาท
• ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 9,947.87 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 1,052.13 บาท
• ข้าวเปลือกเจ้า 8,065.38 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 1,934.62 บาท
• ข้าวเปลือกเหนียว 7,662.53 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 4,337.47 บาท
ชาวนาก็เตรียมรับเงินกันไปตามพื้นที่และผลผลิตที่ลงทะเบียนไว้
ยกตัวอย่าง ปลูกข้าวเปลือกเจ้า 5 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 610 กก. ผลผลิตประมาณ 3 ตัน ก็จะได้เงินส่วนต่าง 3*1,934 = 5,802 บาท
แต่ถ้าปลูกเยอะ สมมุติมีผลผลิตข้าวเปลือกเจ้า 30 ตัน ก็จะได้เงินชดเชยสูงสุดถึง 58,000 บาท
ล่าสุด ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง งวดที่ 2 (เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 15-21 ตุลาคม 2564) และงวดที่ 3 (เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 22-28 ตุลาคม 2564) ก็ประกาศออกมาหมดแล้ว
เรียกว่า พร้อมกดเครื่องคิดเลข คำนวณ แล้วโอนเงินเข้าบัญชีชาวนา
6. นอกจากเงินส่วนต่างที่จะได้จากโครงการประกันรายได้แล้ว รัฐบาลยังมีมาตรการคู่ขนาน เช่น
จูงใจให้เกษตรกรรวบรวมจัดเก็บไว้ในยุ้งฉาง โดยได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท
เพิ่มสภาพคล่องในการรับซื้อข้าวเปลือกแก่สหกรณ์และโรงสี โดยชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ระยะเวลา 2-6 เดือน สำหรับโรงสี และ 1 ปี สำหรับสหกรณ์ ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า แม้ราคาข้าวตกต่ำตามสถานการณ์ตลาดโลก แต่รัฐบาลปัจจุบันก็ไม่ได้ทอดทิ้ง ยังคงมีนโยบาย
และมาตรการช่วยเหลือชาวนา เพียงแต่ไม่เลือกใช้โครงการโคตรโกงจำนำข้าว
นั่นทำให้พวก “เสือหิวเสือโหย” ที่เคยหากินกับโครงการจำนำข้าวเก็บอาการไว้ไม่อยู่
7. ที่น่าแปลกใจ คือ อดีตรองนายกฯ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ก็ออกมาหาเสียง-หาแสง กับเขาด้วย
ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุให้มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ได้เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้แก่ BULOG ประเทศอินโดนีเซียแต่เพียงผู้เดียว (ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์)
นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้เคยชี้แจงรายละเอียดพฤติการณ์ต่อสื่อมวลชน รายละเอียดที่น่าสนใจ โดยสรุป ดังนี้
พบว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2554 องค์การคลังสินค้า กับองค์การสำรองอาหาร หรือ BULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย ทำสัญญาซื้อขายข้าว ปริมาณ 300,000 ตัน ในราคาตันละ 559 เหรียญสหรัฐ
และเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาดังกล่าว องค์การคลังสินค้าจึงได้ออกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการค้าข้าวให้เสนอขายข้าวขาว 15% เพื่อส่งมอบให้แก่ BULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยวิธียื่นซองเสนอราคา ในวันที่ 13 ธันวาคม 2554 โดยไม่ปรากฏว่าหนังสือดังกล่าวได้มีการประกาศเป็นการทั่วไป ซึ่งไม่ชอบด้วยระเบียบองค์การคลังสินค้าว่าด้วยการจัดซื้อสินค้าเพื่อการค้าปกติ พ.ศ. 2541
ต่อมา เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2554 มีผู้ยื่นซองเสนอราคา จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และบริษัท นครสวรรค์ค้าข้าว จำกัด ทั้งสองบริษัทได้มอบอำนาจให้พนักงานของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้มายื่นซองเสนอราคา
ผลการพิจารณาคุณสมบัติ ปรากฏว่า บริษัท นครสวรรค์ค้าข้าว จำกัด ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ จึงเหลือเพียงบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เพียงบริษัทเดียว
ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าในขณะนั้น ได้อนุมัติให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้แก่BULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยองค์การคลังสินค้าได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายข้าวกับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำนวน 100,000 ตัน ราคาตันละ 559 เหรียญสหรัฐ และต่อมา องค์การคลังสินค้าได้มีการทำบันทึกต่อท้ายสัญญากับบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด เพื่อตกลงซื้อขายข้าวเพิ่มเติมอีก จำนวน 200,000 ตัน
โดยไม่มีการออกประกาศเชิญชวนเป็นการทั่วไปให้ผู้ประกอบการค้าข้าวเสนอราคาขายข้าวเพื่อแข่งขันราคากันแต่อย่างใด
เข้าข่ายกระทำไปโดยมุ่งหมายและมีวัตถุประสงค์ที่จะเอื้ออำนวยให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ได้เข้าเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับองค์การคลังสินค้าและไม่ต้องแข่งขันราคากับผู้เสนอราคารายอื่น โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม อันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่องค์การคลังสินค้า
ตัวแทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้เข้าพบนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ ในขณะนั้น ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทักท้วง แต่นายกิตติรัตน์ไม่ใช้อำนาจในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้มีการตรวจสอบ หรือดำเนินการใดๆ เพื่อยับยั้งหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์การคลังสินค้าดังกล่าว กลับแจ้ง แก่ผู้แทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รวมถึงให้ข่าวแก่สื่อมวลชนว่า จะไม่มีการทบทวนเรื่องดังกล่าว โดยกล่าวอ้างว่าการดำเนินการขององค์การคลังสินค้า เป็นไปโดยชอบ และทางฝ่ายBULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย เป็นผู้เลือกบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด
แต่ปรากฏว่า BULOG ไม่เคยให้ข้อเสนอแนะหรือแนะนำรายชื่อผู้ส่งออกข้าวให้กับองค์การคลังสินค้าแต่อย่างใด
แสดงให้เห็นเจตนาว่าต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ได้เป็นผู้ส่งมอบข้าว ให้แก่ BULOG ของรัฐบาลอินโดนีเซีย แต่เพียงผู้เดียว
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงชี้มูลนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กฎหมายอาญา มาตรา 157
ขณะนี้ คดีอยู่ในชั้นอัยการสูงสุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี