เมื่อวันอังคาร 2 สัปดาห์ ที่ผ่านมาผมได้นำเสนอเรื่องเล่าของป๋าเปรม เรื่อง “สานใจไทย สู่ใจใต้”โครงการตอบแทนคุณของแผ่นดิน สัปดาห์นี้ ดร.สุเมต สุวรรณพรหม เสนอว่าวันนี้ให้ย้อนกลับไป ถึงสาเหตุที่เกิดความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ทั้ง5จังหวัดและวิธีการแก้ปัญหา ดับไฟใต้ เผื่อว่าผู้มีอำนาจในปัจจุบันจะทดลองนำไปใช้ดูบ้างครับ โดยได้เริ่มต้นเล่าให้ผมฟังว่า
ช่วงเวลาของปี พ.ศ 2519 ถึง 2522 ในขณะนั้นพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่สถานการณ์ภายในประเทศประสบปัญหาความรุนแรงจากการก่อการร้าย ของคอมมิวนิสต์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ 5 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยสตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา ก็ต้องประสบปัญหาผู้ก่อการร้าย อย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน
ซึ่งสาเหตุ ที่เกิดจากพวกขบวนการโจรก่อการร้ายโจรจีนคอมมิวนิสต์และโจรผู้ร้ายธรรมดาที่ถือโอกาสปล้นสะดมประชาชน ข่มขู่เรียกค่าคุ้มครอง ปิดถนน เผาโรงเรียนปล้นรถทัวร์ ส่งผลกระทบกระเทือนต่อขวัญและความสงบสุขในการทำมาหากินของราษฎรเป็นอันมาก แม้กำลังของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทั้งฝ่ายปกครองตำรวจและทหารจะเข้าปราบปรามอย่างหนัก แต่เหตุการณ์ก็ไม่ดีขึ้นและกลับเลวร้ายลงไปอีกเนื่องจากพวกก่อการร้ายเหล่านี้พยายามสร้างเงื่อนไข และเหตุการณ์หลายอย่าง ที่ดึงเอาเรื่องศาสนาอิสลามซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับถือและศรัทธาเข้ามาเกี่ยวข้องจนเกิดความเข้าใจผิดกันขึ้นระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง
และเมื่อ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ เร่งพิจารณาปัญหานี้และเสนอแนะแนวทางแก้ไขโดยด่วนเมื่อเดือนเมษายนพ.ศ 2523
ถึงตอนนี้ นต.ประสงค์ สุ่นศิร ได้เล่าว่า ในตอนนั้น ผมยังเป็นรองเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งในขณะนั้นได้สั่งการให้ผมรีบดำเนินการในเรื่องนี้
ความจริงแล้วสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติได้เคยศึกษาปัญหาต่างๆของจังหวัดชายแดนใต้และติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์มาโดยตลอดและได้เคยเสนอแนะรัฐบาลในชุดก่อนก่อนเกี่ยวกับนโยบายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้บ้างแล้วและผมเองรวมทั้งเจ้าหน้าที่ก็ได้เดินทางไปในพื้นที่เพื่อดูข้อเท็จจริงของปัญหาต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่เป็นประจำ
ดังนั้นข้อมูลต่างๆ จึงพอจะมีอยู่บ้างเมื่อได้รับคำสั่งให้ดำเนินการตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี ผมและเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เดินทาง ดูสถานการณ์และตรวจสอบข้อเท็จจริง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกจังหวัด ทุกอำเภอแม่กระทั่งตำบลและหมู่บ้านอีกครั้งหนึ่งในช่วงระยะเวลา ของเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ 2523 ได้พบปะกับประชาชนตามหมู่บ้าน ครูตามโรงเรียนต่างๆ
ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นครูอิสลามบรรดาผู้นำมุสลิมในแต่ละ ท้องถิ่น รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ได้ร่วมประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่กองทัพภาคที่ 4 หลายต่อหลายครั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา ก็ได้เข้าร่วมประชุมด้วยหลายครั้ง ที่กองทัพภาคที่ 4 ค่ายคอหงส์อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลาและได้เดินทางไปดูเหตุการณ์กับผมในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์รุนแรงหลายแห่ง
น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ได้สรุปประเด็นสำคัญต่างๆได้คือ
ข้อ 1.การแก้ไขปัญหาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้แม้จะมีนโยบายความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐบาลกำหนดไว้แล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีแผนแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เจ้าหน้าที่ยังขาดการประสานงานในการทำงาน เพราะแต่ละหน่วยงานมีแผนของตนเองและมีสายการบังคับบัญชาควบคุมของตน โดยเฉพาะ ซึ่งต้องรายงานเข้าสู่ส่วนกลางในกรุงเทพฯ ทำให้ไม่สามารถตกลงใจในพื้นที่ได้ด้วยลำพังตนเอง
ข้อ2.การแก้ไขปัญหาต่างๆกระทำไม่ต่อเนื่องเมื่อมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก็แก้ไขกันคราวหนึ่งไม่มีการทำงานอย่างเป็นระบบขาดการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
ข้อ 3.ข้าราชการยังมีการปฏิบัติงานและมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมหลายอย่างในการทำงานเพื่อบริการประชาชนรวมทั้งความรู้ความเข้าใจในการทำงานในพื้นที่ที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแตกต่างจากพื้นที่ภาคอื่นๆ ของประเทศ
ข้อ 4.ความแตกต่างทางศาสนาระหว่างไทยพุทธและไทยอิสลามไม่ใช่เป็นตัวปัญหาหากแต่เป็นเรื่องของการฉวยโอกาสแอบอ้างใช้ศาสนา เป็นเครื่องมือก่อความวุ่นวายเท่านั้น
ข้อ 5.ยังมีประชาชนนิยมและพูดภาษาไทยน้อยโรงเรียนปอเนาะที่จัดตั้งกันไว้อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายสมควรดำเนินการให้เป็นโรงเรียนราษฎร์ สอนศาสนาอิสลามอย่างถูกกฎหมายและสนับสนุนเรื่องครูวัสดุอุปกรณ์ในการเรียนการสอนให้ดีขึ้น
ข้อ 6.ความยากจนในการทำมาหากินของราษฎรในหมู่บ้านห่างไกล เส้นทางคมนาคมยังเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข
ข้อ 7.การประชาสัมพันธ์ของรัฐ ยังขาดประสิทธิภาพ ในการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมุสลิม เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์อย่างถูกต้อง
ข้อ 8.ขวัญของประชาชนและเจ้าหน้าที่หลายหน่วยตกต่ำสืบเนื่องมาจากความไม่สามารถให้ความคุ้มครองปลอดภัยได้อย่างเต็มที่เพราะกำลังพลที่ขาดแคลนในบางหน่วย และบางหน่วยยังมีกำลังพลที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งขาดแคลน อุปกรณ์เครื่องมือ
ประเด็นสำคัญ 8 ประการดังกล่าวนี้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้นำเสนอ ต่อ ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งมีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ร่วมกันพิจารณาหารือ ถึงแนวทางปฏิบัติ ในชั้นต้น ก่อนนำเสนอพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
หลังจากนั้น พลเอกเปรม ได้สั่งการให้นัดประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หลังประชุมแล้วพลเอกเปรมในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้สั่งการ ให้สรุปเรื่องสำคัญรวม 3 เรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา คือ.. “จำเป็นต้องมีการปรับปรุงการบริหารราชการด้านต่างๆ รวม 3 ด้านคือระบบบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านประสิทธิภาพข้าราชการ และด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้”
และนี่คือ หัวใจสำคัญในการดับไฟใต้ วันนี้พื้นที่หมดแล้วจะขอนำรายละเอียด มานำเสนอในตอนต่อไป ท่านใดต้องการอุดหนุนหนังสือ รัฐบุรุษคู่แผ่นดิน ติดต่อ ไปได้ ที่ดร.สุเมธ สุวรรณพรม โทรศัพท์ และ ID Line 081 110 3939ข่าวดีว่าจะมอบ หลวงพ่อทวด เหยียบน้ำทะเลจืด จากวัดพะโค้ะจังหวัดสงขลา ให้ด้วย และขอบคุณภาพประกอบบทความนี้จากเว็ปไซด์กรมศิลปากร สวัสดีครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี