เมื่อวันพุธ (23 กุมภาพันธ์) สาธารณชนที่ติดตามเฟซบุ๊คของคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ มุนินทร์ พงศาปาน จะได้พบกับข้อความแสดงความเห็นเรื่องความสอดคล้องต้องกันของการใช้ดุลยพินิจของศาล โดยระบุว่าผู้ต้องหารายเดียวกัน ถูกกล่าวหาหลายวาระ แม้อยู่ในเขตอำนาจของศาลที่ต่างกัน แต่ความรุนแรงของข้อหาคล้ายคลึงกัน การที่ผู้พิพากษาของแต่ละศาลใช้ดุลยพินิจไม่สอดคล้องกัน อาจทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมตกต่ำลง แม้ว่าผู้พิพากษามีความเป็นอิสระในการตัดสินชี้ขาดข้อพิพาท แต่การปฏิบัติหน้าที่ต้องคำนึงถึงความสอดคล้องต้องกันของการใช้ดุลยพินิจ (consistency in judicial opinions)
ความเห็นของคณบดีนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์มีความน่าสนใจมากตรงประเด็นการใช้ดุลยพินิจของศาล ที่จำเป็นต้องสอดคล้องต้องกันในข้อหาที่คล้ายคลึงกัน
อันที่จริงคนไทยส่วนมาก (รวมถึงคนทั่วโลกด้วยก็ว่าได้) ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องของการใช้ดุลยพินิจของศาล ดังนั้น เมื่อศาลตัดสินอย่างไร ก็จึงต้องว่าไปตามคำตัดสินเหล่านั้น(แม้ลึกๆ ในใจของผู้แพ้คดีจะไม่เชื่อศาลก็ตาม)
ตามหลักของกฎหมายแล้ว เชื่อกันว่า ภายใต้หลักนิติรัฐ เครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งก็คือกฎหมาย เพราะกฎหมายเป็นทั้งที่มาของอำนาจ และยังเป็นการจำกัดการใช้อำนาจในการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่รัฐ
เมื่อพูดถึงเรื่องดุลยพินิจของศาล (อ้างตามข้อเขียนของมุนินทร์ พงศาปาน) ก็ทำให้ต้องย้อนกลับไปดูบทความเรื่อง ความเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เขียนโดย สมยศ เชื้อไทย อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ แล้วจะพบความต่างกันของคำว่าดุลยพินิจกับดุลพินิจ (ประเด็นเรื่องคำว่าดุลยพินิจกับดุลพินิจ จะยังไม่ขอกล่าวถึงในวันนี้)
อย่างไรก็ตาม การใช้ดุลพินิจโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความสำคัญมากต่อความสงบสุขของสังคม เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายซึ่งได้กำหนดไว้แน่นอนและตายตัวให้สอดคล้องข้อเท็จจริงที่ปรากฏ แต่ทั้งนี้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายต้องไม่ใช้ดุลพินิจอันนำไปสู่ความไม่ยุติธรรมแก่บุคคล แต่การใช้อำนาจดุลพินิจโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมต้องมีความเป็นอิสระตามขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ โดยกฎหมายให้อำนาจการเลือกตัดสินใจไว้หลายทาง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ใช้กฎหมายสามารถปรับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ทีนี้ขอให้เราทุกคนย้อนกลับไปพิจารณาการใช้ดุลยพินิจ (ดุลพินิจ) ของศาลไทยในการตัดสินคดีความต่างๆ ทั้งคดีใหญ่ คดีเล็ก คดีที่เกิดกับคนมีอำนาจ และคดีที่เกิดกับคนไร้อำนาจแล้วก็ย้อนกลับไปพิจารณาหลักการใช้ดุลยพินิจของศาล เราคงจะได้ทราบว่าจริงๆ แล้วศาลไทยใช้ดุลยพินิจตามหลักของกฎหมายจริงหรือไม่
แน่นอนว่าไม่มีข้อกำหนดตายตัวเรื่องการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจเลือกกระทำหรือไม่กระทำการใดๆให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ซึ่งอาจจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายที่เป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยต้องยึดหลักความเสมอภาค และความได้สัดส่วน หากเจ้าหน้าที่ของรัฐยึดหลักนี้อย่างเคร่งครัด สังคมก็จะเกิดความสงบสุข และมีความสมานฉันท์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี