เดือนเมษายน เป็นเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์มากมาย
หนึ่งในนั้น คือ เหตุการณ์กรุงศรีอยุธยาแตก เมื่อปี 2310
ล่าสุด เพจ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม ได้นำเสนอข้อเขียนที่เรียบเรียงโดย วาทิน ศานติ์ สันติ ได้วิเคราะห์บทเรียนประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาแตก เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310
เนื้อหาน่าสนใจที่จะนำไปคิดวิเคราะห์กันต่อ บางตอน ระบุว่า
...เหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 นั้นคำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งถือเป็นหลักฐานชั้นต้นได้บันทึกเอาไว้ว่า
“พม่าเห็นได้ที ก็ระดมเข้าตีปล้นกรุงศรีอยุธยา ทำลายเข้ามาทางประตูที่พระยาพลเทพนัดหมายไว้ ก็เข้าเมืองได้ทางประตูทิศตะวันออกในเวลากลางคืน เมื่อ ณ วันอังคาร ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ จุลศักราช ๑๑๒๘ (7 เมษายน พ.ศ. 2310) ไล่ฆ่าฟันผู้คนล้มตายลงเปนจำนวนมาก เอาไฟเผาโรงร้านบ้านเรือนภายในพระนครศรีอยุธยาเสียเปนอันมาก ขณะนั้นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาและพระมเหสีพระราชโอรสธิดากับพระราชวงศานุวงศ์ก็หนีกระจัดกระจายกันไป พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จหนีไปซุ่มซ่อนอยู่ประมาณสิบเอ็ดสิบสองวันก็เสด็จสวรรคต”
ส่วนในพระนิพนธ์ไทยรบพม่า ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเรียบเรียงขึ้นหลังเหตุเสียกรุงประมาณ 160 ปี ได้เล่าไว้ว่า
“ครั้นถึงวันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นวันเนาสงกรานต์ เพลาบ่าย ๓ โมง พม่าก็จุดไฟสุมรากกำแพงเมืองตรงหัวรอที่ริมป้อมมหาไชย และยิงปืนใหญ่ระดมเข้าไปในพระนคร จากบรรดาค่ายที่รายล้อมทุกๆ ค่าย พอเพลาพลบค่ำ กำแพงเมืองตรงที่เอาไฟสุมทรุดลง เพลาค่ำ ๘ นาฬิกา แม่ทัพพม่าก็ยิงปืนสัญญาณให้เข้าปีนปล้นพระนครพร้อมกันทุกด้าน พม่าเอาบันไดพาดปีนเข้าได้ตรงที่กำแพงทรุดนั้นก่อน พวกไทยที่รักษาหน้าที่เหลือกำลังจะต่อสู้ พม่าก็เข้าพระนครได้ในเวลาค่ำวันนั้นทุกทาง นับเวลาแต่พม่ายกมาตั้งล้อมพระนครได้ปี ๑ กับ ๒ เดือน จึงเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึก”
พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังได้บรรยายถึงการทำลายล้างกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ว่า
“เมื่อพม่าเข้าพระนครได้นั้นเป็นเพลากลางคืน พม่าไปถึงไหนก็เอาไฟจุดเผาเหย้าเรือนของชาวเมืองเข้าไปจนกระทั่งปราสาทราชมนเทียร ไฟไหม้ลุกลามแสงสว่างดังกลางวัน ครั้นพม่าเห็นว่าไม่มีผู้ใดต่อสู้แล้ว ก็เที่ยวเก็บรวบรวมทรัพย์จับผู้คนอลหม่านทั่วไปทั้งพระนคร แต่เพราะเป็นเวลากลางคืนพวกชาวเมืองจึงหนีรอดไปได้มาก พม่าจับได้สัก ๓๐,๐๐๐ ส่วนพระเจ้าเอกทัศ มหาดเล็กพาลงเรือน้อย หนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในสุมทุมพุ่มไม้ที่บ้านจิก ริมวัดสังฆาวาส แต่พม่ายังหารู้ไม่ จับได้แต่พระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงผนวชกับเจ้านายโดยมาก ทั้งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยและพระภิกษุสามเณรที่หนีไปไม่พ้น พม่าก็จับเอารวมไปคุมไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ส่วนผู้คนพลเมืองที่จับได้ ก็แจกจ่ายกันไปควบคุมไว้ตามค่ายนายทัพนายกองทั้งปวง แล้วพม่าเที่ยวตรวจเก็บบรรดาทรัพย์สมบัติทั้งสิ่งของ ของหลวงของราษฎรตลอดจนเงินทองของเครื่องพุทธบูชาตามพระอารามใหญ่น้อย ไม่เลือกว่าของที่จะหยิบยกได้หรือที่ไม่พึงจะหยิบยกได้ ดังเช่นทองเงินที่แผ่หุ้มพระพุทธรูป มีทองคำที่หุ้มพระศรีสรรเพชญดาญาณเป็นต้น พม่าก็เอาไฟสุมพระพุทธรูปให้ทองละลายเก็บเอามาจนสิ้น เท่านั้นยังไม่พอ พม่ายังจะเอาทรัพย์ซึ่งราษฎรฝังซ่อนไว้ตามวัดวาบ้านเรือนต่อไปอีก เอาราษฎรที่จับไว้ได้ไปชำระซักถาม แล้วล่อลวงให้ส่อกันเอง ใครเป็นโจทก์บอกทรัพย์ของผู้อื่นให้ได้ก็ยอมปล่อยตัวไป ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์ถ้าไม่บอกให้โดยดี พม่าก็เฆี่ยนตีและทำทัณฑกรรมต่างๆ เร่งเอาทรัพย์จนถึงล้มตายก็มี”
อย่างไรก็ดี แม้ว่าบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวจะชวนให้คิดว่า พม่าคือต้นเหตุที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาย่อยยับแต่ฝ่ายเดียว แต่ สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวว่า “อยุธยาที่เห็นเหลือแต่ซากทุกวันนี้ เป็นฝีมือคนพื้นเมืองและไทยจีนกันเองทั้งนั้น แต่มักโยนบาปเหมาให้พม่าพวกเดียว” ก่อนเสริมว่า “ไฟไหม้ใหญ่ในพระนครศรีอยุธยา ก่อนกรุงแตก 3-4 เดือน ไม่ใช่พม่าลอบเผา แต่คนในเมืองลักลอบเผากันเอง เพราะทัพอังวะล้อมกรุงอยู่นอกเมืองเป็นปกติ ยังตีไม่ได้อยุธยา จึงไม่มีส่วนเผาตลาดกลางเมืองอยุธยา” นอกจากนี้ยังมีบันทึกของชาวต่างชาติที่กล่าวถึงการขุดทำลายเมืองเพื่อหาซากสมบัติโดยฝีมือคนพื้นเมืองทั้งไทยและจีนหลังจากที่พม่าได้ยกทัพกลับไปแล้วด้วย
และในส่วนที่มีการกล่าวอ้างว่า พม่าเป็นผู้เผาลอกทองพระศรีสรรเพชญ์ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ผู้เสนอว่า เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร คือ “เศียรพระศรีสรรเพชญ์” ก็ได้ให้ความเห็นที่ต่างออกไปโดยระบุ หลักฐานที่เอามาอ้างกันนั้นมาจากเอกสารที่เขียนขึ้นในยุคหลังและเมื่อพลิกรายงานการขุดค้นทางโบราณคดีที่ฐานชุกชีพระศรีสรรเพชญ์ ก็ไม่พบร่องรอย “ชั้นดินที่ถูกเผา” แต่อย่างใด (พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร. “เชื่อไหม? พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก!”มติชนออนไลน์ 23 มี.ค. 2560)
#สาเหตุการเสียกรุงครั้งที่ 2 (พ.ศ.2310)
สมัยอยุธยาตอนปลาย ภายหลังสิ้นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ชาวอยุธยาหลงใหลกับความสุขสบายมากเกินไป จนเกิดความประมาท ระบบราชการหย่อนยานบ้านเมืองอ่อนแอไม่สามารถต่อสู้กับข้าศึกภายนอกได้ ในที่สุดก็เสียเอกราช เมื่อวันอังคารเดือนเม.ย. พ.ศ. 2310
สาเหตุของการเสียกรุงครั้งที่ 2 ประกอบด้วย สาเหตุระยะสั้น และสาเหตุระยะยาว
1. สาเหตุระยะยาว การชิงราชย์
- เนื่องมาจากปัญหาการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นปกครองปลายกรุงศรีอยุธยา
- ทำให้ขาดผู้มีความรู้ความสามารถในการบริหารและการรบ ผู้แพ้จะถูกฆ่าล้างโคตร เพื่อไม่ให้เป็นเสี้ยนหนาม หรือถูกจองจำ ถูกถอดยศ ยิ่งเกิดการชิงราชย์บ่อยเท่าใด บ้านเมืองก็ยิ่งอ่อนแอมากเท่านั้น
- ทำให้เกิดความแตกสามัคคีในหมู่ข้าราชการ ซึ่งแตกเป็นสองฝ่ายตามแต่เจ้านายตน โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าเอกทัศ กับ พระเจ้าอุทุมพร แม้จะมีข้าศึกประชิดเมือง ข้าราชการก็ไม่สามารถสามัคคีกันได้
- ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ เพราะไพร่พลถูกเกณฑ์ไปรบ ไม่มีเวลาทำมาหากิน พ่อค้าต่างชาติไม่กล้าเข้ามาค้าขาย ทำให้บ้านเมืองขาดเสบียง เมื่อพม่าล้อมจึงเสียกรุงในที่สุด
2. สาเหตุระยะสั้น
1.1 การไร้ความสามารถของพระเจ้าเอกทัศ...
1.2 ฝ่ายไทยตั้งตนอยู่ในความประมาท
- ภายหลังสงครามยุทธหัตถี ของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ใน พ.ศ. 2135 พม่าก็ไม่เคยมาตีไทยอีกเลย จึงรบไม่เป็น - คนไทยตั้งตนอยู่ในความประมาท หมกมุ่นอยู่ในอบายมุข ขาดความสามัคคี - ขาดการฝึกซ้อมทางการทหาร การใช้อาวุธ เช่นยิงปืนใหญ่ไม่เป็น เมื่อพม่าล้อมกรุง ฝ่ายไทยผสมดินปืนไม่ได้อัตราส่วน ทำให้ยิงพลาดเป้า - ขาดการเตรียมพร้อมในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ปล่อยปละละเลยไม่เคยซ่อมบำรุง - ขาดการเตรียมเสบียงอาหาร เมื่อพม่าล้อมเมืองทำให้ต้องแบ่งปันอาหารกินเพียงพอกันตาย
1.3 ระบบการเกณฑ์ไพร่พลล้มเหลว
- เนื่องจากมีบัญชีไพร่พลอยู่ตามกรมกองต่างๆ ไม่ได้อยู่ในกรมสุรัสวดีอย่างแต่ก่อน - จำนวนไพร่พลที่แท้จริงไม่ตรงตามบัญชี เจ้ากรมกองต่างๆ มักปิดบังเพื่อประโยชน์ของตนเอง - ประชาชนหนีระบบการเกณฑ์ไพร่พล ประชาชนและขุนนางต่างหนีเอาตัวรอดเมื่อเห็นว่ากรุงจะแตก
1.4 การจัดการปกครองอาณาจักรที่เห็นแก่ความมั่นคงของกษัตริย์จนเกินไป
- เช่น ห้ามขุนนางหัวเมืองและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ไปมาหาสู่กันโดยไม่ได้พระบรมราชานุญาต ขุนนางจึงขาดความสามัคคี ขาดความร่วมมือกัน - เจ้าเมืองต่างๆ ตั้งตนเป็นใหญ่ ตั้งตนเป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา...”
ข้างต้น คือ การรวบรวมบันทึก และบทวิเคราะห์เพิ่มเติม
ปัจจุบัน ทางการไทยพยายามจะปรับวิธีสอนประวัติศาสตร์ให้น่าสนใจขึ้นเห็นว่า แนวทางที่ควรพิจารณา คือ เปลี่ยนจากการให้ท่องจำวันเวลาในประวัติศาสตร์ มาเป็นการวิเคราะห์บนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริงและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จะน่าสนใจขึ้น
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี