การโกงสอบเข้า อบต.ที่จังหวัดมหาสารคาม ในช่วงปี 2557เป็นข่าวอื้อฉาวมาก
หลังจากนั้น มีการตรวจสอบ ดำเนินคดีตามกฎหมาย
บัดนี้ บางคดี ศาลได้พิพากษาแล้ว ปรากฏผลเป็นที่น่าตื่นตะลึงกว่าเดิม
เพราะแม้แต่คนที่จะเข้าไปทำงานเป็นพนักงานระดับท้องถิ่นก็ยังโกงสอบ ด้วยการติดสินบนแก่นายก อบต. และพวก และหน่วยงานวิชาการภายนอกก็ถึงขนาด “แบ่งหน้าที่กันโกง” ด้วย
1. หากปล่อยให้ “การแบ่งหน้าที่กันโกง” แบบนี้สำเร็จ อบต.ก็จะกลายเป็นที่ทำงานร่วมกันระหว่างหัวหน้าโกง กับลูกน้องโกง
ผสานมือกันโกงทุกบาททุกสตางค์แน่ๆ
ถ้าแบบนี้ ผลประโยชน์ของประชาชนคงอยู่ลำดับท้ายๆ
2. การกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ กระจายการตัดสินใจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหลักการที่ถูกต้อง เพราะเชื่อว่าท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการแท้จริงของประชาชน เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดประชาชนในระดับพื้นที่มากที่สุด
นักการเมืองบางพรรคถึงขนาดเพ้อ ปั่นกระแสราวกับว่า ถ้าให้เลือกตั้งกันทุกระดับ ประเทศจะเจริญก้าวหน้า ปลอดโกงทันที ซึ่งเป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ มาก
เราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นหลายๆ แห่ง เช่นเสาไฟฟ้ากินรีที่ราชาเทวะ เสาไฟฟ้าสารพัดรูปแบบในท้องถิ่นหลายๆ แห่ง ฯลฯ ยืนยันได้ว่า จะโกงหรือไม่โกง ไม่ใช่ว่ามาจากการเลือกตั้งหรือไม่ แต่เพราะมีการตรวจสอบดำเนินคดีเด็ดขาดหรือไม่ต่างหาก
3. ในยุค คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 พักงาน สั่งปลดนายก อบต. ในพื้นที่มหาสารคาม กว่า 32 คน
มูลเหตุสืบเนื่องการทุจริตสอบบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบลนั่นเอง
ยุคนั้น พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ขณะนั้น)
กลโกงของการสอบ อบต.ช่วงนั้น ไม่ได้ใช้วิธีไฮเทค แยบยล หรือซับซ้อนใดๆ เลย แต่ใช้วิธีการปลอมแปลงผลการสอบ รวมทั้งจัดทำผลคะแนนเป็นเท็จกันเลยทีเดียว
4. การโกงสอบเข้า อบต. ช่วงปี 2557 ทำให้ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด กลุ่มนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม กลุ่มคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) มหาสารคาม และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลในพื้นที่ จ.มหาสารคาม จำนวนนับร้อยคน
ระบุว่า มีการเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบ รายละ 5-6 แสนบาท
ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบว่า เมื่อปี 2557 ผู้ถูกกล่าวหาได้ร่วมกันวางแผนโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ตั้งแต่การดำเนินการประสานงานให้มหาวิทยาลัย 2 แห่ง เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการจัดสอบรวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบแข่งขัน ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวไม่ได้มีการประชุมกันจริง แต่มีการจัดทำรายงานการประชุมเท็จ และมีการเบิกเงินค่าเบี้ยประชุม และค่าเดินทาง เพื่อให้เชื่อว่ามีการประชุมเพื่อจัดเตรียมการจัดสอบจริง ต่อมาเมื่อมีการจัดสอบแล้ว ผลการสอบปรากฏว่า การจัดสอบโดยมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มีผู้สอบได้ 3 คน ส่วนมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง มีผู้สอบได้ 1 คน
มหาวิทยาลัยแห่งแรก กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาได้ร่วมกันจัดทำผลคะแนนปลอมจากผู้สมัครสอบที่สอบไม่ผ่านให้เป็นผู้สอบผ่าน โดยมีการปลอมลายมือชื่อของอาจารย์และตราประทับของมหาวิทยาลัย
ส่วนมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้รับผิดชอบโครงการเป็นผู้จัดทำผลคะแนนสอบเป็นเท็จ แล้วลงลายมือชื่อของอาจารย์และตราประทับของมหาวิทยาลัยจริง ส่วนในการสอบสัมภาษณ์คณะกรรมการสัมภาษณ์ไม่มีการลงคะแนนหรือลงคะแนนด้วยดินสอ แต่ลงลายมือชื่อด้วยปากกาในตารางการให้คะแนนเพื่อให้มีการแก้ไขให้คะแนนให้เป็นไปตามที่กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาต้องการ
ผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบที่ประสงค์จะเป็นผู้สอบได้ รายละ 500,000-650,000 บาท
แล้วนำส่วนหนึ่ง รายละ 50,000 บาท เป็นค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ติดต่อ (นายหน้า) ให้ผู้สมัครสอบจ่ายเงินดังกล่าว
นำส่วนหนึ่งมอบให้อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ร่วมขบวนการที่จัดทำผลคะแนนเป็นเท็จ จำนวน 3 ล้านบาทเศษ
มอบให้ผู้ที่จัดทำผลคะแนนปลอมของมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง จำนวน 12 ล้านบาท
แถมเมื่อมีการร้องเรียนว่ามีการทุจริตการสอบดังกล่าวต่อคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบล เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรรมการพนักงานส่วนตำบลก็ได้มีการร่วมกันลงมติให้ยุติการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อปกปิดไม่ให้มีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอีกด้วย
5. ล่าสุด คดีโกงสอบ อบต.ข้างต้น ทยอยมีคำพิพากษาของศาลออกมาแล้ว
บางคดี ศาลพิพากษาจำคุกกว่า 140 ปี (ลงโทษได้สูงสุด 50 ปี)
บางคดี อดีตนายก อบต.ต้องโทษจำคุกหลายสิบปี
ปรากฏว่า มีตัวละครที่น่าสนใจรายหนึ่งในขบวนการโกงสอบ อบต. ที่ “แบ่งหน้าที่กันโกง”
ได้แก่ นาย อ. อดีตหัวหน้าภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกศาลตัดสินลงโทษรวม 14 กระทง เป็นจำคุก 140 ปี แต่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 70 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุก 50 ปี ตาม ป.อ.มาตรา 91 (3)
สำนักข่าวอิศรา เปิดเผยพฤติการณ์ตามคำพิพากษา ระบุว่า นาย อ. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะกรรมการดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลของ อบต. ในจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 12 แห่ง โดยแต่งตั้งนาย อ. ให้เป็นคณะกรรมการออกข้อสอบ คณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบ คณะกรรมการตรวจข้อสอบ คณะกรรมการประมวลผลคะแนน มีหน้าที่ดำเนินการประมวลผลข้อสอบ ดำเนินการจัดส่งผลการประมวลผลคะแนน เพื่อนำไปประกาศผลสอบต่อไป
นาย อ. ถูกระบุว่าเป็นผู้ให้การช่วยเหลือสนับสนุน อดีตนายก อบต. ในการเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน จากผู้เข้าสอบแข่งขันการตอบแทนในการช่วยเหลือหลายกรรมต่างกรรมต่างวาระกัน ให้สามารถผ่านการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุแต่งตั้งบุคคลเป็นเข้ารับราชการเป็นพนักงานส่วนตำบล ในการจัดทำคะแนนสอบ สำหรับภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) และภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข.) กระทำการแก้ไขผลสอบ จากที่ได้คะแนนสอบทั้งสองภาค ไม่ถึงร้อยละ 60 เป็นให้ผลคะแนนสอบทั้งสองภาคดังกล่าว ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
โดยนาย อ. กระทำการปลอมผลสอบ ใช้ยางลบลบกระดาษคำตอบเดิมออกแล้วดำเนินการใช้ดินสอดำฝนคำตอบใหม่แทน ทำให้ผลคะแนนสอบที่ได้ไม่ตรงต่อความเป็นจริง รับเรียกเงินจาก อดีตนายก อบต. เป็นค่าตอบแทน จำนวนเงิน 3,302,678 บาท เพื่อเป็นการตอบแทนในการดำเนินการช่วยเหลือ
อดีตนายกฯ อบต.รายหนึ่ง ได้เดินทางไปพบ นาย อ. ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอผลประโยชน์แก่นาย อ. หากตกลงจะช่วยเหลือเกี่ยวกับการดำเนินการสอบให้ผลออกมาเป็นไปตามที่พวกตนต้องการ เป็นจำนวนเงินสามล้านบาทเศษ โดยกำหนดเป็นอัตราว่าคนสอบได้คนละ 50,000 บาท ลำดับถัดไปคนละ10,000 บาท
ต่อจากนั้น ได้นัดหมายกับ นาย อ. ว่าจะพานายกองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 12 แห่ง มาพบเพื่อให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 12 แห่ง ได้เกิดความมั่นใจว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะรับเป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการ
เมื่อเข้าสู่กระบวนการจัดสอบทั่วไป หลังจากสอบเสร็จนาย อ. ได้นำกระดาษคำตอบไปที่ศูนย์ประมวลผลฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการตรวจด้วยเครื่องของศูนย์ประมวลผลฯ ผลการตรวจเท่าที่นาย อ.จำได้ไม่มีผู้ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 เลย นาย อ.จึงดำเนินการจัดทำผลคะแนนขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงกับผลคะแนนจากการตรวจของเครื่อง แล้วดำเนินการจัดส่งให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล ทั้ง 12 แห่ง เพื่อนำไปประกาศผลผู้สอบได้ของแต่ละองค์การบริหารส่วนตำบลต่อไป
ต่อมา จังหวัดมหาสารคาม โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้มีหนังสือและมอบหมายให้ท้องถิ่นจังหวัดมหาสารคามเดินทางมาขอข้อสอบภาค ก และภาค ข พร้อมเฉลยและสำเนากระดาษคำตอบของผู้เข้าสอบแต่ละรายขององค์การบริหารส่วนตำบล ทั้ง 12 แห่ง นาย อ.เกรงว่าคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจะทราบผลคะแนนที่ส่งให้องค์การบริหารส่วนตำบลกับข้อเท็จจริงคะแนนที่ปรากฏในกระดาษคำตอบของผู้สอบแต่ละคนจะไม่ตรงกัน นาย อ.จึงนำกระดาษคำตอบฉบับจริงทั้งหมดที่เก็บรักษาไว้มาดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำตอบของผู้เข้าสอบแต่ละราย โดยการใช้ยางลบแล้วใช้ดินสอฝนใหม่เพื่อให้คะแนนในกระดาษคำตอบตรงกับผลที่ส่งให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล ทั้ง 12 แห่งไปประกาศผล
แต่เนื่องจากระยะเวลาดำเนินการมีจำกัด เพราะจะต้องรีบส่งมอบเอกสารให้แก่จังหวัดมหาสารคามทำให้การแก้ไขกระดาษคำตอบดังกล่าวมีพิรุธและข้อบกพร่องมากมายซึ่งนาย อ.ก็ทราบเป็นอย่างดี แต่จำเป็นต้องปิดบังเอาไว้เพราะเกรงความผิด
นาย อ.ยืนยันเคยพบและรู้จักอดีตนายก อบต. รายดังกล่าวเนื่องจากเป็นผู้มาติดต่อและเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ดำเนินการช่วยเหลือในการสอบครั้งนี้ให้ผลปรากฏตามที่เขากับพวกซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้ง 12 แห่ง ต้องการ โดยอดีตนายก อบต. มาพบที่ห้องทำงานและเคยไปที่บ้านแต่ไม่พบกัน พบแต่น้องชายของตน ทั้งเคยไปเยี่ยมตนขณะป่วยโรคถุงน้ำดีอักเสบถึง 2 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีพยานหลักฐานชี้ชัดสอดคล้องต้องกัน ทั้งการจ่ายเงิน ทั้งพยานที่เป็นผู้เข้าสอบยืนยันได้จ่ายเงินเพื่อให้ตนเองเป็นผู้สอบแข่งขันได้สอดคล้องกับภาพสแกนกระดาษคำตอบในสำนวนการไต่สวน
ชัดเจนว่า นาย อ. ทำการแก้ไขผลคะแนนและกระดาษคำตอบของผู้เข้าสอบ เฉพาะที่จ่ายเงิน จากสอบตกเป็นสอบผ่าน การที่นาย อ. ไม่ทำการแก้ไขผลคะแนนและกระดาษคำตอบของผู้เข้าสอบที่ไม่จ่ายเงินแต่ทำการแก้ไขผลคะแนนและกระดาษคำตอบเฉพาะของผู้เข้าสอบที่จ่ายเงิน บ่งชี้ว่านาย อ. ได้รับข้อมูลรายชื่อผู้ที่จ่ายเงินจากองค์การบริหารส่วนตำบลที่เปิดสอบเมื่อปรากฏว่า อดีตนายก อบต.เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับนาย อ. จึงเชื่อว่านาย อ. ได้รับข้อมูลดังกล่าวมาจากอดีตนายก อบต.นั่นเอง
นาย อ. มีความผิดฐานพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ อบต. ฐานพนักงานกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับ โดยมีอดีตนายก อบต.และพวก เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว
อดีตนายก อบต.ในคดีนี้ โดนไป 84 ปี และ 140 ปีแต่สุดท้ายให้จำคุกคนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)
ถือเป็นอุทาหรณ์ โมเดลโกงสอบเข้า อบต. แบ่งหน้าที่กันโกง!
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี