สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับ ความห่วงใยจากหลายภาคส่วนว่า หลังจากเทศกาลสงกรานต์ 2-3 สัปดาห์จะมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้ แต่กลับพบว่าตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่แต่ละวันลดลงจากก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่ระดับ 25,000 ราย ลงมาอยู่ที่ระดับ 7,000 เศษเมื่อ 3 วันก่อน รวมทั้งผู้เสียชีวิตในแต่ละวัน ลดลงมาเหลือที่ระดับ 50 รายเศษเท่านั้น และหากตัวเลขของทั้งสองเรื่องยังรักษาระดับนี้หรือลดลงไปเรื่อยๆก็จะยิ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งว่า โรคโควิด-19 ในประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนไปเป็นโรคประจำถิ่นอย่างแน่นอนแล้ว
กระทรวงสาธารณสุขกำลังเตรียมการในการที่จะประกาศว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในวันที่ 1 กรกฎาคม นี้ ซึ่งจะเป็นการประกาศก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะออกประกาศอย่างเป็นทางการ เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ของการระบาดในประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การผ่อนคลายมาตรการในการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกเรื่อง ซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศกลับคืนมาทั้งในระดับมหภาคและระดับอื่นๆ ซึ่งย่อมเป็นสิ่งที่ดี และสอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่อยู่รอบบ้านเรา รวมทั้งในประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปยุโรป ตลอดจนในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย
ต้องถือว่าเป็นความสามารถของรัฐบาลไทย ที่ได้ให้ความสำคัญของการป้องกันและควบคุมโรคนี้เป็นอย่างมากตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโรคนี้ โดยเริ่มตั้งแต่การจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติที่มีชื่อว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. โดยมีกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สํานักงานประกันสังคม สำนักการแพทย์ฉุกเฉิน กระทรวงการคลัง ในส่วนของการจัดระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ของภาคราชการ ทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งอสม. หรืออาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านจำนวนหลายแสนคน และที่ต้องกล่าวถึงด้วยคือสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ที่ได้มีบทบาทในการประสานกับโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมในการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยมีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยทั้งประเทศ
จากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่ลดน้อยลงตามลําดับในแต่ละวันนั้น ทำให้ขณะนี้มีผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษา ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะในโรงพยาบาล ลดลงอย่างมากทำให้โรงพยาบาลหลายแห่ง สามารถจะกลับมาดำเนินภารกิจตามปกติในการดูแลผู้ป่วยทั่วไปตามที่เคยปฏิบัติได้แล้ว อีกทั้งขณะนี้ก็มีประชาชนจำนวนมาก ที่มีความเข้าใจในโรคนี้ดีพอสมควรว่า หากเขาเป็นผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน อย่างน้อย 2 เข็มตามมาตรฐาน และหากได้รับการฉีดเข็มบูสเตอร์หรือเข็มที่ 3 แล้ว แม้จะมีการติดเชื้อและเจ็บป่วย อาการที่เกิดขึ้นก็ไม่รุนแรง
เว้นเสียแต่ว่าเขาเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยง คืออายุมากกว่า 60 ปี และมีโรคเรื้อรังประจำตัวซึ่งอาจจะควบคุมได้ไม่ดี คืออยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า 608 ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเมื่อตรวจพบด้วยชุด ATK ว่าตัวเองติดเชื้อ มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ของประชาชนเหล่านี้ได้สมัครใจที่จะเข้ารับการรักษาโดยกักตัวเองในรูปแบบ เจอแจกจบ และ Home Isolation ซึ่งก็ได้รับการดูแลจากภาครัฐในเรื่องของชุดตรวจ ระดับออกซิเจนในเลือด เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย อาหาร 3 มื้อ
ตลอดจนยาที่ใช้รักษาตามอาการครบชุด และหลังจากมีอาการป่วยประมาณ 3 ถึง 5 วัน อาการก็จะดีขึ้นและหากพ้น 7 วันแล้วก็ถือได้ว่าปลอดภัย ซึ่งยังจะต้องสังเกตอาการตัวเองอีกเพียง 3 วัน หากไม่มีอาการผิดปกติก็สามารถกลับไปปฏิบัติงานตามปกติได้แล้ว ซึ่งช่วยลดภาระของการดูแลรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งจะสำรองเตียงไว้ ไม่ว่าจะโรงพยาบาลของภาครัฐหรือเอกชน ให้แก่ผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินแล้วว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงและมีอาการอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นสีเหลืองหรือสีแดงเท่านั้น
เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ขณะนี้ อาจจะไม่ได้มีโอกาสพบแพทย์เลย เพียงแต่ได้รับคำปรึกษาในระยะต้นและเมื่อถึงวันสุดท้ายในระบบของการกักตัวเองแล้วเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องให้ความรู้กับผู้ที่เคยติดเชื้อต่อไปว่า ถึงแม้จะหายจากโรคนี้แล้ว ก็ยังอาจจะมีอาการบางอย่างเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นผลจากการที่เชื้อโรคตัวนี้ ได้เข้าไปทำลายเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เซลล์ของร่างกายเหล่านั้นมีปฏิกิริยา ซึ่งทำให้มีผลต่อการเกิดอาการบางอย่างได้ ซึ่งอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ว่าจะสายพันธุ์ใดนั้น ก็มีโอกาสที่จะทำให้ผู้ที่ติดเชื้อ มีอาการต่อเนื่อง ซึ่งทางการแพทย์ใช้คำว่าภาวะลองโควิด (Long COVID)
จึงขออนุญาตนำเสนอว่า ภาวะ Long COVID “คืออะไร ภาวะนี้คืออาการที่ยังหลงเหลืออยู่ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ หลังจากที่หายแล้วจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยลักษณะอาการที่เกิดขึ้นอาจจะคล้ายกับช่วงที่ติดโรคนี้ หรือแตกต่างกันบ้างก็ได้ โดยอาการที่พบได้บ่อยนั้น คือ
อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
อาการหายใจถี่ หายใจไม่ค่อยจะทัน หรือหายใจแบบหอบเหนื่อย
ใจสั่น แน่นหรืออึดอัดบริเวณหน้าอก
อาจมีอาการสมาธิสั้น สูญเสียความจำบ้าง หรือสมองล้า
เวียนศีรษะ
อาการหลับยาก หรือนอนไม่หลับ
มีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดหัว เหมือนเป็นหวัด
ได้กลิ่นน้อยลง และลิ้นไม่รับรส
อาจมีอาการปวดท้อง ท้องเสียหรือเบื่ออาหาร
มีผื่นขึ้นตามตัวและแขนขา
อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลด้วย
จึงเป็นสิ่งที่ผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคโควิด-19 ทุกคน ควรจะสังเกตตัวเองว่ามีอาการต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากมีอาการควรจะไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย ว่าเป็นภาวะ Long COVID หรือไม่ เพื่อจะได้รับการรักษาต่อไป ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยนอกและ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยในที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่หายแล้ว และอาจจะเกิดขึ้นได้หลังจากการติดเชื้อแล้วตั้งแต่ 4-12 สัปดาห์โดยเฉลี่ย โดยพบภาวะนี้ในผู้หญิง มากกว่าผู้ชายโดยเฉพาะในวัยทำงาน ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่เคยอยู่ในกลุ่มสีเหลืองหรือแดงที่มีเชื้อลงปอด และเกิดปอดอักเสบ จะมีโอกาสเป็นมากขึ้น และใช้เวลาในการรักษามากกว่า
ยังไม่มีการสรุปว่าสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดภาวะ Long COVID นั้นคืออะไรแต่ก็มีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดได้จากสาเหตุ ดังนี้
1.เชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความเสียหายในอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งทำให้อวัยวะเหล่านั้นไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เช่น ถ้าเกิดที่เนื้อสมองก็ทำให้เกิดอาการสมองล้า หรือถ้าเกิดความเสียหายที่ปอด ก็กระทบกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้เหนื่อยหอบเป็นต้น
2.ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นนั้น อาจมีการทำงานที่ไม่ปกติ เชื่อกันว่าภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงดีมาก อาจจะเป็นผลเสีย โดยเมื่อหายจากโรคโควิด-19 ภูมิคุ้มกันเหล่านั้น อาจจะกลับมาทำลายเซลล์ ของส่วนต่างๆ ในร่างกายเอง
3.แม้จะหายจากโรคนี้แล้ว ก็ยังอาจจะมีชิ้นส่วนของไวรัสหลงเหลืออยู่ในร่างกาย ซึ่งบางส่วนอาจจะยังทำงานได้บ้าง เป็นผลให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ของร่างกายเอง จนเกิดอาการป่วยขึ้น
ทั้งนี้ยังจะต้องติดตามผลการศึกษาวิจัย ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ว่า สมมุติฐานต่างๆ นั้น มีความจริงมากน้อยเพียงใด หรือมีเหตุอื่นซึ่งทำให้เกิดภาวะ Long COVID ดังที่กล่าวมาแล้ว
มีข้อแนะนำแนวทางในการป้องกันภาวะ Long COVID ที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 ว่า ที่สำคัญที่สุดคือการฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ รวมทั้งการฉีดเข็มกระตุ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งการติดเชื้อโควิด และป้องกันภาวะ Long COVID ด้วย สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต้องดูแลรักษาตนเองอย่างเคร่งครัด เพื่อคุมอาการของโรคเหล่านั้นให้ได้ดีที่สุด นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่ครบ 5 หมู่ และการออกกำลังกายเป็นประจำ ตามความเหมาะสมของแต่ละคนนั้น ก็มีประโยชน์ต่อการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าวด้วย และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการรักษาสภาพจิตใจ ให้สดชื่น แจ่มใสอยู่ตลอดเวลา อย่าวิตกกังวล หรือเกิดความกลัวต่อการที่จะติดเชื้อโรคนี้หรือหลังจากติดโรคนี้แล้ว เพราะโรคนี้เป็นโรคที่ในปัจจุบันไม่ได้มีความรุนแรง จนเป็นเรื่องที่น่าหวั่นวิตกแต่อย่างใดแล้ว
ประเทศไทยกำลังจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ซึ่งจะทำให้การดำเนินชีวิต กลับมาสู่แนวทางปกติมากยิ่งขึ้น แต่ก็ขอยืนยันว่า หากคิดว่าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโควิด-19 ก็ควรจะต้องป้องกันตัวเองตามแนวชีวิตวิถีใหม่ที่เคยปฏิบัติอยู่จนเกือบจะเป็นนิสัยแล้ว เศรษฐกิจของประเทศกำลังกลับคืนมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกับประชาชนทุกคน ฉะนั้นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันในขณะนี้ คือการสร้างความรักสามัคคี อย่าให้เกิดการแตกแยกทางความคิด หรือนำเรื่องการเมืองและศาสนามาเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการแยกฝักแยกฝ่าย รวมทั้งการกระทำการใดๆ ที่ล่วงล้ำต่อสถาบันอันเป็นที่เคารพรักของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นสถาบันที่ทำให้ชาติไทยดำรงคงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้เพื่อความสุขของทุกคน
นายแพทย์ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี