ขณะที่นักการเมืองฝ่ายค้านยังเล่นการเมืองแบบเก่าๆ เอาลูกนักการเมืองโกงไปหาเสียง“ขายฝันแบบเก่าๆ” หวังหลอกเอาคะแนนอย่างเนียนๆ ทั้งๆ ที่ร้อยวันพันปีไม่เคยไปทำประโยชน์อะไรให้ชาวบ้านในพื้นที่ แต่พอคนโกงหนีคดีอยากกลับบ้านก็ให้ลูกไปออดอ้อนขอคะแนนเสียง แลกกับวิมานในอากาศ
อาศัยสถานการณ์โควิดที่ทำให้คนทั่วโลกเดือดร้อนกันหมด ผลกระทบเศรษฐกิจหนักกว่าคนไทยอีก แต่นำมาโจมตีรัฐบาล ราวกับดูถูกคนฟังว่าเขาไม่ได้ดูข่าวต่างประเทศบ้างเลยหรือ
ส่วนรัฐบาลที่ถูกเขาโจมตีขับไล่นั้น ลงมือทำโครงการพัฒนาต่างๆ นานาในพื้นที่ ปรากฏผลรูปธรรม จับต้องได้ ก้มหน้าก้มตาทำงาน วางฐานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน การค้า การลงทุน
ถึงขนาดว่า ตอนนี้ ชาวบ้านเขาเถียงกันเรื่องแบบสถานีรถไฟที่จะสร้างใหม่กันแล้ว
ภาพที่เห็นด้านบน คือ ภาพที่แชร์กันในโลกออนไลน์ ตัดพ้อทำนองว่าทำไมแบบสถานีรถไฟอุบลราชธานี ออกมาไม่ทันสมัยล้ำยุคเหมือนแบบสถานีรถไฟบุรีรัมย์ และสถานีศรีสะเกษ
1.ช่วงนี้ สถานีรถไฟจำนวนมากกำลังมีการก่อสร้างใหม่ หรือขยายต่อเติมจากของเดิม เพื่อรองรับระบบรถไฟทางคู่
ยังไม่นับรถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม
ทั้งหมด กำลังก่อสร้างจริง ไม่ใช่แค่คำคุยโม้
และทำได้โดยไม่ต้องไปออกกฎหมายกู้เงินเฉพาะประเภทที่เปิดช่องโกง ทำผิดวินัยการคลัง จนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีตกไป เหมือนในยุครัฐบาลทักษิณคิด เพื่อไทยทำ
2.ประเด็นสถานีรถไฟอุบลราชธานี แบบที่ถูกโจมตีนั้น อยู่บนเส้นทางรถไฟทางคู่ชุมทางจิระ-อุบลราชธานี
ระยะทาง 307 กิโลเมตร ผ่าน 5 จังหวัด ได้แก่ โคราช บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
บรรดาคนที่ตัดพ้อแบบของสถานีอุบลฯ ส่วนใหญ่กล่าวทำนองว่า รูปแบบดูไม่ค่อยทันสมัย ไม่สะท้อนอัตลักษณ์เมืองอุบลอะไรเลย ฯลฯ
3.หลังจากนั้น รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า สถานีอุบลราชธานี เป็นสถานีขนาดใหญ่ ที่ถูกกำหนดให้อยู่ที่ระดับพื้นดิน เนื่องจากเป็นสถานีปลายทาง และเป็นย่านสำหรับการจัดขบวนรถและซ่อมบำรุง ในขั้นตอนการออกแบบพิจารณาใช้อาคารสถานีเดิม เนื่องจากอาคารสถานีเดิมมีสภาพที่ดีและมีรูปแบบที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แต่อาคารสถานีเดิมมีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอต่อการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น
แนวคิดของการออกแบบสถานีอุบลราชธานี เป็นการปรับปรุงอาคารสถานีเดิม และจัดพื้นที่ใช้สอยภายในใหม่ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ร่วมกันกับการก่อสร้างอาคารสถานีใหม่ ทั้งนี้ อาคารสถานีเดิมกำหนดใช้เป็นพื้นที่สำหรับส่วนงานของ ร.ฟ.ท. ส่วนอาคารใหม่ถูกออกแบบให้อยู่ด้านข้างอาคารสถานีเดิม ออกแบบเป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีลิฟต์และบันไดเลื่อน เน้นฟังก์ชั่น เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสาร แบ่งเป็น
ชั้น 1 เป็นพื้นที่ขายตั๋ว ห้องน้ำ ร้านค้า ห้องประชุม ห้องปฐมพยาบาล พื้นที่พักคอย
ชั้น 2 เป็นพื้นที่พักคอย ห้องน้ำ ห้องพักคอยสำหรับ VIP
ชั้น 3 เป็นทางเดินเชื่อมออกไปยังสะพานลอย เชื่อมชานชาลา
การออกแบบอาคารส่วนเพิ่มเติมนี้ กำหนดให้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับอาคารสถานีเดิม เพื่อให้ดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในภาพรวม โดยการนำ “ดอกบัว” ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบทางเข้าอาคาร
ที่สำคัญ ร.ฟ.ท.ได้ระบุด้วยว่า แบบที่มีการเผยแพร่ไปนั้นเป็นของเก่า เพราะต่อมาได้มีการปรับแก้ไขตามกระบวนการที่เปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและมีการพัฒนาเป็นแบบรายละเอียดฉบับสุดท้ายแล้วเสร็จ โครงการฯ ได้พัฒนาเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ ปรากฏดังภาพมุมมองสามมิติ (Perspective) ของอาคารสถานีรถไฟอุบลราชธานีใหม่ในช่วง เม.ย. 2559
4.ฟังดูแล้ว ก็ไม่ได้ขี้เหร่เลย เพียงแต่ความชอบ-ไม่ชอบ สวย-ไม่สวยอาจขึ้นกับรสนิยมแต่ละคน
สำคัญ คือ สะท้อนชัดเจนถึงการพัฒนาที่จับต้องได้จริง ลงมือทำจริงในยุคนี้ แม้ในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่ฐานเสียงของรัฐบาลปัจจุบันก็ตาม
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี