ในยุคปัจจุบันที่ “สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)”เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตนั้น แม้จะมีข้อดีคือทุกคนมีพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิด แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากคือปัญหา “ข่าวปลอม (Fake News)”, “ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation)”, “ข้อมูลคลาดเคลื่อน (Misinformation)” ที่ถูกเผยแพร่และส่งต่อ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เช่น หากเป็นข้อมูลผิดๆเกี่ยวกับสุขภาพอาจส่งผลกระทบถึงขั้นเสียชีวิตเมื่อทำตามหรือหากเป็นข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับการเมือง อาจนำไปสู่ความแตกแยกและใช้ความรุนแรงของผู้คนในสังคม
สัปดาห์นี้ “ที่นี่แนวหน้า” ขอสรุปการบรรยายหัวข้อ“กลไกเชิงสถาบันในการรับมือกับดิสอินฟอร์เมชันทางการเมือง : กรณีศึกษา 5 ประเทศในยุโรป” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนา “Direk Talk : สายลมแห่งรัฐ (ศาสตร์) : การศึกษารัฐศาสตร์ในโลกยุคใหม่”จัดโดย ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ มานำเสนอโดยผู้บรรยายและศึกษาเรื่องดังกล่าวคือ วศิน ปั้นทองอาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์มธ. ระบุว่า 5 ประเทศที่ทำการศึกษา ได้แก่ เอสโตเนียฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน และสหราชอาณาจักร
“ดิสอินฟอร์เมชัน (Disinformation)” หรือข้อมูลบิดเบือน หากเป็นเรื่องการเมืองนั้นถูกมองว่า“ทำลายคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย” ส่งผลกระทบประกอบด้วย 1.เป็นการลดทอน ถากถาง คุณค่าของการแสวงหาความจริง 2.เป็นการใช้เทคโนโลยีสร้างความแตกแยกโดยบ่มเพาะอารมณ์ความรู้สึก และ 3.ทำให้ความจริงไม่ขยายปริมณฑลออกไป ซึ่งผลกระทบทั้ง 3 ประการดังกล่าว ทำให้การถกเถียงในระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ที่น่าเป็นห่วงคือ แม้บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ จะประกาศจุดยืนสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ข้อสังเกตถึงบริษัทเหล่านี้คือ “ความโปร่งใส่ในการเก็บและใช้ข้อมูล” รวมไปถึง “อคติของอัลกอริทึม (Algorithm)”ที่สามารถใช้ควบคุมความคิดเห็นสาธารณะและพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ อีกนัยหนึ่งจึงหมายถึงบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ทรงอำนาจเฉพาะในทางเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงการเมืองด้วย
“ข้อกังวลของโลกตะวันตก เขาเห็นว่ามันมีการผงาดขึ้นของสังคมที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่ถูกบิดเบือน แล้วในเวลาเดียวกันเราจะเห็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
ในปัจจุบันก็ยังเอื้อให้กิจการในการแพร่ Disinformation ทางการเมืองเติบโต พูดอีกแบบคือมีบริษัทที่ได้เงินจากการช่วยปล่อย Disinformation ทางการเมือง
แม้ว่าบริษัทเหล่านั้นจะไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นของตัวเอง แต่ก็ทำไปด้วยปัจจัยหรือแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนปัญหาโครงสร้างภายในของสิ่งที่เรียกว่าระบบทุนนิยมแพลตฟอร์ม แล้วมันก็นำมาสู่คำถามที่ว่าอำนาจของบริษัทแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนระบบทุนนิยมโลกในปัจจุบัน บิดเบือนการสื่อสารข้อเท็จจริงในสังคมมาก-น้อยเพียงใด” อาจารย์วศิน กล่าว
ในขณะที่การรับมือจะแบ่งออกเป็น 2 ด้านคือระหว่างการกำกับดูแลกันเองโดยสมัครใจ (Soft InstitutionalMechanism-Voluntary) กับการกำหนดกติกาด้วยมาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายความมั่นคง (Hard Institutional Mechanism-Control) ซึ่งพบว่า “ฝรั่งเศส-เยอรมนี มีการตรากฎหมายเฉพาะขึ้นมารับมือเนื้อหาที่ผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์ ซึ่งรวมถึงข้อมูลบิดเบือนทางการเมืองด้วย” โดยฝรั่งเศสจะเน้นการบังคับใช้ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ส่วนเยอรมนีจะเน้นใช้กับถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech)
แนวทางของทั้ง 2 ชาติ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากพรรคการเมืองแนวเสรีนิยม และองค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ที่ขับเคลื่อนประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก เพราะถูกมองว่าเป็นการเปิดช่องให้มีการควบคุมเนื้อหาทางการเมืองซึ่งกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายของเยอรมนีไม่พบการขอให้ลบเนื้อหาจำนวนมหาศาล เช่นเดียวกับฝรั่งเศสที่ไม่พบการใช้กฎหมายต่อต้านข้อมูลบิดเบือนทางการเมืองเพื่อปิดปากฝ่ายตรงข้าม โดยสรุปทั้ง 2 ชาติ จึงไม่พบการลดทอนเสรีภาพของประชาชนอย่างไม่ได้สัดส่วน
ขณะที่ “สหราชอาณาจักรเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนผ่านจากการเลือกใช้กลไกการทำรายงานที่ปรึกษาและอาศัยการร่วมมือโดยสมัครใจจากแพลตฟอร์มในการรับมือกับข้อมูลบิดเบือนทางการเมืองมาสู่การใช้กฎหมาย” ที่ผ่านมาสหราชอาณาจักรแก้ปัญหาแบบรัฐไม่เข้มงวด ไม่มีการตรากฎหมายเฉพาะแต่อาศัยการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเพื่อแสวงหาข้อตกลงร่วมกัน แต่ล่าสุดมีการเสนอร่างกฎหมายความปลอดภัยทางออนไลน์ (Online Safety Bill)
ถึงกระนั้น จากถ้อยคำที่ปรากฏในร่างกฎหมายความปลอดภัยทางออนไลน์ของสหราชอาณาจักร เชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เพราะในกระบวนการพิจารณากฎหมายมีการอภิปรายเนื้อหาที่มีความสำคัญต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คือเนื้อหาที่สนับสนุนหรือคัดค้านนโยบายของรัฐบาลหรือของพรรคการเมือง ซึ่งแม้จะฟังดูกำกวมในทางปฏิบัติ แต่ก็พอจะมองเห็นเจตนารมณ์ว่ารัฐไม่ได้ตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อปิดปากประชาชนหรือลดทอนเสรีภาพในการแสดงออก
อีกด้านหนึ่ง “สำหรับสวีเดนและเอสโตเนีย รัฐจะมีบทบาทจำกัดในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ทั้งมาตรการพิเศษหรือออกกฎหมายมารับมือเป็นการเฉพาะ แต่อาศัยบทบาทภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม” เช่น กรณีของสวีเดน รัฐจะให้ความสำคัญกับข้อมูลบิดเบือนทางการเมืองเฉพาะที่เป็นประเด็นความมั่นคงเท่านั้นในขณะที่องค์กรสื่อมวลชนมีการกำกับดูแลกันเอง เช่นเดียวกับกรณีของเอสโตเนีย รัฐจะรับมือกับข้อมูลบิดเบือนทางการเมืองเฉพาะที่เป็นประเด็นความมั่นคง ที่เหลือเป็นบทบาทของสื่อสาธารณะและภาคประชาสังคม
“งานวิจัยนี้สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากเลยคือ ตอนนี้ในเรื่องการกำกับดูแลเนื้อหา รวมถึงการรับมือ Disinformation ทางการเมือง เราจะเห็นพลวัตของการ
ดึงไป-มา ระหว่างรัฐกับบรรษัทเอกชนข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการสื่อสาร ตอนนี้สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า ใครที่จะพยายามสร้างปทัสถานในการกำกับดูแลเนื้อหาทางออนไลน์ ซึ่งตอนนี้เราเห็นว่ารัฐหลายๆ รัฐ แม้แต่รัฐที่เป็นประชาธิปไตยในโลกตะวันตกก็พยายามที่จะออกแบบกลไกในการรับมือกับสิ่งเหล่านี้ และกลไกเหล่านั้นก็ถูกมองว่าใช้เพื่อสร้างความโปร่งใสในการเก็บรักษา ใช้และเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ แล้วก็คิดว่าพลวัตนี้จะยังคงดำเนินต่อไป” อาจารย์วศิน กล่าวทิ้งท้าย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี