เป็นความท้าทายไม่น้อยกับ “Net Zero” เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือยุติการปลดปล่อยคาร์บอน ที่รัฐบาลไทยไปให้คำมั่นไว้ในเวทีนานาชาติ “COP26” ช่วงปลายปี 2564 ว่า ประเทศไทยตั้งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 (2593) และเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 (2603) ซึ่งทั้ง 2 เป็นหมายที่ใหญ่มาก ในขณะที่ก็ต้องยอมรับว่า“ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา” ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ยังต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำ จึงไม่ง่ายที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหากมองแล้วกระทบต้นทุนค่าใช้จ่าย
ในงาน GC Circular Living Symposium 2022 : Together to Net Zero เมื่อช่วงปลายเดือนส.ค. 2565 ที่ผ่านมา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมให้มุมมองในเวทีอภิปราย CEO Panel ในหัวข้อ “How Sustainability Action is Unlocking New Possibilities ทุกภาคส่วนจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อโลกที่ยั่งยืนได้อย่างไร” ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ฝนตกในปีนี้ ที่พบปริมาณฝนมากผิดปกติในกรุงเทพฯ เช่น เขตประเวศ พบสูงถึง 140 มิลลิเมตร และเป็นฝนตกเป็นหย่อมๆ อย่างรุนแรง
หรือในต่างประเทศอย่างจีนหรือเกาหลีใต้ที่เจอปัญหาน้ำท่วมใหญ่ รวมถึงในทวีปยุโรปที่เจออากาศร้อนจัด เหล่านี้เป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) โดยไทยเป็นประเทศที่เผชิญความเสี่ยงกับปัญหาโลกร้อน (Global Warming)เป็นอันดับ 9 ของโลก โดยเฉพาะระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ซึ่งเป้าหมาย Net Zero นั้นประกอบด้วยการดำเนินการใน 4 เรื่อง 1.พาหนะที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) 2.การใช้พลังงานในอาคาร 3.ขยะและน้ำเสีย และ 4.การปลูกต้นไม้
“ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น เป็น Campaign (หัวข้อรณรงค์) ตอนที่เราทำก็มีแต่คนหัวเราะ จะทำได้หรือ? ใครจะมาร่วม? จะปลูกที่ไหน? จะดูแลกันอย่างไร? จากวันนั้นถึงวันนี้ มีคน Pledge (รับปาก) ปลูกต้นไม้กับเราแล้ว 1,630,000 ต้น ในช่วงแค่ 3 เดือน นี่คือพลังของคนที่เห็นประโยชน์หรือความสำคัญของเรื่อง Global Warming ในมิติของการ Offset (ชดเชย) ด้วยต้นไม้ มิตินี้ผมว่าเป็นพลังที่เราไม่เคยเห็นมา
ผมเชื่อว่าถ้าเราสามารถสร้างกระบวนการที่สร้างความไว้ใจ ความมั่นใจให้กับภาคเอกชน ผมว่าเรื่อง Net Zero เรื่อง Global Warming เรื่อง Climate Change จะมีพลังความร่วมมือได้มากขึ้น ผมต้องเรียนว่าภาครัฐเป็นแค่ส่วนเล็ก คนที่ Create Pollution (สร้างมลพิษ) หรือก๊าซเรือนกระจก มาจากภาคเอกชนภาครัฐเองเป็นส่วนอำนวยความสะดวก แล้วก็เป็น Regulator (ผู้กำกับดูแล) เป็น Promoter (ผู้ส่งเสริม)แต่ไม่มีทางสำเร็จได้ถ้าภาคเอกชนไม่ร่วมมือกัน แต่ก็ยืนยันว่าช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เราเห็น Commitment (ความมุ่งมั่น)” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม “เงื่อนไขทางเศรษฐกิจทำให้ผู้คนยากที่จะมองเป้าหมายระยะยาว” เช่น ในขณะที่เป้าหมายNet Zero อยู่ไกลอีกหลายสิบปี หลายคนคงคิดว่า “แค่ให้อยู่รอดปีนี้ไปได้ก็บุญแล้ว” ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังขาดการศึกษาเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง อาทิ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ตกลงแล้วเป็นเท่าไรกันแน่? ซึ่งผู้ว่าฯ ชัชชาติให้ความเห็นว่า หากมีตัวเลขที่ชัดเจนจากงานวิจัย และสามารถเข้าถึงได้ในปีถัดไปอย่างต่อเนื่อง (Proximate Objective) เพื่อกำหนดเป้าหมายที่สามารถไปถึงได้
ถึงกระนั้น “ในขณะที่บริษัทใหญ่ๆ สามารถปรับตัวมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ไม่ยาก แต่นั่นอาจไม่ใช่กับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)”ซึ่งประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 3.1 กิจการ และกลุ่มนี้มีการจ้างงานถึงราว 10 ล้านคน “จึงเป็นบทบาทของภาครัฐที่ต้องส่งเสริมโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่คนเล็กคนน้อย”ผ่าน 3 ด้าน คือ 1.บริการที่ดี เช่น รัฐต้องการให้ประชาชนแยกขยะก่อนทิ้ง แต่รัฐก็ไม่เคยจัดเตรียมรถขยะที่เก็บขยะแยกไว้รองรับ แต่หากมีรถที่เก็บแยกขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิล ประชาชนก็จะเริ่มแยกขยะได้เอง
2.โครงสร้างพื้นฐานที่ดี เช่น รัฐต้องการให้ประชาชนหันมาใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) แต่ประชาชนไม่สามารถจัดหาที่ชาร์จไฟฟ้าด้วยตนเองได้ เมืองจึงต้องสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมไว้ด้วย และ 3.การกำกับดูแล เช่น รัฐอยากให้ SME มีส่วนร่วมขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero ก็ต้องให้แต้มต่อ (Handicap) ในการจัดซื้อจัดจ้างเมื่อต้องประมูลงานแข่งกับบริษัทใหญ่ๆ หาไม่แล้วทุกคนก็จะมุ่งไปที่ต้นทุนต่ำสุด ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน หรือใช้มาตรการทางภาษีเข้ามาช่วยสนับสนุน เป็นต้น
“ถามว่า กทม. เราจะทำอะไร เราเริ่มจากตัวเองก่อนอย่างน้อยเราตั้งก่อนว่าหน่วยงาน กทม. ทั้งหมด เราจะมีเป้าหมายในการดำเนินการเรื่อง Net Zero ในองค์กรเราก่อน ให้เราเข้าใจอุปสรรคต่างๆ แล้วเราก็เริ่มดำเนินการภายในก่อน อย่างน้อยหน่วยงานต้องเข้าใจก่อนจะไปบังคับใช้กับคนอื่น เริ่มมีโครงการที่ทำได้จริง เกิดผลและสามารถหาแนวร่วมได้ อย่างที่เราทำไปแล้วเรื่องปลูกต้นไม้ 3 เดือนเราปลูกไปประมาณ 110,000 ต้น นี่ทำได้ ทุกคนมีส่วนร่วมในการลดคาร์บอนได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ระบุ
ในช่วงท้าย ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยังยกอีกตัวอย่าง คือ“การแยกขยะ” เรื่องที่ฟังดูเหมือนง่ายเพราะหลายๆประเทศก็ทำกันมานานแล้ว แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยยังไม่ได้แยกแม้แต่ขยะเปียกกับขยะแห้ง ซึ่งนับตั้งแต่วันที่4 ก.ย. 2565 เป็นต้นไป กทม. จะเริ่มนำร่องใน 3 เขตคือ สาทร ปทุมวัน และหนองจอก “เป็นเรื่องไม่ง่ายในการไปบอกให้ครัวเรือนแยกเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป” ขณะเดียวกัน กทม. ก็ต้องเตรียมหารถที่เก็บขยะแบบแยกขยะได้ไว้ด้วย “ขั้นแรกต้องลดคาร์บอนในใจคนก่อน” ตามด้วยมีพื้นที่นำร่องไว้ทดลองโครงการ เมื่อสำเร็จแล้วจึงขยายผลต่อไป
นอกจากนี้ กทม. ยังเริ่มเปลี่ยนมุมมองเรื่อง“การบำบัดน้ำเสีย” จากเดิมที่รวมมาบำบัดในส่วนกลางจุดเดียว ก็น่าจะใช้การติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียตามชุมชนริมคลอง ซึ่งต้นทุนจะถูกลงและทำงานได้ละเอียดขึ้นรวมถึงยังมีนโยบาย “ทำกรุงเทพฯ ให้เย็นลง” ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดการใช้พลังงานในอาคาร หรือใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนด้านอาคารประหยัดพลังงาน
“ภาครัฐต้องเอาจริงเอาจัง แล้วต้อง Realistic (เข้าใจปัญหาที่แท้จริง) และมีมาตรการที่สามารถ Quick Win (บรรลุเป้าหมายระยะสั้น) Middle Term (ระยะกลาง) และ Long Term (ระยะยาว)” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี