มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เริ่มเกิดดอกออกผล
เอกชนหลายราย เริ่มทำการตลาด และลงทุนเพื่อผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
1. ปัจจุบัน หลายประเทศกำหนดเป้าหมายการเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า และออกมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย
อาทิ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร ตั้งเป้าว่ารถยนต์ใหม่ที่ผลิตออกขายจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% ภายใน 2030
ญี่ปุ่นและจีน ตั้งเป้าคล้ายกันภายในปี 2035
แต่ละประเทศจัดทำแพ็กเกจสนับสนุน เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมนีให้เงินสนับสนุนประมาณ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน ส่วนจีนจัดตั้งสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศและให้สิทธิประโยชน์ทั้งเป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินกับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ไทยเราต้องแข่งขันกับประเทศต่างๆ และร่วมมือกับบางประเทศ เพื่อเสริมยุทธศาสตร์กันและกัน
2. สำหรับประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผลักดันให้ไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV และชิ้นส่วนรถยานยนต์ EV ในภูมิภาค
ฝ่ายต่อต้านนายกฯ ลุงตู่ ถึงขนาดเย้ยหยัน บิดเบือนข้อมูลว่าไทยตกขบวนยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว หาว่าไม่มีการลงทุนอะไรใหม่ๆ แล้ว รัฐบาลได้แต่พูดแบบโง่ๆ ทำงานไม่เป็น ฯลฯ
แต่ความจริงปรากฏว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลมีการออกชุดมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนให้ราคาของรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ลดลงใกล้เคียงกับราคารถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบเดิม ทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการลงทุน ผู้บริโภคเกิดความต้องการซื้อและสร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) เพิ่มขึ้น เป็นการสนับสนุนเป้าหมายเพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
การอุดหนุนและส่วนลดทางภาษีต่างๆ ก็ตกสู่ประชาชนผู้บริโภค ทำให้ได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในราคาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ลดมลพิษ ฝุ่น PM2.5 ดีต่อสิ่งแวดล้อม
เดือนที่แล้ว (สค.) ครม.อนุมัติงบ 2,923 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามประกาศกรมสรรพสามิตฯ
กรณีรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท แยกเป็นรถขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงแต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง จำนวนเงินอุดหนุน 70,000 (บาท/คัน) และรถที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป จำนวนเงินอุดหนุน 150,000 (บาท/คัน)
กรณีรถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป (เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น) จำนวนเงินอุดหนุน 150,000 (บาท/คัน)
กรณีรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท จำนวนเงินอุดหนุน 18,000 (บาท/คัน)
กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2565 มีผู้ได้รับสิทธิที่ต้องได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ แบ่งเป็นรถยนต์ 18,100 คัน และรถจักรยานยนต์ 8,800 คัน
3. เมื่อเร็วๆ นี้ นายกฯ พลเอกประยุทธ์ได้อัปเดตข่าวสารส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเริ่มมีการลงทุนแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท เช่น
(1) บริษัท Great Wall Motor ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศจีน มาตั้งฐานการผลิตรถ EV เบื้องต้น 80,000 คัน/ปี เงินลงทุนสูงถึง 2.2 หมื่นล้านบาท เกิดการจ้างงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 3,000 ตำแหน่ง และยังเชื่อมโยงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอีกด้วย
(2) บริษัท EVLOMO ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของอาเซียน เข้ามาลงทุน
ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง มูลค่าการลงทุนกว่า 3.3 พันล้านบาท สร้างอาชีพในพื้นที่กว่า 3,000 ตำแหน่ง
ล่าสุด บริษัท BYD auto industry ยักษ์ใหญ่อีกราย ได้รับการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก มูลค่า 17,891 ล้านบาท โดยทาง BYD คาดว่าจะสามารถทํายอดขายในปีแรกที่วางจําหน่ายได้มากกว่า 1 หมื่นคัน และพร้อมที่จะขึ้นเป็นแบรนด์ EV อันดับ 1 ของไทยได้ในอนาคต
4. ข้อมูลที่น่าสนใจจากเพจ Thailand Development Report สะท้อนว่า แผนของบริษัทรถยนต์ต่างๆ ต่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า(BEV)ในประเทศไทย พ.ศ.2565 มีความคืบหน้าอย่างมาก
“...การผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากแพ็กเกจอีวีของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม.เรียบร้อย โดยมีมาตรการสนับสนุน ทั้งการลดภาษี และการให้เงินอุดหนุน
จนถึงปัจจุบัน มีค่ายรถยนต์หลายค่ายให้ความสนใจและลงนามข้อตกลง เข้าร่วมโครงการสนับสนุน EV จากภาครัฐหลายแบรนด์ ทั้ง Greatwall , MG และ Toyota โดย 2 รายแรกนั้น ได้เริ่มวางจําหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แพ็กเกจสนับสนุนแล้ว ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา รวมยอดจําหน่ายทั้ง 2 แบรนด์กว่า 3,500 คัน ขณะที่โตโยต้าคาดว่าจะเริ่มวางจําหน่ายรถไฟฟ้ารุ่น Bz4x ภายในสิ้นปีนี้ในราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท...
ค่ายรถจีน ... แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนต่างเร่งเข้ามาลงทุนตั้งฐานผลิตในประเทศไทยเป็นจํานวนมาก ทั้ง MG , Greatwall และ BYD
สําหรับ BYD แล้ว ในฐานะบริษัทอีวีที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จะเป็นการตั้งฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศครั้งแรก ด้วยเงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท พร้อมจับมือพันธมิตรท้องถิ่นที่มีประสบการณ์อย่างกลุ่มพรประภา ล่าสุดวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา ทางบริษัทได้เข้าซื้อที่ดินที่นิคมอุตสาหกรรม WHA จังหวัดระยองกว่า 600 ไร่ พร้อมที่จะตั้งฐานการผลิตเต็มตัว
นอกจากนี้ ยังมีบริษัท EVPRIMUS ตัวแทนจําหน่ายรถไฟฟ้าจากเครือ DFSK ของจีนวางแผนนํา EV ขนาดเล็กยี่ห้อ “Volt” มาจําหน่าย ปัจจุบันลงทุน 400 ล้านบาท เพื่อตั้งฐานการผลิตที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์หวังทํายอดขายปีละกว่า 4,000 คัน
ค่ายญี่ปุ่น ... โตโยต้า บริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ของประเทศไทยมานานหลายสิบปี ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ปล่อยให้ตลาดนี้หลุดไปจากมือง่ายๆ ได้ส่งอีวีเรือธงรุ่น BZ4X เข้ามาทําตลาด โดยรถไฟฟ้ารุ่นนี้ มีสเปกต่างๆ ที่สร้างมาเพื่อที่จะว่ากันว่าล้มบัลลังก์ของ Tesla เลยทีเดียว
ค่ายยุโรปลังเล... เบนซ์ เริ่มผลิต แต่ยังไม่เข้าร่วมโครงการ บริษัทเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย หลังจากเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น EQS ไปได้ไม่นาน ได้เตรียมพร้อมไลน์ประกอบรถยนต์ไฟฟ้าไว้เป็นที่เรียบร้อย ผ่านการลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ภายใต้ บริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด(TESM) เพื่อป้อนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าให้ทั้งรถปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลต่างๆ รวมถึงข้อผูกมัดกรณีที่ตามมาจากการเข้าร่วมโครงการ ไปทางด้าน BMW ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาบริษัทแม่สําหรับนํารถไฟฟ้าเข้ามาประกอบ โดยตอนนี้เน้นนําเข้ามาจําหน่ายก่อน
แจ้งเกิดค่ายรถยนต์ไทย EA นํา / ปตท. เร่งจับมือสตาร์ทอัพ... บริษัทไทย Nexpoint นําโดยเครือพลังงานบริสุทธิ์ได้เริ่มเปิดสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ภายใต้แบรนด์ NEX และ Minemobility ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการหลายราย ปัจจุบันบริษัทวางจําหน่ายรถโดยสารและรถบรรทุกประเภทต่างๆ รวมถึงในอนาคตมีแผนที่จะนํารถตู้และรถกระบะเข้ามาเสริมทัพอีกด้วย
ด้าน ปตท. ไม่น้อยหน้า เร่งหาสถานที่ตั้งโรงงานร่วมทุนระหว่างบริษัทอรุณพลัส ในเครือ ปตท. และหงไห่พริซิชั่น หรือ Foxconn เพื่อสร้างฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ OEM (รับจ้างผลิต) ในชื่อ ARUN+ ให้กับสตาร์ทอัพรถไฟฟ้าที่สนใจ ปัจจุบันได้ลงนามกับสตาร์ทอัพสัญชาติจีนอย่าง NETA และอยู่ระหว่างหารือกับลูกค้าทั้งในสหรัฐและยุโรปกว่า 5-6 ราย
เมื่อสรุปแล้ว คาดว่าในปีนี้จะมียอดจําหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกว่า 1 หมื่นคัน ซึ่งหากเทียบกับยอดขายรถยนต์เฉลี่ยทั้งปีใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ 1 ล้านคันต่อปี จะคิดเป็นประมาณ 1% ของยอดขายทั้งหมด หรือรถอีวี 1 คันต่อรถน้ำมันทุกๆ 99 คัน นับว่ายังห่างไกลจากผู้นําโลกด้านรถไฟฟ้า เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร แต่ก็ถือว่านําหน้าเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศ นับเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป...”
นี่คือสถานการณ์ความคืบหน้าของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยปัจจุบัน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี