มีคำถามว่าทำไมผู้เขียนกฎหมายไทยจึงไม่เขียนกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อไม่ต้องมีการตีความกฎหมายไปคนละทิศละทาง เพราะการตีความกฎหมายไปคนละทิศละทางนำไปสู่ความวุ่นวายโกลาหลของสังคมและบ้านเมือง
ทำไมไม่เขียนกฎหมายให้ชัดเจนเหมือนกฎกติกาการเล่นฟุตบอลหรือบาสเกตบอล เพื่อจะได้ไม่ต้องตีความให้เกิดความ
ขัดแย้งกัน แล้วที่สำคัญคือทำให้คนทั้งโลกสามารถเข้าใจกฎกติกาได้ตรงกัน ไม่ว่าคนชาติไหนเมื่อเล่นฟุตบอล หรือเล่นบาสเกตบอลก็ต้องใช้กฎกติกาเดียวกันโดยไม่มีข้อยกเว้น
การที่กฎหมายใดก็ตามต้องถูกตีความ ก็หมายความว่ากฎหมายนั้นๆ มีความไม่ชัดเจน มีความคลุมเครือ มีความกำกวม จึงต้องถูกนำไปตีความ แล้วการตีความนั้นก็ขึ้นอยู่กับความเห็นและเหตุผลของผู้ตีความแต่ละฝ่าย ซึ่งหามาตรฐานที่เป็นหนึ่งเดียวกันมิได้
ทุกคนเมื่ออ่านกฎหมายแล้ว ยากเหลือเกินที่จะสามารถเข้าใจถ้อยคำในข้อกฎหมายได้โดยง่าย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จึงมีการให้ความเห็นต่อข้อกฎหมายกันไปคนละทิศละทาง บางคนบอกว่ามือ แต่บางคนบอกว่าเท้า นั่นแสดงว่าการเขียนกฎหมายเช่นนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นความล้มเหลวในการออกข้อกำหนดเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานและแนวปฏิบัติของสังคม ยิ่งสังคมใดต้องตีความกฎหมายมากเท่าใด ก็หมายความว่าสังคมนั้นหาความเห็นที่ตรงกันหรือสอดคล้องกันได้ยากเย็นแสนเข็ญ
มีการให้ความเห็นโดยสาธารณชนตรงกันว่า ถ้อยคำที่ใช้เขียนเป็นข้อบัญญัติของกฎหมายมีความกำกวมมาก หาความชัดเจนได้ยากมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จึงนำไปสู่ปัญหาการตีความข้อกฎหมายตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาทางกฎหมายเป็นประจำ จนหลายครั้งถูกวิจารณ์ว่าตีความกฎหมายตามอำเภอใจตามแต่ผู้มีอำนาจจะต้องการลากไปในทางที่ตนเองต้องการ
เป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างว่า ปัญหาการตีความกฎหมายเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทย และเป็นมูลเหตุที่ทำให้เกิดความแตกแยกของสมาชิกในสังคมไทย แล้วก็เป็นที่ยอมรับด้วยว่าแม้ในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถหาหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอน อันเป็นที่ยอมรับกันได้ในวงกว้างแบบชนิดที่ว่าเป็นข้อยุติเดียวกันในการใช้และตีความกฎหมายไทย
ปัญหาการตีความกฎหมายไปคนละทิศละทางเป็นเรื่องที่ต้องถูกขจัดให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว เพราะหากปล่อยให้ปัญหาการตีความกฎหมายยังคงดำรงอยู่ จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเพื่อความเป็นธรรมในการปกครอง และการบริหารประเทศ ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เพราะในเมื่อคนฝ่ายหนึ่งมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมาย ก็จะทำให้หาความสุขความสงบที่แท้จริงในสังคมได้ยากมาก
การที่สังคมหรือประเทศชาติจะมีความสงบสุุข และมี ความสมานฉันท์เกิดขึ้นได้นั้น มูลเหตุสำคัญประการหนึ่งคือบ้านเมือง
ต้องมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยรัฏฐาธิปัตย์ของประเทศนั้นๆ ต้องออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือกฎหมายที่สร้างความเป็นธรรมให้กับสมาชิกทุกคนภายในรัฐ และกฎหมายนั้นๆ ต้องมีสภาพบังคับได้ตลอดเวลา ไม่ล้าสมัย แต่หากกฎหมายใดล้าสมัยไปแล้ว ก็ต้องยกเลิกกฎหมายนั้นเสีย
เมื่อพูดถึงเรื่องการตีความข้อกฎหมายแล้ว มีสิ่งหนึ่งที่สังคมไทยกำลังตั้งประเด็นถกเถียงกันอย่างมากเรื่องหนึ่งคือ การตีความเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเวลาแปดปี บางฝ่ายมองว่านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งมาแล้วแปดปีเพราะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 2557 ส่วนบางคนบอกว่านายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 แต่บางคนมองว่านายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2562
น่าอัศจรรย์ใจมากที่สมาชิกของสังคมไทยต้องแตกแยกกันด้วยเรื่องการตีความข้อกฎหมาย ก็จึงมีคำถามสุดท้ายเกิดขึ้นคือ ตกลงแล้วผู้ร่างกฎหมายไทยมีความรู้จริงในการร่างกฎหมายหรือไม่ หรือว่าจริงๆ แล้วร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้สังคมเกิดความแตกแยก เพราะได้บรรจุถ้อยคำที่กำกวม ยอกย้อน ย้อนแย้ง และคลุมเคลือไว้จำนวนมากในบทบัญญัติของกฎหมาย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี