ใครควรจะเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีและคณะ
(ผู้ใช้อำนาจบริหาร แทนปวงชนชาวไทย)
ได้เคยกล่าวมาแล้วว่า ผู้ใช้อำนาจตุลาการ แทนปวงชนชาวไทย ได้แก่ ผู้พิพากษา ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ผ่านการแข่งขัน กลั่นกรอง ฝึกอบรม ศึกษาวัฒนธรรมองค์กร จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้พิพากษา
ทั้งนี้ ไม่ใช่โดยวิธีการเลือกตั้ง ซึ่งหลายคนยังเข้าใจว่าการเลือกตั้งคือหัวใจของระบอบประชาธิปไตย
แต่เมื่อมาถึงการเข้าสู่อำนาจสูงสุดของอำนาจตุลาการ อันได้แก่ การเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม กรรมการตุลาการศาลปกครอง จึงจะเข้าสู่วิธีการเลือกโดยคณะผู้พิพากษาทั้งหมด ของศาลยุติธรรม ของศาลปกครอง ที่จะเป็นผู้เลือกตั้ง กต., กป.
ผู้พิพากษาศาลต่างๆ จึงเป็นทั้งผู้ใช้อำนาจตุลาการ แทนปวงชนชาวไทย และเป็นทั้งผู้เลือกตั้ง ผู้ใช้อำนาจตุลาการสูงสุด (Electoral Body of the Supreme Judicial Power) อันได้แก่ กต., กป.
อำนาจตุลาการ จึงยังคงเป็นที่พึ่งสุดท้ายของปวงชนชาวไทยได้มีเสถียรภาพ มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในภารกิจที่รับผิดชอบ ไม่ล้มลุกคลุกคลานเหมือนกับอำนาจบริหาร ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentarian Democracy)
เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยมีความยั่งยืนและนำความเจริญมาสู่ “บ้านเกิดเมืองนอน” ของเรา เราก็น่าจะเอาตัวอย่างของการเข้าสู่อำนาจตุลาการบางส่วน มาใช้ในการเข้าสู่อำนาจบริหารบ้าง
เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าสู่อำนาจบริหาร
- โดยการปฏิวัติรัฐประหาร และ
- โดยการให้ สส., สว. (ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติอยู่แล้ว) มาเป็นผู้ใช้อำนาจนี้
ซึ่งนำมาซึ่งการทุจริตคอร์รัปชั่น การเล่นพรรคเล่นพวก การใช้อิทธิพลในการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการนำเอาเจ้าหน้าที่ของรัฐไปทำประโยชน์ส่วนตัว ตลอดจนการต้องหาเงินที่มิชอบด้วยกฎหมายเอามาซื้อเสียงประชาชนและ สส. เพื่อให้คณะของตนเองอยู่ในอำนาจบริหารต่อไปได้ครั้งแล้วครั้งเล่า และคณะแล้วคณะเล่าในระยะ 90 ปีที่ผ่านมา ของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาดั้งเดิมที่มิเคยมีการปรับปรุง (Conventional Parliamentarian Democracy)
เราต้องการคณะผู้ใช้อำนาจบริหาร
- ที่มิได้มาด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร
- ที่มิได้มาด้วยการใช้เงิน (Money Politics) เพื่อการเข้าสู่อำนาจและการดำรงไว้ซึ่งอำนาจ และ
- ที่มิได้มาด้วยสงครามกลางเมือง (Civil War)
แต่เราต้องการคณะผู้ใช้อำนาจบริหาร ที่มีความรู้และมีฝีมือในการบริหารกิจการขนาดใหญ่มาแล้ว เพื่อได้รัฐบาลดีและมีความซื่อสัตย์สุจริต มีจริยธรรม ศีลธรรม มีความกล้าหาญต้านทานความชั่วร้าย (Integrity)เพื่อได้รัฐบาลที่ดีและมีเสถียรภาพ (Stability) ที่จะบริหารบ้านเมืองได้อย่างน้อย4 ปี (อย่างมาก 8 ปี หรือ 2 เทอม)
ใครควรจะเป็นผู้เลือกตั้ง นรม. และ คณะ
หากเราจะใช้ประชาชนส่วนใหญ่ทั้ง 500 เขตเลือกตั้ง ซึ่งมีสิทธิในการเลือกตั้งผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ มาเลือกตั้งหัวหน้าฝ่ายบริหารโดยตรงจะได้ไหม
ก็คงจะเหมือนกับการให้ประชาชนมาเลือกตั้งผู้พิพากษา ศาลแพ่งศาลอาญา ศาลทรัพย์สินทางปัญญา ศาลปกครอง
หรือเราจะให้ประชาชนมาเลือกตั้ง กต., กป. ก็คงจะเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะประชาชนทุกคนมิได้มีความรู้ความชำนาญในด้านนิติศาสตร์ ด้านวิธีพิจารณาความแพ่ง ความอาญา และความด้านการปกครอง
นอกจากนั้น บรรดาพรรคการเมืองก็คงจะให้ฐานเสียงของตนในแต่ละเขตใช้เงินซื้อเสียง เพื่อให้คนในสังกัดของตนได้รับเลือกเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
หากเขตเลือกตั้งมี 500 เขต ได้ชัยชนะใน 300 เขต ก็น่าจะเพียงพอ หากแต่ละเขตใช้เงิน 100 ล้านบาท การใช้เงิน 300,000 ล้านบาท ก็น่าจะเพียงพอในการเข้าสู่อำนาจบริหาร
ประเทศไทยคงหาคนมาลงทุนขนาดนี้ได้ เพื่อจะเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (นรม.) แล้วค่อยไปหาทุนคืนได้จากระบบ Money Politics ภายหลัง
นักบริหารมืออาชีพด้วยกันเอง ควรจะเป็นผู้เลือกหัวหน้าฝ่ายบริหารและคณะ
(นรม. และ ครม.)
เมื่อเทียบเคียงกับการเข้าสู่อำนาจตุลาการ ซึ่งต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ มาให้ความเป็นธรรม แก่พลเมือง การเข้าสู่อำนาจบริหาร เราก็ต้องการผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ด้านบริหารมาบริหารประเทศ ให้พัฒนาก้าวหน้า
การประกอบการทั้งหลายของทุกประเทศ ก็น่าจะ ได้แก่ การประกอบการธุรกิจ (Business Enterprise) การประกอบการรัฐกิจ (Public and Governmental Enterprise) และการประกอบการด้านสังคม (SocialEnterprise)
หากเทียบเคียงกับที่มาของอำนาจตุลาการ ก็ต้องเป็นผู้มีความรู้มีประสบการณ์ ผ่านการแข่งขันกลั่นกรอง จนกลายมาเป็นผู้พิพากษาใช้อำนาจตุลาการแทนปวงชนชาวไทย
จากนั้น ท่านตุลาการทั้งหลายก็จะกลายเป็น ผู้เลือกตั้งผู้ใช้อำนาจสูงสุด (Electoral Body of the Supreme Judicial Power)
ที่มาของอำนาจบริหาร ก็น่าจะต้องเป็นผู้บริหารธุรกิจ ประชากิจ และรัฐกิจระดับสูงที่ประสบความสำเร็จในกิจการบริหารมาแล้ว จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้บริหารมืออาชีพได้ตามหลักเกณฑ์ การกลั่นกรองและการคัดเลือกต่างๆ (Criteria) ของรัฐธรรมนูญหรือคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)
จากนั้น นักบริหารมืออาชีพที่มี Integrity ทั้งหลายก็จะกลายเป็น Electoral Body of the Executive Power เป็นผู้เลือกหัวหน้าฝ่ายบริหาร (นรม. และคณะ)
ส่วนผู้ที่จะสมัครเป็นหัวหน้าคณะผู้ใช้อำนาจบริหารแทนปวงชนชาวไทย ก็ไม่น่าจะเป็นใครอื่นไปได้ นอกจากคนในคณะนักบริหารมืออาชีพที่ผ่านการกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งจาก กกต. เรียบร้อยแล้ว และเปลี่ยนสภาพมาเป็น “ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
เพื่อให้ได้เห็นชัดเจนขึ้น
จึงขอถ่ายทอดเป็นแผนผังทั้งระบบปัจจุบัน และระบบใหม่
ที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการเลือกผู้เข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสาม แทนตนได้
ศิริภูมิ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี