คอลัมน์นี้ได้กล่าวถึงการพัฒนาการเมืองของไทยมาหลายครั้งหลายหน ว่าไม่ได้มีการพัฒนาไปไหนเลย จึงยังคงวนเวียนอยู่ในอ่าง หรือในวงจรอุบาทว์ (Vicious Circle) มาถึง 90 ปีแล้ว ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentarian Democracy) จนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบแจกกล้วย (Banana Distribution Democracy)
หรือระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาดั้งเดิมที่มิเคยมีการปรับปรุงแก้ไขหรือการพัฒนาไปในทางที่ดีเลย (Conventional Parliamentarian Democracy)
ในด้านวัฒนธรรมเรื่องการแต่งงาน สมัยก่อนเป็นเรื่องใหญ่ มีพิธีการมากมาย สิ้นเปลืองเงินทอง และสิ้นเปลืองเวลามากมาย ขอยกตัวอย่างการแต่งงานของผู้มีอันจะกินในกรุงเทพฯก่อน
เช้า ต้องไปเช่าโรงแรมใหญ่ๆ ยิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้ก็ดี ทำพิธีแห่ขันหมากกันตั้งแต่เช้ามืด ฝ่ายเจ้าบ่าวก็ต้องนำสมัครพรรคพวกมามากมาย ทั้งกล้วย อ้อย หมาก พลู ฝ่ายเจ้าสาวก็ต้องหาญาติมิตรแต่งตัวสวยๆ มาต้อนรับ และกั้นประตูขันหมาก
จากนั้นก็เข้าสู่พิธีสู่ขอ ใส่แหวนหมั้นแจกของผู้หลักผู้ใหญ่ที่มาร่วมในพิธี หลายแห่งก็มีพิธียกน้ำชา รวมทั้งจัดอาหารเช้าเลี้ยงแขกเหรื่ออีกไม่ต่ำกว่า 100-200 คน
พอสายๆ หน่อย ก็จะมีพิธีรดน้ำบ่าว-สาว แขกที่มาก็จะต้องมากันตั้งแต่ 10.00 น. แล้วทยอยเข้าคิวกันขึ้นไปรดน้ำบนเวทีที่โรงแรมและบนเวทีที่ “นักจัดงานอาชีพ” (Event Organizer) จัดไว้ให้ และทำทุกอย่างตามที่ “นักจัดงานอาชีพ” สั่งให้ทำ
พอเที่ยง ก็จะต้องจัดเลี้ยงใหญ่กันด้วยอาหารฝรั่งบ้าง มีทั้งปลาแซลมอนรมควัน (Smoked Salmon) แบบฝรั่ง มีทั้งซี่โครงแกะ ปลาแซลมอนนึ่งทั้งตัวสปาเกตตีสเต็กแวกิว นานาสารพัด ส่วนเจ้าภาพถ้าเป็นไทยเชื้อสายจีนก็อาจจะจัดตั้งโต๊ะจีนอย่างดีสัก 50 ถึง 100 โต๊ะ
พอตกค่ำ ก็เป็นงานรับรอง (Reception) แบบยืนรับประทาน มีอาหารมากมายอีกเช่นกัน เรียกว่า Heavy Cocktail สำหรับเพื่อนๆ ของคู่บ่าว-สาว มีวิสกี้อย่างดี ไวน์อย่างดี ออกมาเลี้ยงไม่อั้น มีอาหารญี่ปุ่นทั้ง Sushi, Sashimi, Tempura และเนื้อสัตว์ไว้ต้อนรับอีกมากมาย
ยิ่ง “นักจัดงานมืออาชีพ” เสนอให้มีพิธีการอะไรมากมาย อาหารวิเศษต่างๆ มากเท่าใด ค่าธรรมเนียมการเข้ามาจัดงานก็มากขึ้นเท่านั้น
และโรงแรมหรือสถานที่จัดงานก็จะมีโอกาสขายบริการได้มากขึ้น
ค่าใช้จ่ายที่เจ้าภาพ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเจ้าบ่าวหรือฝ่ายเจ้าสาว (ในกรณีเจ้าบ่าวมีพร้าขัดหลังมาเล่มเดียว) ต้องรับผิดชอบอย่างน้อยๆ ก็ ห้าแสนบาทขึ้นไป จนถึงเป็นล้านๆ บาท ขึ้นอยู่กับพิธีการมากน้อยเพียงใด ใช้สถานที่มากน้อยเพียงใด อาหารดีมากน้อยเพียงใด และเครื่องดื่ม (ไวน์, แชมเปญ ฯลฯ) อย่างดีแค่ไหน
การจัดงานมงคลสมรสในต่างจังหวัด ก็ไม่แพ้กับในกรุงเทพฯ ขบวนขันหมากอาจยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตร มีทั้งช้าง ม้า กลองยาว วงดุริยางค์ และแขกก็มากันนับพันคน เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายแล้ว ก็ไม่ผิดกับการแต่งงานในกรุงเทพฯเท่าใดนัก
จึงเป็นปัญหาอย่างยิ่งต่อผู้ที่จะเป็นเจ้าบ่าว ที่จะต้องไปขวนขวายยืมเงินชาวบ้านเขามาจัดแต่งงาน หรือเอามาใส่พานให้ผู้คนเห็น ว่านี้คือเงินสินสอดที่ให้ครอบครัวเจ้าสาว
แต่จากการที่ผู้เขียนคอลัมน์นี้ ได้ไปพบเห็นมาเมื่อต้นเดือนนี้ จนต้องเอามากล่าวยกย่องและชื่นชมอยู่ในวันนี้ ก็ได้แก่การที่ผู้เขียนได้รับบัตรเชิญไปร่วมงานสมรส ในพระอุโบสถของวัดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครนี่เอง โดยมีพิธีเรียบง่ายดังนี้
10.00 น. ผู้รับเชิญและคู่บ่าว-สาวนั่งประจำที่
10.30 น. พระสงฆ์สวดมนต์ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และให้พรแด่คู่บ่าว-สาว
10.30 น. คู่บ่าว-สาวถวายไทยธรรม และภัตตาหารเพลในปิ่นโตแด่พระสงฆ์
10.50 น. บ่าว-สาวส่งพระสงฆ์กลับสู่กุฏิสงฆ์
11.00 น. ถ่ายภาพ ร่วมกัน และมอบของที่ระลึก, เสร็จพิธี
ภาพที่ 1 : อาสนะสงฆ์ในพระอุโบสถ ที่จัดพิธีมงคลสมรส
ภาพที่ 2 : ที่นั่งคู่บ่าว-สาว และผู้ได้รับเชิญในพระอุโบสถ
ภาพที่ 3 : คู่บ่าว - สาว จุดธูปเทียนหน้าองค์พระประธาน เพื่อเริ่มงานพิธี
ภาพที่ 4 : คู่บ่าว - สาวถวายไทยธรรมและภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์
พอได้เวลา พิธีกรเรียนเชิญคู่บ่าว-สาว จุดธูปเทียนหน้าองค์พระประธาน เพื่อเริ่มพิธี แล้วพิธีกรกล่าวอาราธนาศีล ผู้เข้าร่วมพิธีรับสมาทานศีล
เสร็จแล้ว พระสงฆ์สวดมนต์ให้พรแก่คู่บ่าว-สาว รวมทั้งประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้คู่บ่าว-สาว
เมื่อการสวดมนต์ให้พรของพระสงฆ์สิ้นสุดลง คู่บ่าว-สาว เข้าไปถวายปิ่นโตภัตตาหาร เครื่องไทยธรรมและจตุปัจจัยแด่พระสงฆ์ทั้ง 9 รูป
หลังจากคู่บ่าว-สาว ส่งพระสงฆ์ที่พระอุโบสถแล้ว จึงมีการถ่ายรูปร่วมกับแขกที่มาในงาน
ภาพที่ 5 : คู่บ่าว-สาวถ่ายภาพร่วมกับแขกผู้ใหญ่ที่มาร่วมงาน
ภาพที่ 6 : คู่บ่าว-สาวถ่ายภาพร่วมกับญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย
และติดตามมาด้วยการมอบของที่ระลึก แด่ผู้ที่มาร่วมงานทุกท่านทั้งแขกผู้ใหญ่ ญาติ และมิตร
การจัดพิธีการสมรสในพระอุโบสถของวัดทางพุทธศาสนา จึงนับเป็นการพัฒนาที่น่าชื่นชมของวัฒนธรรมไทย และทำให้เกิดผลดีแก่วัฒนธรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่
ก.ในแง่ของศาสนาพุทธ
- ทำให้พุทธศาสนิกชนได้เห็นความสำคัญของวัดในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น
- ทำให้คนไทยได้เข้าใกล้ชิดวัดยิ่งขึ้น ย่อมจะนำไปสู่ความเคยชินในการไปทำพิธีมงคลต่างๆ ที่วัดมากขึ้น
- ทำให้วัดทางพุทธศาสนา มีบทบาทต่อสังคมไทยมากขึ้น
- ทำให้พระสงฆ์ได้มีโอกาสปฏิบัติภารกิจทางศาสนาหรือเผยแพร่ธรรมะได้มากขึ้น
- ถึงแม้โบสถ์ในวัดบางแห่งอาจจะคับแคบ แต่แทบทุกวัดก็มีศาลาการเปรียญที่กว้างขวางกว่าโบสถ์กันแทบทั้งนั้น พิธีต่างๆ จึงอาจจัดที่ศาลาการเปรียญได้
ข.ในแง่ของแขกที่มาร่วมงาน
- ไม่เสียเวลามากในการมาร่วมงานมงคลสมรสที่วัด
- ได้แต่งกายตามวัฒนธรรมไทยที่เหมาะสมกับท้องถิ่น
- ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับวัดในพระพุทธศาสนามากขึ้น
- การมาที่วัดย่อมสะดวกกว่าการไปโรงแรม รวมทั้งการจราจรและการจอดรถ
ค.ในแง่ของเจ้าภาพ
- สามารถเชิญแขกทุกระดับมาร่วมพิธีในวัดได้ เพราะวัดต้อนรับคนไทยทุกคนอยู่แล้ว (หมายเหตุ : งานนี้มีทั้งองคมนตรี และรัฐมนตรี ข้าราชการผู้ใหญ่ และอดีต มาร่วมงานกันด้วยความชื่นชม)
- ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยในการต้อนรับ และดูแลแขกทั้งวัน เช่น การจัดงานตามโรงแรม
- พิธีการสั้น กระชับ เรียบ-ง่ายและประหยัด ซึ่งควรจะนับเป็นวัฒนธรรมไทยที่ควรยึดถือต่อไป โดยละจากประเพณี “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเสีย”
ขอจบบทความลงเพียงเท่านี้เพราะยาวพอสมควรแล้ว ส่วนเจ้าภาพที่กรุณาริเริ่มหรือสร้างนวัตกรรมทางวัฒนธรรมขึ้นใหม่ ได้แก่ นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ และอาจารย์สาคร ธรรมศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ซึ่งสมัยนั้นไม่เคยมีเรื่องเงินทอน), อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอดีตเลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชฯกว่า 30 ปี
ที่ขออนุญาตนำชื่อท่านมาใส่ไว้ด้วย ก็เผื่อท่านผู้อ่านที่อยากจะสอบถามรายละเอียด จะได้หาทางติดต่อกับท่านเองต่อไป
ศิริภูมิ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี