สัปดาห์ที่แล้ว คอลัมน์นี้ได้กล่าวชื่นชมวัฒนธรรมในการสมรส ซึ่งได้พัฒนาขึ้นให้เหมาะกับกาลสมัยที่โลกกำลังมีวิกฤตเศรษฐกิจ สงคราม และการแพร่ระบาดของโรคร้าย
จากการแต่งงานที่ต้องทำกันอย่างหรูหราใหญ่โต สิ้นเปลืองเวลา ค่าใช้จ่ายมากมาย เป็นการแต่งงานที่จัดขึ้นอย่างเรียบง่ายและประหยัด ทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย รวมทั้งเป็นการชักจูงให้ชาวพุทธซึ่งเป็นคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศ ได้เข้าไปใกล้ชิดกับวัดและพิธีสงฆ์ที่เป็นมงคลต่างๆ ตลอดจนทำให้บทบาทของพระพุทธศาสนามีส่วนเข้าไปในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น
หากจะเทียบกับการสมรสของชาวคริสต์ ซึ่งจัดงานแต่งงานกันในโบสถ์คริสต์ หากจะเป็นในกทม. ก็น่าจะได้แก่โบสถ์อัสสัมชัญ เขตบางรัก อย่างในต่างจังหวัดก็มีโบสถ์คริสต์แห่งจังหวัดจันทบุรี เป็นต้น
การแต่งงานในโบสถ์ หรือในวัดทางพระพุทธศาสนา ก็จะได้ความศักดิ์สิทธิ์ ความงดงาม ความประทับใจ แก่คู่บ่าวสาว เจ้าภาพของทั้งสองฝ่ายและบรรดาแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน ไม่แพ้กันเลย
ส่วนจะจัดแต่งกันที่โบสถ์ใด วิหารใด หรือศาลาการเปรียญของวัดใด ก็มีอยู่มากมายทั้งในกรุงเทพมหานครและในทุกจังหวัดทุกอำเภอ ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าภาพชาวพุทธนั้นๆ จะเลือกวัดใดที่ใกล้บ้าน หรือวัดที่ไปทำบุญกันเป็นประจำ หรือวัดที่มีความสัมพันธ์กันใกล้ชิด
จึงน่าจะเป็นหน้าที่ชาวกระทรวงวัฒนธรรม จะได้ช่วยกันส่งเสริมเผยแพร่ให้เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในประเทศไทยของเรานี้
ยิ่งในยามข้าวยากหมากแพง เงินที่จะเอามา “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ก็จะได้เอาไปให้คู่สมรสใช้เป็นเงินก้นถุง เอาไว้สร้างหลักฐานที่มั่นคงในชีวิตสมรสต่อไป
ชาวกระทรวงวัฒนธรรมน่าจะต้องตระหนักด้วยว่า บทบาทของท่านมีไม่น้อยกว่า (หรือมากกว่า) บทบาทของกลาโหม หรือสภาความมั่นคงแห่งชาติด้วยซ้ำ
ประเทศเราเป็นประเทศเล็ก ที่อยู่รอดมาได้จากปากเหยี่ยวปากกาของนักล่าอาณานิคมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็เพราะวัฒนธรรมอันดีงามของเรานี่เอง โดยความริเริ่มและโดยการสนับสนุนของพระมหากษัตริย์ในอดีต
ในสมัยที่เรามีผู้คนจากประเทศเพื่อนบ้าน โยกย้ายหรือหนีภัยสงคราม หรือความยากจน เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนจากมณฑลต่างๆ ที่มีความฝืดเคืองในการทำมาหากิน หรือชาวเวียดนามที่ลี้ภัยจากสงครามเวียดนาม-ฝรั่งเศส (เดียน-เบียนฟูแตกในปี ค.ศ.1956) สงคราม เวียดนาม-สหรัฐ และพันธมิตร (ไซง่อนแตก ในปี ค.ศ.1974) หรือชาวยุโรปนักผจญภัย ชาวเปอร์เซีย ชาวอินเดีย ชาวศรีลังกา ในยุคสมัยที่เรามีฝ่ายบริหาร (Executive Power) ที่เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ (Stability) ก็สามารถ ทรงใช้นโยบายสร้างความกลมกลืน (Assimilation) กับบรรดาผู้ที่อพยพเข้าเมือง (Immigrants) เหล่านั้น ให้เข้ามาเป็นเนื้อเดียวหรือทองแผ่นเดียวกับคนไทยที่อยู่ในท้องถิ่นเดิมได้เป็นอย่างดี จนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้อยู่ในระดับ “พอมีอันจะกิน” เช่นปัจจุบันนี้ เราจึงมีลูกหลานของเชคอะหมัดแห่งอิหร่านลูกหลานของมิสเตอร์อาลาบาสเตอร์ จากอังกฤษ ลูกหลานของชาวจีนที่เป็นขุน หลวง พระ พระยา ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น อัครมหาเสนาบดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และในตำแหน่งของอำนาจบริหาร (ExecutivePower) มากมาย
ถึงแม้บทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมในปัจจุบันจะมีผลงานที่น่าภาคภูมิใจมีการพัฒนา “อำนาจละมุน” (Soft Power) ให้เป็นประโยชน์อย่างมากมายในการพัฒนาประเทศ ภายใต้การนำของรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และคณะข้าราชการประจำของกระทรวงวัฒนธรรม จนอุตสาหกรรมวัฒนธรรม 5F อันได้แก่ Food (อาหาร), Fashion (แฟชั่น), Film (ภาพยนตร์), Fighting (ศิลปะการต่อสู้ เช่นมวยไทย), และ Festival หรือ ประเพณีตามเทศกาล มีบทบาทสำคัญในการสร้าง GDP ให้แก่ประเทศ ทั้งในด้านการส่งออกอาหารไทย ผ้าไทยและในการนำเข้าซึ่งอุตสาหกรรมสร้างภาพยนตร์และนักท่องเที่ยวที่นิยมในวัฒนธรรมอันละมุนละไมของชนชาวไทยทั้งประเทศ
แต่ในขณะเดียวกัน ข้าราชการของกระทรวงวัฒนธรรมก็จะลืมไม่ได้ว่า อำนาจละมุน (Soft Power) นี้ มีผลสืบเนื่องมาจากระบอบกษัตริย์ของเรา ซึ่งมีพระมหากษัตริย์รับผิดชอบในอำนาจบริหารอย่างเต็มภาคภูมิ จึงมีเสถียรภาพในการทำให้นโยบายต่างๆ ด้านวัฒนธรรมพัฒนาไปอย่างได้ผล สามารถสร้างความกลมกลืนของผู้อพยพเข้ามาตั้งหลักฐานในประเทศไทย (Immigrants) กลายเป็นคนไทยที่มีคุณค่าและเป็นพลังอันสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมาจนทุกวันนี้
แต่ในปัจจุบัน เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป อำนาจในการบริหารประเทศล้มลุกคลุกคลาน เต็มไปด้วยการแย่งชิงผลประโยชน์ เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น การซื้อเสียง เงินทอนวัด เงินเข้ากระเป๋าตนเองบ้าง พรรคบ้าง30-40% ของแต่ละโครงการจัดซื้อจัดจ้าง การเล่นพรรคเล่นพวก เพื่อให้เข้าไปหาผลประโยชน์ให้ตน จนลีกวนยู เคยให้สัมภาษณ์ตรงๆ ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมอ่อนแอ (Soft Culture)
จึงเป็นเรื่องที่ข้าราชการประจำของกระทรวงวัฒนธรรมจะพึงตระหนักว่า ท่านมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหา Soft Culture อันเป็นบ่อเกิดแห่งความอ่อนแอและความก้าวหน้าไม่ทันเพื่อนบ้าน ของแผ่นดินทองแผ่นดินไทยนี้
วัฒนธรรมอ่อนแอ (Soft Culture) นี้ นอกจากจะเกิดกับระบบการเมืองที่ต้องใช้เงิน (Money Politics) แล้ว ยังเกิดจากสิ่งไม่ดีอีกหลายอย่าง ที่ถ่ายทอดกันมารุ่นต่อรุ่น จากอดีตจนปัจจุบัน ได้แก่
- การขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน
- การขาดความรับผิดชอบต่อครอบครัว
- การขาดความรับผิดชอบต่อสังคม
- การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม
- การไม่ตรงต่อเวลา
- การเป็นคนเห็นแก่ได้ รับเงินเพื่อให้ทำสิ่งผิดกฎหมายและจริยธรรมได้
ฝรั่งบาทหลวง ตูร์แป็ง เคยเขียนเป็นบันทึกไว้สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในยุโรปว่า จุดอ่อนของคนไทยมีประการใดบ้าง ซึ่งคอลัมน์นี้ได้เคยกล่าวไว้โดยละเอียดมาบ้างแล้ว
ค่านิยมเก่าๆ ของไทย ก็เป็นสาเหตุหนึ่งแห่งการทำให้เรามีวัฒนธรรมอ่อนแอ
อาทิเช่น “รู้อะไรไม่สู้ รู้วิชา รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดดี”
ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงวัฒนธรรมจะต้องไปหาทางแก้
จนเยาวชนยอมรับว่า
“รู้อะไรไม่สู้ รู้วิชา รู้รักษาความถูกต้อง และครองธรรม”
-หรือ-
“ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา”
ซึ่งน่าจะส่งเสริมให้คนหัดประจบสอพลอ ยกย่องสรรเสริญเยินยอในสิ่งที่มิใช่ความจริง เพื่อความก้าวหน้าของตนเอง
ข้าราชการประจำของกระทรวงวัฒนธรรม ก็จะต้องหาทางทำให้เยาวชนชาวไทย เชื่อว่า
“คุณธรรมเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นตรา”
เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง (Hard Culture) ขึ้นในประเทศไทย หากจะฝากการบ้านแก่ชาวกระทรวงวัฒนธรรม เป็นตัวย่อภาษาฝรั่ง เช่น 5F ที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้ทำสำเร็จไปแล้วในฐานะใช้ Soft Power ให้เป็นประโยชน์ (Food, Fashion, Film, Fighting และ Festival) ก็น่าจะได้แก่ การสร้าง Sporting Mind ให้เป็นวัฒนธรรมที่พัฒนาแล้วของคนไทยรุ่นใหม่
ซึ่งเพื่อให้จำง่ายๆ ก็ได้แก่คำดีคำหนึ่งคือ SPORTING MIND ซึ่งอาจจะแยกออกมาได้ดังนี้
S (Selfishness ความเห็นแก่ตัว) เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นแก่ตัวเองมากกว่าลูกเมีย ครอบครัว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ของประเทศชาติ
P (Punctuality ความตรงต่อเวลา) เพื่อสร้างวัฒนธรรมอันดีต่อคนไทย ให้เป็นคนเชื่อถือได้ ตรงต่อเวลา ไม่ทำตนเป็นศรีธนญชัยคอยเลี่ยงบาลี (หรือกฎเกณฑ์) อยู่เสมอ
O (Opportunist นักฉวยโอกาส) คอยฉกฉวยโอกาสจากผู้อ่อนแอจากผู้ที่มาขอใบอนุญาต หาประโยชน์ในทางมิชอบ หากเป็นกรณีทั่วไปก็คือ การทำนาบนหลังคนที่ด้อยโอกาสกว่า
R (Responsibility ความรับผิดชอบ) ต้องสร้างความรู้สึกให้คนมีความรับผิดชอบต่อลูก ต่อเมีย ต่อบิดามารดา ต่อภาระหน้าที่การงานของตนต่อชุมชน และต่อประเทศชาติ
T (Thoughtfulness การมีความคิดที่ไตร่ตรอง) เพื่อสร้างจิตใจของคนไทยให้เป็นนักคิดที่ดี เห็นใจผู้ยากไร้ ช่วยเหลืองานสังคมในชุมชนและในประเทศ มีจิตสำนึกที่ดี
I (Immorality) การทำผิดศีลธรรมและจริยธรรมที่เกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย กระทรวงวัฒนธรรมจึงควรเน้นหนักไปในทางสร้างจริยธรรมที่ดีให้เป็น Strong Culture ที่ถาวรต่อไปด้วย
N (Narrow Minded ใจแคบ) ความมีใจคับแคบและเห็นแก่ได้
G (Golden Rule หลักเกณฑ์ที่ดี) เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้แก่เยาวชนชาวไทย ไม่เห็นแก่ตัว
M (MAN) เพื่อให้เยาวชนได้รู้จักความเป็นสุภาพบุรุษ ตามแนวทางที่อารยประเทศ มีมาตรฐาน หรือแนวทางปฏิบัติอยู่
I (Immature ความไม่สุกงอม ความไม่เป็นผู้ใหญ่) ซึ่งเป็นสภาพปัจจุบันของเยาวชนไทย ยังรบกวนขู่เข็ญพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เพื่อเอาเงินไปซื้อสุรา ยาเมา และยาเสพติด ดังปรากฏอยู่ในสื่อมวลชนทุกประเภททุกวัน
N (Near Sighted มองสั้นๆ ไม่มองอนาคต) ซึ่งเป็นลักษณะสุกเอาเผากิน ไม่มองการณ์ไกล และผลลัพธ์ในอนาคตอันยาวนาน จึงเป็นวัฒนธรรมที่สร้างความเปราะบางแก่ชาวไทย
D (Dignity เกียรติหรือศักดิ์ศรี) เพื่อให้คนไทยทุกคนมีความรักในเกียรติของตน ไม่ว่าจะเป็นกรรมกร ชาวนา เสมียน นักธุรกิจ นักการเมืองควรจะรักและภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของตน ไม่ยอมไปเบียดเบียนผู้อื่นในทางที่ผิดศีลธรรมและกฎหมาย
หากชาวกระทรวงวัฒนธรรมจะช่วยสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ต่อไป ก็จะมีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ โดยอาศัยวัฒนธรรมมากกว่าความมั่นคงที่มาจาก Hard Power โดยอาศัยอาวุธยุทโธปกรณ์
ศิริภูมิ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี