ประเทศไทยยังต้องดำเนินต่อไปเรื่อยๆตามวิถีทางของตัวเอง เพื่อผลประโยชน์สาธารณะสูงสุด การดำรงอยู่ของประเทศไทยจะเป็นไปตราบเท่าที่ประเทศยังคงมีอธิปไตยโดยสมบูรณ์ ไม่ว่าประเทศนี้จะมีนายกรัฐมนตรีชื่ออะไรก็ตาม แต่ประเทศไทยก็ต้องดำเนินต่อไป
บัดนี้ทุกคนที่ติดตามข่าวเรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อประเด็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่ง 8 ปีหรือไม่ ได้ทราบคำวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว หลายคนคงเห็นด้วยกับคำวินิจฉัย แต่หลายคนก็คงไม่เห็นด้วย ซึ่งก็นับเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมที่มีความเห็นหลากหลาย แต่ไม่ว่าจะคิดเห็นอย่างไร ทุกคนในสังคมไทยก็ต้องยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถือเป็นคำวินิจฉัยที่มีอำนาจสูงสุดในเรื่องนี้
เราทุกคน (เน้นเฉพาะคนที่สนใจประเด็นการเมืองไทย) ต่างรู้ดีว่าในครั้งหนึ่งเมื่อปี 2544 ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยกรณีของทักษิณ ชินวัตร มาแล้ว และในครั้งนั้นก็ทำให้สังคมเกิดคำถามมากมายกับคำที่ว่าบกพร่องโดยสุจริต
มาบัดนี้ สังคมไทยอาจจะตั้งคำถามกับศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งก็ได้ (สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ) แต่นั่นก็หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานบางอย่างให้กับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแล้ว ก็หมายความว่าประเทศจะเดินหน้าต่อไป และการเดินหน้าต่อของประเทศนั้นจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่ประชาชนส่วนมากให้ความไว้วางใจ นอกจากประชาชนในประเทศไว้วางใจแล้ว ประชาคมโลกยังต้องให้การยอมรับรัฐบาลอีกด้วย เพราะถ้าหากประชาคมโลกไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็หมายความว่าการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆ บนโลกใบนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างยากลำบาก
จะอย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าประเทศต้องเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าใครจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และที่สำคัญคือ การประชุมเอเปกที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ซึ่งจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ในวันที่18-19 พฤศจิกายน 2565 ก็ต้องดำเนินต่อไปส่วนจะมีการประท้วงทางการเมืองหรือไม่ และจะประท้วงยืดเยื้อหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจรัฐจำเป็นต้องดูแลสถานการณ์ของบ้านเมืองให้เกิดความสงบสุขมากที่สุด
ส่วนที่มีความวิตกว่าจะเกิดรัฐประหารรอบใหม่ขึ้นในอนาคตนั้น เรื่องนี้ไม่มีใครยืนยันได้เพราะการรัฐประหารในประเทศไทยนั้นเกิดเมื่อไรก็ได้ ตราบเท่าที่ทหารยังมีอำนาจในการทำรัฐประหาร และทำรัฐประหารแล้วไม่มีความผิดใดๆ ส่วนสาเหตุของรัฐประหารนั้นก็สุดแล้วแต่จะอ้างกันไปตามอำเภอใจของผู้ก่อรัฐประหาร แต่ก็ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า หากไม่มีมูลเหตุใดๆ ให้ทหารก่อรัฐประหารได้แล้ว การทำรัฐประหารก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่าย ยกเว้นว่านักการเมืองที่มีอำนาจรัฐสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารขึ้นมา
ในยามนี้ ไม่ว่าใครก็ตามที่ขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย ก็จะไม่สามารถหลีกหนีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่จะบังเกิดกับประเทศไทยได้ นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบต่อปัญหาเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะใช้เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบในหน้าที่ นายกรัฐมนตรีพันธกิจสำคัญคือสร้างความมีเสถียรภาพให้กับประเทศไทย มิใช่สร้างความมีเสถียรภาพให้กับตำแหน่งเพื่อให้ได้สืบทอดอำนาจรัฐต่อไป โดยปล่อยให้ประเทศชาติเสื่อมทรุด
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี