“ประมาณ 2-3 ปีแล้ว ก็เข้าไร่ปกติ เข้าไปในไร่แล้วก็ไปเจอหญ้าอะไรมันแปลกๆ ก็เลยไปหาข้อมูลดูว่ามันคือหญ้าอะไร แต่มันก็ยังไม่เยอะ เราก็พยายามถอน ถอนใส่ถุงเอามาทิ้ง ทำอยู่ในนั้น มันก็ไม่สูญ มันก็มีขึ้นทุกปีๆ เราก็ไม่รู้จะจัดการมันอย่างไร”
รัตนา อินทร์ชู เกษตกรชาวไร่อ้อย-ไร่ข้าวโพด ในพื้นที่ ต.นิคมเขาบ่อแก้ว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ กล่าวกับทีมงาน “นสพ.แนวหน้า” เมื่อครั้งติดตามคณะทำงานของสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ไปให้ความรู้กับเกษตรกรเกี่ยวกับ “หญ้าแม่มด” ซึ่ง รัตนา หนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เล่าว่า เมื่อเวลาผ่านไปพบอ้อยไม่ได้น้ำหนักตามที่ต้องการและหลายต้นก็ตายลง กระทั่งไปพบข้อมูลว่า หญ้าแม่มดจะไปเกาะที่รากของอ้อยเพื่อแย่งชิงอาหารจากอ้อยที่เกษตรกรปลูกไว้ และต่อมาเมื่อแบ่งพื้นที่ปลูกข้าวโพด ก็ยังพบการระบาดในไร่ข้าวโพดเช่นกัน
เฟซบุ๊คแฟนเพจ “สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย” โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2565 ระบุชนิดหญ้าแม่มด 7 สายพันธุ์ ที่มีรายงานพบในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งมี 2 สายพันธุ์ที่พบหรือเคยพบในประเทศไทย คือ สายพันธุ์ “Striga asiatica (L.) O. Ktze ดอกสีเหลืองหรือสีแดง” มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของประเทศทางตะวันออกและตอนใต้ของทวีปแอฟริกา เช่น เอธิโอเปีย
ทุกประเทศในทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย และในทวีปอเมริกา ประเทศสหรัฐอเมริกา (ในรัฐ Carolina โดยติดไปกับเมล็ดพันธุ์ข้าวจากจีน) กับสายพันธุ์ “Striga angustifolia (Don.) Saldanha ดอกสีขาว” มีรายงานการระบาดในแหล่งปลูกอ้อยในอินเดีย และใน จ.นครสวรรค์ ของประเทศไทย นอกจากนั้น พบการกระจายตัวอยู่ในทวีปแอฟริกา ประเทศจีน โอมาน ภูฏาน บังกลาเทศ ศรีลังกาปากีสถาน เนปาล เมียนมา เวียดนาม และ อินโดนีเซีย
27 ก.ย. 2565 วันที่ทีมงานสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ไปให้ความรู้กับครอบครัวของ รัตนา และเกษตรกรอีกหลายรายในละแวกใกล้เคียง จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย และอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร บอกเล่าเรื่องราวการระบาดของหญ้าแม่มดในประเทศไทย ว่า ในอดีตเคยมีการระบาดที่ จ.อุบลราชธานี ในปี 2517 แต่ได้มีความพยายามกำจัดอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับเวลานั้นเกษตรกรหันไปปลูกมันสำปะหลังซึ่งไม่ใช่พืชเป้าหมายของหญ้าแม่มด ทำให้วัชพืชชนิดนี้หายสาปสูญไป ไม่มีการรายงานมาตั้งแต่ปี 2527 กระทั่งในปี 2560 มีรายงานพบการระบาดของหญ้าแม่มดในพื้นที่ปลูกอ้อยและข้าวโพด ใน 4 อำเภอของ จ.นครสวรรค์ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.พยุหะคีรี อ.ตากฟ้า และ อ.ตาคลี ซึ่งครั้งนี้เป็นหญ้าแม่มดที่มีดอกสีขาวไม่ใช่สีเหลืองอย่างที่เคยพบในปี 2517
“เรามีสมมุติฐานอยู่ 2 อย่าง เดิมมันมีอยู่ในประเทศไทยหรือเปล่าแต่เราไม่เคยไปสำรวจ แล้วเราไม่เคยเห็นความเสียหาย 2.มันติดมากับเมล็ดพันธุ์จากข้าวโพดถุงขาวที่มาจากแถวๆ ชายแดนหรือเปล่า เพราะมีชาวบ้านรายงานว่าตอนที่ข้าวโพดมันแล้งๆ แล้วก็ตายไปเมล็ดพันธุ์มันขาดแคลน เขาก็เลยไปเอาข้าวโพดถุงขาวจากชายแดนมาปลูก เขาก็เริ่มเห็นดอกสีขาวมันมา แล้วหลังจากนั้นเขาก็เปลี่ยนไปปลูกอ้อย มันก็เลยกินอ้อยด้วย แล้วมันก็ไปกินข้าวฟ่างหางหมาด้วย กินข้าวฟ่างด้วย กินหลายอย่างเลย” จรรยา ระบุ
ภายใต้รูปลักษณ์ที่สวยงามจนหลายคนพบเห็นแล้วดูไม่มีพิษภัยถึงขั้นนำไปปลูก แต่จริงๆ แล้วไร่อ้อยหรือข้าวโพดที่พบหญ้าแม่มดขึ้นนั้น อ้อยหรือข้าวโพดจะมีขนาดลีบเล็กไม่ได้มาตรฐานไปจนถึงต้นที่ตายลงโดยนายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย อธิบายว่า หญ้าแม่มดเป็นวัชพืชที่แย่งอาหารพืชประเภทใบเลี้ยงเดี่ยวใบแคบ เช่น อ้อย ข้าวโพด เติบโตได้ดี
ในดินทรายหรือดินผสมหินปนทราย
เมื่อเมล็ดงอกออกมาก็จะแทงรากเข้าไปในรากของพืชเป้าหมายที่ต้องการอาศัยเพื่อดูดน้ำเลี้ยง และการกำจัดก็ทำได้ยาก เช่น การถอนหากไม่สามารถนำรากขึ้นมาได้ทั้งหมดก็จะแตกหน่อขึ้นได้ใหม่ อีกทั้งด้วยความที่เมล็ดนั้นเล็กมากเหมือนกับฝุ่นผงสามารถติดไปกับสิ่งของต่างๆ ได้ง่าย จึงอาจติดมือเกษตรกรไปได้ด้วย โดยหญ้าแม่มด 1 ฝักมีเมล็ดเฉลี่ยราว 700 เมล็ด และ 1 ต้นมีมากถึง 2 แสนเมล็ด
สำหรับ “วิธีการกำจัดหญ้าแม่มด” ในงานวิจัยที่เคยทำไว้ แนะนำให้ใช้สาร “ซัลเฟนทราโซน(Sulfentrazone)” และ “อินดาซิแฟลม (Indaziflam)”ฉีดหลังปลูกพืช โดยเมื่อหญ้าแม่มดแทงยอดทะลุดินขึ้นมาเจอกับสารเหล่านี้ก็จะตาย สารเหล่านี้เมื่อฉีดแล้วจะอยู่ไปได้ราว 3 เดือน ดังนั้น จึงต้องฉีดซ้ำอีกรอบหนึ่งเมื่อใกล้ถึงเวลาดังกล่าว โดยสรุปแล้ว 1 รอบการปลูกนั้นจะฉีดสารกำจัดหญ้าแม่มดประมาณ 2 ครั้ง
ทั้งนี้ หญ้าแม่มด เป็นวัชพืชกักกันร้ายแรงและนานาชาติต่างเฝ้าระวังไม่ให้หลุดเข้าไปในประเทศของตนดังนั้นจึงเรียกร้องให้ภาครัฐของไทยประกาศเขตกักกัน เช่นเดียวกับที่ประเทศออสเตรเลียซึ่งประกาศเขตกักกันหญ้าแม่มดที่รัฐควีนส์แลนด์ เฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายพืชเกษตรออกไปยังรัฐอื่นอย่างเข้มงวด โดยหญ้าแม่มดนั้นเมล็ดที่อยู่ในดินจะมีอายุตั้งแต่ 10-20 ปี จึงต้องเฝ้าระวังจนกว่าจะหมดอายุของหญ้าแม่มด
แต่ก่อนหน้านั้นก็ต้องให้ความรู้กับชาวบ้านด้วยเพราะการทำงานของสมาคมฯ ตั้งแต่ช่วงปี 2560 จนปัจจุบันคือปี 2565 ก็ยังพบเกษตรกรไม่ค่อยรู้จักหญ้าแม่มดกันมากนัก!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี