l ขอเท้าความเรื่องสำคัญที่ได้นำเสนอในตอนที่ (2) “การเปลี่ยนแปลง ในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖” การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย
1.ผู้นำในการเปลี่ยนแปลง
1.1 ผู้นำหลักในการก่อกระแสฯ ของการเปลี่ยนแปลง คือ ขบวนของนิสิตนักศึกษา และประชาชน.............
1.2 กลุ่มและบุคคลที่มีอำนาจในรัฐบาลเก่า จอมพลถนอม ประภาส จารุเสถียร พันเอกณรงค์ กิตติขจร...............
1.3 ผู้นำที่มีบทบาทในการกดดันให้ “ผู้นำรัฐบาลเก่าฯ” ยอมที่จะบินออกไปต่างประเทศ พลเอกกฤษณ์ สีวะรา พลเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ พลตรีวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์
...............
l ตอนนี้ จะขอเสนอ “ข้อต่อไป”
1.4 ปัจจัยสำคัญยิ่ง ที่มีส่วนสำคัญ ในการประสานงาน ให้เกิดการยุติความขัดแย้ง เราพอทราบกันแล้วว่า “บทบาท ทั้ง ๓ ส่วน ที่มีความสำคัญ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องฯ” กับการก่อเกิดเหตุการณ์สำคัญใน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งทั้ง ๓ พลังสำคัญ นี้ ทำหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ของตน ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงฯ คือ ก่อเกิด ท่ามกลางการต่อสู้ขัดแย้งกัน และดำเนินต่อไป โดยยังไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะ “กำลังของทั้ง ๒ ฝ่าย ยังไม่มีฝ่ายใด ที่จะมีพลังเหนือกว่ากัน จนทำให้เหตุการณ์จบลงได้” โดย ๒ ฝ่าย คือ
๑.พลังของอำนาจเก่า : ที่ยังของมีกำลังไม่น้อย เพราะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ฯลฯ
๒.พลังของการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลง ในสถานการณ์ที่ก่อเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลง
ผู้นำนักศึกษาประชาชน ที่มีการร่วมกัน ในการต้องการการเปลี่ยนแปลงฯที่มีจำนวนมากมายเป็นหลายแสนคน ก่อการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่มีมาฯ แต่ “บทบาทของนักศึกษาและประชาชน” ยังมีความจำกัด ในเรื่อง “คุณภาพและประสบการณ์” และการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ยังมีเวลาจำกัด เพียงไม่กี่วัน (เรื่องนี้ เราจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจ ด้วยสติปัญญา ความรู้ ความจริง ฯลฯ เพื่อประเมินบทบาทและพลังที่เป็นจริงฯ ว่ามีบทบาทแค่ไหน อย่างไร)
๓.พลังของกลุ่มอำนาจใหม่ อำนาจที่สำคัญคือ “การเป็นผู้บัญชาการทหารบก” (ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง จากอำนาจเก่า เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๖) กองกำลังทหารเสือพรานที่มีบทบาทในการสู้รบในลาว ร่วม ๒ หมื่นคน นำโดย พลตรีวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ (ยศในขณะนั้น) โดยมีส่วนสัมพันธ์ที่แน่นอน กับสหรัฐอเมริกา ผู้สนับสนุนฯ รวมทั้ง นายทหารบางส่วนที่เข้าร่วมและกลับมากุมกำลังทหารบางส่วนฯ และเพื่อนสนิท ที่เคยคุมกำลัง ตำรวจ และกองทัพอากาศมาก่อนฯ คือ พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ และ พลเอกประเสริฐ รุจิระวงศ์ โดยคนหลังมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองบางส่วน ที่สำคัญคือ นายอนันต์ ฉายแสง ไขแสง สุกใส ฯลฯ (และนายอุทัย พิมพ์ใจชน ที่มีความเชื่อมโยงกันฯ)
l กำลังของ ๒ ฝ่ายนี้ ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมา ตั้งแต่ ต้นปี ๒๕๑๖ และช่วงที่สำคัญ ตั้งแต่ วันที่ ๖ ตุลาคม และ ๑๓-๑๔-๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๖ ในทุกปริมณฑล ทั้งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุดเริ่มชุมนุมใหญ่ของขบวนการนักศึกษาฯ ในส่วนของการเมือง และที่สำคัญ คือ “กองทัพฯ”
ฝ่ายที่มีความได้เปรียบ คือ “ฝ่ายอำนาจใหม่” ที่อยู่ภายใน ที่เห็นบทบาทของฝ่ายอำนาจเก่าฯ
แต่เนื่องจาก ทั้ง ๒ ฝ่าย ยังไม่มีดุลกำลัง ที่เหนือกว่ากันมากนัก ฉะนั้นจึงมีความสุ่มเสี่ยง ต่อการปะทะกัน ทางการทหาร ระหว่างทั้งสองฝ่ายอยู่ไม่น้อย อันจะก่อให้เกิดความสูญเสียของประชาชนและประเทศไทย เราจึงต้องมาทำความเข้าใจ ถึง ปัจจัยที่ ๔ กัน
l ปัจจัยสำคัญยิ่ง ที่มีส่วนสำคัญ ในการประสานงาน ให้เกิดการยุติความขัดแย้ง
หากเรามาดู และพิจารณาถึง “เหตุการณ์ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕”เรา และประชาชน จะเห็นภาพชัดเจนกว่า คือ “เวลา ๕ ทุ่มครึ่งของวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจและสถานีวิทยุทุกแห่งได้ถ่ายทอดข่าวสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นำ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นผู้นำมวลชน และ พล.อ.สุจินดาเข้าเฝ้าฯที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน”
ทรงเริ่มพระราชดำรัสด้วยพระสุรเสียงเรียบๆ แต่หนักแน่นว่า “คงไม่เป็นที่แปลกใจ ทำไมจึงเชิญให้ท่านมาพบกันอย่างนี้” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชาธิบายแก่บุคคลทั้งสองว่า แม้จะเป็นที่กระจ่างชัดตั้งแต่แรกว่า เหตุผลที่ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันคืออะไร แต่ “ก็มีความเสียหายในทางจิตใจ และในทางเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างที่จะนับคณาไม่ได้” และ “ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปทุกหนทุกแห่ง มีความหวาดระแวงว่าจะเกิดอันตราย มีความหวาดระแวงว่าประเทศชาติจะล่มจม โดยที่จะแก้ไขลำบาก”
ทรงถามผู้นำทั้งสองฝ่ายด้วยคำถามที่คนทั้งชาติเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ว่า “แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางชนะ อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือ ต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วก็ที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ”
ผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างละทิฐิมานะ ยอมปฏิบัติตามพระราชดำรัส ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีของประชาชน วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พล.อ.สุจินดา ได้ออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่ตนเอง และวันต่อมา ๒๔ พฤษภาคม ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี “ทำให้เหตุการณ์สงบลง”
l แต่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ แม้ไม่มี “ภาพที่ชัดเจน เท่าเหตุการณ์ พฤษภาคม ๒๕๓๕” แต่มีข้อมูลหลายทางที่แสดงออกมาในทำนองใกล้เคียงกัน
เรามาพิจารณากัน :
๑.สถานการณ์ทางการเมือง
(๑) ภายในประเทศ
-สุดท้าย ในการแก้ไขวิกฤตทางการเมืองทางรัฐสภา โดยการปฏิวัติ หรือรัฐประหารตัวเอง ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ทำให้ “ไม่มีรัฐสภา (ไม่มีสส.) และไม่มีรัฐธรรมนูญ (ถูกยกเลิก)”การบริหารประเทศ อยู่ภายใต้รัฐบาลของจอมพลถนอม ประภาสและพันเอกณรงค์ กิตติขจร
-การบริหารแก้ไขปัญหาสังคมและเศรษฐกิจมีปัญหา ประชาชนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ปัญหาภายในกองทัพฯ ที่มีการเล่นพวก และการต่ออายุราชการของเหล่าทัพต่างๆ สร้างควาไม่พอใจ แก่บรรดาผู้นำทหารที่ควรจะมีโอกาสก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญในกองทัพฯ
-ประชาชนส่วนใหญ่ก็มีความเชื่อว่ารัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจอมพลประภาส จารุเสถียร ในฐานะประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จงใจที่จะประวิงเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
-มีการบริหารปัญหาการเมือง มีการใช้อำนาจไปในทางที่ผิดพลาดหลายเรื่อง รวมทั้ง กรณีเข้าแทรกแซงอำนาจตุลาการ มาตรา 299 กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร, การปลดผู้นำนักศึกษารามคำแหง ฯลฯ มีการแสดงออกของนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย ที่นำโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะ “มีการชุมนุมที่สนามหลวง หน้าศาล และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” ฯลฯ
(๒) ภายนอกประเทศ หรือสถานการณ์โลกในช่วงก่อน เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ อธิบายด้วย ทฤษฎีโดมิโน (อังกฤษ :
domino theory)
เป็นทฤษฎีทางนโยบายด้านการต่างประเทศ อุปมาขึ้นจากลักษณะของเกมไพ่ต่อแต้ม ซึ่งถ้ามีไพ่ล้มหนึ่งใบ ไพ่ใบอื่นๆ ก็จะล้มเป็นแถบติดต่อเป็นลูกโซ่ ทฤษฎีโดมิโนหมายความว่าถ้าประเทศหนึ่งหันไปใช้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ จะส่งผลให้ประเทศรอบข้างก็จะเอาอย่างตามไปด้วย
เรียกว่า ผลกระทบแบบโดมิโน (อังกฤษ : domino effect)
ทฤษฎีโดมิโนเกิดขึ้นจากกรณีการขยายตัวของลัทธิและระบอบคอมมิวนิสต์ในทวีปเอเชียเมื่อจีน เกาหลีเหนือ เวียดนามเหนือ เป็นคอมมิวนิสต์ ตามมาด้วยเวียดนามใต้ ลาว กัมพูชา
ประเทศไทย ฯลฯ มีโอกาสจะถูกครอบงำโดยระบบคอมมิวนิสต์ในที่สุดตามไปด้วย การล้มของโดมิโนจึงหมายถึงการล้มตัวของระบอบประชาธิปไตย
@ จึงมีหลายฝ่ายในไทยและทางอเมริกา มีความหวาดหวั่นต่อ “แนวความคิดนี้”
การพยายามหยุดยั้ง หรือผ่อนคลายความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นนองเลือด อันจะลุกลาม บานปลาย ไปมากกว่านี้ จึงเป็นกระแสความคิด ของผู้นำบ้านเมืองหลายฝ่ายฯ
๒.การเข้าร่วมส่วนในการแก้ไขสถานการณ์ โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศ
มาฟังความเห็นจากคนต่างประเทศ
17 วัน หลังเหตุการณ์วันที่ 14 ต.ค. 2516 เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ส่งบันทึกลับความยาว 6 หน้า ใช้ชื่อว่า “ประเทศไทย :การปฏิวัติเดือนตุลาคม” (Thailand: The October Revolution)ไปถึงรัฐมนตรีต่างประเทศในกรุงลอนดอน “เล่าถึงที่มาที่ไปของเหตุการณ์ฯ”
เขาเห็นว่า มี 2 เรื่องน่าประหลาดใจจากเหตุการณ์นี้คือ
(๑) ระบอบนี้ถูกโค่นลงอย่างง่ายดาย และการยุติลงของความรุนแรงที่ดูตื่นเต้นเร้าใจ หลังได้รับรู้ว่า จอมพลถนอม ประภาสและ พ.อ.ณรงค์ หนีออกนอกประเทศไปแล้ว
(๒) กล่าวถึงบทบาท ของพระมหากษัตริย์ โดยการอยู่ข้างเดียวกับนักศึกษาและประชาชน โดยพอสรุปบางประเด็นได้ว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงนักศึกษาและประชาชนที่มาร่วมชุมนุม และประชาชนส่วนใหญ่ต้องการรัฐธรรมนูญ และนักศึกษาก็มีสิทธิในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างสงบ และไม่ต้องการให้ “ฝ่ายใด” ใช้ความรุนแรง และการใช้นักศึกษาเป็นเครื่องมือ
เดอ ลา แมร์ก ให้ความสำคัญกับ “บทบาทของพระมหากษัตริย์”ซึ่งเขาบรรยายว่า แทบจะไม่มีประชาชน หรือผู้นำกองทัพที่จะขัดพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
l มาฟังข่าวภายในประเทศ
วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2516 เวลา 19.15 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และได้มีพระราชดำรัสทางวิทยุโทรทัศน์แก่ปวงชนชาวไทยว่า
“วันนี้เป็นวันมหาวิปโยคที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดระยะเวลา 6-7 วันที่ผ่านมา ได้มีการเรียกร้องและเจรจากัน จนกระทั่งนักศึกษาและรัฐบาลทำข้อตกลงกันได้ แต่แล้วมีการขว้างระเบิดขวดและยิงแก๊สน้ำตาขึ้น ทำให้เกิดการปะทะกันและมีคนได้รับบาดเจ็บหลายคน ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั้งพระนครถึงขั้นจลาจลและยังไม่สิ้นสุด มีคนไทยด้วยกันต้องเสียชีวิตนับร้อย
ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้งเพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนสู่สภาพปกติเร็วที่สุด
อนึ่ง เพื่อขจัดเหตุร้ายนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อค่ำวันนี้ ข้าพเจ้าจึงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุนเพื่อให้คณะรัฐบาลใหม่สามารถบริหารงานแผ่นดินได้โดยมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมและแก้ไขสถานการณ์ให้คืนสู่สภาพเรียบร้อยได้โดยเร็ว ยังความสงบสุขความเจริญรุ่งเรืองให้บังเกิดแก่ประเทศและประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน”
l สุดท้าย ขอเล่าเรื่องโดยสรุป ของผู้นำนิสิตนักศึกษาบางส่วนที่ได้มีส่วนร่วมในการแก้วิกฤตในบางส่วน
@ ที่หน้าสวนจิตรฯ หลังจากมีการสรุปเหตุการณ์ฯ ซึ่งน่าจะจบลงด้วยดี แต่มีเหตุเกิดขึ้น โดยมีการยิงแก๊สน้ำตาฯ เข้าใส่นักศึกษาและประชาชนที่กำลังเดินทางกลับบ้านบางส่วนต้องตกน้ำ และหนีไปรวมตัวกันที่หน้าประตูทางเข้าสวนจิตรฯ และมีการโปรดฯ ให้เปิดประตูเพื่อให้นักศึกษาประชาชนจำนวนพันเข้าไปอยู่ในที่ปลอดภัย
ผู้นำนักศึกษาส่วนหนึ่งฯ ได้ร่วมแก้ปัญหา โดยประสานกับทางสำนักพระราชวังให้นำรถบัส มารับนักศึกษาประชาชน ออกไปสู่จุดที่ปลอดภัย หลังจากนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ นำ “ผู้นำนักศึกษาส่วนนี้”เดินไปตามถนนสายเล็กฯ ในพระราชวังโดยไม่คาดฝัน ได้มีโอกาสอันพิเศษยิ่ง ที่ได้เข้าเฝ้าฯ“สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ”
โดยมีรับสั่ง ว่า “ในหลวงฯ ทรงเป็นห่วงใยต่อนักศึกษาและประชาชนมาก และได้ติดตามข่าวสารตลอดหลายวันที่ผ่านมา โดยมิได้หลับนอนฯ” และ “ผู้นำนักศึกษาส่วนนี้ ได้มีโอกาสร่วมแก้ไขสถานการณ์ ในวันต่อมา จนกระทั่งเหตุการณ์เข้าสู่ความสงบ”
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี