นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม สส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวโจมตีรัฐบาล กรณีที่เกิดเหตุการณ์ยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู บอกว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนขอกล่าวโทษรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ที่พยายามเปิดเสรีกัญชา โดยตนมองว่ากัญชาคือยาเสพติดเทียบเท่ายาบ้า และรัฐบาลกลับส่งเสริมสร้างยาเสพติดทั่วประเทศ”
หลังจากนั้น นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง สภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ น่าสนใจ โดยสรุป คือ
1. สส.พรรคเพื่อไทยข้างต้น นำประเด็นกัญชามาโยงกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรม โดยไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยผลการตรวจหาสารเสพติดออกมาปรากฏไม่พบสารเสพติดในร่างกายของ ส.ต.อ.ปัญญา คำราบ ผู้ก่อเหตุยิงแต่อย่างใด และผู้ก่อเหตุมีประวัติในการเสพยาบ้า ไม่ได้เกี่ยวกับกัญชา
2. งานวิจัยในปี 2554 เสนอผ่านวารสารการเสพติดยาและแอลกอฮอล์ Drug and Alcohol dependence เป็นงานวิจัยที่ศึกษากลุ่มประชากรขนาดใหญ่ โดยมีการสำรวจตัวอย่างผู้สูบบุหรี่ 15,918 คน, แอลกอฮอล์ 28,907 คน และกัญชาก็มีการสำรวจมากถึง 7,389 คนพบว่า
นับตั้งแต่ใช้ครั้งแรก ที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสจะเสพติดบุหรี่สูงสุด 67.5%
ครั้งแรกที่ดื่มเหล้า มีโอกาสติดเหล้าสูงสุด 22.7%
และหากสูบกัญชาครั้งแรก จะมีโอกาสติดกัญชาสูงสุดเพียง 8.9% เท่านั้น
และระดับการติด ได้ประเมินจากผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐอเมริกาด้านสารเสพติดประเทศ พบว่า กัญชามีฤทธิ์เสพติดน้อยกว่าหรือใกล้เคียงกับ “กาแฟ” เท่านั้น
ประการสำคัญ คนที่ใช้กัญชา หากใช้เกิน ก็กลับจะเกิดอาการขลาดกลัวหรือนอนหลับ ไม่ได้ถูกกระตุ้นเหมือนยาบ้าหรือเหล้าที่ทำร้ายร่างกายหรือทะเลาะวิวาทกับคนอื่นในสังคม
3. นายปานเทพ ระบุว่า กัญชายังไม่เพียงมีประโยชน์ทางการแพทย์ในการรักษาโรคเท่านั้น แต่ยังมีส่วนในการส่งเสริมสุขภาพในหลายมิติด้วย โดยมีผลต่อการลดปริมาณใบสั่งยา และการใช้ยารักษาโรคในระบบอีกด้วยดังปรากฏมาแล้วในสหรัฐอเมริกา
“กัญชา” จะมีบทบาทอย่างยิ่งในการลดปัญหายาบ้า และลดยาเสพติดในกลุ่มที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทที่ทำให้เกิดการก่ออาชญากรรมในสังคมด้วย
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น บรรยายงานมหกรรม “เดินหน้า…กัญชาเสรี แก้เจ็บแก้จน” ถึงกรณีศึกษา “คุณไก่ เดินวนฟาร์ม” จังหวัดขอนแก่น ความว่า
“คนนี้ติดยาบ้ามาก หนักเลย สุดท้ายนี่ถึงขนาดจะทำร้ายแม่ด้วยนะ แม่ห้ามปรามนะฮะ สุดท้ายแก้ด้วยการสูบกัญชา หายเลย ทีนี้ทำมาหากินได้ ทำการทำงานได้ เป็นผู้นำในการที่จะปลูกผักออกานิค ปลอดสารพิษ ขายดีมาก เรียกว่าลูกค้ามาหาถึงบ้านเลย แล้วก็ชวนคนอื่นที่ติดยาบ้ามาเลิกได้ด้วยกัญชา 5 คนแล้ว เป็นวิทยากรให้กับโรงเรียน ครูประถมก็ชื่นชมชวนให้มาเป็นวิทยากรให้กับเด็กๆ เรียนรู้เรื่องนี้ เข้าไปดูยูทูบให้แกหน่อยนะฮะ”
นอกจากนั้น ยังปรากฏในคัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม 3 โดย ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อําพัน กิตติขจร) ที่บันทึกตำรับยาในการใช้ “กัญชา และกระท่อม” ปรุงเป็นตำรับยาในการ “อดฝิ่น” ด้วยความว่า
“ยาทำให้อดฝิ่น เอาขี้ยา ๒ สลึง เถาวัลย์เปรียงพอประมาณ กัญชาครึ่งกรัม ใบกระท่อมเอาให้มากกว่ายาอย่างอื่น ต้มกิน ให้กินตามเวลาที่เคยสูบฝิ่น เมื่อกินไป ๑ ถ้วย ให้เติมน้ำ ๑ ถ้วย ให้ทำดังนี้จนกว่าจะจืด เมื่อกินจนน้ำจืดแล้วยังไม่หาย ให้ต้มกินหม้อใหม่ต่อไป”
โดยเฉพาะกรณีศึกษาที่มีมาแล้วที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีการให้ใช้กัญชาจัดให้เป็น “ยาอ่อน”(Soft Drug) ทั้งพื้นที่ทางการแพทย์และเปิดพื้นที่การใช้กัญชาเพื่อนันทนาการอย่างมีการควบคุม เพื่อไปลดยาเสพติดที่ส่งผลกระทบรุนแรง(Hard Drug) และนำไปสู่การลดปัญหาการก่ออาชญากรรมในท้ายที่สุด จนกระทั่ง “คุกร้าง” ประเทศเนเธอร์แลนด์ถึงขั้นต้องมีการนำเข้านักโทษจากต่างประเทศ
ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า นับตั้งแต่มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ปี พ.ศ. 2562 รวมไปถึงสุญญากาศกระท่อมในปี พ.ศ. 2564 จำนวนการบำบัดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้ยาเสพติดทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี พ.ศ. 2562 มีผู้ที่เข้าบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศจำนวน 263,730 ราย ตัวเลขผู้ที่เข้าบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยหลังจากให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์และมีการใช้กัญชาใต้ดินเป็นส่วนใหญ่ผ่านไป 2 ปี ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2564 ตัวเลขผู้ที่เข้าบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศลดลงเหลือ 156,632 ราย และในปี 2565(ลดลงไปมากถึง 40.61% เทียบจากปี 2562) จนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 ลดลงเหลือ 80,938 ราย และการลดลงนี้รวมไปถึงการลดลงของ ยาบ้า กัญชา และกระท่อมด้วย
ทิศทางดังกล่าวนี้เป็นทิศทางเดียวกับประเทศแคนาดาซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว โดยผลการศึกษาวารสารสาธารณสุขของอเมริกัน ชื่อ American Journal of Public Health (AJPH) ได้เผยแพร่งานวิจัยเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2564 ในการศึกษาที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดาระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559-2561 พบว่า 25% ของผู้ที่ใช้กัญชานั้นเพื่อลดยาที่อันตรายหรือรุนแรงอย่างอื่นที่เรียกว่า “Harm Reduction” (เช่น เฮโรอีน, ฝิ่น, โคเคน, ยาบ้า, หรือแอลกอฮอล์) และพบเหตุผลที่มากที่สุดคือใช้กัญชาเพื่อทดแทนยาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทถึง 50% และการทดแทนกลุ่มฝิ่นที่ผิดกฎหมายอีก 31%
สอดคล้องไปกับการสำรวจที่ประเทศแคนาดาพบว่าผู้ป่วย 2,030 คนที่ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายนำไปใช้เพื่อทดแทนสารเสพติดชนิดต่างๆได้แก่ สุรา 44.5%, ยาแก้ปวดมอร์ฟีน 35.3%, บุหรี่ 31.1%,ยาเสพติดอื่นๆ ร้อยละ 26.6%
4. ข้างต้น คือ ข้อมูลน่าสนใจ ที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข นำเสนอให้สังคมได้พิจารณา
หาก “กัญชา” จะมีบทบาทในการบำบัดรักษาหรือลดปัญหายาบ้า และลดยาเสพติดในกลุ่มที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทที่ทำให้เกิดการก่ออาชญากรรมในสังคม โดยใช้กัญชาเป็น “ยาอ่อน”(Soft Drug) เพื่อไปลดยาเสพติดที่ส่งผลกระทบรุนแรง(Hard Drug) และนำไปสู่การลดปัญหาการก่ออาชญากรรมรุนแรง เหมือนในบางประเทศดังกล่าวข้างต้นนั้น นับว่าน่าสนใจมาก
อย่ารีบหาแพะ อย่าด่วนมองกัญชาเป็นตัวร้าย โดยเฉพาะในยามที่การเมืองพยายามขัดแข้งขัดขากันทุกเรื่อง จะทำให้สังคมและผู้คนอีกจำนวนนับล้านเสียประโยชน์อย่างน่าเสียดาย
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี