คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2565 (EconTU Symposium) ครั้งที่ 44 ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายของการยกระดับ S-Curve ในยุค Next Normal” ไปเมื่อเร็วๆ นี้โดยมีอาจารย์ในคณะมาเผยแพร่ผลการศึกษาในหลากหลายอุตสาหกรรม หนึ่งในนั้นคือ วานิสสา เสือนิล บรรยายหัวข้อ “การส่งออกอาหารแปรรูปของไทยกับแนวทางส่งเสริมการลงทุนจากทางภาครัฐ”
เมื่อดูแนวทางการส่งเสริมของรัฐ จะพบการใช้คำว่า“อาหารแห่งอนาคต (Future Food)” ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีคำนิยามชัดเจนว่าหมายถึงอาหารแบบใด แต่ก็พบความพยายามจัดกลุ่มโดยอิงความต้องการของคนในอนาคตแบ่งเป็น 1.อาหารเสริมสุขภาพ (Functional Food) เช่น อาหารที่เน้นเสริมภูมิคุ้มกัน ดังจะเห็นจากทุกวันนี้ที่เครื่องดื่มหลายชนิดมีการเติมวิตามิน แร่ธาตุหรือสมุนไพรเข้าไป
2.อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) มุ่งเน้นไปที่ผู้ป่วยเมื่อบริโภคแล้วจะได้รับสารอาหารดีขึ้น เช่น อาหารที่ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด หรือรับประทานง่ายเหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการกลืนอาหาร 3.อาหารใหม่(Novel Food) เป็นอาหารที่อาจไม่เคยได้รับความนิยมในการบริโภคมาก่อน หรือเป็นอาหารที่มีนวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ เช่น โปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) หรือเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช (Plant Based) และ 4.อาหารอินทรีย์ (Organic)เป็นอาหารที่กระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่นั้นปลอดสารพิษ
“แม้จะเป็นทิศทางแห่งอนาคต แต่กลับพบผู้ประกอบการไทยไม่ถึงครึ่งที่หันมาเริ่มผลิต” อีกทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการที่สนใจส่วนใหญ่ก็ยังเป็นรายเดิมที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารมานาน เนื่องจากมีทั้งความชำนาญในการผลิตและมีเงินทุนจากรายได้ในการแปรรูปอาหารแบบเดิมนำมาวิจัยและพัฒนาอาหารแห่งอนาคตก่อนจะแตกสายการผลิตออกไป อีกทั้งการรับจ้างผลิตก็ไม่ค่อยพบเห็นใน Future Food มากนัก เพราะมีต้นทุนในการผลิตสูง โดยเฉพาะการต้องพึ่งพาเครื่องมือและสารสกัดที่ล้ำสมัยจากต่างประเทศ
ถึงกระนั้น “ไทยก็ส่งออกอาหารแห่งอนาคตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาซึ่งรวมถึงในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ด้วย อาทิ ในปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกราว 1 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นอาหารเสริมสุขภาพ (Functional Food)อยู่ที่ร้อยละ 64 และเมื่อผ่านไป 4 เดือนแรกของปี 2565 ก็ยังคงเป็นอาหารเสริมสุขภาพ ที่เป็นตัวหลักของการส่งออกของไทยในส่วนของอาหารแห่งอนาคตเช่นเดิม แต่ที่น่าสังเกตคือ กลุ่มอาหารใหม่ (Novel Food) การส่งออกหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
“การส่งออกอาหารแห่งอนาคตของไทยยังกระจุกตัว”โดยมี สหรัฐอเมริกา เป็นปลายทางหลัก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.9 รองลงมาคือ จีน ร้อยละ 7.4 เมียนมา ร้อยละ 6.8กัมพูชา ร้อยละ 6.6 และญี่ปุ่น ร้อยละ 6.4 ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า สหภาพยุโรป (EU) เป็นอีกตลาดที่สำคัญของอาหารกลุ่มนี้ แต่ผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถเจาะเข้าไปได้ โดยเหตุผลน่าจะมาจากมาตรฐานของ EU ที่ค่อนข้างเข้มงวดมากกว่าแม้แต่เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ
อนึ่ง “แม้ตลาดอาหารแห่งอนาคตจะขยายตัว (เฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี) แต่ก็ยังเป็นตลาดที่ค่อนข้างเล็ก”แม้กระทั่งการคาดการณ์ไปถึงปี 2571 ส่วนแบ่งตลาดอาหารแห่งอนาคตน่าจะยังอยู่ที่เพียงร้อยละ 4-5 เท่านั้น เนื่องจากยังกังวลเรื่องคุณภาพอาหาร บวกกับราคาที่ยังสูงกว่าอาหารแปรรูปแบบทั่วไป เช่น สินค้าอินทรีย์(Organic) เมื่อแปรรูปแล้วมีราคาสูงกว่าสินค้าแปรรูปทั่วไปถึงร้อยละ 63 หรือที่สหรัฐฯ เคยสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 68 ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช (Plant Based) เป็นต้น
ด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) พบว่า“ผู้ประกอบการเจียดรายได้จากยอดขายในอุตสาหกรรมเดิมเพียงไม่ถึงร้อยละ 5 เท่านั้นสำหรับมาทำ R&D อาหารแห่งอนาคต” อีกทั้งเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานวิจัยของรัฐหรือมหาวิทยาลัยไม่ว่าของรัฐหรือเอกชน มาก-น้อยขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่ามีความพร้อมทำเองในบริษัทเพียงใด โดยมีความท้าทายในด้าน R&Dที่ผู้ประกอบการสะท้อนมุมมอง คือ 1.ใช้งบประมาณลงทุนสูง เป็นภาระโดยเฉพาะกับผู้ประกอบการรายย่อย 2.ข้อมูลกระจัดกระจาย แต่ละหน่วยงานทำเรื่องแตกต่างกันไปโดยไม่มีการรวมศูนย์ฐานข้อมูล
และ 3.ไม่ค่อยมีการวิจัยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีทั้งความไม่เข้าใจตรงกันระหว่างหน่วยวิจัยกับผู้ประกอบการ งานวิจัยบางอย่างได้ผลในห้องทดลอง (Lab Scale) แต่ไม่สามารถผลักดันไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ซึ่งภาครัฐเองก็มีความพยายามส่งเสริมอาหารแห่งอนาคต เช่น มาตรการกระตุ้นการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แบ่งเป็นสิทธิประโยชน์พื้นฐาน เช่น มาตรการด้านภาษี กับสิทธิประโยชน์ทางเลือก เช่น ได้มาตรการทางภาษีเพิ่มอีกหากเข้าเงื่อนไขบางประการ อาทิ การลงทุนในมาตรฐานเฉพาะหรือพื้นที่เฉพาะ
ข้อสรุปที่ค้นพบ 1.การผลิตอาหารแห่งอนาคตไม่ได้เป็นอิสระจากอาหารแปรรูปทั่วไป เพราะผู้ประกอบการแบ่งทรัพยากรจากฐานการผลิตเดิมมาใช้แตกสายการผลิตใหม่ อีกทั้งอาหารแปรรูปทั่วไปตลาดก็ยังเติบโตอยู่แม้ไม่โดดเด่นเหมือนอาหารแห่งอนาคตก็ตาม ภาครัฐจึงควรส่งเสริมอาหารแปรรูปทั้ง 2 ประเภทไปพร้อมกัน 2.ภาครัฐควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเชิงลึก เช่น สารสกัดตั้งต้น (Base ingredients)เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปต่อยอดได้ โดยเฉพาะการใช้วัตถุดิบที่ไทยมีความได้เปรียบ รวมถึงพัฒนาเครื่องจักรเพื่อลดการนำเข้าทั้งเครื่องจักรและสารสกัด
3.ส่งเสริมให้สถาบันวิจัยทำงานกับผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กรอบการวิจัยที่ควรยืดหยุ่น ไม่จำเป็นต้องติดกับกรอบปีงบประมาณ เพื่อให้การวิจัยทำได้อย่างต่อเนื่องและเป็นงานวิจัยเชิงลึกมากขึ้น ไม่ใช่การวิจัยแบบจบเป็นปีๆ ไป รวมถึงสร้างแพลตฟอร์มเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างรัฐ ผู้ประกอบการและนักวิจัย เพื่อให้งานวิจัยทำได้ตรงกับความต้องการของตลาดและนำไปใช้ได้จริง
และ 4.พัฒนาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับอาหารแห่งอนาคต เช่น ระบบฐานข้อมูลกลางของงานวิจัยที่เข้าถึงได้ง่ายและไม่มีต้นทุน, มาตรการส่งเสริมการลงทุนควรเป็น Project-base เพื่อลดปัญหาในปัจจุบันที่การขอรับการสนับสนุนนั้นยุ่งยากเพราะต้องทำบัญชีแยกทั้งที่หลายบริษัทใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งอาหารแปรรูปแบบเดิมและอาหารแห่งอนาคต, ทบทวนมาตรการให้เหมาะสมกับเวลาและกิจกรรม เพราะต้องยอมรับว่าช่วงแรกๆ ของการปรับเปลี่ยนผู้ประกอบการมักขาดทุน, หาเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อให้ SME ระดมทุนได้มากขึ้น!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี