มีคำอธิบายอะไรที่มันฟังเข้าท่า หากรัฐจะจ่ายเงินแพงกว่าที่ควรจะเป็นอย่างน้อย 68,000ล้านบาท????
ย้ำ... เงิน 68,000 ล้านบาท
นั่นมันเท่ากับโครงการรถไฟฟ้ารางเบาตลอดสาย หรือจะเอาไปซื้อหัวจักรรถไฟมาเพิ่มบริการประชาชนก็จะได้ไม่ต่ำกว่า 500 หัวจักร หรือจะเอาไปซื้อเครื่องฟอกไตนำไปไว้คอยช่วยชีวิตชาวบ้านตามโรงพยาบาลระดับตำบลทั่วประเทศจะได้ไม่น้อยกว่า 100,000 เครื่อง!!!
มันมีเหตุผลอะไรที่รัฐจะจ่ายเงินแพงกว่าที่ควรจะเป็นอย่างน้อย 6.8 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ได้เอกชนเข้ามาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ และเดินรถตลอดสาย กับงานซ่อมบำรุง ทั้งๆ ที่ หากไม่ล้มการประมูลครั้งแรก ก็จะได้ประหยัดเงินส่วนนี้ได้แน่นอน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะต้องคิดให้หนัก ตั้งหลักให้ดี ถ้าจะปล่อยให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่กำลังดำเนินการประมูลคัดเลือกเอกชนอยู่เดินไปตามนั้น ท่ามกลางข้อครหาท้วงติง
เอาเป็นว่า ถ้า รฟม.เสนอมาให้พิจารณา โดยไม่มีคำอธิบายที่มันเข้าท่า ก็ขอให้ทราบเถิดว่า เขากำลังมองท่านเป็นเหมือน รปภ. ตามที่นักพูดตลกเขาเย้ยหยันนั่นเอง
1. เงิน 6.8 หมื่นล้าน มาจากไหน ?
ในการประมูลครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 รฟม.ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) แต่ในระหว่างการประมูล รฟม. ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทำให้ BTSC ฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่า เกณฑ์ประมูลเดิมชอบด้วยกฎหมายแล้ว และการแก้ไขเกณฑ์ประมูลนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย (แต่ รฟม.ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด)
ในการประมูลครั้งที่ 1 นั้น มีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ราย ประกอบด้วย (1) BTSC และ (2) BEM
เมื่อล้มการประมูลครั้งที่ 1 ไปแล้ว รฟม.ก็เปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขการประมูลใหม่ เปิดประมูลครั้งที่ 2 ซึ่งคราวนี้ บริษัท BTSC และพันธมิตร ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลตามเงื่อนไขใหม่ได้เสียแล้ว ยังผลให้บริษัท BEM ชนะไป ด้วยข้อเสนอผลตอบแทนดีที่สุด
แม้การประมูลครั้งที่ 1 จะถูกล้มไปแล้ว แต่เมื่อเร็วๆ นี้ BTSC ได้ขอเอกสารที่ยื่นประมูลคืนจาก รฟม. และได้เปิดซอง “ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน” ต่อหน้าสื่อมวลชน พบว่า BTSC ได้เสนอเงินตอบแทนให้ รฟม. 70,144.98 ล้านบาท และขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. 79,820.40 ล้านบาท
ดังนั้น หลังจากหักเงินตอบแทนที่ BTSC เสนอให้ รฟม. แล้ว (79,820.40-70,144.98)
เท่ากับว่า รฟม.จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BTSC แค่ 9,675.42 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบกับเงินที่ รฟม. จะต้องสนับสนุนผู้ชนะการประมูล ครั้งที่ 2 คือ BEM ทำให้ผู้ติดตามการประมูลช็อค ขนแขนสแตนด์อัพ เพราะกรณีไม่ล้มการประมูลครั้งที่ 1 อาจเป็นไปได้ที่ BTSC จะชนะการประมูล ส่งผลให้ รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนเพียง 9,675.42 ล้านบาทเท่านั้น แต่กรณีล้มการประมูลครั้งที่ 1 และเปิดการประมูลครั้งที่ 2 ทำให้ รฟม. ต้องให้เงินสนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็น 78,287.95 ล้านบาท
เท่ากับว่า รฟม.ต้องให้เงินสนับสนุนมากขึ้นถึง 68,612.53 ล้านบาท (78,287.95-9,675.42)
2. แม้ภายหลัง รฟม.จะออกเอกสารข่าวชี้แจง แต่ก็ยังฟังไม่ขึ้น
ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ จึงได้มีข้อเสนอที่น่ารับฟังว่า “รฟม. ตอบไม่ตรงคำถามเปิดเวทีเสวนาดีกว่า ! ปมส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้าน ประมูลสายสีส้ม”
เนื้อหาบางตอน พึงสดับพิจารณา เพื่อปกป้องดูแลผลประโยชน์ของแผ่นดินส่วนรวม ระบุว่า
“...เพื่อให้สาธารณชนหายเคลือบแคลงสงสัย ผมจึงได้เสนอให้ รฟม. และ ACT พิจารณาดำเนินการดังนี้
(1) รฟม. ควรเปิดเผยรายงานการประชุม และ/หรือ เทปบันทึกเสียงให้เห็นว่ามีการทักท้วงจากผู้สังเกตการณ์หรือไม่ ?
(2) ACT ควรเปิดเผยความเห็นของผู้สังเกตการณ์ว่ามีการทักท้วงการประมูลอย่างไร? หรือไม่?
(3) กรณี ITD ซึ่งมีกรรมการคนหนึ่งได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก อาจทำให้มีคุณสมบัติขัดหรือแย้งกับประกาศของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งนี้ รฟม. เคยให้ข่าวว่า จะสอบถามขอความกระจ่างไปยังคณะกรรมการฯ ถึงเวลานี้ รฟม. ควรเปิดเผยความเห็นของคณะกรรมการฯ ว่ามีความเห็นอย่างไร ? อีกทั้งรฟม. ควรเปิดเผยรายงานการประชุม และ/หรือ เทปบันทึกเสียงให้เห็นว่ามีการทักท้วงกรณีคุณสมบัติของ ITD หรือไม่ ?
รฟม. ไม่ได้ชี้แจงข้อเสนอแนะของผมในส่วนที่ รฟม. เกี่ยวข้องตามข้อ (1) และ ข้อ (3) ดังกล่าวข้างต้น
....
ปมปริศนาที่ทำให้เกิดส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้าน มี 2 ปมหลัก ผมจึงอยากให้ รฟม. ช่วยไขปมปริศนาดังกล่าวซึ่งประกอบด้วย
(1) ในการประมูลครั้งที่ 1 เหตุใด รฟม. จึงเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล แล้วนำไปสู่การล้มประมูลในที่สุด? การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลเป็นไปตามคำขอของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD หลังจาก ITD ได้ขอให้เปลี่ยนเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ทั้งๆ ที่ รฟม. ได้ใช้เวลาศึกษามาอย่างละเอียดรอบคอบถึงเกือบ 2 ปี
ข้อสังเกตของผมก็คือ หาก รฟม. ไม่เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลและไม่ล้มประมูล มีความเป็นไปได้ที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ร่วมกับบริษัทซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC จะชนะการประมูล เพราะขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. ต่ำแค่เพียง 9,675.42 ล้านบาท
(2) ในการประมูลครั้งที่ 2 เหตุใด รฟม. จึงเพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น แต่ลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง ? ในทางที่ถูกต้อง หาก รฟม. ต้องการได้ผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคุณสมบัติสูงขึ้น ก็ควรเพิ่มคุณสมบัติทั้งของผู้รับเหมาและของผู้เดินรถไฟฟ้า ไม่ใช่เพิ่มคุณสมบัติของผู้รับเหมาขึ้น แต่ลดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าลง
ข้อสังเกตของผมก็คือ หาก รฟม.เพิ่มคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าขึ้น หรือคงคุณสมบัติไว้เท่าเดิมเป็นอย่างน้อย จะทำให้ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ไม่สามารถร่วมยื่นประมูลกับ ITD ได้ จะทำให้เหลือเอกชนที่สามารถยื่นข้อเสนอได้เพียงรายเดียวเท่านั้น นั่นคือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. สูงถึง 78,287.95 ล้านบาท ในกรณีมีเอกชนยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว รฟม. จะสามารถดำเนินการประมูลได้สำเร็จหรือไม่ ?
.... เสนอให้จัด “เวทีเสวนา” การตอบโต้กันด้วยข้อเขียนเป็นการยากที่จะทำให้สาธารณชนเข้าใจได้ ผมจึงขอเสนอแนะให้ รฟม. หรือ ACT พิจารณาจัดเวทีเสวนา “ไขปมปริศนาส่วนต่าง6.8 หมื่นล้าน ประมูลสายสีส้ม” ขึ้น โดยให้มีผู้เกี่ยวข้องครบทุกฝ่าย ทั้งผู้แทนจาก รฟม.และผู้แทนจาก ACT รวมทั้งผม (ดร.สามารถ)ด้วย...”
ขอสนับสนุนแนวทางข้อเสนอของ ดร.สามารถ และจะติดตามนำข้อมูลที่มีประโยชน์จากเวทีเสวนามาเผยแพร่ต่อด้วยอีกแรง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม ให้สังคมได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน อย่างแท้จริง
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี