ท่านผู้อ่านเคยสงสัยเหมือนผมบ้างไหมครับ ว่าทำไมทั้ง ๆ ที่เรามีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อย ๆ ทั้งจากที่ชี้วัดโดยหน่วยงานในประเทศ และ โดยดัชนีสากล
ที่ผมบอกว่าหลายหน่วยงานนั้น เยอะจริง ๆ นะครับ ทั้งหน่วยงานอิสระที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงอย่าง ป.ป.ช. หน่วยงานรัฐอย่าง ป.ป.ท. หรือหน่วยงานของตำรวจอย่าง กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ แถมยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
เมื่อสงสัยอย่างนี้ เลยต้องขอไปดูผลงานของหน่วยงานปราบโกงเหล่านี้สักหน่อย ขอพุ่งเป้าไปที่หน่วยงานหลักเลยอย่าง ป.ป.ช. นะครับ โดยเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ประกาศสถิติผลการดำเนินงานด้านการปราบปรามการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 (1 ต.ค. 2564 – 30 ก.ย. 2565) พบว่ามีคำกล่าวหาทั้งหมด 9,154 เรื่อง แบ่งเป็นที่ยกมาจากปีก่อน 8,586 เรื่อง และที่รับมาใหม่ปีนี้ 847 เรื่อง สามารถดำเนินการแล้วเสร็จไป 8,307เรื่อง คิดเป็น 90.75% ของคำกล่าวหาทั้งหมด ซึ่งถือว่าเยอะทีเดียว และยังเหลือต้องสะสางต่อเนื่องอีก 847 เรื่อง
วิเคราะห์ดูเร็ว ๆ จากสถิติผลงานนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า เรามีกรณีร้องเรียนเรื่องทุจริตเยอะเกือบหมื่นกรณีเลยทีเดียว อย่าลืมนะครับว่านี่คือตัวเลขคำกล่าวหาที่มีผู้ร้องเรียนอย่างเป็นทางการ ส่วนที่เกิดขึ้นแต่ไม่มีคนเห็น หรือ เห็นแต่ไม่กล้าร้องเรียนจะมีอยู่อีกมากแค่ไหน ดังนั้นก็คงต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังมีการคอร์รัปชันอยู่เยอะจริง ๆ ในขณะเดียวกันก็จะเห็นด้วยว่า ป.ป.ช. ทำงานใช้ได้เลยทีเดียว ดำเนินการทั้งส่งต่อคดี ดำเนินคดีเอง หรือยุติเรื่องไปได้ถึง 90% ตัวเลขนี้น่าจะพอช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่อย่างร้องเรียนการคอร์รัปชันได้บ้างว่าจะได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว
ทีนี้ อยากรู้ต่อไปว่า ตัวเลขต่าง ๆ นี้มันเพิ่มขึ้นหรือลดลง ก็เลยเข้าไปค้นหาข้อมูลในเว็ปไซต์ของ ป.ป.ช. เพื่อหาสถิติในอดีต แต่น่าเสียดายพอกดดาวน์โหลดรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ปรากฏว่าเปิดไม่ได้ครับ (ถ้าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ท่านไหนอ่านอยู่ ฝากไปช่วยแก้ไขด้วยนะครับ) เลยต้องไปดูรายงานประจำปีงบประมาณก่อนหน้า คือ พ.ศ.2563 เลยพบความน่าสนใจ 2 ประการครับ หนึ่ง คำกล่าวหาที่รับมาใหม่ในแต่ละปีลดลงมาก คือตั้งแต่ปี 2558 – 2563 รับเรื่องใหม่ปีละ 3 – 5 พันเรื่อง เมื่อเทียบกับข้อมูลที่ผมเล่าไปข้างต้นว่าปีนี้รับมาใหม่แค่ 847 เรื่องเท่านั้น สอง จำนวนคำกล่าวหาที่ดำเนินการแล้วเสร็จในแต่ละปีเพิ่มขึ้นมาก จากอัตราโดยเฉลี่ยปีละ 20-35% ของคำกล่าวหาทั้งหมด เพิ่มมาเป็น 90% ในปีล่าสุด
ดังนั้น ถ้าเราดูจากตัวเลขสถิติอย่างเป็นทางการของ ป.ป.ช. แล้ว น่าจะแสดงให้เห็นว่าทั้งทิศทางของจำนวนการคอร์รัปชัน และ การปราบปรามการคอร์รัปชันของไทยกำลังดีขึ้นเรื่อย ๆ ใกล้ถึงจุดที่ไทยสามารถประกาศชัยชนะต่อการคอร์รัปชันได้แล้ว ซึ่งนั่นคงไม่ใช่ความจริง
แน่นอนว่า ป.ป.ช. สมควรได้รับคำชื่นชมในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเช่นนี้ แต่จะให้ดูที่ตัวเลขจำนวนคำกล่าวหาอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะคดีที่ดำเนินการจนเสร็จสิ้นเหล่านี้อาจจะมีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับคำกล่าวหาที่ยังไม่ถูกดำเนินการ หรือ ถูกชี้มูลไปอย่างขัดสายตาประชาชนทั้งประเทศ โดยปราศจากการชี้แจงข้อมูลและเหตุผลอย่างชัดเจน หรือแม้กระทั่งปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลคำชี้มูลและหลักฐานเมื่อมีสื่อสาธารณะขอไป
เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพผลของการดำเนินคดีขนาดใหญ่ได้ชัดชึ้น ผมขอยกตัวอย่างคดีคอร์รัปชันปฏิบัติการ “ที่ล้างรถ”(Operation Car Wash) ในประเทศบราซิล ซึ่งนำไปสู่การตรวจสอบและจับคุมเครือข่ายการคอร์รัปชันขนาดใหญ่มาก ๆ โยงไปถึงอดีตประธานาธิบดี สมาชิกสภาบนและล่าง ผู้ว่าการรัฐ และนักธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนกว่าพันคน
สรุปโดยย่อ คดีคอร์รัปชันอื้อฉาวนี้ เกิดในรัฐวิสาหกิจน้ำมันขนาดใหญ่ของบราซิล ที่มีการเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวกได้รับสัญญาโครงการขนาดใหญ่ในราคาที่แพงเกินจริงหลายโครงการมาก และที่เรียกว่าปฏิบัติการที่ล้างรถ ก็เพราะคดีนี้ถูกเปิดเผยครั้งแรกจากเรื่องการฟอกเงินเล็ก ๆ ในที่ล้างรถ หลังจากนั้นเรื่องก็ค่อย ๆ ถูกเปิดเผยมากขึ้นจากการสืบสวนลึกลงไป ทำให้พบความเกี่ยวพันกับนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจใหญ่มากมายดังที่พูดถึงข้างต้น เรียกว่าขุดรากถอนโคนเครือข่ายการโกงขนาดใหญ่ชุดหนึ่งไปเลยทีเดียว
พอเรื่องการเปิดเผยการคอร์รัปชันขนาดใหญ่ที่นำไปสู่การดำเนินคดีความกับผู้มีตำแหน่งใหญ่โตในบ้านเมืองแบบนี้เกิดขึ้นมา เราก็นึกว่าระดับการคอร์รัปชันควรจะดีขึ้นใช่ไหมครับ ปรากฏว่าผลไปในทางตรงข้ามเลย โดยตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดเผยคดีอื้นฉาวนี้เป็นต้นมา ระดับคะแนนของดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) ของบราซิล ดิ่งลงเหวชัน จาก 43 คะแนนในปี 2014 ลงไปจนถึง 35 คะแนนในปี 2019 เลยทีเดียว เหตุผลหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญพยายามอธิบายก็คือ คนหมดความเชื่อมั่นในรัฐบาลและผู้ใช้อำนาจรัฐ ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านคอร์รัปชันขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง
ปรากฏการณ์นี้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในประเทศ มีการออกกฎหมายเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันในทุกระดับ รวมไปถึงการออกชุดนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันอีกหลายมาตรการ เพื่อเรียกคืนความมั่นใจกลับมาจากประชาชน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นำไปสู่ประสิทธิภาพการต่อต้านคอร์รัปชันที่สูงขึ้นในระยะยาว และดึงคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันให้กระเตื้องขึ้นมาได้ตั้งแต่ปี 2019 จนถึงวันนี้ แน่นอนว่า ปัญหาคอร์รัปชันก็ยังไม่หายไปจากบราซิล แต่เหตุการณ์นั้นได้ติดอาวุธแรงให้บราซิลแล้วถึง 2 อย่างด้วยกัน นั่นคือ หนึ่ง กลไกกฎหมายและมาตรการต้านคอร์รัปชันที่เข้มแข็ง และ สอง ประชาชนจำนวนมากที่ทนไม่ได้กับการคอร์รัปชันแล้ว
เรื่องราวอื้อฉาวของบราซิลนี้มีบทเรียนสำหรับไทยอยู่หลายประการครับ ข้อแรก อย่าถูกตัวเลขสถิติลวงตา แน่นอน ป.ป.ช. ควรได้รับคำชื่นชมในการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ถ้าจะมองในภาพใหญ่แล้ว การจัดการอย่างจริงจังกับกรณีที่สังคมให้ความสนใจและเกี่ยวพันกับผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมืองมาก อาจจะส่งผลกระทบมากกว่า สอง ตัวเลขดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน เป็นตัวชี้วัด “ภาพลักษณ์” หรือมุมมองของคนต่อสถานการณ์คอร์รัปชัน มันมีประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ทิศทางในระยะยาว แต่อาจส่งผลในทางตรงข้ามในระยะสั้นได้ เหมือนอย่างกรณีบราซิล ดังนั้นต้องใช้ความเข้าใจในการวิเคราะห์ จึงจะเกิดประโยชน์ และสาม กุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิผลคือประชาชน เพราะกรณีบราซิลนี้ ที่หน่วยงานสืบสวนสามารถทำงานได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างล้นหลาม การจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษได้จริง และการปฏิรูปโครงสร้างการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศก็เกิดขึ้นได้เพราะประชาชนรวมตัวกันแสดงความไม่ทนต่อการคอร์รัปชันอีกต่อไปแล้ว
ดังนั้น กลับมาที่หัวข้อบทความนี้ว่า เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น? คำตอบของผมจากข้อมูลก็คือ ยากมากที่จะหาตัวเลขที่แท้จริง ให้นำมาตอบให้เด็ดขาดไปได้ ด้วยสาเหตุหลายประการตามที่กล่าวมาในบทความนี้ เลยต้องขอนำไปถามผู้มีประสบการณ์มากกว่าอย่างคุณพ่อ ก็ได้คำตอบจากความรู้สึกมาว่า ยุคนี้ นักการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับ ที่ซื่อสัตย์มีจำนวนลดน้อยลงมาก นักการเมืองที่มีอำนาจให้คุณให้โทษกับนักธุรกิจก็หาดียาก จึงขอตอบด้วยความรู้สึกจากประสบการณ์ว่า คอร์รัปชัน มีแนวโน้มว่าเพิ่มมากขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมาด้วย
ส่วนอีกข้อหนึ่งที่ทั้งพ่อและผมเห็นตรงกันชัดเจนก็คือ ถ้าเรายังปล่อยให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ใช้อำนาจในทางมิชอบ และโกงกินกันได้อย่างชัดเจน โดยไม่มีหน่วยงานใดสามารถจัดการได้ ความหวังในการที่เราจะเห็นระดับคะแนนการคอร์รัปชันดีขึ้น หรือ เกิดการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนของเราก็เห็นจะริบหรี่ครับ
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และ ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี