ปัจจุบัน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
มีการนำเข้ามาขาย ทำตลาดในบ้านเรา หลายยี่ห้อ กระแสตอบรับดีเกินคาด โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน
มีการลงทุนการผลิตในประเทศไทยแล้วหลายราย กำลังจะเข้ามาอีกหลายราย
เป็นผลสำเร็จจากนโยบายอุดหนุนส่งเสริมของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เป็นตัวแปรสำคัญ
แต่ในอนาคต ไทยจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในเอเชียหรือในระดับโลก ได้หรือไม่?
ข้อจำกัดอย่างหนึ่ง คือ ประเทศไทยไม่มีแหล่งแร่ลิเทียม แร่หายาก ที่เป็นวัตถุดิบผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าลิเทียม อันเป็นส่วนประกอบสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในขณะนี้
ต้องพึ่งพานำเข้าจากต่างประเทศ โดยที่ทั่วโลกก็มีความต้องการ มีปริมาณจำกัด ราคาสูง และสูงขึ้นเรื่อยๆ
แต่ปรากฏข่าวดี เมื่อรัฐบาลได้ส่งเสริมงานวิจัย จนนักวิจัยไทยจาก สวทช. ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศ สามารถได้ผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าทางเลือก ที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศจำนวนมาก
ที่สำคัญ แต่ละชนิดมีจุดเด่น ไม่แพ้ลิเทียมเลยทีเดียว
1. โครงการศึกษาวิจัยเพื่อคิดค้นแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าทางเลือก ที่ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการในปัจจุบัน ได้แก่
แบตเตอรี่สังกะสีไอออน ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แบตเตอรี่โซเดียมไอออน ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น
แบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออน ได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)
2. ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม ผู้อำนวยการ NSD ระบุว่า แบตเตอรี่ทางเลือกชนิดแรกที่กำลังจะนำร่องผลิตในโรงงานต้นแบบฯ ในปี 2566 ตัวแรก คือ แบตเตอรี่สังกะสีไอออน ที่มาพร้อมการจัดตั้ง “โรงงานต้นแบบวิจัยแบตเตอรี่วัสดุทางเลือกที่มีความปลอดภัยสูงเพื่อความมั่นคง” หรือ ABATTS ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง
“แบตเตอรี่สังกะสีไอออน” ที่ศูนย์ NSD วิจัยพัฒนาขึ้นมา มีประสิทธิภาพที่ไม่ได้ด้อยกว่าแบตเตอรี่แบบลิเทียม มีความปลอดภัยมากกว่า ราคาถูกกว่า และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยพร้อมต่อยอดสู่การตั้งโรงงานผลิตในประเทศ
ประการสำคัญ คือ วัตถุดิบสังกะสีมีราคาถูกและมีปริมาณมากในประเทศไทย
3. แบตเตอรี่โซเดียมไอออน ล่าสุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น เตรียมเปิดตัวต้นแบบผลิตที่โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ วันที่ 15 พ.ย.นี้
เป็นที่แรกในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน (ในประเทศจีนบริษัท CATL เริ่มใช้ “แบตเตอรี่โซเดียม-ไอออน” สำหรับ EV แล้ว)
“แบตเตอรี่โซเดียม-ไอออน” ผลิตจากจากแร่เกลือหินในไทยเราเอง ต้นทุนต่ำกว่าแบตลิเทียม แถมชาร์จแบตเตอรี่ได้เร็วกว่า ทนร้อนทนหนาวได้ดีกว่า และที่สำคัญที่สุด แร่เกลือหินในไทยมีอยู่ใต้ดินมหาศาล เป็นทรัพย์ในดินอย่างแท้จริง ซึ่งถ้าพัฒนาได้สำเร็จสมบูรณ์ น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนวงการยานยนต์ไฟฟ้าได้เลยด้วยซ้ำ
โดยประเทศไทยเรามี “แร่เกลือหิน” อยู่ใต้ดิน มากกว่า 18 ล้านล้านตัน!!!
4. แบตเตอรี่โพแทสเซียมไอออน ที่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC)
ทีมนักวิจัยพบว่า มีศักยภาพนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่เช่นกัน
โดยที่ประเทศไทยมีแหล่งแร่โพแทชและเกลือหินอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน
จากการประเมินปริมาณสำรองแร่เบื้องต้น พบว่า ประเทศไทยมีแร่โพแทชมากกว่า 407,000 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งโพแทชที่มีศักยภาพสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
ประตูแห่งโอกาส
หากสามารถพัฒนาแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศได้สำเร็จ ย่อมเป็นก้าวสำคัญสู่การเป็นมหาอำนาจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
ไม่ไกลเกินฝันเลย
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี