ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมสำคัญเกิดขึ้นในพื้นที่อาเซียนถึงสามคณะใหญ่ คือการประชุมสุดยอดอาเซียน การประชุม G20 และการประชุมเอเปก ซึ่งต้องถือว่าเป็นการประชุมระดับสากลครั้งใหญ่และครั้งสำคัญที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน
บัดนี้การประชุมทั้งสามรายการได้เสร็จสิ้นลงแล้ว คนทั้งหลายย่อมปรารถนาที่จะทราบว่าผลการประชุมเป็นอย่างไร และจะบังเกิดอะไรขึ้นจากการประชุมนั้น โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย
เหตุนี้จึงควรสรุปเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชาติไทยทั้งผองเพื่อจะได้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะเกิดอะไรต่อไป จะป้องกันรักษาชาติบ้านเมืองของเราหรือจะประพฤติปฏิบัติประการใดจึงจะได้รับประโยชน์จากการประชุมสำคัญทั้งสามรายการนี้
และในเมื่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้มิได้ใส่ใจไยดีว่าประชาชนชาวไทยจะรู้สึกนึกคิดหรือจะต้องเตรียมตัวปฏิบัติตนอย่างไร ก็จำเป็นอยู่เองที่ประชาชนด้วยกันจะต้องทำหน้าที่นี้ตามควรแก่ความรู้ความเข้าใจ เพื่อประโยชน์ของประชาชาติไทยทั้งผอง
เริ่มต้นที่การประชุมสุดยอดอาเซียนก่อน ในครั้งนี้กัมพูชาเป็นเจ้าภาพ และมีประเทศอาเซียนเข้าประชุมครบถ้วน ยกเว้นเมียนมาซึ่งถูกกีดกันออกไปตามแรงกดดันของชาติมหาอำนาจ ซึ่งเป็นการละเมิดกฎแห่งอาเซียน และสะท้อนให้เห็นว่าอาเซียนเองก็มิได้เป็นเสรีแก่ตัว ยังจำยอมประเทศนอกภูมิภาคถึงขั้นกีดกันประเทศเพื่อนบ้านของเราเองจากการประชุม
การประชุมอาเซียนไม่ได้ปรากฏผลอะไรขึ้นมาตามที่คาดหมายกันไว้ แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่ากัมพูชาได้ทำหน้าที่ประธานอาเซียนอย่างสมศักดิ์ศรีสมเกียรติของกัมพูชา โดยเฉพาะการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ปรากฏต่อชาวโลก
นายกรัฐมนตรีฮุนเซนได้นำคณะผู้แทนอาเซียนเข้าเฝ้าสมเด็จพระนโรดม สีหมุนี เพื่อทรงกล่าวเปิดประชุมอาเซียน และเพราะเหตุที่เมียนมาไม่ได้เข้าประชุมด้วย ดังนั้นการประชุมครั้งนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการประชุมของอาเซียนโดยสมบูรณ์ สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันของชาติมหาอำนาจต่ออาเซียนที่ต้องโอนอ่อนผ่อนตามแรงลม
นอกจากการประชุมทวิภาคีระหว่างอาเซียนกับประเทศอื่นแล้ว มติการประชุมอาเซียนเองก็มีเรื่องเดียวเท่านั้นคือการร่วมกดดันเมียนมาให้เจรจาสันติภาพ ระหว่างรัฐบาลเมียนมากับฝ่ายต่อต้าน ซึ่งมีนัยชัดเจนว่าให้รัฐบาลเมียนมาคืนอำนาจให้แก่ฝ่ายต่อต้านนั่นเอง
เพื่อกดดันบังคับต่อรัฐบาลเมียนมา สหรัฐจะสนับสนุนเงินจำนวน 40,000 ล้านบาท ทางด้านการทหารแก่อาเซียนเพื่อใช้ในการกดดันเมียนมา เงินสนับสนุนที่ว่านี้ไม่มีรายละเอียด แต่ก็ไม่ต่างกับสิ่งที่เรียกว่าเงินสนับสนุนแก่ประเทศยูเครน ซึ่งมีเนื้อหาคือประเทศยูเครนต้องกู้เงินจากสหรัฐและผู้ให้กู้จะใช้เงินกู้นั้นชำระค่าอาวุธแก่ผู้ผลิตในสหรัฐแล้วส่งมอบอาวุธให้แก่ประเทศผู้กู้
ก็ไม่รู้ว่าประเทศใดบ้างที่จะยอมปฏิบัติเช่นนี้ เพราะตัวอย่างที่เกิดขึ้นในยูเครนก็เห็นกันอยู่แล้วว่ากำลังใกล้สิ้นชาติเต็มที คือสิ้นชาติจากภาระหนี้สินและการสงคราม
ในกลุ่มอาเซียนนั้นเมื่อตัดอาเซียนตอนใต้ออกไปก็เหลืออาเซียนตอนบน คือเมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีไทยและลาวที่มีดินแดนติดกับเมียนมา ประเทศอื่นคงจะไม่เล่นด้วยกับการช่วยเหลือสนับสนุนแบบนี้ เพราะไม่มีใครที่ต้องการใช้ดินแดนของตัวเป็นสมรภูมิรบกับเมียนมา แม้กระทั่งลาวซึ่งมีไมตรีและมีผลประโยชน์ร่วมกับจีนเป็นอันมากก็คงปฏิเสธในชั้นปฏิบัติ
ดังนั้นจึงต้องจับตาดูประเทศไทยประเทศเดียวว่าจะหลงเข้าไปในบ่วงกลความช่วยเหลือในการกดดันเมียนมาที่อาจก่อให้เกิดสงครามไทย-เมียนมา ตามวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นของนักล่าอาณานิคมหรือไม่ แต่เชื่อว่าแผ่นดินนี้ศักดิ์สิทธิ์ พระสยามเทวาธิราชมีจริง คงจะแผ่พระบารมีปกป้องคุ้มครองให้ประเทศไทยรอดปลอดภัยได้
ในการประชุมอาเซียนนั้นมีปรากฏการณ์สามอย่างที่ต้องจับตาดูต่อไป คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องให้อาเซียนกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐ ในขณะที่นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง เรียกร้องให้อาเซียนกระชับความสัมพันธ์กับจีน ส่วนอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศใหญ่สุดในอาเซียนก็ได้ประกาศสาธารณะว่าอินโดนีเซียจะไม่ยอมให้อาเซียนถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้งหรือสงครามกับประเทศอื่นโดยเด็ดขาด
ปรากฏการณ์สามอย่างนี้ก็ดูกันเอาเองว่าอะไรเป็นอะไร ประเทศไทยได้ประโยชน์หรือเสียหายอย่างไร ได้รับเกียรติหรือความอัปยศหรือไม่อย่างไร
ส่วนการประชุม G20 นั้น อินโดนีเซียได้ขับเคลื่อนงานต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถจัดการประชุมได้อย่างยิ่งใหญ่ไม่ต่างกับประเทศเจ้าภาพอื่นก่อนหน้านี้ ประมุขและผู้นำประเทศ G20 เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ยกเว้นประธานาธิบดีปูตินซึ่งติดราชการสงครามมาประชุมไม่ได้
น่าเสียดายว่าการประชุม G20 นั้นไม่มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์แก่ใครเลย และไม่อาจถือว่าเป็นมติใดๆ ได้ เพราะกรณีเป็นเรื่องรุมกันด่ารัสเซียเกี่ยวกับยูเครน และแสดงความกังวลเกี่ยวกับไต้หวัน ซึ่งจีนไม่ยอมรับให้มีการแทรกแซงกิจการภายในของจีน การประชุม G20 จึงลงเอยด้วยประการฉะนี้
มาถึงการประชุมเอเปกในประเทศไทยที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ แต่ในทางปฏิบัติครั้งนี้ได้ลดระดับลงเหลือเพียงรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ซึ่งไม่ใช่ฐานะประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ดังนั้นจึงไม่มีงานสำคัญที่องค์พระประมุขของชาติจะจัดงานพระราชทานเลี้ยงแก่สมาชิกเอเปกที่เข้าประชุม หรือมีวาระงานหรือกิจกรรมสำคัญระดับประเทศเหมือนเมื่อครั้งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปกเมื่อปี 2546
ผลการประชุมเอเปกก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ล้วนเป็นเรื่องนามธรรม คือ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” , “ร่วมมือทุกมิติอย่างรอบด้าน”, “จะเปิดกว้างและเสรีอย่างทั่วด้าน” แต่ไม่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการปฏิบัติใดๆ
เรื่องใหญ่ใจความที่ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกประสบอยู่ก็คือไม่สามารถทำการค้าโดยเสรีกับประเทศต่างๆ ได้ตามหลักการของเอเปก เพราะสหรัฐได้คว่ำบาตรประเทศต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะรัสเซีย จีน อิหร่าน เมียนมา เกาหลีเหนือ ซึ่งทำลายหลักการค้าเสรีของเอเปกอย่างสิ้นเชิง
ความเดือดร้อนของประเทศไทยและคนไทยคือไม่สามารถส่งสินค้าไปค้าขายอย่างเสรีกับประเทศต่างๆ ได้ ไม่สามารถนำเข้าพลังงานและปุ๋ยโดยเสรีจากรัสเซียและอิหร่านได้ และน่าสังเกตว่าไม่มีใครหน้าไหนกล้ายกเรื่องนี้ขึ้นเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา เป็นเรื่องน่าอัปยศยิ่งนัก จึงไม่มีประโยชน์ใดที่ประเทศไทยจะได้รับจากการประชุมครั้งนี้
ส่วนเรื่องกิจกรรมผักชีโรยหน้าทั้งหลายนั้น ถึงแม้ไม่มีประชุมเอเปก ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเขาก็ทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว
การประชุมเอเปกในประเทศไทยครั้งนี้มีการประชุมทวิภาคีไทย-จีน, ไทย-ฝรั่งเศส, ไทย-ซาอุดีอาระเบีย และจีน-ญี่ปุ่น
การประชุมทวิภาคีไทย-ฝรั่งเศส และไทย-ซาอุดีอาระเบียนั้นสามารถทำได้โดยไม่ต้องมีการประชุมเอเปกเพราะสองชาตินี้ก็ไม่ใช่สมาชิกเอเปก ส่วนการประชุมทวิภาคีจีน-ญี่ปุ่นนั้นก็เป็นเรื่องที่เขาจัดการกันเองไม่เกี่ยวกับประเทศไทย
ที่จะเป็นประโยชน์ชัดเจนก็คือการประชุมทวิภาคีไทย-จีน ซึ่งแม้ไม่มีการประชุมเอเปกก็สามารถกระทำได้โดยตรง มีแถลงการณ์ร่วมกันหลายฉบับ แต่น่าเสียดายหลายฉบับไม่ได้ลงนามระหว่างกัน จึงไม่แน่ชัดว่าจะมีความศักดิ์สิทธิ์ในการปฏิบัติสักเพียงใด และจะได้รับความเชื่อถือสักเท่าใด
ก็เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมาที่มีการลงนามระดับสัญญาอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าสัญญาความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติอนุมัติ และการลงนามในปฏิญญาซันย่า และข้อตกลงจัดซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ ถึงวันนี้เป็นอย่างไรก็รู้ๆ กันอยู่
แม้กระนั้นสิ่งที่ไม่ปรากฏจากความตกลงระหว่างไทย-จีน และไทย-ซาอุดีอาระเบีย อาจจะปรากฏและเกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นประโยชน์ร่วมกันครั้งใหญ่และครั้งสำคัญที่สุด จับตาดูกันต่อไปให้ดีก็แล้วกัน!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี