สำนักข่าวต่างประเทศรายงานข่าวศาลในประเทศรัสเซียตัดสินถอนสัญชาตินักกิจกรรมที่เคลื่อนไหว
ทุกอย่างตั้งแต่ประเด็นโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ การเมืองจนถึงเรื่องต่อต้านรัสเซียปฏิบัติพิเศษทางทหารในยูเครน ในเวลาไล่เลี่ยกันรัฐบาลทหารเมียนมาก็ออกกฎหมายควบคุมการเคลื่อนไหวและตรวจสอบเส้นทางการเงินของภาคประชาสังคม องค์กรต่างประเทศตลอดถึงเอ็นจีโอ และจัดการขั้นเด็ดขาดกับเอ็นจีโอที่รับเงินต่างชาติมาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในประเทศ
รัสเซียและเมียนมาปกครองประเทศแบบอำนาจนิยมแต่สองประเทศนั้นเลือกใช้ ก.ม.ไม่ใช้ความรุนแรงจัดการกับคนที่รับเงินต่างชาติมา สร้างความวุ่นวายในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน กับพลเอกมิน อ่อง หล่าย มีอำนาจพิเศษอยู่ในมือแต่ทั้งสองผู้นำอำนาจนิยม ก็เลือกการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ แต่ก็ทำให้นักกิจกรรมการเมือง นักสิทธิมนุษยชนและเอ็นจีโอไม่กล้าเคลื่อนไหว เมื่อรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงาน เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ว่าสภาผู้บริหารแห่งรัฐสภาพเมียนมา (State
Administration Council=SAC) ออกกฎหมายตรวจสอบควบคุมเส้นทางการเงิน และควบคุมการเคลื่อนไหวขององค์กรสิทธิมนุษยชน ตลอดถึงเอ็นจีโอทั้งหลายเพื่อป้องกันไม่ให้เงินช่วยเหลือที่ต่างประเทศมอบให้ตกไปถึงมือกลุ่มก่อการร้าย และฝ่ายที่ใช้กำลังอาวุธต่อต้านรัฐบาล
กฎหมายที่ออกมาใหม่ บัญญัติว่า องค์กรภาคประชาสังคม ทั้งองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยชาวต่างชาติและองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยคนเชื้อชาติเมียนมา ที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย “หากมีการเคลื่อนไหวมีโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับหนึ่งล้านจัต” มาตรา 34 กับ มาตรา 35 บัญญัติว่า ผู้ที่มีใบอนุญาตหมดอายุหรือถูกยกเลิก ห้ามมิให้ทำกิจกรรมโดยเด็ดขาด การไปร่วมกิจกรรมหรือให้การช่วยองค์กรอื่นๆ ผู้ที่ฝ่าฝืนสองมาตรานี้มีโทษจำคุกสองปีหรือปรับห้าแสนจัต
ดอว์ มานัง มอห์มอห์น เลขาธิการร่วมสันนิบาตสตรีแห่งชาติเมียนมา กล่าวว่า รัฐบาลทหารมีเป้าหมายควบคุมเส้นทางการเงินของภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอโดยการออก ก.ม.กีดกันไม่ให้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ มีการควบคุมการรับโอนและใช้เงินอย่างเข้มงวด และรัฐบาลต้องการริบเงินเหล่านั้นไปใช้เสียเอง มานัง มอห์มอห์น กล่าว และเสริมว่า “นอกจากนั้นมาตรา 38 บัญญัติว่า ห้ามมิให้องค์กร สมาคมหรือชมรมปิดบังหรือเก็บเงินบริจาคไว้ในองค์กรหรือกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือนำเงินที่ได้รับการสนับสนุนไปช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลตลอดองค์กรที่รัฐบาลขึ้นบัญชีเป็นผู้ก่อการร้าย”
เธอเรียกร้องต่อประชาคมนานาชาติว่า เนื่องจาก ก.ม. ออกโดยสภาทหาร เพื่อขัดขวางไม่ให้ภาคประชาสังคมได้ช่วยเหลือประชาชน ดังนั้น สมาคม ชมรม และองค์กรภาคประชาชนในเมียนมา “#ขอเรียกร้องนานาชาติไม่ให้รับรอง# กฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลทหารเพื่อกดขี่ขัดขวางภาคประชาสังคมไม่ให้เคลื่อนไหว”
ในขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมาออกกฎหมายควบคุมเส้นทางการเงินของภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอ ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่จัดหาเสบียงตลอดถึงอาวุธมาส่งให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาที่เรียกว่า “กองกำลังพิทักษ์ประชาชนหรือ PDF และรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ หรือ NUG ของฝ่าย นางออง ซาน ซู จี
ในเวลาเดียวกันที่ รัฐบาลทหารเมียนมาออกกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ ศาลในเมืองเครมลิน ประเทศรัสเซียก็ตัดสินถอนสัญชาติ นายอาร์ชาค มาคิชยาน นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลรัสเซียที่ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน นายอาร์ชาค เป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการเมือง กล่าวคือเขาเคลื่อนไหวในทุกโอกาสที่ทำได้ขอให้ได้เป็นข่าว อาร์ชาค เริ่มจากการรณรงค์ป้องกันโลกร้อนพอเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมานายอาร์ชาค ก็กระโจนเข้าวงการการเมืองสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ อาร์ชาคก็ผันตัวมาเป็นผู้ช่วยหาเสียงพรรคฝ่ายค้านเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลไปในเวลาเดียวกัน
เมื่อประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน สั่งปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน วันที่ 24 ก.พ. อาร์ชาคกับแฟนสาวของเขา ถือป้ายประท้วงรัสเซียที่ส่งทหารไปรุกรานยูเครน และเมื่อรัฐบาลเครมลินกวาดล้างกลุ่ม
ต่อต้าน นายอาร์ชาค ก็หนีออกนอกประเทศไปเคลื่อนไหวต่อต้านรัสเซียในเยอรมนี
นายอาร์ชาคได้รับการยกย่องชื่นชมจากสื่อตะวันตก ว่า เป็นนักสู้ชาวรัสเซียผู้กล้าหาญแต่อัยการเมืองเครมลิน ไม่เห็นดีเห็นงามตามสื่อตะวันตก อัยการเมืองเครมลินฟ้องนายอาร์ชาคและครอบครัวในศาลอาญาในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยกล่าวหาว่า ครอบครัวของเขาใช้เอกสารปลอมในการยื่นขอสัญญาชาติรัสเซียเมื่อปี 2547 นายอาร์ชาค อายุ 10 ปีตอนที่ครอบครัวอพยพจากอาร์เมเนียมาขอลี้ภัยในรัสเซีย หลังจากพิจารณาคดีนาน 7 เดือน ศาลตัดสินเพิกถอนสัญชาติรัสเซียของนายอาร์ชาคพร้อมกับพี่ชายสองคนและบิดาของเขาเป็นเหตุให้ทั้งสี่เป็นคนไร้สัญชาติทันทีตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน
อาร์ชาคซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่เคลื่อนไหวอยู่เบอร์ลินกับภรรยา เขามีชีวิตอย่างสุขสบายได้รับการสนับสนุนทางการเงินและปัจจัยจากคนที่ไม่พอใจรัสเซีย กล่าวคือ อาร์ชาคแปะเลขบัญชีธนาคารบนสื่อออนไลน์ไปพร้อมกับกำหนดเวลาการเคลื่อนไหวต่อต้านรัสเซีย ซึ่งดูไปก็เหมือนกับความเคลื่อนไหวกลุ่มสามกีบ กลุ่มทะลุแก๊ส ทะลุวัง และกลุ่มอื่นๆ ที่ออกมาป่วนเมืองแล้วแปะเลขบัญชีธนาคารออนไลน์ทุกครั้ง
พี่ชายสองคนและบิดาของนายอาร์ชาคอยู่ประเทศรัสเซียอย่างคนไร้สัญชาติ จะอพยพไปอยู่ประเทศไหนก็ยังไม่มีใครรับ นับเป็นวิบากกรรมของคนที่มีลูก มีน้องเนรคุณต่อแผ่นดินที่มาอาศัยต่อลมหายใจให้ครอบครัว ส่วนนายอาร์ชาค ยังคงทำตัวเป็นนักเคลื่อนไหวที่ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายมีรายได้จากการประท้วง
นายอาร์ชาค ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอพีว่าเขากับภรรยาไม่แน่ใจว่าจะกลับรัสเซียหรือไม่ในขณะที่เครมลินกวาดล้างฝ่ายต่อต้าน “ผมไม่ตั้งใจจะขอลี้ภัยในเยอรมนีแต่ยังหวังว่า ปฏิกิริยาของนักการเมืองในยุโรปช่วยผมให้ได้ในสิ่งที่อำนาจนิยมริบไปอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนคืนมา”
นี่คือธรรมชาติของเอ็นจีโอ ที่รับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหวทำลายความมั่นคงในประเทศที่เข้ามาอาศัยใบบุญแต่กลับเนรคุณเมื่อมีเรื่องเดือดร้อนก็ร้องโวยวายให้ประชาคมนานาชาติช่วย
ภาคประชาสังคม และเอ็นจีโอในเมืองไทยก็เช่นกัน เคลื่อนไหวต่อต้านทุกอย่างในประเทศไทยอย่างย่ามใจ เพราะมั่นใจว่านายฝรั่งช่วยได้ เอ็นจีโอในเมืองไทยก่อความวุ่นวายได้อย่างเสรี ประท้วงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจ เคลื่อนไหวให้แก้กฎหมายมาตรา 112 เพื่อจะโจมตีใส่ร้ายทำลายสถาบันได้ตามความพอใจ ภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอในเมืองไทย เคลื่อนไหวได้ทั้งในสภาและพื้นที่สาธารณะใช้กิริยาวาจาที่ชั่วช้าหยาบคาย เมื่อถูกดำเนินคดีก็มี I Law ช่วยติดตามคดีให้หรือไม่ก็ร้องโวยวายให้คุณพ่อฝรั่งช่วย
คอลัมน์นี้ จึงเห็นด้วยกับรัสเซียและเมียนมาที่จัดการกับผู้ที่รับเงินต่างชาติมาทำลายความมั่นคงภายในรัสเซียในขณะที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม รัฐบาลที่มีกฎอัยการศึกอยู่ในมือจะทำให้ทั้งครอบครัวนายอาร์ชาคหายไปจากโลกนี้ก็ได้ แต่เครมลิน เลือกใช้กระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีกับคนเนรคุณที่
หนีร้อนมาพึ่งเย็นในรัสเซีย
ในเมียนมาก็เช่นกัน ขณะทั่วโลกประณามว่ารัฐบาลทหารเมียนมาทารุณโหดร้ายฆ่าฝ่ายต่อต้านตายเป็นใบไม้ร่วง ทั้งๆ ที่ทุกฝ่ายรู้แก่ใจว่าภาคประชาสังคม องค์กรเอกชนร่วมมือกับฝ่ายต่อต้านสมคบกับผู้ก่อการร้าย แต่รัฐบาลทหารของพลเอกมิน อ่อง หล่าย ยังเลือกใช้กฎหมายแทนใช้ความรุนแรงจัดการกับเอ็นจีโอที่มุ่งมั่นสร้างความปั่นป่วนให้สังคมเมียนมา
ในขณะรัฐบาลทหารเมียนมาพยายามฟื้นฟูประเทศให้กลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเตรียมการให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ฝ่ายต่อต้านที่รัฐบาลก็ก่อกวนวางระเบิดรายวันยั่วยุให้ทหารปรามปราม เพื่อจะได้ประโคมข่าวว่ารัฐบาลทหารทารุณโหดร้ายฆ่าคนบริสุทธิ์ตายไปแล้ว 13,000 คน
ส่วนภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอ ก็ปั่นกระแสข่าวคนพลัดถิ่นในประเทศตัวเองเป็นแสนเป็นล้านคน และเรียกให้ชาติมหาอำนาจส่งเงินส่งอาวุธมาให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาเหมือนกับที่ประเทศตะวันตกส่งอาวุธและปัจจัยให้ยูเครน
ภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอในประเทศเมียนมา ทำตัวเป็นสะพานบุญหาทุนมาให้ผู้ก่อการร้าย จึงถือได้ว่าภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอล้วนเป็นคนบาปที่ต้องสาปให้ตกนรกอเวจี
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี