เมื่อถึงปลายปีก็มักจะมีการตั้งฉายาให้กับนายกรัฐมนตรี และบรรดารัฐมนตรีทั้งหลายจากสื่อมวลชน นับเป็นประเพณีปฏิบัติกันมาหลายปีในสังคมประชาธิปไตยของไทย โดยในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องที่บ่งบอกซึ่งความขบขัน หรรษา หรือหยอกล้อทางการเมือง (Political humor) หรือบางครั้งบางคราวก็อาจจะมีการถากถางบ้างพอหอมปากหอมคอ (Satire) แต่ทั้งหมดนี้อาจจะแฝงไว้ซึ่งสาร(Message) ว่าปีนั้นๆ นายกรัฐมนตรีและบรรดารัฐมนตรีได้ทำงานทำการเป็นที่พึงพอใจหรือ “เข้าตากรรมการ” มากน้อยเพียงใด
ในการนี้ ตัวนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในฐานะนักการเมืองผู้เป็นบุคคลสาธารณะ และเป็นผู้อาสาเข้ามารับใช้บ้านเมือง ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับคำติเตียนติชมเชิงหยอกล้อ (หรือถากถางบ้าง) อย่างผู้ที่มีจิตใจเปิดกว้าง เป็นนักกีฬา (Fair play) แล้วก็เป็นที่หวังว่าเมื่อได้รับฉายาต่างๆ แล้ว ก็จะต้องนำไปขบคิดว่า สะท้อนความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหนหรือไม่อย่างไร และจะนำไปเสริมสร้างในสิ่งที่ดีและปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่ด้อยหรือบกพร่องกันอย่างไร
ฉายาที่สื่อประจำทำเนียบรัฐบาลปีนี้ ต่างก็มีวลีเด็ดๆ แต่ก็แฝงไว้ซึ่งความคิดอ่านที่ลึกซึ้ง เช่น ฉายาว่า“แปดเปื้อน” ให้กับตัวนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา หรือฉายาที่สะท้อนมุมมองของฝ่ายสื่อต่อคณะรัฐมนตรีทั้งคณะว่า “หน้ากากคนดี” ก็ดูจะหนักหน่วงเป็นอย่างมาก ซึ่งถ้าเปรียบเป็นการชกมวยก็จัดได้ว่า ตัวนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะโดนหมัดฮุกเข้าที่ท้องน้อยเป็นแน่
ทั้งหมดนี้ก็แสดงให้เห็นว่า การทำงานที่ผิวเผินสุกเอาเผากิน ผักชีโรยหน้า หรือการใช้อารมณ์ฉุนเฉียวมิได้รอดสายตาของบรรดาผู้สื่อข่าวทั้งหมด และสะท้อนออกมาเป็นฉายาต่างๆ ที่แทงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฉายาเหล่านั้นได้รับการแซ่ซ้องและยอมรับจากวงการต่างๆ หลังการประกาศออกมา (ซึ่งตัวผมเองก็รู้สึกเห็นด้วย)
ทั้งจากประสบการณ์ของการที่ได้เคยอยู่ในสนามการเมืองและเคยเป็นข้าราชการประจำ แต่ก็ได้ติดตามเรื่องการบ้านการเมืองมาโดยตลอด ก็มีความเห็นและวิตกกังวลมาตลอดระยะเวลา 8 ปีว่า การบริหารราชการดูมีอารมณ์และความนึกคิดส่วนตัวเป็นที่ตั้งอีกทั้งรัฐมนตรีหลายคนก็ดูทำงานแบบฉาบฉวยผิวเผิน เอาหน้า และมากคนมากครั้งก็หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ ของบ้านเมืองอย่างเอาจริงเอาจัง แต่พร้อมที่จะสะบัดตัวไปมาเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ นั่นคือปัญหาใหญ่ของนายกฯ
นอกจากนั้นแล้ว คณะรัฐบาลชุดนี้ยังขาดความเป็นมืออาชีพ ขาดองค์ความรู้ และขาดวิสัยทัศน์ ไม่สามารถทำให้ประเทศไทยอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของต่างประเทศ หรือไม่อยู่ในจอเรดาร์ (Not on the radar screen) ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยถือว่าไร้บทบาทนำใดๆ ในเวทีอาเซียน รวมทั้งไม่ได้มีจุดยืนที่แน่ชัดเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสำคัญๆ ของโลก
วาระของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็งวดเข้ามาแล้ว ดังนั้น การจะไปปรับปรุงแก้ไขใดๆ ก็คงไม่ทันการเสียแล้ว สังคมไทยจำต้องไปฝากความหวังไว้กับการเลือกตั้งทั่วไปในปีใหม่ 2566 นี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลก็ไม่แน่ไม่นอน อาจจะมีรัฐมนตรีในชุดรัฐบาลนี้สามารถกลับไปเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดหน้าก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร คนเหล่านั้นก็คงไม่สามารถจะตัดขาด หรือลืมเลือนฉายาปี 2565 ได้
ฉะนั้นอะไรจะดีเท่าการเริ่มพิจารณาทบทวน เพื่อปรับปรุงตนเองเสียแต่เดี๋ยวนี้ หากสติคำนึงจนพบแล้วว่าไม่สามารถลากตัวเองไปต่อได้อีกแล้วก็ยังมีทางออกอีกทาง นั่นคืออำลาจากเวทีไปอย่างมีศักดิ์ศรี ดีกว่าให้ประชาชนเขาไล่ให้ลงเอง
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี