เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ คดีนปช.ก่อการร้าย จัดชุมนุมใหญ่ปี 2553
จำคุก “เจ๋ง ดอกจิก” 5 ปี 4 เดือน ฐานข่มขืนใจเจ้าหน้าที่ และ จำคุก “สุขเสก” แนวร่วมชุดดำ ยิงและครอบครองระเบิดเอ็ม-79 จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันก่อการร้าย
เท่ากับตอกย้ำความจริงชัดเจนว่า ในการเคลื่อนไหวของเสื้อแดง ปี’53 มีชายชุดดำ มีกองกำลังติดอาวุธ ยิงและครอบครองอาวุธสงคราม
เพียงแต่ไม่มีพยานหลักฐานมัดไปถึงจำเลยที่เป็นแกนนำ นปช.คนอื่นในคดีนี้เท่านั้น
1. เมื่อวานนี้ (9 ม.ค.) ที่ ศาลอาญา อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก่อการร้าย หมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง
ฝ่ายจำเลย ประกอบด้วย นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช., นายจตุพร หรือตู่ พรหมพันธุ์ ประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ หรือเต้น ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นพ.เหวง โตจิราการ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา, นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก, นายนิสิต สินธุไพร, นายการุณ หรือเก่ง โหสกุล, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท, นายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง, นายสุขเสก หรือสุข พลตื้อ, นายจรัญ หรือยักษ์ ลอยพูล, นายอำนาจ อินทโชติ, นายชยุต ใหลเจริญ, นายสมบัติ หรือผู้กองแดง มากทอง, นายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์, นายรชต หรือกบ วงค์ยอด, นายยงยุทธ ท้วมมี,นายอร่าม แสงอรุณ, นายเจมส์ สิงห์สิทธิ์, นายมานพ หรือเป็ด ชาญช่างทอง, นายสมพงษ์ หรือแขก บางชม, นายอริสมันต์ หรือ กี้ร์ พงศ์เรืองรอง ทั้งหมดเป็นแกนนำ, การ์ด และแนวร่วม นปช. เรียงตามลำดับเป็นจำเลยที่ 1-24
ในความผิดข้อหาร่วมกันก่อการร้าย โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ โดยมีความมุ่งหมายขู่เข็ญรัฐบาลไทยให้กระทำการใด หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1, ขู่เข็ญว่าจะทำการก่อการร้าย โดยสะสมกำลังพลหรืออาวุธ หรือตระเตรียมการสมคบกันเพื่อก่อการร้าย มาตรา 135/2 และร่วมกันชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในท้องที่ผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
โดยนายยศวริศ จำเลยที่ 7 ถูกฟ้องเพิ่มในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 358
สืบเนื่องจากเหตุการณ์รุนแรงช่วงวันที่ 28 ก.พ. - 20 พ.ค. 2553 จัดการชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และบริเวณแยกราชประสงค์ เดินขบวนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆ มีการใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม-79 ยิงใส่บ้านพักประชาชน สะสมกำลังพล และอาวุธสงครามร้ายแรง ฝ่ายจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด ว่าไม่มีความผิดฐานก่อการร้าย
ปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์นำสืบฟังได้ว่า
นายยศวริศ จำเลยที่ 7 ประกาศให้ผู้ชุมนุมร่วมกันรื้อค้นและทุบทำลายรถยนต์ของทางราชการได้รับความเสียหาย มีความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 และกระทำการให้กลัวว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต และเป็นการข่มขืนใจเจ้าหน้าที่ให้ยินยอมโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายอันเป็นความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง นายยศวริศจำเลยที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง และ 358 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษฐานข่มขืนใจผู้อื่น โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จำคุก 5 ปี และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 8 ปี คำให้การจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกรวม 5 ปี 4 เดือนและให้นับโทษจำเลยที่ 7 ต่อจากคดีหมายเลขแดง อ.193/2556 ของศาลชั้นต้น
นายสุขเสก จำเลยที่ 12 พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำและมีพฤติการณ์เกี่ยวข้อง กับการนำเครื่องยิงระเบิดเอ็ม-79 ระเบิดลูกเกลี้ยงและกระสุนปืนจำนวนหนึ่งไปให้บุคคลนำไปฝังซึ่งต้องการปิดบังอำพรางอาวุธดังกล่าว โดยมีพยานซึ่งเบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่ได้รู้เห็นมา พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 12 เป็นผู้ใช้เครื่องยิงระเบิดเอ็ม-79 ขณะเจ้าหน้าที่ปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ การกระทำของจำเลยที่ 12 จึงเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายของบุคคลใด เพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน อันเป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 (1) อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ลงโทษนายสุขเสก จำเลยที่ 12 จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันก่อการร้าย
นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
เท่ากับว่า ศาลพิพากษาชี้ชัดว่า ปี 2553 มีพฤติการณ์ “ร่วมกันก่อการร้าย” เพียงแต่มีหลักฐานเอาผิดได้เพียงหนึ่งคนในคดีนี้
ขณะนี้ นายยศวริศ จำเลยที่ 7 และนายสุขเสก จำเลยที่ 12 อยู่ระหว่างยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัวสู้คดี
2. ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีแพ่ง ให้แกนนำ นปช.บางราย ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของอาคารพาณิชย์ที่ถูกเผาในเหตุการณ์ 19 พ.ค.2553
คดีหมายเลขดำ 1762/2554 ศาลฎีกาพิพากษาให้ นายจตุพร พรหมพันธุ์,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย21.3 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6646-6647/2561 พิพากษาให้นายจตุพร, นายณัฐวุฒิ และ นายอริสมันต์ ร่วมกันรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายรวมประมาณ 19.3 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
ทั้งสองคดีถึงที่สุดแล้ว
3. มีการเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี, อุดรธานี, ขอนแก่น และมุกดาหาร
คดีเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร (มีหลายสำนวน) สำนวนหลักศาลพิพากษาจำคุก 15 ปี นายวิชัย อุสุพันธ์ และพวก
คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตนายพิเชษฐ์
ทาบุดดา หรือ อจ.ต้อย แกนนำ นปช.อุบลราชธานี และพวก
คดีเผาศาลกลางจังหวัดขอนแก่น ศาลพิพากษาจำคุก 13 ปี นายอดิศัย วิบูลเสขและพวก (แนวร่วมเสื้อแดง)
คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ศาลพิพากษาจำคุก 22 ปี นายวันชัย รักสงวนศิลป์และพวก (เสื้อแดง)
4. ใน “รายงาน คอป.ฉบับสมบูรณ์” ชี้ชัดไว้ก่อนหน้านี้ ยืนยันการมีอยู่จริงของ“ชายชุดดำ” และยังเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับการเผาบ้านเผาเมือง 2553 เอาไว้ด้วย
รายงาน คอป. มีการอ้างอิงปราศรัยของ “แกนนำ นปช.” บางคน ที่มีลักษณะยุยง ปลุกปั่น พูดถึงการเตรียมการ การเผา และการใช้ความรุนแรง หลายครั้ง หลายหน
ในหัวข้อ “2.3.13 การเผาสถานที่ในกรุงเทพมหานคร” สรุปว่า ระหว่าง นปช.ชุมนุม 12 มี.ค.-19 พ.ค.2553 มีอาคารต่างๆ ในกทม.ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ 37 แห่ง แบ่งเป็นสถานที่ราชการหรือรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง และสถานประกอบธุรกิจเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ 19 แห่ง
ระบุว่า ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นหลังเวลา 14.00 น.
“...ผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน พร้อมหนังสติ๊ก ระเบิดขวดและระเบิดปิงปอง เริ่มจุดไฟเผาและโยนถังแก๊สเข้าไปประมาณ 10 ถัง จากนั้นเกิดเสียงดังคล้ายระเบิดหลายครั้งเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์จำนวน 8 คน ได้รับบาดเจ็บจากระเบิดซึ่งเกิดจากระเบิดขว้างสังหารซึ่งเป็นอาวุธสงคราม โดยเจ้าหน้าที่รายหนึ่งกล่าวว่าคนขว้างสวมใส่เสื้อผ้าสีดำและสวมหมวกไหมพรมปิดหน้า หลังจากนั้นไฟจึงลุกไหม้อย่างต่อนื่องมาจากด้านห้างสรรพสินค้าเซน และลามมาที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ จนเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าไปควบคุมเพลิงไว้ได้ หลังห้างเซ็นทรัลเวิลด์ถูกเผาได้ 2 วัน เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจก็เข้าไปตรวจสอบอาคาร ก่อนพบผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นายกิตติพงษ์ สมสุข อยู่ในร้านโทรศัพท์มือถือโซนี่ อีริคสัน ชั้น 4 โซนซี ของอาคาร สาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากสำลักควันและขาดอากาศหายใจ...”
“..เจ้าหน้าที่ทหารได้รับคำสั่งให้คุ้มครองหน่วยดับเพลิงเมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. แต่ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้เนื่องจากต้องผ่านบริเวณที่ยังมีการปะทะกันและมีสิ่งกีดขวางบนถนน
...กรณีเพลิงไหม้ที่โรงหนังสยาม หน่วยดับเพลิงเข้ามาถึงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สยามแต่ไม่สามารถเข้าไปในจุดที่เพลิงลุกไหม้ เนื่องจากมีการต่อต้านด้วยปืนสงครามจากคนชุดดำจึงถอนกำลังกลับไปที่สนามกีฬาแห่งชาติ และสามารถเข้าไปควบคุมเพลิงได้ในช่วงเย็นแต่เพลิงได้ลุกไหม้ไปมากแล้ว
...กรณีเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หน่วยดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้เนื่องจากความไม่ปลอดภัยและมีสิ่งกีดขวาง เมื่อได้ประสานไปทางผู้บริหารระดับสูงของกรุงเทพมหานคร จึงได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจซึ่งได้แนะนำให้เข้าไปทางด้านหลังห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน จึงสามารถเข้าไปได้เมื่อเวลาประมาณ 21.10 น.
...หน่วยดับเพลิงซึ่งอยู่บริเวณเพลินจิตและในสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่สามารถเข้าไปควบคุมเพลิงได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่รายงานว่าพื้นที่ยังไม่มีความปลอดภัยและในเวลา 21.10 น. เจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าไปได้
...ช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. รถดับเพลิงจำนวน 16 คัน เข้าควบคุมเพลิงที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สามารถควบคุมเพลิงได้ในเวลาประมาณ 03.00 น.ของวันที่ 20 พฤษภาคม....”
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2560 นางสาวอัมพาวีร์ ชมภูพงษ์เกษม เลขานุการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัทในเครือได้ทำประกันภัยการก่อการร้าย (Terrorism) วงเงิน 3,500 ล้านบาทไว้ และได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยการก่อการร้าย เป็นจำนวน 3,500 ล้านบาท เรียบร้อยแล้ว เท่ากับว่า บริษัทประกันยอมจ่ายสำหรับประกันภัยการก่อการร้าย (Terrorism) โดยตรง
สอดคล้องกับกรณีเผาศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน ศาลแพ่งพิพากษา คดีถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษาว่า เหตุการณ์เผาศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน เป็นกรณีสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองถือเป็นการก่อความไม่สงบของประชาชนถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล มีความวุ่นวาย โกลาหล อลหม่าน เห็นได้ว่า สาเหตุหนึ่งมาจากการปราศรัยปลุกระดมของแกนนำกลุ่ม นปช. หลังเกิดเหตุมีรถดับเพลิงเข้าไป แต่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมขัดขวาง นอกจากนี้ ยังพบลูกธนูพันด้วยผ้า และร่องรอยกระสุนปืน สรุปว่าพยานหลักฐานเกี่ยวกับการวางเพลิงเผาศูนย์การค้าของโจทก์ เกิดจากการกระทำของผู้ชุมนุม นปช.บางส่วนที่ต้องการใช้ความรุนแรง หรือข่มขู่บุคคลเพื่อหวังผลทางการเมือง เพื่อต้องการส่งผลให้รัฐบาล หรือสาธารณชนตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนก หวาดกลัว ถือเป็นการกระทำก่อการร้ายตามนิยามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัย เป็นผลให้ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วันซึ่งไม่ได้ทำประกันที่คุ้มครองเกี่ยวกับภัยความรุนแรงทางการเมือง-ก่อการร้าย ไม่ได้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย
คนไทยต้องไม่ลืมบทเรียน
อย่าให้บ้านเมืองเสียโอกาส เสียหายไปกับการเสียรู้ให้แก่ตระกูลคนโกงหนีคดีที่อยากใช้อำนาจรัฐล้างผิดแก่นายใหญ่อีกเลย
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี