มหากาพย์คดีโกงสหกรณ์คลองจั่น ยังไม่จบ
เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานฯ กับพวกโกงสหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่นฯ ความผิดฐานร่วมกัน ฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง, ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม
1. คดีนี้ ศาลชั้นต้น เคยพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าเป็นการฟ้องซ้ำ
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2564 ศาลอาญา (ชั้นต้น) พิพากษา คดี อ.3339/2559 ความผิดฐาน ฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง, ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม และ คดี อ.3056/2560 ความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง
มูลเหตุการกระทำผิด ช่วงระหว่างเดือน ม.ค. 2551-ธ.ค.2555 พวกจำเลยร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นหรือประชาชน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้ แจ้งแก่ประชาชน ด้วยวิธีการต่างๆ เป็นขั้นตอน ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ และร่วมรู้เห็นการกระทำผิดต่างๆ ร่วมกัน โดยเจตนาทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองและผู้อื่น
ร่วมกันจัดทำสัญญากู้ยืมเงิน ระหว่าง สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด (ผู้ให้กู้) กับ สมาชิกสมทบ (ผู้กู้) ซึ่งเป็นนิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ได้ถือหุ้นในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด จำนวน 28 ราย รวมเป็นเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน จำนวนทั้งสิ้น 11,858,440,000 บาท โดยไม่มีการกู้ยืมเงินกันจริง และร่วมกันทำการบันทึกรายการทางการเงินอันเป็นเท็จ ในการบันทึกรายการรับชำระหนี้เงินกู้ยืมเงินและดอกเบี้ยรับจากลูกหนี้เงินกู้ยืมพิเศษ สมาชิกสมทบ โดยไม่มีการรับชำระหนี้เงินกู้ยืมและดอกเบี้ยรับจากลูกหนี้เงินกู้ยืมพิเศษสมาชิก สมทบจริง และบันทึกจ่ายเงินให้แก่ลูกหนี้เงินกู้ยืมพิเศษ โดยไม่มีการจ่ายเงินที่กู้ยืมออกจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด จริง
ทั้งยังร่วมกันจัดทำใบสำคัญรับชำระเงินลูกหนี้ทดรองจ่ายให้แก่นายศุภชัย จำเลยที่ 1 อันเป็นเท็จ และร่วมกันจัดทำใบสำคัญจ่ายเงินจำเลยที่ 1 อันเป็นเท็จ ร่วมกันทำการบันทึกรายการเกี่ยวกับการจ่ายเงินสดให้ลูกหนี้เงินกู้ยืมพิเศษ ทั้งที่ไม่มีการกู้ยืมเงินและการจ่ายเงินจริง
โดยการทำสัญญากู้ยืมเงินเท็จดังกล่าวข้างต้น เพื่อปกปิดการทุจริต หรือการเบิกจ่ายเงินทดรองจ่ายที่ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ ระเบียบของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด หรือนำมาปรับโครงสร้างหนี้ และเพื่อตกแต่งบัญชีของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ให้ปรากฏเป็นเท็จว่า สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด มีผลการประกอบกิจการที่มีผลกำไรสุทธิ โดยทำให้ปรากฏในงบการเงินและงบดุลของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด โดยนำงบกำไรสุทธิไปแสดงในรายงานประจำปี พ.ศ.2552-พ.ศ.2555 ทั้งที่ความจริงแล้ว การดำเนินการของสหกรณ์เครดิตฯ มีผลประกอบการขาดทุนจำนวนมากตลอดมา
ฝ่ายจำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ระบุว่าเป็นการฟ้องซ้ำ
ต่อมา อัยการยื่นอุทธรณ์
2. คดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ วินิจฉัยว่าไม่เป็นฟ้องซ้ำ
พิพากษาว่า มีความผิด ลงโทษจำคุกรวม 765 ปี !!!
สรุปว่า
ในส่วนของนายศุภชัย (จำเลยที่ 1) ผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม กระทงละ 2 ปี จำนวน 22 กระทง เป็นจำคุก 44 ปี
ฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง จำคุกนายศุภชัย กระทงละ 1 ปี จำนวน 721 กระทง เป็นจำคุก 721 ปี
เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุก มีกำหนด 20 ปี ตามกฎหมายอาญา 91 (2) ให้นับโทษของจำเลยที่ 1 (นายศุภชัย) ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 706/2559 ของศาลชั้นต้น และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 10,812,663,995.29 บาท แก่โจทก์ร่วม
ในส่วนของจำเลยคนอื่นๆ จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 11 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 (เดิม), 268 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 265 (เดิม) ส่วนจำเลยที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7 ) (11) วรรคสอง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
3. น่าสนใจว่า คดีโกงสหกรณ์คลองจั่น ยังมีแตกแขนงออกไปอีกมากมายหลายคดี
บางคดี มีคำพิพากษาศาลฎีกา คดีถึงที่สุดแล้วว่า นายศุภชัยมีความผิด ต้องติดคุก
ปัจจุบัน นายศุภชัยก็ยังติดคุกอยู่ในเรือนจำ
คดีหมายเลขดำที่ อ.1739/2558 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 32 ปีฐานสั่งการให้เจ้าหน้าที่การเงินทำการเบิกจ่ายเงินของสหกรณ์ฯหลายครั้ง เป็นเงินจำนวน 22,132,000 บาท เข้าบัญชีของนายศุภชัยหรือบุคคลที่ 3 โดยทุจริตคดีดังกล่าวนายศุภชัยรับสารภาพ ศาลเมตตาลดโทษเหลือโทษจำคุก 16 ปี
ชั้นอุทธรณ์ ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560แก้เป็นว่าจำคุก 7 ปี
ศาลฎีกาพิพากษา ยืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกจำเลย 7 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังมีคดีอาญาฐานฟอกเงินอีกมากมาย ที่ ปปง.และพนักงานสอบสวนตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่ามีการยักย้ายถ่ายโอนเงิน แปลงสภาพไปที่เครือข่ายต่างๆ มากมาย อาทิ เครือข่ายธรรมกาย
บางคดี มีอดีตพระธัมมชโยตกเป็นผู้ต้องหา หนีหมายจับอยู่จนถึงวันนี้
บางคดี เกี่ยวโยงถึงมูลนิธิ, นายทุนใหญ่ของวัด, พระสงฆ์ ฯลฯ
นอกจากนี้ ปปง.ได้ดำเนินคดีแพ่งเพื่อตามยึดทรัพย์กลับคืนมาเป็นของแผ่นดินหรือคืนสหกรณ์ ซึ่งเกือบทุกคดี ศาลตัดสินแล้วให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินหรือคืนกลับแก่สหกรณ์ บางคดีถึงที่สุดแล้วด้วย
แม้แต่มูลนิธิของธรรมกาย ที่มีทรัพย์สินและเงินหมุนเวียนนับหมื่นล้านบาท ก็ถูกดีเอสไอส่งคดีต่ออัยการเพื่อพิจารณายื่นศาลแพ่งให้ยุบมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูงฯ และให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากกระทำผิดกฎหมาย ปรากฏว่าดีเอสไอได้ส่งคำร้องไปที่อัยการภาค 1 แล้ว แต่ไม่มีรายงานความคืบหน้าจนถึงปัจจุบัน
ส่วนคดีฟอกเงินของเจ้าสัวธรรมกาย ก็ปรากฏว่า อัยการสั่งไม่ฟ้อง
เข้าอีหรอบเดียวกับคดีตู้ห่าวเผาสวนงู
โดยไม่ปรากฏคำแถลงชี้แจงรายละเอียดข้อครหาสงสัยใดๆ แก่สังคมเลย
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี