โครงการมอเตอร์เวย์ สาย M6 บางปะอิน-โคราช ระยะทาง 196 กม. เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะพลิกโฉมการเดินทางสู่ภาคอีสานไปโดยสิ้นเชิง
ครม.ลุงตู่อนุมัติให้ก่อสร้าง ก.ค. 2558 ปัจจุบัน โครงการล่าช้ากว่าแผน
ล่าสุด ครม.ลุงตู่ (ก.พ. 2566) อนุมัติวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มเติมในส่วนงานโยธาที่ยังไม่ได้ดำเนินการ จำนวน 12 ตอน วงเงิน 4,970 ล้านบาท
เป็นอันว่า ชัดเจน และไร้ปัญหา พุ่งฉิวไปสู่การเปิดใช้งานแน่นอนหลังจากนี้
1. หลัง ครม.อนุมัติงบเพิ่มเติม กรมทางหลวง (ทล.) ยืนยัน จะเร่งรัดเดินหน้าการก่อสร้างงานโยธาในส่วนที่เหลือให้สามารถเปิดทดลองให้บริการได้โดยเร็วที่สุด
คาดว่า จะสามารถเปิดทดลองวิ่งช่วงปากช่องถึงทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร ในช่วงปลายปี 2566
รวมถึงการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุนการดำเนินงาน และบำรุงรักษา (O&M) เพื่อเร่งรัดงาน
ติดตั้งระบบต่างๆ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง M-Flow ระบบบริหารควบคุมการจราจร
คาดว่า จะเริ่มทดสอบระบบพร้อมทยอยเปิดทดลองให้บริการได้ในปี 2567
และเปิดใช้บริการเส้นทางอย่างเต็มรูปแบบ 196 กม. ในปี 2568 ต่อไปอย่างแน่นอน
2. โครงการนี้ เสร็จสมบูรณ์เมื่อไหร่ จะเกิดประโยชน์มากมายแน่นอน
คิดง่ายๆ ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่เปิดให้ใช้บริการฟรีบางช่วง ยังช่วยแบ่งเบาภาระถนนมิตรภาพได้กว่า 20%
เปิดให้บริการ เริ่มเก็บเงินค่าผ่านทาง ตลอดเส้นทาง 240 บาท แต่ละวันคาดว่าจะมีรถใช้บริการจำนวนมาก แลกกับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย
จะทยอยมีรายได้กลับเข้ามา แต่ละวันกี่คัน ก็ลองคำนวณดูว่า แต่ละวันจะมีรายได้กลับมากี่สิบล้านบาท
3. โครงการนี้ ก่อสร้างทางพิเศษขนาด 4-6 ช่องจราจร
ช่วง อ.บางปะอิน - อ.ปากช่อง ออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษบนดิน ขนาด 6 ช่องจราจร
ช่วง อ.ปากช่อง-อ.เมืองนครราชสีมา ออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษบนดินขนาด 4 ช่องจราจร
ตลอดสายทางให้มีทางลอดและทางข้าม เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่
ออกแบบให้มีช่วงทางยกระดับขนาดใหญ่ คือ
ทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ช่วง กม.40-กม.47 บริเวณทางเลี่ยงเมืองสระบุรี
ทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ช่วง กม.69-กม.75 บริเวณโรงปูนซีเมนต์ทีพีไอ
ทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ช่วง กม.82-กม.84 บริเวณองค์การส่งเสริมกิจการโคนม
ทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ช่วง กม.125-กม.143 บริเวณลำตะคอง
4. โครงการมีสัญญางานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
สัญญาก่อสร้างงานโยธา : แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 40 สัญญา
สัญญาให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างงานระบบ พร้อมดำเนินงานและบำรุงรักษา : ปัจจุบันลงนาม (Operation and Maintenance : O&M) แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างงานระบบ
สัญญาให้เอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) : คณะกรรมการนโยบาย PPP ให้ความเห็นชอบรูปแบบการดำเนินโครงการร่วมลงทุนแล้ว เตรียมเปิดประกวดราคาจัดหาเอกชนร่วมลงทุน
5. งานโยธาทำไมยังไม่เสร็จสมบูรณ์?
งานโยธาเดิม 40 ตอน ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 24 ตอน
ส่วนอีก 16 ตอน ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากติดปัญหาอุปสรรคใน 4 ประเด็น ได้แก่
1) สภาพพื้นที่ในสนามที่ทำการก่อสร้างได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
2) ปรับปรุงรูปแบบทางวิศวกรรมให้สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพของพื้นที่ในปัจจุบัน
3) ปรับรูปแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับโครงสร้างสาธารณูปโภค หรือความจำเป็นของหน่วยงานที่โครงการตัดผ่าน
และ 4) ปรับรูปแบบการก่อสร้างเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ และให้สอดคล้องกับโครงข่ายถนน ที่ประชาชนใช้ทางในปัจจุบัน
ทำให้จำเป็นต้องแก้ไขแบบก่อสร้าง ส่งผลให้ค่างานก่อสร้างเพิ่มขึ้น
ล่าสุด ที่ ครม.อนุมัติเห็นชอบเพิ่มวงเงินงบประมาณ ในส่วนของงานโยธาที่ยังไม่ได้ดำเนินการ จำนวน 12 ตอน วงเงินรวม 4,970 ล้านบาท ประกอบด้วย
ตอน 1 กม. ที่ 0+000.000 - 7+332.494 วงเงิน 631 ล้านบาท
ตอน 2 กม. ที่ 0+000.000 - 5+470.673 วงเงิน 70 ล้านบาท
ตอน 4 กม. ที่ 9+008.350 - 15+000.000 วงเงิน 971 ล้านบาท
ตอน 5 กม. ที่ 15+000.000 - 27+500.000 วงเงิน 69 ล้านบาท
ตอน 18 กม. ที่ 72+328.075 - 74+300.000 วงเงิน 271 ล้านบาท
ตอน 19 กม. ที่ 74+300.000 - 77+000.000 วงเงิน 596 ล้านบาท
ตอน 20 กม. ที่ 77+000.000 - 82+500.000 วงเงิน 161 ล้านบาท
ตอน 21 กม. ที่ 82+500.000 - 86+000.000 วงเงิน 1,310 ล้านบาท
ตอน 23 กม. ที่ 102+000.000 - 110+900.000 วงเงิน 406 ล้านบาท
ตอน 24 กม. ที่ 110+900.000 - 119+000.000 วงเงิน 26 ล้านบาท
ตอน 34 กม. ที่ 140+040.000 - 141+810.000 วงเงิน 291 ล้านบาท
ตอน 39 กม. ที่ 175+100.000 - 188+800.000 วงเงิน 163 ล้านบาท
ทำให้วงเงินค่าก่อสร้าง รวม 40 ตอน เพิ่มขึ้นจากเดิม รวมเป็นจำนวนเงิน 66,165 ล้านบาท
แต่ก็ยังต่ำกว่ากรอบวงเงิน 69,970 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559
ส่วนประเด็นว่างานก่อสร้างที่ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน วงเงินประมาณ 1,785 ล้านบาทนั้น กรมทางหลวงยืนยันว่า ต้องตรวจสอบรายละเอียด ทั้งในส่วนของเนื้องานและความรับผิดชอบของบริษัทผู้รับจ้างคู่สัญญาให้มีความละเอียดรอบคอบ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการ โดยมีรองอธิบดีฝ่ายดำเนินงาน เป็นประธาน และตัวแทนหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องทั้งด้านวิศวกรรม ระเบียบ กฎหมาย อาทิ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สำนักงานอัยการสูงสุด กรมบัญชีกลาง สำนักกฎหมาย กระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบ ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้และตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี