การเดินทางอันยาวนานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้สิ้นสุดลงอย่างจริงจังแล้ว พร้อมกับการเริ่มต้นเส้นทางใหม่ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทอดยาวไปสู่สมรภูมิการเลือกตั้ง ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาด การเลือกตั้งครั้งใหญ่นั้น ก็น่าจะเกิดขึ้นภายในช่วงเดือนพฤษภาคม?
และเมื่อพลเอกประยุทธ์ได้มีการขีดเขียนบทสรุป เรื่องราวของตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรีที่เริ่มขีดเขียนขึ้นเมื่อปี 2562 ให้สิ้นสุดลง ณ วันที่ 20 มีนาคม 2566 พร้อมกับการประกาศกำหนดการวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 14 พฤษภาคม หลังจากนี้จึงสลายขั้วทั้งหมด ไม่มีพรรคร่วมรัฐร่วมค้านใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่มีการจับขั้วใหม่แบบคร่าวๆ เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าต่างก็จะจัดตั้งรัฐบาลรอบหน้าได้
อย่างไรก็ตามแม้พลเอกประยุทธ์ จะมีการประกาศยุบสภาฯ อย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อย แต่คณะรัฐบาลชุดนี้ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ เว้นแต่รัฐมนตรีบางท่านเท่านั้นที่จะไม่ได้ไปต่อในฐานะรัฐบาลรักษาการ
อย่างในกรณีของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน หนึ่งในบิ๊กเนมแห่งกลุ่มสามมิตร ที่ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นที่เรียบร้อย เป็นอันว่าตำแหน่งในฐานะคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์นั้น ได้จบลงตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 เป็นที่เรียบร้อย เท่ากับว่านายสมศักดิ์ไม่ขอรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม แม้เส้นตายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จะเดินทางมาถึงคราวสิ้นสุด แต่ก็ต้องยอมรับว่ารอบนี้มีการย้ายพรรคมากที่สุดครั้งหนึ่ง ทั้งย้ายแบบในขั้วและแบบข้ามขั้วและรวมย้ายแล้วย้ายอีกก็อาจจะมี ยิ่งมีกระแสข่าวว่าการโยกย้ายสังกัดนั้นสามารถย้ายได้จนถึงวันสมัครด้วยแล้ว ก็ยิ่งทวีคูณความน่าสนใจของประเด็นผู้สมัครไปอีกด้วยหรือไม่?
ซึ่งว่ากันตามตรงที่ผ่านมาก็มี สส. จำนวนไม่น้อย ที่ตัดสินใจก้าวขาออกจากสังกัดเดิม เพื่อไปเริ่มต้นกับสังกัดพรรคใหม่และในเรื่องนี้เอง พรรคการเมืองสังกัดต่างๆ ก็ต้องมีหวั่นๆ กันไม่มากก็น้อยเพราะการโยกย้ายสังกัดของ สส.ย่อมส่งผลถึงกำลังพลและการจัดทัพรับศึกเลือกตั้งอย่างเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งโดยเฉพาะหากมีการคัดสรรผู้สมัครหรือวางตัวไว้หมดแล้ว หากมีใครย้ายในเวลานี้การจะหาผู้สมัครที่มีความพร้อมในพื้นที่นั้นจริงๆ จะยากลำบากขึ้นมาก
เมื่อไม่นานมานี้ข่าวการโยกย้ายสังกัดของหนึ่งในดาวเด่นสภาฯ อย่างนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ สส.อุตรดิตถ์ ถูกหยิบยกมาพูดถึงตามหน้าสื่อ หลังจากที่มีข่าวลือสะพัดว่า สส.เครางามที่เคยสังกัดอยู่กับพรรคเพื่อไทย ก่อนย้ายไปพรรคเพื่อชาติ อาจตัดสินใจย้ายพรรคในอีกคำรบ ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรมากนัก หากสังกัดพรรคที่ถูกจับไปเชื่อมโยงไม่ใช่พรรครวมไทยสร้างชาติ
ที่หลายคนต้องแปลกใจไม่น้อย เพราะจุดยืนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็อาจจะถูกมองว่าไม่ได้อยู่ฟากเดียวกับ
เพื่อไทย หรือเพื่อชาติ อีกทั้งก่อนหน้านี้พฤติกรรมต่างๆ ของนายศรัณย์วุฒิเองก็ดูจะมีแนวโน้มไปที่พรรคเสรีรวมไทยมากกว่าหรือไม่? ทั้งการพูดในเชิงชื่นชมและออกโรงสนับสนุนพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์เป็นพิเศษ
และในประเด็นดังกล่าวนั้นพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์เองก็ได้มีการเผยกับสื่อว่า แท้จริงแล้วก่อนหน้านี้ นายศรัณย์วุฒิ ก็ได้มีการมาพูดคุยถึงโอกาสในการเข้ามาร่วมงานกับพรรคเสรีรวมไทยมาสักระยะหนึ่งแล้ว จึงให้เวลาในการอภิปรายไป ก่อนที่ในท้ายที่สุด นายศรัณย์วุฒิจะสร้างความตกตะลึงในหน้าหนังสือพิมพ์ โดยเลือกที่จะลงเอยกับพรรครวมไทยสร้างชาติ
อย่างไรก็ตามการตัดสินใจโยกย้ายสังกัดเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ของ สส.เอลวิส ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าความน่าสนใจของพรรครวมไทยสร้างชาตินั้นไม่ธรรมดา และไม่ได้ติดกรอบการย้ายภายในฝั่งได้แบบเดียว แบบที่หลายคนชอบวิเคราะห์ แต่เอาเข้าจริงการย้ายสังกัดข้ามขั้วสู่พรรครวมไทยสร้างชาติของนายศรัณย์วุฒิ ก็ไม่ใช่เพียงกรณีเดียวที่เกิดขึ้น
ระยะหลังมานี้ต้องยอมรับว่ากระแสของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ถูกปรามาสว่าไม่เท่าไร กลับเริ่มทะยานขึ้นเรื่อยๆ ที่กำลังพูดถึงนี้ไม่ใช่มิติความนิยมของประชาชนแต่เป็นความเชื่อมั่นของบรรดานักการเมือง อาจเพราะมีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าความนิยมของพลเอกประยุทธ์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และมีโอกาสไม่น้อยที่พลเอกประยุทธ์จะสามารถคว้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาได้อีกสมัยหนึ่งหรือไม่?
จึงทำให้ในโค้งสุดท้ายของตลาดสส.นี้ พรรครวมไทยสร้างชาติ ดูจะไม่ต่างอะไรไปจากแม่เหล็กแรงดูดพลังสูงยิ่งเมื่อหลังจากที่พลเอกประยุทธ์ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อวานพึ่งมีข่าวว่าพลเอกประยุทธ์นอกจากจะลงเป็นตัวแทนแคนดิเดตนายกฯ แล้ว ยังอาจจะลงเป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่งด้วยหรือไม่? เพราะถ้าใช่อาจยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับบรรดาลูกพรรคและโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดสส.ที่ยังลังเลกันอยู่หรือไม่
จึงไม่แปลกหากพรรครวมไทยสร้างชาติ จะเป็นที่ดึงดูด สส.จากทั่วทุกสารทิศเข้าสังกัดไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทั้งที่กำลังตัดสินใจหรือแม้กระทั่งเปิดตัวกับพรรคอื่นไปแล้ว
หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เกี่ยวกับกระแสการโยกย้ายสังกัดในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของนายเกรียงไกร จงเจริญ อดีตว่าที่ผู้สมัคร สส.เขตบางแค สังกัดพรรคเพื่อไทยที่ได้โยกย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากกับพรรคการเมืองต่างขั้ว อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ หลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้มีการเปลี่ยนตัวผู้สมัคร
ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนายเกรียงไกร ได้เผยความนัยกับสื่อมวลชนว่า สาเหตุของการโยกย้ายสังกัดพรรคนั้นเป็นเพราะว่า สังกัดเดิมนั้นมีการวางตัวผู้สมัครคนใหม่มาแทนที่ตน และให้ตนนั้นย้ายไปลงเขตเลือกตั้งอีกเขตหนึ่งแทน ทั้งที่ตนนั้นได้ลงพื้นที่หาเสียงในเขตนี้มาเป็นระยะเวลา 3 เดือน รวมถึงก่อนหน้านี้ตนนั้นก็ได้มีการเปิดตัว และประกาศเจตนารมณ์ไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า จะลงสมัครในเขตดังกล่าว
พร้อมทั้งได้มีการกล่าวถึงเหตุผลสำคัญที่เลือกลงสมัครในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติไว้ว่า เป็นพรรคที่มีความชัดเจน และให้เกียรติคนทำงาน พร้อมทั้งแสดงเจตนารมณ์ว่า จะขอสู้เพื่อคนบางแคต่อไป แม้จะต้องหาเสียงในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ไม่หนักใจ และพร้อมสู้ เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจ
และไม่ว่าจะเป็นเพราะสาเหตุอันใดก็ตาม จะเป็นเพราะส่วนตัวนายเกรียงไกรเชื่อมั่นในพรรครวมไทยสร้างชาติ? หรือเป็นเพราะภายในพรรคเพื่อไทยเกิดปัญหาอะไรขึ้นหรือไม่ก็ตาม? พรรครวมไทยสร้างชาติก็ดูจะได้รับผลประโยชน์ไปเต็มๆ
อาจเพราะด้วยความที่นายเกรียงไกรนั้น ถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีผลงานที่จับต้องได้และมีความใกล้ชิดกับประชาชนอยู่ไม่น้อยในพื้นที่กทม.อยู่แล้ว ทั้งจากที่เคยเป็นถึงผู้อำนวยการสำนักการศึกษากรุงเทพมหานครมา ก่อนที่จะลาออกจากราชการเพื่อมาหาเสียงในนามสังกัดพรรคเดิม อีกทั้งยังเคยเป็นถึงผู้อำนวยการเขตบางแค จึงน่าจะรู้จักและคุ้นเคยกับประชาชนในพื้นที่อยู่ไม่น้อย และน่าจะทราบถึงปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี ซึ่งหากพรรครวมไทยสร้างชาติจะมองหาว่าที่ผู้สมัครที่มีลุ้นในการปักธงของพรรคลงบนพื้นที่เขตบางแคแล้ว ชื่อของนายเกรียงไกร ก็ถือว่าเป็นชื่อที่มีลุ้นให้พรรครวมไทยสร้างชาติคว้าชัยเหนือพรรคการเมืองคู่แข่งได้อย่างมีนัยสำคัญ
ดูเหมือนการขยับและการวางหมากจัดตัวผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยที่มีคนแย่งกันมาขอลงในตอนต้น แต่การที่มีคนเข้ามามากการตัดสินใจทางใดก็มีความเสี่ยง และสุดท้ายก็อาจจะเข้าทางพรรคคู่แข่งอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติแบบไม่ได้ตั้งใจ แม้ว่าจะเป็นอุบัติเหตุทางการเมือง แต่ก็ต้องยอมรับว่าการตบเท้าออกจากพรรคของนายเกรียงไกร ในครั้งนี้ก็ดูจะทำให้เริ่มเห็นรอยแผลบางอย่าง ที่หากส่องไปดูอาจมีเขตไหนเป็นเช่นนี้อีกหรือไม่?
อีกหนึ่งปัจจัยที่ก็น่าจะส่งผลด้านบวกต่อพรรครวมไทยสร้างชาติเช่นกัน นั่นคือการที่นายชูวิทย์ฟาดใส่พรรคภูมิใจไทยแบบไม่ยั้งมือ ดูผิวเผินการที่พรรคภูมิใจถูกนายชูวิทย์ฟาดใส่ก็น่าจะส่งผลบวกต่อพรรคเพื่อไทยไม่น้อย ทั้งการที่ทั้งสองพรรคนั้นถูกขนานนามว่าเป็นเต้ยที่จะฟาดฟันในสมรภูมิของภาคอีสาน อีกทั้งก็ยังมีเรื่องราวของการแข่งขันที่ปูกันมา ซึ่งหากพรรคภูมิใจไทยเกิดสะดุดขึ้นมา จึงอาจถูกมองว่าพรรคเพื่อไทยก็น่าจะได้รับผลประโยชน์ไม่น้อย
แต่จะว่าไปการที่พรรคภูมิใจไทยโดนโจมตีนั้น นอกจากพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็ยังมีบางมุมที่พรรครวมไทยสร้างชาติก็ดูจะได้รับผลพลอยได้เช่นกันหรือไม่? เพราะนอกจากจะเสี่ยงกระทบต่อกระแสความนิยมของประชาชนแล้ว ก็อาจส่งผลต่อตลาดสส. ให้บรรดา สส.ที่กำลังชั่งใจว่าจะเข้าร่วมสังกัดพรรคภูมิใจไทยดีหรือไม่นั้น หรือที่ไปแล้ว อาจเปลี่ยนใจย้ายสังกัดอีกครั้งและหากวัดกันที่ฐานเสียงที่ใกล้เคียงกันที่พอจะมีศักยภาพดึงดูดพรรครวมไทยสร้างชาติดูจะกลายเป็นเป้าที่ถูกมอง?
อย่าลืมว่าแม้พรรคภูมิใจไทยจะอยู่ในสถานะพรรคที่อยู่ขั้วตรงกลาง พร้อมที่จะจับมือกับพรรคการเมืองขั้วอื่นๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสายตาประชาชนส่วนใหญ่นั้น ก็ยังมองว่าพรรคภูมิใจไทยเป็นหนึ่งในขั้วอนุรักษ์นิยมอยู่หรือไม่? ยิ่งเมื่อพรรคภูมิใจไทยอยู่ในขั้วพรรคร่วมรัฐบาลด้วยแล้วก็ยิ่งไม่แปลกที่สายตาประชาชนจะมองพรรคภูมิใจไทยว่าเป็นขั้วตรงกลางจริงๆ หรือไม่?
อีกหนึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อพรรคภูมิใจไทย จากการที่ถูกนายชูวิทย์ ตามติดชนิดที่ไม่ปล่อยไปง่ายๆ คงหนีไม่พ้นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเวทีการประลองกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในเวทีที่พรรคภูมิใจไทยดูจะมีความพยายามบุกเบิกและคว้าเก้าอี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ไม่น้อย แต่เมื่อถูกนายชูวิทย์ โจมตีก็น่าสนใจว่าความพยายามในการบุกเบิกพื้นที่กรุงเทพฯของพรรคภูมิใจไทยนั้นท้ายที่สุดจะลงเอยอย่างไรต่อไป?
ขณะที่พรรคการเมืองที่ดูเหมือนจะเนื้อหอมทิ้งโดดมาแต่ต้น แต่ก็ต้องแบกความกดดันไม่ต่างกัน พรรคเพื่อไทย ที่ประกาศเพิ่มเป้าหมายแลนด์สไลด์เป็น 310 ที่นั่ง และแน่นอนว่าเมื่อเป้าหมายเพิ่มขึ้นก็ย่อมมาคู่กับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วยหรือไม่?
อย่างไรก็ตามการที่ผลเลือกตั้งเวทีกรุงเทพฯ ของนายชัชชาติ ได้กวาดคะแนนเสียงเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ ก็ไม่แปลกที่จะทำให้ว่าที่ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยจะมีความหวังและต่อสู้ด้วยความเชื่อ ว่าจะสามารถกวาดคะแนนเสียงถล่มทลายดังเช่นที่นายชัชชาติได้สร้างผลงานไว้หรือไม่? แม้นายชัชชาติจะไม่ได้ลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกรุงเทพฯ ในนามพรรคเพื่อไทยก็ตาม
แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะกรุงเทพฯ นั้นเป็นหนึ่งในเวทีที่คาดเดาค่อนข้างยากและมีปัจจัยหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจของชาวกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในแง่ของความคิดเห็นของชาวกรุงเทพฯ ที่ดูจะไม่นิ่งและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด เรียกได้ว่าเวทีกรุงเทพฯ นั้นก็เป็นอีกหนึ่งในเวทีใหญ่และปราบเซียนก็ว่าได้ นอกจากนี้ นายชัชชาติ ปัจจุบันเป็นผู้ว่าฯกทม.อยู่แล้ว ดังนั้นแม้เพื่อไทยจะได้จัดตั้งรัฐบาลก็ยากที่นายชัชชาติจะได้ขยับขึ้นเป็นรัฐมนตรีเพราะต้องลาออกจากผู้ว่าฯ กทม. ก่อน
ช่วงเวลาต่อจากนี้หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดที่สุด คือความเคลื่อนไหวของบรรดา สส. ที่ต้องบอกว่า ยังไม่จบ ที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์ในระดับหนึ่งแล้วว่า ไม่มีอะไรแน่นอนและไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลยหรือไม่? แม้จะมีการย้ายพรรคอีกแล้วก็ยังย้ายอีกรอบได้ แม้จะมีการประกาศตัวแล้ว ก็ยังเปลี่ยนตัวได้ แต่อย่าลืมว่าไม่มีอะไรสำคัญเท่าการวางตัวผู้สมัครให้เหมาะกับเขตใหม่และในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะประกาศ อย่างไรก็ตามก็คาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีการวางตัวครบทุกพรรค
ใครจะหลีก ใครจะชน ได้รู้กัน
“ในตัวของแต่ละคน ต่างมีเชือกที่มองไม่เห็นพันธนาการอยู่เส้นหนึ่ง เวลาส่วนมากในชั่วชีวิต ต่างถูกเชือกเส้นนี้ พันธนาการไว้แนบแน่น เชือกของคนบางจำพวกคือ บุตร ภรรยาและครอบครัว
เชือกของคนบางจำพวกคือ ทรัพย์สินเงินทอง กิจการและหน้าที่”
โกวเล้ง จาก ไม่มีน้ำตาวีรบุรุษ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี