หลังจากการประกาศยุบสภาฯ ของพลเอกประยุทธ์ ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ พรรคการเมืองต่างเดินหน้าเพื่อจุดหมายการเลือกตั้งใหญ่ เพื่อหวังปักธงชัยเพิ่มที่นั่งหรืออย่างน้อยรักษาที่นั่งเดิมแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อจำนวนพรรคการเมืองที่เพิ่มสูงมากขึ้น ก็ได้ส่งผลให้ประชาชนเอง ต่างก็มีทางเลือกมากขึ้นตามไปด้วย รวมถึงมีการย้ายพรรคจำนวนมากของบรรดาสส.แชมป์เก่า ทำให้คาดเดายากว่าในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งจำนวนพรรคและสส.ที่ย้ายนั้น สุดท้ายพรรคใดจะได้แต้มไป นี่ยังไม่นับรวมความคิดความนิยมของประชาชน ที่นับวันยิ่งคาดเดาได้ยากขึ้นทุกที
แต่ปัจจัยทางการเมืองรอบนี้ก็ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะด้วยเงื่อนไขของสว. ที่มีผลต่อการโหวตนายกรัฐมนตรี หรือเงื่อนไขของพรรคใหญ่ที่เรียกว่าไม่ได้เป็นรัฐบาลมานาน หากครั้งนี้แม้ชนะเลือกตั้งแต่ไม่ถึงฝันได้จัดตั้งรัฐบาลมีหวังคราวหน้า สส.อาจหายไปอีกมาก นี่ยังไม่นับปัจจัยกติกาเลือกตั้งรอบนี้ที่มีบัตรสองใบ ทำให้การแตกแบงก์แบบการแบ่งผู้สมัครลงสองพรรคไม่มีอีกแล้ว ทำให้การวางตัวผู้สมัคร การวางกลศึก ตลอดจนเกมส์ในการจัดขั้วรัฐบาลที่ต่อให้ไม่ทำก็ต้องทำตอนนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความฮึกเหิมให้กับประชาชนและบรรดาลูกทีมก็ตาม
และอย่างที่มีการวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ประชาชนส่วนใหญ่แม้จะมีการเปลี่ยนพรรคในการเลือกตั้งแต่ก็อาจจะยังยากในยุคนี้ที่จะเปลี่ยนฝั่งแนวคิดทางการเมือง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ย้ายบ้านในรั้วตัวเอง หรือที่บางคนบอกว่าตกปลาในบ่อเพื่อน ก็เพราะส่วนหนึ่งสะท้อนความคิดของประชาชนผู้มีสิทธิเอง ในยุคนี้ที่จะคงยากที่จะไปเลือกผู้สมัครที่ย้ายข้ามขั้วหรือไม่
เอาเข้าจริงหากไม่นับภาคอีสาน (ซึ่งจะได้กล่าวในโอกาสต่อไป) ต้องบอกว่าการแข่งขันรอบนี้จะเป็นการแข่งขันในพรรคที่ถูกมองว่าเป็นขั้วอุดมการณ์เดียวกันเป็นหลัก พื้นที่ภาคใต้ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ที่นับว่าผู้สมัครเองก็ไหลไปมาอยู่ในนี้ การแข่งขันก็แข่งกันสามพรรคนี้เป็นหลักเว้นแต่ในพื้นที่เฉพาะอย่างสามจังหวัดชายแดน ที่พรรคประชาชาติน่าจะเข้ามาเป็นส่วนใหญ่
ในขณะที่ข้ามมาอีกฝั่ง ซึ่งครั้งที่แล้วพรรคเพื่อไทยได้เสียทีให้กับกรณีพรรคไทยรักษาชาติ โดยการวางแผนไม่ส่งผู้สมัครลงทุกพื้นที่ ซึ่งสุดท้ายพื้นที่ที่เว้นเหล่านั้นโดยมากผู้ชนะที่ได้ไปคือ อนาคตใหม่ที่วันนี้มาเป็นก้าวไกล และแม้จะบอกว่าในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลสร้างผลงานเป็นที่โดดเด่นในสภาก็ตาม แต่นั่นก็คนละเรื่องกับการเลือกตั้ง ที่ต้องใช้ปัจจัยอีกมากมายในการนำไปสู่ชัยชนะ โดยหากประเมินผลการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศที่คณะก้าวหน้าที่นำโดยนายธนาธรลงไปเองกลับไม่ได้ผลอย่างที่คิด ได้จำนวนสัดส่วนน้อยมากในท้องถิ่นผิดกับเพื่อไทยและพลังประชารัฐที่กินส่วนแบ่งแทบจะเป็นสองพรรคหลักเท่านั้น จนมาเมื่อเลือกตั้งกทม.รวมถึง สก. สข. คราวนี้ก้าวไกลใช้สส.ก้าวไกลที่มีบทบาทในสภามาลงเอง รวมถึงใช้ภาพลักษณ์ของพรรคและหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันที่มีผลงานในสภา จึงทำให้ได้คะแนนเสียงขึ้นมามากขึ้นโดยเฉพาะจำนวนสก.ที่เรียกว่าเหยียบจมูกพรรคเพื่อไทยเลยทีเดียวในหลายเขตที่คาดไม่ถึง
ยิ่งเป็นสัญญาณสำคัญให้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ จะพบคู่แข่งในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างเพื่อไทยและก้าวไกลทั่วประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ที่เพื่อไทยเคยเว้นวรรคและอนาคตใหม่เคยได้ไป
เมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งในกระแสข่าวที่เป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก เกิดขึ้นจากงานปราศรัยหาเสียงบนเวทีของพรรคก้าวไกลในชื่องาน ปักธงส้มทั่วไทย ต้องก้าวไกล ตรงไปตรงมา ที่จังหวัดกาญจนบุรี ก็ได้สร้างความน่าสนใจไม่น้อย?
จากการที่คุณแม่สีส้ม อย่างอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ได้มีการปราศรัยบนเวทีอันมีใจความว่า พรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองเดียวในยามนี้ ที่เป็นกองหน้า เป็นตัวแทนพรรคฝ่ายประชาธิปไตยตัวจริงและในสภาฯ ก็คงเหลืออยู่เพียงพรรคเดียวเท่านั้น ส่วนพรรคการเมืองอีกหนึ่งพรรคที่ประกาศเป้าหมายแลนด์สไลด์ไม่เคยทำอะไรเลย รวมถึงการโจมตีอื่นๆที่ฟังดูแล้วคุ้นๆ ว่าหมายถึงพรรคไหน ก็ไม่แน่ใจว่าคุณอมรัตน์นั้นต้องการที่จะเอ่ยถึงพรรคการเมืองใดเป็นพิเศษหรือไม่? แต่การที่กล่าวในลักษณะเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับว่าเป้าหมายหลักน่าจะไม่ได้หมายถึงพรรคฝั่งตรงข้ามในสภาหรือไม่
ไม่เพียงเท่านั้น คุณอมรัตน์เองยังได้กล่าวต่อว่า พรรคก้าวไกล ไม่ใช่พรรคที่ต่อหน้าอย่าง ลับหลังอย่าง พร้อมทั้งสัญญาว่าจะไม่เล่นบทตบหน้ากล้อง แต่หลังกล้องนัดทานข้าว นัดดื่มกาแฟเป็นอันขาด ก่อนจะตบท้ายด้วยประโยคที่ว่า จนถึงวันนี้บางพรรคการเมืองนั้น ยังไม่สามารถให้ความเชื่อมั่นและให้ความมั่นใจได้เลย ว่าจะไม่ผสมพรรครวมกับพรรคการเมืองจากอีกขั้ว ผิดกับท่าทีของพรรคก้าวไกลที่ออกมาประกาศตัว ให้ความชัดเจนตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าอย่างไรเสียก็จะไม่ร่วมจับมือกับทั้งพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรอย่างแน่นอน
นี่ยังไม่นับการชูสโลแกน ปิดสวิตช์สามป.ซึ่งในความหมายคงไมได้หมายถึงปิดสวิตช์ใดเพียงสวิตช์เดียว
นี่อาจเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ แบบเดียวกับที่ครั้งหนึ่งที่คุณอภิสิทธิ์ เคยโดนจี้ถามเมื่อก่อนการเลือกตั้งครั้งที่แล้วกรณี เอาพลเอกประยุทธ์ ไม่เอาพลเอกประยุทธ์ และมาถึงคำถามว่าหมายถึงพรรคพลังประชารัฐด้วยไหม
ก่อนหน้านี้หากยังจำกันได้ กระแสข่าวความบาดหมางของทั้งสองพรรคนี้ ดูเริ่มจะมีกลิ่นมาสักระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยเริ่มมาจากการที่นายปิยบุตร อดีตหัวหอกพรรคอนาคตใหม่ ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตในเชิงเปิดโปงว่า
พรรคเพื่อไทย มีการเตรียมความพร้อมที่จะจับกับ พลเอกประวิตร เพื่อหวังผลทางการเมืองบางอย่างหรือไม่?
ก่อนที่ในช่วงเวลาต่อมา นายธนาธร ผู้เป็นอีกหนึ่งแม่ทัพเอกของขุนพลคนสีส้ม ได้ออกมาซัดกลุ่มบ้านใหญ่ที่ย้ายสังกัดเข้าและออกจากพรรคการเมืองบางพรรค บางครั้งสนับสนุนรัฐประหาร บางโอกาสกระโดดย้ายฝั่ง ทั้งยังมีการตอกย้ำภาพเผด็จการจำแลง
ซึ่งแม้ว่าจะไม่ระบุว่าพรรคการเมืองดังกล่าวจะเป็นพรรคใดแต่หากดูจากเรื่องราวความขัดแย้งที่ปูกันมาก็คงจะเดาได้ไม่ยากหรือไม่? หรือเจตนาของนายธนาธรจะเป็นเพียงแค่การกล่าวถึงบรรยากาศ การโยกย้ายสังกัดของบรรดา สส. ในช่วงนี้ โดยที่ไม่ได้เจาะจงถึงใครกันแน่?
เท่ากับก้าวไกลรู้ในจุดอ่อนของเพื่อไทย ที่วันนี้นอกจากจะไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ชัดเจนแล้ว ยังอาจมีข่าวว่ามีโอกาสที่อาจจับมือกับพลังประชารัฐหลังเลือกตั้งด้วย แม้จะบอกว่าไม่เอาพลเอกประยุทธ์ก็ตาม
งานนี้ ยิ่งตอกย้ำการแข่งขันแบบตรงไปตรงมาของสองพรรคในฝั่งอุดมการณ์เดียวกันหรือคล้ายกัน
อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยแม้จะมีมุมที่เข้าใจว่าการกล่าวเช่นนั้นของพรรคก้าวไกลเป็นกลเกมทางการเมือง แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยโดนกล่าวในลักษณะที่เข้าข่ายว่าจะพาดพิงหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจอยู่เฉยได้ ซึ่งความน่าสนใจของการตอกกลับในครั้งนี้คงหนีไม่พ้นการที่พ่อใหญ่บ้านสีแดง ลงทุนลงแรง ออกมาแสดงท่าทีและความคิดเห็นด้วยตนเอง
หลังจากที่พรรคเพื่อไทยถูกตั้งป้อมโจมตีมาสักระยะเวลาหนึ่ง พ่อใหญ่สีแดงก็ไม่อาจอยู่เฉยได้ และได้ออกมาแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งได้มีการชี้แจงว่า พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคที่ไม่มีสาขาไม่ได้มีการเจรจาหรือจับมือกับพรรคการเมืองใด
ล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้งอย่างแน่นอน
อีกทั้งยังได้มีการฟาดนายธนาธรกลับไปในทำนองที่ว่า ไม่เข้าใจนายธนาธรที่โจมตีพรรคเพื่อไทยพร้อมทั้งได้มีการซัดพรรคก้าวไกลว่า ชักจะเหมือนพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นไปทุกวันซึ่งก็ไม่รู้ว่าการที่นายทักษิณได้ออกมาพูดในลักษณะดังกล่าวต้องการจะสื่อความอะไร และพรรคเพื่อไทยจะรับลูกไปเล่นต่ออย่างไรหรือไม่ เพราะทั้งหมดคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับฐานแฟนคลับตนเอง ที่ต้องบอกย้ำว่า ครั้งที่แล้วพรรคเพื่อไทย
เว้นวรรคในบ้างพื้นที่เพราะมีเหตุจำเป็น แต่ครั้งนี้การจะเอาคะแนนส่วนนี้คืน ต้องถือว่าเป็นคะแนนนิยมในส่วนที่ทับซ้อนกันแล้ว?
แต่อย่างไรก็ตาม นายใหญ่ทักษิณก็ได้แสดงท่าทีที่มั่นอกมั่นใจว่า ในท้ายที่สุดแล้วพรรคเพื่อไทยจะเจริญรอยตามพรรคไทยรักไทยในอดีต ที่ได้รับการไว้วางใจด้วยคะแนนเสียงที่ถล่มทลาย ก่อนจะลงท้ายความเห็นของตนว่า ตนจะไม่แปลกใจหากในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทย จะบรรลุเป้าหมายแลนด์สไลด์ได้สำเร็จ และมีโอกาสที่จะได้ สส. ขั้นต่ำจำนวนกว่า 300 ที่นั่ง
อย่างไรก็ตามแม้นายทักษิณจะมีท่าทีที่มั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะสามารถกวาดคะแนนเสียงได้ถึง 300 กว่าที่นั่ง แต่จำนวนตัวเลขดังกล่าวก็ดูจะไม่ใช่งานที่ง่ายสำหรับพรรคเพื่อไทยเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะเมื่อพรรคเพื่อไทยเพิ่มเป้าหมายแลนด์สไลด์ จาก 253 ที่นั่ง สู่การยกระดับเป็น 310 ที่นั่ง ซึ่งว่ากันตามหลักแล้วก็เป็นตัวเลขที่ยากที่จะเกิดขึ้น จึงก่อให้เกิดภารกิจสำคัญของพรรคเพื่อไทยที่สำคัญอีกหนึ่งภารกิจ
ซึ่งอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้เพื่อไทยขยับจากคะแนนเลือกตั้งเดิม สู่คะแนนฐานใหม่แบบแลนด์สไลด์ ก้อนสำคัญคือต้องเอาคะแนนที่เว้นวรรคกลับมา และนั่นก็ยิ่งตอกย้ำชัดไปว่าอุปสรรคที่ว่านี้อยู่ที่ไหน
หากพรรคเพื่อไทยต้องการที่จะสร้างปรากฏการณ์ยกระดับแลนด์สไลด์ให้สำเร็จอย่างที่ใจหวัง หนึ่งในสิ่งที่พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องทำให้สำเร็จนั่นคือ การกลืนกินฐานคะแนนนิยมที่เคยเป็นของตนเองกลับมาให้ได้ก่อนซึ่งน่าจะง่ายกว่าไปรุกในพื้นที่ใหม่ที่ไม่เคยชนะอย่างภาคใต้
และนั่นอาจส่งผลโดยตรงต่อพรรคก้าวไกลหรือไม่
ซึ่งในเรื่องนี้นอกจากพรรคก้าวไกลเองก็น่าจะรู้ดีอยู่แล้ว แต่ก็ยังกล้าที่จะรุกกลับด้วยเกมปิดสวิตช์สาม ป. เพื่อบีบให้เพื่อไทยต้องพูดว่าจะเอาอย่างไร นั่นเท่ากับอาจมีคะแนนอีกบางส่วนจากเพื่อไทยในมือ ที่เห็นด้วยว่าควรปิดสวิตช์สาม ป. มากกว่าป.เดียวหรือสองป. ส่วนนี้เองจึงถือว่านอกจากไม่ง่ายที่เพื่อไทยจะเอาคืนคะแนนก้อนนี้แล้ว ยังอาจจะเสียบางส่วนให้กับก้าวไกลสำหรับแฟนคลับทั้งสองพรรคที่ชอบความชัดเจน
และว่ากันตามตรงแล้วดูแล้วพรรคก้าวไกลจะดูทำได้ดีกว่า ทั้งการประกาศกร้าวว่า หากสมการในการจับมือกันตั้งรัฐบาลมีพรรคการเมืองของ 3 ป. เป็นหนึ่งในสมการของการจัดตั้งรัฐบาลด้วย พรรคก้าวไกลจะไม่ขอเป็นหนึ่งในสมการนั้น ซึ่งความชัดเจนนี้อาจเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญต่อการตัดสินใจของประชาชนก็เป็นได้หรือไม่?
ในขณะที่พรรคก้าวไกลประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจน พรรคเพื่อไทยกลับมีท่าทีที่แตกต่างออกไป และดูจะยังไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนหรือไม่? และยิ่งเมื่อสโลแกนของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคที่มีโอกาสร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยมากที่สุดนั้น คือการก้าวผ่านความขัดแย้งก็ไม่แปลกที่พรรคกระแสการจับมือระหว่างพรรคการเมืองขั้วตรงข้าม จะถูกจุดให้ติดขึ้นอย่างง่ายดายหรือไม่?
แต่อะไรที่ทำให้เพื่อไทยอึกอัก ไม่สามารถตอบได้อย่างฉะฉานในเรื่องนี้?
เพราะเพื่อไทย ผู้บอบช้ำจากการเป็นผู้ชนะที่หนึ่งในการเลือกตั้งปี’62 แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะขั้วพันธมิตรพรรคต่างๆ ต่างรู้ดีว่าหากจับมือกับเพื่อไทยต้องมีคะแนนเสียงพอที่จะเอาชนะสว.ในการโหวตเลือกนายกฯทำให้การเจรจาของพรรคเพื่อไทยต่อพรรคการเมืองต่างๆ ดูอ่อนลงไปทันที
พลเอกประวิตรและพรรคพลังประชารัฐ ที่ตอนนี้มีภาพลักษณ์ที่แยกตัวจากพลเอกประยุทธ์ชัดเจน จึงอาจเป็นเป้าหมายในการจับมือมากกว่าพรรคอื่นๆ แม้กระทั่งพรรคใหญ่อย่างภูมิใจไทยอีก เพราะอะไร?
หลายคนตั้งคำถามต่อกองทัพ หรือตลอดจนสว.ว่าชื่อชั้นอย่างพลเอกประวิตรจะสามารถเจรจาเชื่อมพันธมิตรหรือประคับประคองสถานะรัฐบาลในอนาคตไม่ว่าใครมาร่วมก็ตามได้หรือไม่?
และนั่นก็อาจเป็นคำตอบของคำถามที่ตอบยากที่ก้าวไกลโยนให้เพื่อไทยตอบหรือไม่?
ระฆังยกที่ 1 ได้เริ่มต้นขึ้น ณ บัดนี้
“ความเศร้าเสียใจ ความจริงสามารถกัดกร่อนผู้คนจนเหน็ดเหนื่อย”
โกวเล้ง จาก ยอดมือปราบ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี