แม้ “กระบวนการยุติธรรม” จะเป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐต้องรับประกัน “ความเสมอภาค” ดังที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด อาทิ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้ระบุไว้ในมาตรา 27 วรรคหนึ่ง ว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” แต่ในความเป็นจริง กระบวนการยุติธรรมไทยยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์เสมอมาว่า “เหลื่อมล้ำ” อย่างมาก
ดังสำนวนเชิงประชดหรือตัดพ้อว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” เพราะยังไม่ต้องรอให้ศาลตัดสินว่ากระทำผิดจริง แค่ถูกตำรวจจับแล้วไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็มีแนวโน้มสูงที่จะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำก่อนระหว่างการพิจารณาคดี โดยที่ผ่านมาก็มีความพยายามเรียกร้องให้แก้ไขเรื่องดังกล่าว อาทิ โครงการ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” ที่ผลักดัน โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มาตลอดหลายปี
หลายครั้งที่ อาจารย์ปริญญา ถูกเชิญไปร่วมเวทีเสวนาว่าด้วยกระบวนการยุติธรรม มักจะย้ำเสมอว่า รัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ปี 2492 เป็นต้นมา รับรองหลักการ“ผู้ต้องหาหรือจำเลยคือผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสินว่าผิด (Presumption of Innocent)” เช่น รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จะอยู่ในมาตรา 29 วรรคสอง ที่ระบุว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้”
และวรรคสามที่ระบุว่า “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจําเลยให้กระทําได้เพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” แต่ปัญหาอยู่ที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิฯ อาญา) ถูกเขียนขึ้นในปี 2477 และในยุคต่อๆ มา ก็ไม่เคยมีการปรับแก้ ป.วิฯ อาญา ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติที่เปลี่ยนไปของรัฐธรรมนูญ แม้จะมีการปรับแก้ถ้อยคำบ้าง
เช่น ในปี 2547 มีการแก้ไขให้ระบุถ้อยคำในมาตรา 107 ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว รวมถึงแก้ไขในมาตรา 108/1 เพื่อไม่ให้ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงมีการระบุเหตุแห่งการที่จะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไว้ ได้แก่ 1.ปล่อยแล้วอาจหลบหนี 2.ปล่อยแล้วอาจไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน 3.ปล่อยแล้วอาจไปก่ออันตรายประการอื่น 4.ผู้ยื่นขอประกันหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่น่าเชื่อถือ และ 5.ปล่อยแล้วอาจทำให้เกิดอุปสรรคหรือความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือดำเนินคดีของศาล แต่ก็ยังไม่แก้ถ้อยคำว่าปล่อยชั่วคราว
“ประมาณ 20% ของคนที่อยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ ประมาณ 20% ตัวเลขที่ 5 หมื่นกว่า กลมๆ ก็ 6 หมื่นคนที่เป็นผู้ต้องขังในระหว่างการสอบสวนของตำรวจ การพิจารณาสั่งฟ้องของอัยการ หรือการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งถ้ายึดตามมาตรา 29 ว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่เรามีถึง 6 หมื่นคน 20%แล้วคุกจะไม่ล้นได้อย่างไร ทั้งๆ ที่หลักแล้วถ้ายังบริสุทธิ์อยู่ก็ต้องได้สู้คดีนอกคุก” อาจารย์ปริญญา กล่าว (จากงานสัมมนา “ปัญหาการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย” วันที่ 4 พ.ย. 2565 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-ท่าพระจันทร์)
ล่าสุดกับกรณี “ดราม่าทนายดัง” เมื่อมีการออกมา“แฉ” และตามด้วยการ “ชี้แจง” ของทนายความที่ถูกพาดพิง เกี่ยวกับ “ค่าวิชาชีพ” เช่น ทนายบางท่านมีการเก็บเงินค่าจัดงานแถลงข่าวหรือประสานสื่อมวลชนระดับบิ๊กๆ หรือการคิดค่าปรึกษากฎหมายเป็นรายนาที ในอัตราที่ค่อนข้างสูงพอสมควร อาจารย์ปริญญา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Prinya Thaewanarumitkul” ระบุว่า
“ค่าปรึกษากฎหมายและคดี ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรปรึกษา 20 นาที 0 บาท โทรปรึกษาทีม 20 นาที 0 บาท เจอตัวที่สำนักงาน 30 นาที 0 บาท แถลงข่าว 0 บาท ท่าพระจันทร์ 0-2613-2128 ศูนย์รังสิต 0-2696-5103 ศูนย์ลำปาง 0-5423-7999 ต่อ 5385 มีปัญหาเดือดเนื้อร้อนใจเรื่องกฎหมาย ถูกละเมิดสิทธิ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอเชิญโทรมาปรึกษา หรือนัดหมายมาเจอตัวได้เลยครับ ใกล้ที่ไหนใช้บริการได้ที่นั่น ค่าใช้จ่าย 0 บาททุกรายการครับ”(โพสต์จากอาจารย์ปริญญา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566)
เป็นที่ทราบกันดีว่า ระบบการพิจารณาคดีของศาลจะมี 2 แบบคือ “ระบบกล่าวหา” การต่อสู้คดีเป็นเรื่องของคู่ความ (โจทก์-จำเลย) ที่จะต้องหาพยานหลักฐานมาหักล้างกันเองโดยผู้พิพากษาจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ระบบกล่าวหานั้นใช้ในศาลยุติธรรม (เช่น ศาลแพ่ง-ศาลอาญา) เพราะเป็นเรื่องระหว่างเอกชน 2 ฝ่าย กับ “ระบบไต่สวน” ที่ผู้พิพากษาสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงได้มากกว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาแสดง โดยระบบไต่สวนนั้นจะใช้ในศาลปกครอง เนื่องจากคดีทางปกครองเป็นเรื่องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการหรือนโยบายของรัฐ
ดังนั้นแล้วคดีความทั่วไป (ที่ไม่ใช่คดีทางปกครอง) ซึ่งการพิจารณาคดีใช้ระบบกล่าวหา “ทนายความ” จึงเป็น “ตัวแปร” สำคัญอย่างหนึ่งในการต่อสู้คดี และถูกมองว่าเป็นอีกความเหลื่อมล้ำด้านกระบวนการยุติธรรม เมื่อคนที่มีฐานะร่ำรวยมีโอกาสเข้าถึงทนายค่าตัวแพงและมีชื่อเสียงโด่งดังได้มากกว่าตาสียายสาหาเช้ากินค่ำ ซึ่งเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 29 มี.ค. 2566 ในการแถลงข่าวของ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์กรกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ยอมรับว่า ในปัจจุบันไม่มีกฎระเบียบควบคุมการคิดค่าใช้จ่ายของทนายความ
วีระศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาทนายความฯ กล่าวว่า การแถลงข่าวสามารถทำได้หากไม่เป็นการชี้นำโน้มน้าวศาล แต่หากเข้าข่าย เช่น อ้างว่ามีหลักฐานที่ยืนยันผลการตัดสินของศาลได้แน่นอน แบบนี้จะผิดถึง 2 อย่าง คือผิดมรรยาททนายความในแง่การโอ้อวด และยังผิดฐานละเมิดอำนาจศาลอีกด้วย แต่อีกด้านหนึ่ง จากประสบการณ์เป็นทนายความมากว่า 40 ปีไม่เคยเห็นการเรียกเก็บเงินเสมือนหนึ่งว่าเป็นค่าวิชาชีพเมื่อจัดให้มีการแถลงข่าว โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่เหมาะสม แต่จะผิดหรือไม่อยู่ที่การพิจารณาของกรรมการมรรยาททนายความ
วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ กล่าวว่า เนื่องจากทนายความเป็นวิชาชีพอิสระเหมือนแพทย์หรือวิศวกร ดังนั้น การเรียกค่าใช้จ่ายทางวิชาชีพ ณ ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดขั้นต่ำ-ขั้นสูง จึงขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทนายความในฐานะผู้ให้บริการ กับประชาชนในฐานะผู้รับบริการ ซึ่งทุกอย่างมีทางเลือกและทางออก แต่ผู้ให้บริการก็ต้องประกาศไว้ล่วงหน้าเรื่องเก็บค่าบริการ แต่ถ้าไม่มีก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“สภาทนายความเป็นที่พึ่งของประชาชนในกรณีที่ท่านไม่มีเงินเพียงพอที่จะไปใช้บริการทนายที่เขาเก็บค่าใช้จ่ายค่าปรึกษา หรือค่าทำสำนวน เรามีทนายอาสาไว้บริการประชาชน เรามีทนายอาสาไว้ให้คำปรึกษาฟรี 0 บาท ไม่มีเสียค่าใช้จ่ายเลย ไม่ว่าท่านจะเดินทางมาปรึกษาที่สภาทนายความเอง หรือที่สภาทนายความจังหวัดซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศหรือใช้สายด่วนของเรา 1167 อันนี้เราให้คำปรึกษาฟรี” นายกสภาทนายความฯ กล่าว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี