กรณีสะพานแสนสำราญ ในโครงการของแสนสิริ เป็นสะพานสาธารณะข้ามคลองพระโขนง แต่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางมายาวนานกว่า 8 ปี
หลังถูกร้องเรียนไปที่ กทม. มีการติดตามตรวจสอบในโลกโซเชียล และวิพากษ์วิจารณ์อย่าง“กัดไม่ปล่อย” โดยเฉพาะสถานีข่าวท็อปนิวส์
ล่าสุด มีรายงานว่า เอกชนได้ยกเลิกการเก็บค่าผ่านทางแล้ว
1. นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้ออกมาเคลื่อนไหว ยื่นหนังสือให้ กทม.ตรวจสอบจัดการ โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
“ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องชาวอ่อนนุช 77 ชาวซอยปรีดีพนมยงค์ 2 และผู้ที่จะใช้เส้นทางลัดผ่านสะพานแสนสำราญข้ามคลองพระโขนง ของแสนสิริ
เพราะขณะนี้ การผ่านเส้นทางดังกล่าวไม่มีการเก็บเงินค่าผ่านทางแล้ว …
แต่เงินที่เก็บไปก่อนหน้านี้กว่า 150 ล้านบาท กทม.ต้องสั่งให้บริษัทที่เก็บเงินค่าผ่านทางไปตั้งแต่ปี 2558
ถึงปัจจุบัน คืนประชาชนที่เคยจ่ายไป หรือนำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ตามที่ กทม.และผู้มีส่วนได้เสียกำหนด…
ถ้า กทม.ไม่ดำเนินการ เดี๋ยวไปเจอกันที่ศาลปกครอง”
2. รายงานข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 เม.ย.) ทีมข่าว Top News ลงพื้นที่ตรวจสอบ และพบว่า
ยังคงมีการเก็บค่าผ่านทาง 20 บาท อยู่แม้ กทม.จะออกคำสั่งห้ามไม่ให้โครงการเก็บเงินอีก
ล่าสุด (5 เม.ย.) ทีมข่าว Top News ลงพื้นที่ตรวจสอบ ทางขึ้นสะพานแสนสำราญอีกครั้ง พบว่าได้มีการรื้อถอนเคลื่อนย้ายป้อมเก็บค่าผ่านทางออกไปแล้ว และไม่มีพนักงานคอยยื่นใบเสร็จให้กับผู้ที่ผ่านทางอีก แตกต่างไปจากเมื่อวันจันทร์ ที่ยังคงมีป้อมเก็บเงินตั้งอยู่ แต่ไม่มีการเปิดใช้งาน
จากนั้น ทีมข่าวได้ข้ามสะพานแสนสำราญ ไปออกฝั่งซอยปรีดีพนมยงค์ 2 แต่ยังพบพนักงาน ตั้งโต๊ะแจกใบเสร็จค่าผ่านทาง แต่ไม่ได้เก็บเงิน
โดยแจ้งว่าไม่มีการเก็บค่าผ่านทางแล้ว แต่ยังคงให้ใบเสร็จเพราะต้องนับจำนวนผู้ใช้ทางเข้า-ออก
สำหรับเงินค่าผ่านทางที่เคยเก็บที่แล้วมา จะนำเข้าโครงการโดยบริษัทตนเองที่เป็น outsource จะหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ถ้าเก็บ 20 บาท บริษัทก็จะหักไป 5-7 บาท
สถานีข่าวท็อปนิวส์ ยังรายงานด้วยว่า ผู้ใช้ยวดยานพาหนะ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นพนักงานไรเดอร์ ส่งสินค้าค่าย
ต่างๆ และผู้ที่ขับขี่รถจยย. บางส่วนพยายามที่จะยื่นเงินค่าผ่านทาง หลังพนักงานส่งใบเสร็จให้ ด้วยความเคยชิน และไม่ทราบว่าทางโครงการได้ยกเลิกค่าผ่านทางแล้ว ซึ่งจะได้รับการปฏิเสธและชี้แจงจากพนักงานว่าได้ยกเลิกการเก็บค่าผ่านทางแล้ว
ยิ่งกว่านั้น มีผู้ขับขี่วินจักรยานยนต์รับจ้าง ปากซอยอ่อนนุช 1/1 ได้ให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า ช่วงที่ยังมีการเก็บค่าผ่านทางทุกๆ วัน พนักงานจะนำเงิน ที่เก็บค่าผ่านทางได้ใส่ซอง และเขียนเลขที่บัญชีปลายทางหลายสิบบัญชี มอบให้ตนเองนำไปเข้าบัญชีที่ห้างสรรพสินค้า ปากซอยถนนอ่อนนุช เคยคุยกับพนักงานเก็บเงิน บางวันเก็บได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ไปจนถึงหลายหมื่นบาท ส่วนเก็บไปให้ใครตนเองไม่รู้ แต่มีหลาย 10 บัญชี ที่นำเงินไปฝาก
3. การยกเลิกเก็บค่าผ่านทางดังกล่าว เป็นไปตามข้อเรียกร้องจากการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์โดยสื่อมวลชน โดยเฉพาะสถานีข่าวท็อปนิวส์
จากนั้น นายศรีสุวรรณ จรรยา ร้องเรียนไปที่ กทม.
จากนั้น กทม.จะมีคำสั่งให้แสนสิริยุติการเก็บค่าผ่านทาง
จากนั้น ยังมีการเก็บค่าผ่านทางอยู่ สถานีท็อปนิวส์ก็เกาะติด นำเสนอต่อไป จนกระทั่งล่าสุด ยกเลิกการเก็บค่าผ่านทางไปล่าสุด
นับเป็นประโยชน์รูปธรรมจับต้องได้ แก่ประชาชนผู้สัญจรไป-มา ผ่านทางถนนภาระจำยอม ข้ามสะพานสาธารณะ ไม่ต้องจ่ายเงินค่าผ่านทางอีกต่อไป
4. แฟนเพจ Vaccine ได้แจ้งข่าว และแสดงความยินดีกับประชาชน ระบุว่า
“สะพานแสนสำราญ เป็นสาธารณะที่แท้ทรู
ชาวพระโขนงเฮ ไม่เก็บค่าผ่านทาง 20 บาทแล้ว
แอดไปลองมาแล้ว ฟรี (4 เม.ย. 18.00 น.)แต่ต้องรับบัตรผ่าน
แอบสะใจที่ไม่ต้องเสียเงินให้มหาเศรษฐี
ขอบคุณชาวโซเชียลที่ช่วยกันทวงคืน
ขอบคุณพี่ศรีสุวรรณ ขอบคุณแอดสันติสุข และ topnews
แฉจนเศรษฐีตัวสูงไปไม่เป็น
ขอบคุณกทม.ที่หายมึนจ้า
ปล.เลือกตั้งคราวหน้าคิดดีๆ ก่อนเลือก ถ้าเศรษฐีเป็นนายกฯ คงสนุกสนาน”
5. สะพานสาธารณะข้ามคลองพระโขนงดังกล่าว อยู่ในบริเวณโครงการของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)
เคยเก็บค่าผ่านทาง รถยนต์ 20 บาท จักรยานยนต์ 10 บาท ต่อเนื่องมากว่า 8 ปี
ทั้งที่สะพานดังกล่าวยกให้เป็นสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน และถนนเชื่อมสะพานก็เป็นถนนภาระจำยอมตั้งแต่ต้น
นายสันติสุข มะโรงศรี ได้นำเสนอข้อมูลหลักฐานสำคัญผ่านรายการรู้ทันคดีโกง สถานีโทรทัศน์ท็อปนิวส์ และเขียนบทความใน นสพ.แนวหน้า คอลัมน์ “อ่านระหว่างบรรทัด”
ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในรายงาน EIA ของแสนสิริ ตั้งแต่ก่อนสร้างสะพานนั้น ระบุว่ามี “ถนนภาระจำยอม” อยู่ทั้งสองฝั่งสะพาน เชื่อมต่อออกไปสู่ถนนสาธารณะทั้งสองด้านอย่างไร โดยไม่มีการระบุว่าจะเก็บค่าผ่านทาง เพราะฉะนั้น ใครจะไปเก็บค่าผ่านทาง หรือกีดขวางทำให้เสื่อมความสะดวกในการใช้ภาระจำยอมนั้น หาได้ไม่
และยังตั้งคำถามด้วยว่า
“...ตลอดเวลาที่คุณเศรษฐา ทวีสิน บริหารและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของแสนสิริมานั้น เหตุใดจึงปล่อยให้มีการจัดเก็บค่าผ่านทางจากผู้ใช้สะพานและถนนภาระจำยอม ไม่เป็นไปตามรายงาน EIA เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมือง ละเมิดสิทธิของประชาชนทั่วไป ทั้งคนยากคนจน คนหาเช้ากินค่ำ ไม่นำพาต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด
หลังจากนี้ จะทำอย่างไร?
เอกชนยังจะสู้ต่อในชั้นศาลปกครอง? หรือจะดื้อแพ่งเก็บต่อไปเรื่อยๆ ?
หรือจะรื้อด่าน เลิกเก็บค่าผ่านทาง พร้อมทั้งขอโทษสังคม และคืนเงินที่เคยเก็บไปทั้งหมดแก่ผู้ถูกเรียกเก็บไปโดยมิชอบ โดยปราศจากสิทธิอำนาจที่จะมาเรียกเก็บ?
ใครต้องรับผิดชอบอย่างไร?”
น่าสนใจติดตามต่อว่า เงินที่เอกชนเก็บค่าผ่านทางไปก่อนหน้านี้ โดยไม่มีสิทธิอันชอบธรรม หรือเป็นลาภอันมิควรได้ มีมูลค่าไม่น่าจะต่ำกว่าร้อยล้านบาท
จะนำกลับมาคืนแก่สาธารณะหรือไม่ อย่างไร?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี