เข้าสู่ช่วงของเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงเดือนที่เรียกได้ว่าร้อนที่สุดในรอบปี แต่สภาพอากาศที่ร้อนระอุของประเทศไทยคงไม่อาจเทียบเท่าอุณหภูมิของเวทีการเมืองที่เรียกได้ว่า ร้อนกว่าแดดที่กำลังแผดเผาพื้นที่ประเทศไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อเวลาในการนับถอยหลังเพื่อเข้าสู่ศึกเลือกตั้งนั้นขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ก็ยิ่งทำให้บรรยากาศบนเวทีการเมืองไทยนั้นยิ่งทวีความร้อนแรงขึ้นไปอีกตามลำดับ
สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ของการรับสมัครเลือกตั้ง สส.ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและระบบเขตเลือกตั้ง ซึ่งบิ๊กเนมหลายคนรอบนี้ลงในระบบเขตเลือกตั้ง แม้กระทั่งระดับแกนนำพรรคหรือหัวหน้าพรรคก็ตาม อย่างกรณีพรรคเพื่อไทย
ในเวทีของระบบเขตหนึ่งในจุดที่สำคัญและถูกจับตามองมากที่สุด คือ ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพฯ เขตดินแดง เพราะสนามเขตกทม.รอบนี้จะแตกต่างจากอดีตอย่างมาก เนื่องจากปกติพื้นที่กทม.จะเป็นพื้นที่คนเมืองที่จะเลือก
พรรคหลักๆ เพียงสองพรรค หรือไม่เกินสามพรรค ที่จะเข้าวินแต่รอบนี้ต้องบอกตามตรงว่าหลายคนยังมองออกยากมากเนื่องจากมีพรรคที่เข้ามาแข่งอย่างจริงจังเป็นพรรคหลักกทม.จำนวนมาก ว่ากันตั้งแต่ พรรคเพื่อไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ถูกประเมินว่าเป็นมวยคู่หลักจากสองฝั่ง แต่ในความเป็นจริงเพื่อไทยก็ประมาท ก้าวไกล ไม่ได้ นอกจากนี้ พรรคพลังประชารัฐในฐานะที่ครั้งที่แล้วเป็นแชมป์เก่ากทม.ก็มีความหวังเช่นกันเช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย ที่มีอดีตสส.พลังประชารัฐ กทม.ย้ายไปซบมากที่สุดก็ตั้งใจจะวางหมุดกทม.รอบนี้ให้ได้ นอกจากนี้ ประชาธิปัตย์ ในฐานะแชมป์เก่าหลายสมัยในอดีตก็ตั้งใจจะมาล้างตาแต่จะไปได้กี่คนนั้นรายชื่อรอบนี้หลายเขตก็น่าสนใจโดยเฉพาะพื้นที่ชั้นใน ในขณะเดียวกัน พรรคของคุณหญิงหน่อยและพรรคของคุณกรณ์ที่ถือว่าทั้งสองมีฐานเสียงคะแนนความนิยมในกทม.ไม่น้อยเมื่อแยกมาตั้งพรรคตนเองแล้วจึงน่าติดตามอย่างยิ่ง
การที่มีการลงแข่งกันหลายพรรคในพื้นที่กทม.นอกจากจะดูความนิยมสูงสุดแล้ว การลงหลายพรรคจะทำให้เกิดการตัดคะแนนจนคาดเดาได้ยากว่าคะแนนจะพลิกไปทางใด จนเห็นได้ว่ามีการปรับยุทธศาสตร์โค้งสุดท้ายปรับผู้สมัครจากเขตไปเป็นบัญชีรายชื่อก็มีทั้งที่ขึ้นป้ายไปก่อนหน้านี้แล้ว เพราะแต่ละพรรคเมื่อเห็นเกมการแข่งขันแบบนี้ก็แทบจะต้องปรับยุทธศาสตร์กันใหม่เลย
เวทีกทม.สำคัญทั้งในแง่จำนวนสส.ที่มากที่สุดถึง 33 เขตและยังเป็นภาพลักษณ์สำคัญของพรรคการเมืองด้วยจึงไม่แปลกที่หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตของสังกัดพรรคการเมืองต่างๆ จะลงพื้นที่เพื่อมาส่ง สส. ในสังกัดด้วยตนเองแต่อย่างไรก็ตามก็มีหัวหน้าพรรคบางท่านที่ไม่ได้มาร่วม
อย่างในรายของนายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ไม่ได้มาร่วมให้กำลังใจผู้สมัครในพื้นที่กรุงเทพฯเนื่องจากพรรคชาติไทยพัฒนานั้น เป็นพรรคเจ้าถิ่นแห่งเมืองสุพรรณบุรี อีกทั้งเมื่อมองเป้าหมายของพรรคชาติไทยพัฒนาคือการกวาดที่นั่งยกเมืองสุพรรณและเป้าหมายหลักที่ภาคกลางตอนล่าง ก็ยิ่งไม่แปลกใจหากพรรคชาติไทยพัฒนาจะไปเอาจริงเอาจังในพื้นที่ที่ตนเองชำนาญมากกว่าหรือไม่?
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ที่แม้ดูจะมีความพยายามในการบุกตีตลาดฐานเสียงกทม.อย่างจริงจังในรอบนี้ แต่หัวหน้าพรรคเลือกที่จะมาโคราชซึ่งเป็นเมืองหลักภาคอีสานเป้าหมายหลักพรรคมากกว่า แต่ก็มีบางคนอาจวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงการที่
คุณชูวิทย์อาจเข้ามาร่วมกิจกรรมนี้ด้วยหรือไม่?
อีกหนึ่งพรรคการเมืองที่หัวหน้าพรรคไม่ได้มาร่วมลุ้นในภาคพื้นที่กรุงเทพฯ นั่นคือพรรคเพื่อไทย ซึ่งหมอชลน่าน
ศรีแก้ว ไม่ได้เดินทางมาร่วมงานในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ส่วนตัวของหมอชลน่านนั้น ลงสมัคร สส. แบบแบ่งเขต จึงมีความจำเป็นที่ต้องเดินทางไปยังจังหวัดน่าน เพื่อจัดการการสมัครของตนเองให้เรียบร้อย
แต่เอาเข้าจริง ไฮไลท์หลักของพรรคเพื่อไทยกลับอยู่ที่รายชื่อแคนดิเคตนายกรัฐมนตรีของพรรคอย่างแพทองธาร
ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และหนึ่งในแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย ที่ได้เดินทางมาส่งสมาชิกในครอบครัวสีแดงด้วยตนเอง ซึ่งรอบนี้ต้องบอกว่าเพื่อไทยคาดหวังกับพื้นที่กทม.มากกว่าทุกครั้ง ทั้งจากกระแสพรรค กระแสผู้ว่าฯ กทม. ที่ทำให้แม้กระทั่งอดีตสส.จากพรรคอื่นเองก็ยังย้ายเข้ามาสังกัดใต้ร่มเพื่อไทยจากพรรคพลังประชารัฐและพรรคก้าวไกล แต่อย่างไรก็ตามอุปสรรคหลักของพรรคเพื่อไทยกลับไม่น่าใช่พรรครวมไทยสร้างชาติหรือพลังประชารัฐ แต่อาจเป็นพรรคก้าวไกลและพรรคไทยสร้างไทย ที่ต้องบอกว่าในหลายเขตสูสีมาก และนอกจากนี้อาจมีผลต่อการตัดคะแนนในทุกเขตด้วย
อีกหนึ่งพรรคการเมืองที่ดูจะแสดงความต้องการตีตลาดฐานเสียงกรุงเทพฯ อย่างชัดเจน คือพรรคภูมิใจไทย ที่นอกจากจะมีการชูนโยบาย 24 ชั่วโมง 7 วัน ดูแลคนกรุงเทพฯ เพื่อเอาใจชาวเมืองกรุงแล้ว ก็ยังรวบตึงบรรดา อดีต สส. กรุงเทพมหานคร จากพรรคการเมืองอื่นๆ เข้าร่วมสังกัด ทั้งสิ้นจำนวน 8 ราย ไม่ว่าจะเป็นจากพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ รวมถึงพรรคก้าวไกลจึงมีผลให้มีโอกาสได้ในหลายเขตและมีโอกาสตัดคะแนนให้เกมต้องเปลี่ยนไปหลายเขต
นอกจากประเด็นในเรื่องของผู้สมัครเขตในพื้นที่กรุงเทพฯในพื้นที่ต่างจังหวัดก็คึกคักและสร้างความน่าสนใจแล้วไม่แพ้กัน รอบนี้ขอยกศึกเมืองชลขึ้นมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าหากพูดถึงเมืองชลแล้ว แล้วตัวเต็ง 2 ขั้ว ก็คงหนีไม่พ้นคู่เกาเหลาคนเคยอยู่บ้านเดียวกัน ระหว่างศึกบ้านใหญ่คุณปลื้ม ที่ตอนนี้อยู่ใต้ชายคาของพรรคเพื่อไทยและ บ้านใหม่ ของนายสุชาติ ที่ในตอนนี้สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ
ซึ่งทั้งนายสนธยาและนายสุชาติ ก็ได้นำทัพผู้สมัครเข้าสู่กระบวนการด้วยตนเอง แต่หนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจคือ มีกระแสข่าวว่า ทั้งสองท่านนี้ต่างฝ่ายต่างอยู่ในมุมของตน ไม่ทักทาย ไม่แสดงสัมพันธไมตรีต่อกัน เปรียบเสมือนนักมวยที่ต่างฝ่ายต่างทำสมาธิ รอเพียงเสียงระฆังเริ่มยกเพียงเท่านั้น
จับตาท้องถิ่นระดับอบต.และเทศบาลให้ดี เพราะตอนนี้แบ่งข้างชัดเจนว่าใครสนับสนุนใคร และขึ้นชื่อว่าเมืองเจ้าพ่อแล้ว ความเดือดดาลของทั้งสองคู่แข่งทางการเมืองทั้งสองชายคานี้นอกจากจะเกิดขึ้นเพราะขั้วตัวแทนของทั้งสองนั้น ต่างก็ดูจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกันอย่างชัดเจนแล้ว ยังมีเรื่องราวความขัดแย้งของทั้งสองที่ปูกันมาอีกด้วยหรือไม่ ศึกนี้บอกเลยว่าสนุกแน่ เพราะไม่มีใครยอมใคร ศึกนี้เดิมพันด้วยศักดิ์ศรีและสุดท้ายผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งเมืองชลตัวจริง เพราะหลายคนประเมินว่าไม่น่าจะเป็นการแบ่งพื้นที่กันดูแลเหมือนบ้านใหญ่จังหวัดอื่น?
งานนี้น้ำเค็มคงกลายเป็นน้ำเดือด
อย่างไรก็ตามไฮไลท์หลักในช่วงนี้ ก็คงเป็นเรื่องของลำดับบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรค ก็ต่างได้มีการวางตัว วางลำดับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในเรื่องการวางลำดับบัญชีรายชื่อนั้นเอง ก็ทำเอาหลายพรรคเกิดความขัดแย้งภายในมาก่อนหน้าเป็นสัปดาห์แล้ว
อย่างในรายของพรรคเก่าแก่สุดอย่างพรรคประชาธิปัตย์เองที่ในรอบนี้ แม้ตัวเต็งในลำดับต้นๆ จะไม่พลิกโผ น่าจะมีทั้งหัวหน้าพรรคอย่างนายจุรินทร์ ตามมาด้วยท่านชวน หลีกภัย ตามมาด้วยผู้หลักผู้ใหญ่ภายในพรรค แต่อย่างไรก็ตาม ในลำดับที่หลังจากผู้ใหญ่ของพรรคก็มีข่าวขัดแย้งภายในให้ต้องระอุมาตลอดช่วงก่อนสมัคร ภายใต้การแข่งขันที่สูงขึ้นจึงนับเป็นความท้าทายภายใต้การนำทัพของนายจุรินทร์ จะพาให้พรรคประชาธิปัตย์กลับขึ้นสู่พรรคหลักอีกครั้ง ?
อีกหนึ่งพรรคการเมืองที่ก็มีเรื่องราวของ สส. บัญชีรายชื่อที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ พรรคเพื่อไทย ที่ไร้ชื่อของนายเศรษฐาทวีสิน และ แพทองธาร ปรากฏในลำดับบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ทั้งที่ก่อนหน้านี้เมื่อไม่นานนักหากยังจำกันได้ ครั้งหนึ่งพรรคเพื่อไทยเคยได้มีการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 มาแล้ว ซึ่งเป็นการเสนอเพียงเพิ่มช่องทางให้นายกรัฐมนตรีจะมาจากบัญชีของพรรคการเมืองก็ได้ หรือจะมาจากใครคนใดคนหนึ่งที่เป็น สส. ในสภาฯ ก็ได้ แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ถูกเบรกจาก สว. โดยลงมติให้ตกไปไม่รับไว้พิจารณา
ก่อนที่ในเวลาต่อมาพรรคเพื่อไทยจะยื่นข้อเสนอแก้ไขมาตรา 159 อีกคราว แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไป โดยมี
ข้อกำหนดบังคับเลยว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็น สส. ในสภาฯ ที่ได้รับการเลือกตั้ง และต้องเป็นบุคคลผู้ที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไว้ก่อนเลือกตั้งด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการที่นายชลน่าน ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เคยได้กล่าวไว้ว่าผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเพียงเท่านั้น
อีกทั้งข้อเสนอบางส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้น มีบางส่วนที่คาบเกี่ยวกับอำนาจของ สว. ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 272 ที่พรรคเพื่อไทย ดูจะมีความพยายามในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการกับมาตรานี้หรือไม่? ภายใต้ชื่อภารกิจปิดสวิตช์ สว. แม้ในท้ายที่สุดความตั้งใจของพรรคเพื่อไทยก็ดูจะไม่เป็นผลก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การที่เพื่อไทยไม่ได้ใส่ ชื่อทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ลงในลำดับบัญชีรายชื่อ ทั้งที่ตนเองเป็นผู้เสนอให้แก้ไขข้อบังคับดังกล่าวก็น่าสนใจว่าจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยมากน้อยเพียงใด?และหนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจก็คือจะมีพรรคการเมืองสังกัดใดใช้จุดนี้เพื่อโจมตีพรรคเพื่อไทยด้วยหรือไม่?
หันมาดูรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค พบว่ารอบนี้ส่งแบบคนเดียวอยู่หลายพรรค แต่โดยมากในหลายพรรคก็เสนอแคนดิเดตเดียวกับรอบที่แล้วหรือไม่ก็นักการเมืองที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว มีเพียงพรรคเพื่อไทยที่ส่งนักการเมืองหน้าใหม่ลงแคนดิเดตนายกฯถึงสองคนคือ แพรทองธาร ชินวัตร และเศรษฐา ทวีสิน
อย่างไรก็ตามแม้จะดำเนินการมาถึงช่วงของการลงสมัครของบรรดา สส. ทั้งแบบเขตและการยื่นบัญชีรายชื่อไปแล้วแต่หนึ่งในสิ่งที่ต้องจับตาดู นอกจากจะเป็นบรรยากาศ ของการเลือกตั้งแล้ว ยังมีกรณีของการที่ศาลปกครองนัดหารือคดีฟ้องกกต. ว่าด้วยเรื่องของการแบ่งเขตว่าเข้าข่ายการแบ่งเขตโดยมิชอบหรือไม่ ?
จากปมการแบ่งเขตเลือกตั้งของกรุงเทพฯ, สุโขทัย และสกลนคร ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมต่อผู้สมัครหรือไม่? ซึ่งหลังจบกระบวนการพิจารณา องค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวนได้แย้งคู่กรณีทุกฝ่ายว่าศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีในวันที่ 7 เมษายน
อย่างไรก็ตาม เรื่องของกระบวนการยุติธรรมนั้น คงไม่อาจไปก้าวล่วง แต่ในส่วนของบรรยากาศการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งนั้น แน่นอนว่าจะเข้มข้นถึงพริกถึงขิงอย่างแน่นอน ที่นอกจากนโยบายแต่ละพรรคแล้วก็ต้องจับตาการจับผิดการดำเนินการหาเสียงของแต่ละฝ่ายไปจนถึงวันเลือกตั้งเลยทีเดียว?
“คนมีชีวิตอยู่ก็ต้องอดทน อดกลั้น ความหมายอีกหนึ่งของอดทน ...
คือดิ้นรนต่อสู้ อดกลั้นทนทานโดยไม่หยุดยั้ง ก็คือ ดิ้นรนต่อสู้โดยไม่หยุดยั้ง
มิเช่นนั้น ชีวิตของท่านจะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง
เนื่องเพราะความจริงชีวิตเติบใหญ่ขึ้นจากห้วงทุกข์ทรมาน”
โกวเล้ง จาก ผู้ยิ่งใหญ่
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี