ตามที่ได้มีการปฏิวัติรัฐประหารโดยฝ่ายกองทัพพม่าและทำการยึดอำนาจ รวมทั้งล้มเลิกการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นั้นจนถึงวันนี้ที่เวลาได้ล่วงเลยมา 2 ปีแล้ว การปฏิวัติรัฐประหารดังกล่าวก็ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะฝ่ายกองทัพยังคงเผชิญกับการต่อต้านอย่างใหญ่หลวงทั่วประเทศ จากทุกชนชั้น ชาติพันธุ์ และหมู่เหล่า ชนิดที่ฝ่ายกองทัพไม่เคยคาดคิดคาดฝัน และไม่ได้มีโอกาสตั้งตัวอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทำได้เพียงแต่ใช้ความรุนแรง และความโหดเหี้ยมเข้าปราบปรามแต่เพียงอย่างเดียวในการขจัดฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหาร
อย่างไรก็ดี ฝ่ายต่อต้านนั้นไม่ย่นย่อท้อถอย หากกลับยืนหยัดที่จะต่อสู้ทั้งด้วยกำลังอาวุธที่ด้อยกว่าทางกองทัพ ขนานไปกับการดำเนินการทางการเมือง เช่น การหยุดพักงาน การแสดงซึ่งอารยะขัดขืน และการคิดอ่านเพื่อสร้างโครงสร้างทางการเมืองและสาระเนื้อหาใหม่ๆ ในกรอบสังคมประชาธิปไตย
พม่า ณ วันนี้จึงอยู่ในสภาวะของสงครามกลางเมือง และเหตุการณ์ดูจะยืดเยื้อไปอีกนาน เพราะต่างฝ่ายต่างไม่มีท่าทีที่จะยกธงขาว โดยฝ่ายกองทัพได้รับการสนับสนุนอย่างเปิดเผยจากจีน รัสเซีย และอินเดีย โดยเฉพาะทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และการทำธุรกิจด้วยกัน ขณะที่ฝ่ายต่อต้านได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากกลุ่มประเทศประชาธิปไตยในเรื่องการคว่ำบาตร (Sanctions) ฝ่ายกองทัพพม่า และการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และการเริ่มให้การสนับสนุนด้วยการเปิดช่องทางติดต่อทางการทูต
แต่รูปการของการต่อต้านและต่อสู้กับฝ่ายกองทัพของฝ่ายต่อต้านหรือฝ่ายประชาธิปไตยนั้น มิได้จำกัดอยู่ที่การ
ต่อต้านและขับไล่ฝ่ายกองทัพออกจากเวทีการเมืองแล้วเท่านั้น หากแต่ฝ่ายต่อต้านยังมีจุดมุ่งหมาย และความมุ่งมั่นที่จะสร้างประเทศพม่าขึ้นมาใหม่ให้เป็น “สหพันธ์สาธารณรัฐ” ที่ประกอบด้วยรัฐชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีสถานะและที่ยืนในสังคมประเทศพม่าที่ทัดเทียมกัน ซึ่งสหพันธ์สาธารณรัฐนั้นจะต้องเป็นสังคมประชาธิปไตย และไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือกีดกันชน
กลุ่มน้อยใดๆ อีกต่อไป เช่น ในกรณีชนกลุ่มน้อยโรฮีนจามุสลิม (Inclusive)
ทั้งนี้ก็หมายความว่า ชนชาติพันธุ์บะหม่า (Burman) ที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุดของพม่า (ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรของพม่าทั้งหมด 54 ล้านคน) จะต้องไม่พยายามครอบงำความเป็นไปในพม่า และไปจำกัดจำเขี่ยสิทธิเสรีภาพของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็น ฉิ่น คะฉิ่น ฉาน (ไทใหญ่) มอญ กะเหรี่ยง ยะไข่ คะยอ ว้า อีกต่อไป (Burmanization)
ในการนี้ ฝ่ายต่อต้านกองทัพพม่าทั้งหลายทั้งปวงก็เห็นพ้องกันว่า การที่จะขจัดกองทัพออกจากการเมือง จะต้องอาศัยการจัดตั้ง สหพันธ์สาธารณรัฐ (Federal Republic) เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการเพื่อปฏิวัติสังคมพม่าอย่างใหญ่หลวง (Revolution) โดยอุปสรรคสำคัญของการปฏิวัติสังคมก็คือ ฝ่ายกองทัพที่ทหารทั้งหมดแทบจะมาจากชนชาติพันธุ์บะหม่า รวมทั้งอีกอุปสรรคหนึ่งก็คือ ตัวนางออง ซาน ซู จี และแกนนำพรรคสันนิบาตประชาธิปไตยแห่งชาติ (National League for Democracy – NLD) เองที่เป็นชนชาติพันธุ์บะหม่าเช่นกัน ซึ่งต่างหลงในความคิดอ่านนึกคิดว่า ชนชาติพันธุ์บะหม่าจะต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เหนือชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งมีที่ยืนในสังคมอย่างจำกัด
อันที่จริงแล้ว ฝ่ายกองทัพ และฝ่ายนางออง ซาน ซู จี พร้อมด้วยพลพรรค NLD จัดได้ว่าเป็นเพียงเสียงส่วนน้อย แถมยังเป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่มีความล้าหลังในความคิดอ่านทั้งคู่เพราะยังไม่ไปด้วยกันกับกระแส และความมุ่งมั่นของพลเมืองพม่าส่วนใหญ่ที่เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์บะหม่า หรือชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย ต่างต้องร่วมเสริมสร้างความทัดเทียมและสิทธิเสรีภาพในกรอบของ Federal Democratic Myanmar ซึ่งในการนี้ ก็คงต้องเป็นภาระส่วนหนึ่งของฝ่ายประชาธิปไตยต่างๆ ในประชาคมโลก ที่จะต้องยื่นมือเข้ามาให้กำลังใจ และสนับสนุนความประสงค์ รวมทั้งความมุ่งมั่นของพลเมืองพม่าที่ต้องการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมพม่าที่มากด้วยความหลากหลาย และสามารถร่วมกันอยู่อย่างสันติในกรอบของสหพันธรัฐที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ความเป็นไปในประเทศพม่ายังไม่เป็นที่รู้จัก หรือได้รับความสนใจจากชาวไทยเท่าที่ควร แต่เมื่อเราคนไทยรักและหวงแหนความเป็น “ไท” และยังเพียรพยายามที่จะเสริมสร้างสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ มีความเป็นสากล ฉะนั้น ก็น่าจะถึงเวลาแล้ว ที่ฝ่ายประชาธิปไตยของสังคมไทยและบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ที่ประกาศตนเป็นนักประชาธิปไตยนั้น จะเลิกอยู่นิ่งเฉยเสียที โดยต่างต้องคิดอ่านที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยของพม่าในฐานะเพื่อนมนุษย์ และเพื่อนร่วมอุดมการณ์
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี