กรณี ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายยรรยง พวงราช อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ และพวกคดีทุจริตข้าวถุง ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ”
ปรากฏว่า ล่าสุด นายยรรยง พวงราช ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว
1. นายยรรยง พวงราช ระบุในคำชี้แจงสาระสำคัญบางตอนว่า
“...โดยประเด็นหลักที่ผมถูกกล่าวหานี้ เกี่ยวกับกรณีที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงข้าวสารให้ อ.ต.ก. นำไปจัดทำข้าวถุงเพื่อแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยจากสต๊อกข้าวรัฐบาลจากข้าวเก่าปี 2552 เป็นข้าวใหม่ปี 2554 โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนและเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้างผลิตข้าวถุงของ อ.ต.ก.
ผมประหลาดใจมากที่ ป.ป.ช. เพิ่งมาชี้มูล เพราะ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2559 โดยไม่มีชื่อผมถูกไต่สวนมาตั้งแต่ต้น ผมเพิ่งได้รับแจ้งว่าผมถูกคณะกรรมการไต่สวนที่ ป.ป.ช. ตั้งขึ้นแทนชุดเก่าเมื่อปี 2563 ได้สอบสวนต่อมาโดยไม่ได้แจ้งให้ผมทราบ เพิ่งมาแจ้งให้ผมทราบเมื่อ 1 ก.ค.2564 ผมจึงไม่มีโอกาสคัดค้านกรรมการไต่สวนที่ผมมีสิทธิคัดค้านได้ เช่น กรรมการบางคนที่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองและตัดสิทธิผมในการคัดค้านกระบวนการไต่สวนและข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องมาตั้งแต่แรก
ประเด็นที่ผมได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. สรุปได้ดังนี้
1.มติของ กขช. ที่อนุมัติให้ อ.ต.ก. เปลี่ยนข้าวเป็นมติที่ถูกต้องชอบธรรมและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้ประสบภัย เหตุผลที่คณะกรรมการ กขช. มีมติอนุมัติให้เปลี่ยนข้าวเพราะเห็นว่าข้าวเก่าปี 2552 ย่อมเสื่อมสภาพไม่มากก็น้อย เพราะข้าวสารเป็นสินค้าเน่าเสียง่าย แม้ไม่ตรวจสอบก็สามารถคาดการณ์ได้ ประกอบกับช่วงปี 2554 ได้เกิดเหตุการณ์นํ้าท่วมใหญ่ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพของข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่เก็บมาตั้งแต่ปี 2552 ด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมได้ทักท้วงว่าคณะกรรมการไต่สวนนำข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องมากล่าวหาผมโดยอ้างว่าข้าวเก่าปี 2552 มีคุณภาพดีเพราะประมูลขายได้ราคาถึงตันละ 10,000 บาท แต่ความจริงคือราคาข้าวสาร 5% ปี 2552 ราคาขายส่งประมาณตันละ 17,000 บาท ซึ่งสามารถยืนยันในทางตรงกันข้ามได้ว่าข้าวปี 2552 มีคุณภาพต่ำมากกว่าปกติค่อนข้างมาก
ส่วนเหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่ กขช. ไม่ได้สั่งให้ตรวจสอบคุณภาพข้าวก่อนลงมติอนุมัติก็เพราะว่า กขช. ได้เคยมีมติอนุมัติให้ อคส. เปลี่ยนแปลงข้าวเก่าเป็นข้าวใหม่ไปผลิตข้าวถุงมาก่อนแล้ว ดังนั้นตามตรรกะธรรมดาถ้า กขช.ไม่อนุมัติให้ อ.ต.ก. เปลี่ยนข้าวต่างหากที่น่าจะผิดปกติ
นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลอีกอย่างหนึ่งคือในช่วงปี 2553-2555 มีกระแสข่าวโจมตีรัฐบาลว่านำข้าวเน่า ปลากระป๋องเน่า และสิ่งของอุปโภคบริโภคเสื่อมคุณภาพหรือหมดอายุ ไปแจกให้ผู้ประสบภัย จนทำให้นักการเมืองและผู้บริหารบางคนถูกโจมตีกล่าวหาและดำเนินคดี ดังนั้น กขช. จึงไม่อยากตกเป็นแพะในลักษณะเดียวกัน
2.การที่ กขช. มีมติอนุมัติให้ อ.ต.ก. เปลี่ยนข้าวก็ไม่ได้ทำให้รัฐเสียหายแต่อย่างใด เพราะข้าวที่อนุมัติให้ อ.ต.ก. เปลี่ยนก็เป็นข้าวชนิดเดียวกันคือข้าวขาว 5% ที่เป็นข้าวที่ประชาชนทั่วไปบริโภคและเก็บอยู่ในคลังที่ อ.ต.ก. รับผิดชอบ คณะกรรมการ กขช. จึงต้องเชื่อว่า อ.ต.ก. เองย่อมรู้ดีว่าข้าวเก่าหรือข้าวใหม่เหมาะสมที่จะนำไปผลิตแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัย นอกจากนี้ รัฐบาลก็ยังคงมีข้าวในสต๊อกรัฐบาลในปริมาณเท่ากัน
อีกอย่างหนึ่ง ผมเชื่อว่าคณะกรรมการ กขช. ก็ตระหนักดีว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญของรัฐที่จะช่วยเหลือและป้องกันไม่ให้ประชาชนผู้ประสบภัยประสบปัญหาสุขภาพซ้ำเติม การช่วยเหลือประชาชนไม่ควรคิดเรื่องกำไรขาดทุน รัฐบาลได้มีโครงการจัดทำข้าวถุงเพื่อแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยในลักษณะเดียวกันนี้มากว่า 20 ปีติดต่อกัน
3.นอกจากจะยืนยันว่ามติ กขช. ดังกล่าวถูกต้องชอบธรรมทุกประการแล้วผมก็ได้ชี้แจงว่าผม (และคุณวัชรี วิมุกตายน รวมทั้งกรรมการทุกท่าน) ได้ทำหน้าที่ในฐานะกรรมการเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ กขช. ที่ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะดังกล่าวอย่างถูกต้องชอบธรรมทุกประการ...
4.ผมได้ชี้แจงโดยเน้นว่าการบริหารจัดการและกำกับดูแลสต๊อกข้าวรัฐบาลเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กขช. ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ...
5.นอกจากนี้ ผมก็ได้ชี้แจงเพิ่มเติมในประเด็นที่คณะกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. ข้องใจว่าไม่ได้สั่งให้ผู้รับจ้างบรรจุถุงลดค่าจ้างลง เพราะการปรับปรุงคุณภาพข้าวใหม่ตํ่ากว่าข้าวเก่าว่า ผมในฐานะปลัดกระทรวงพาณิชย์และเลขานุการ กขช. โดยลำพัง ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการนำข้าวไปบรรจุถุงซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ อ.ต.ก. ซึ่งเป็นผู้ขออนุมัติและดำเนินการโครงการแต่อย่างใด...”
2. ขณะนี้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว แต่ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนยังมีสิทธิต่อสู้คดี ศาลยังไม่ได้พิพากษาชี้ขาด
การที่นายยรรยงชี้แจงต่อสาธารณะเช่นนี้ หวังว่าจะถือเอาตามคำชี้แจงนี้ให้การในชั้นศาลต่อไปด้วย
มีน้ำหนักเพียงพอแก้ต่างได้หรือไม่ ศาลจะเป็นผู้พิจารณาในโอกาสถัดไป
3. ที่แน่ๆ ลำพังคำชี้แจงข้างต้น ค่อนข้างจะ “ตอบไม่ตรงคำถาม”
โดยเฉพาะการอ้างว่า การช่วยเหลือประชาชนไม่ควรคิดเรื่องกำไรขาดทุน เพราะประเด็นคดีนี้ ไม่ใช่กำไรหรือขาดทุน แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จนมีผลคือชาวบ้านไม่ได้รับข้าวคุณภาพไปกินตามเจตนาของโครงการ
คดีนี้ ในชั้นไต่สวนคดีนี้ มีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเป็นทางการ จำนวน 14 ราย คือ 1. นายยรรยง พวงราช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ 2. นางวัชรี วิมุกตายนเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการค้าภายใน 3. นายกมลวิศว์ แก้วแฝก เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร 4. นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ฯลฯ
ข้อกล่าวหาในคดีนี้ เป็นกรณีดำเนินการจัดจ้างผู้ประกอบการปรับปรุงคุณภาพข้าวและบรรจุถุง โครงการข้าวสารช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยภายในประเทศขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ในช่วงปี 2554-2556 โดยมิชอบหรือโดยทุจริต
ในการพิจารณาสำนวนไต่สวน ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหา ถูกชี้มูลความผิดเป็นทางการ จำนวน 5 ราย คือ
1.นายยรรยง พวงราช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ นโยบายข้าวแห่งชาติ (กนช.) มีมูลความผิดทางอาญา ตามมาตรา 157 และมีมูลความผิดวินัยร้ายแรง
2.นางวัชรี วิมุกตายน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการค้าภายใน กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการ นโยบายข้าวแห่งชาติ (กนช.) มีมูลความผิดทางอาญา ตามมาตรา 157 และมีมูลความผิดวินัยร้ายแรง
3.นายกมลวิศว์ แก้วแฝก กรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ในฐานะรักษาการแทนตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11
4.นายสุรเดช อชินพยัคฆ์ หัวหน้ากองธุรกิจพืชผล และ 5. นางสาวละมัย ประสงค์ผลชัย เจ้าหน้าที่บริหารงานการตลาด ในฐานะกรรมการตรวจการจ้างปรับปรุงข้าวสารบรรจุถุง ไม่มีมูลกระทำความผิดทางอาญา แต่การกระทำของบุคคลทั้งสอง ถือเป็นการกระทำความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ตามข้อบังคับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ฉบับที่ 1 ว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง พ.ศ.2544 ข้อ 61 (2)
สำนักข่าวอิศรา ได้ให้ข้อมูลน่าสนใจ ระบุว่า ที่มาที่ไปเกี่ยวกับคดีนี้ พบว่า มีจุดเริ่มต้นจากการที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กนช.) ในช่วงที่นายยรรยง พวงราช อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและเลขานุการฯ ได้มีมติในประชุมครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2554 มีมติอนุมัติจำหน่ายข้าวสาร 5 เปอร์ซ็นต์ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 ใช้ข้าวสารที่เก็บรักษาไว้ในคลังสินค้ากลางขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จำนวน 30,000 ตัน ในราคาตันละ 1 บาท นำไปบรรจุถุงขนาด 4 กิโลกรัม เพื่อนำไปจัดสรรและจัดส่งให้แก่ผู้ประสบสาธารณภัยในจังหวัดต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับอนุมัติไว้ และนำไปช่วยเหลือประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีประสบปัญหาที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ โดยให้ได้รับค่าใช้จ่ายในการบรรจุถุงและค่าขนส่งตามที่เกิดขึ้นจริงตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้
การดำเนินโครงการฯ นี้ อ.ต.ก. ได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน จำนวน 2 ชุดคือ 1.คณะกรรมการจัดจ้างผู้ประกอบการปรับปรุงข้าวสารบรรจุถุงเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยภายในประเทศ และ 2.คณะกรรมการตรวจการจ้างปรับปรุงข้าวสารบรรจุถุง
ต่อมา อ.ต.ก. ได้จัดจ้างบริษัท ก. (อักษาย่อ) เป็นผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าวสารบรรจุถุงโดยวิธีพิเศษ ตามสัญญาที่ 4/2555 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2554 จ้างปรับปรุงคุณภาพข้าวขาว 5%
ในสัญญามีข้อตกลงให้ผู้รับจ้างดำเนินงานปรับปรุงคุณภาพและบรรจุถุงข้าวสารชนิดข้าวขาว 5 % โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 รวมน้ำหนักเนื้อข้าวสารสุทธิ 30,000 ตัน นำมาบรรจุถุงพลาสติกให้ได้จำนวน 7,500,000 ถุง
สำหรับในจังหวัดพิษณุโลก บริษัท ก. ได้ส่งมอบข้าวสารบริจาคให้แก่ผู้ประสบสาธารณภัยในจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555 จำนวน 2,000 ถุง และวันที่ 23 มกราคม 2556 จำนวน 40,000 ถุง
ต่อมา มีข่าวปรากฏว่า ชาวบ้านในตำบลบึงพระ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก แจ้งว่าข้าวสารที่ได้รับแจกจากโครงการข้าวสารช่วยเหลือประชาชนของ อ.ต.ก. เป็นข้าวสารเสื่อมคุณภาพ ไม่สามารถรับประทานได้
ต่อมา ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2556 มีผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่า ข้าวสารดังกล่าวบรรจุอยู่ในถุงพลาสติก และมีข้อความปรากฏข้างถุงว่า “ด้วยความห่วงใยและปรารถนาดี คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติโครงการข้าวสารช่วยเหลือประชาชน” อ.ต.ก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดูภาพประกอบ) เมื่อดูจากภายนอกพบว่าข้าวสารมีสีเหลืองลักษณะขุ่นมากกว่าข้าวสารปกติ และเมื่อทดสอบโดยการหุงแล้ว ข้าวดังกล่าวไม่สามารถรับประทานได้เนื่องจากมีกลิ่นฉุน
ขณะที่จากการสอบปากคำพยานของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ในคดีนี้ พยานให้การสอดคล้องตรงกันว่า ข้าวมีลักษณะเป็นเมล็ดสีขาวอมเหลือง บางเมล็ดมีสีน้ำตาลปะปนอยู่ และมีลักษณะเป็นข้าวเก่า
เมื่อดมดูมีกลิ่นเหม็นอับ ตรงกับผลการวิเคราะห์คุณภาพข้าวสารจากศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ซึ่งรายงานผลว่าข้าวสารทั้ง 3 ตัวอย่าง ไม่ผ่านมาตรฐานข้าว ข้าวขาว 5%ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง มาตรฐานสินค้าข้าว พ.ศ. 2540 และมาตรฐานข้าวไทย เนื่องจากส่วนผสมข้าวสารทั้ง 3 ตัวอย่างไม่ผ่านมาตรฐานเนื่องจากมีข้าวหักเกินเกณฑ์ที่กำหนด
ข้าวและสิ่งที่อาจมีปนได้ในข้าวสารทั้ง 3 ตัวอย่าง ไม่ผ่านมาตรฐานเนื่องจากมีเมล็ดเหลืองและเมล็ดเสียมากกว่ามาตรฐานที่กำหนด
ต้องรอดูว่า สุดท้าย คดีไปถึงชั้นศาล ผู้ถูกชี้มูลยังสามารถไปให้การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตนเองต่อไป
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี