อาทิตย์ก่อนคอลัมน์ทวนกระแสข่าวเสนอบทความทวนกระแสสื่อและโพลในหัวข้อที่ว่า เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ถึงเวลาพรรคร่วมรัฐบาลแสดงหลักฐานผลงานเพื่อเรียกความนิยมจากชาวบ้านคืนมาโดยประมาณการว่าอดีตพรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา จะได้ สส.รวมกันเกิน 250 เสียง
เพื่อให้ครบถ้วนกระบวนความในการนำเสนอข่าวสารวันนี้ขอเสนอบทความเรื่องเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ถึงเวลาพรรคที่ร่วมฝ่ายค้านนำโดยเพื่อไทยที่อ้างเป็นฝ่ายประชาธิปไตยถึงเวลาแลนไถล (ตะกวดลื่น) คะแนนนิยมตกต่ำลงมาน่าใจหาย ถึงแม้พรรคเพื่อไทยจะพยายามสร้างกระแสแลนด์สไลด์อย่างไรก็ไม่สามารถชนะเลือกตั้งได้ สส.ถึง 170 ที่นั่ง
ส่วนพรรคก้าวไกล ที่สื่อมวลชนและสำนักโพลส่วนใหญ่ประโคมข่าวว่าอาจเข้าวินเป็นอันดับสอง คือได้ สส.เกิน 100 ที่นั่ง แต่คอลัมน์นี้ประเมินว่าพรรคก้าวไกล ไม่น่าจะได้ สส.ถึง 30 ที่นั่งด้านพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย คะแนนนิยมตกต่ำลงไปน่าใจหายประมาณกันว่าสองพรรคนี้รวมกันได้ สส.ไม่เกินสิบคน
สาเหตุความนิยมตกต่ำของฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะรัฐบาลผสมของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีผลงานการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูประบบราชการ หรือ ไม่มีทุจริตคอร์รัปชั่นเลย แต่เป็นเพราะฝ่ายค้านหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเก่า ที่ไปเอาเรื่องส่วนตัวของพลเอกประยุทธ์ เคยยึดอำนาจจากรัฐบาลผีหัวขาดของพรรคเพื่อไทย มาโจมตีซ้ำซาก ส่วนพรรคก้าวไกล ที่เป็นชื่อใหม่หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบก็หมกมุ่นอยู่กับเรื่องสืบต่อภารกิจการปฏิวัติ 2475 ที่ยังค้างคาอยู่ คือ เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยแบบขุดรากถอนโคน หมกมุ่นอยู่ แต่เรื่องปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปทหารและมีการเคลื่อนไหวให้แก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายปกป้องสถาบัน มีพฤติกรรมสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันหลักของชาติอย่างออกหน้า แซะสถาบันฯ ทั้งในและนอกสภา ทำให้เกิดความเอือมระอาในหมู่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ที่ยังเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์เหนือสิ่งอื่นใด
ตลอดเวลาสี่ปีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจโจมตีรัฐบาล ฝ่ายค้านไม่มีหมัดน็อกไม้ตายคว่ำรัฐบาลได้ ฝ่ายค้านไม่สามารถหาหลักฐานมาแสดงในสภาว่า รัฐบาลทำผิดคิดมิชอบ หรือ ทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการไหน สองครั้งแรกของอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคร่วมฝ่ายค้านให้ความสำคัญกับเรื่องนายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน กระบวนความตามรัฐธรรมนูญกำหนด
ส่วนเรื่องที่มีข้อครหาว่าอาจมีคนในรัฐบาลพัวพันกับนักธุรกิจสีเทาชาวจีน ฝ่ายค้านก็ไม่กล้าอภิปรายให้ถึงแก่นสาร เพราะต้นเหตุของความเลวร้าย ความยิ่งใหญ่คับแผ่นดินของนาย“ตู้ห่าว” นักธุรกิจสีเทาชาวจีน ที่ถูกจับดำเนินคดีข้อหาค้ายาเสพติด และเป็นอาชญากรข้ามชาติเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยที่แกนนำพรรคฝ่ายค้านคือพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาล
สรุปง่ายๆ คือ ประชาชนเบื่อหน่ายพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพราะไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เคยเสนอกฎหมายหรือโครงการใดๆ ที่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นมาจากปัญหาวิกฤตซ้อนวิกฤตปัญหาโควิด-19 และ วิกฤตสงคราม รัสเซีย-ยูเครน ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลว่าความนิยมฝ่ายค้านตกต่ำลงไปไม่ได้คิดขึ้นมาลอยๆ แต่ได้ผ่านการสำรวจกลั่นกรองจากสื่อมวลชนอาวุโสและการสำรวจของหน่วยงานราชการ
จากการประเมินของสื่อมวลชนอาวุโส และกองอำนวยการรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักรหรือ กอ.รมน.พบว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ สส.ไม่ถึง 170 คน ในภาคอีสาน พรรคเพื่อไทยเคยได้ สส. 97 คนในการเลือกตั้งปี 2562 แต่การเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมที่จะมาถึง คาดว่าพรรคเพื่อไทยได้ สส.ภาคอีสานประมาณ 74 คน ภาคเหนือ คาดว่าจะได้ สส.24 คน ภาคกลาง ประมาณ 10 คน ภาคใต้ อาจไม่ได้ สส.เขตแม้แต่คนเดียว หากพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนถึง 10 ล้านเสียง ก็อาจได้ สส.เขตและบัญชีรายชื่อรวมกันประมาณ 164 คน
ส่วนพรรคก้าวไกล จากที่เน้นนโยบายแก้ไขหรือยกเลิก มาตรา 112 และปกป้องสนับสนุนให้ท้ายคนรุ่นใหม่ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯทำให้ความนิยมตกต่ำลงมากว่า 70% คือ จากที่เคยได้ สส.จากระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียวได้ สส. 80ที่นั่ง แต่การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ซึ่งใช้บัตรสองใบพรรคก้าวไกลอาจจะได้ สส.ไม่ถึง 30 คน จากการสำรวจของ กอ.รมน.พบว่าพรรคก้าวไกลอาจได้ สส.กทม. 5 คน ภาคเหนือ 3 คน อีสาน 1 คนภาคกลาง 1 คน ภาคใต้อาจไม่ได้ สส.แม้แต่คนเดียว ดังนั้นหากพรรคก้าวไกล ได้คะแนนพรรคถึง 5.3 ล้านเสียงจะได้ สส.รวมกันประมาณ 27 คนส่วนพรรคประชาชาติกับพรรคเสรีรวมไทย ที่เคยได้สส.พรรคละ 7 คนจากการเลือกตั้งปี 2562 ประมาณการกันว่าในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม สองพรรคนี้จะได้ สส.รวมกันไม่ถึงสิบคน
การประเมินของผู้สื่อข่าวอาวุโสทุกภูมิภาคของประเทศไทย และ กอ.รมน.ประมาณการว่าพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจะได้ สส.รวมกันไม่เกิน210 คน
นักวิชาการนักวิเคราะห์การเมืองและสื่อมวลชนตลอดถึงสำนักโพลส่วนใหญ่อาจมองว่าข้อมูลที่ทวนกระแสข่าวนำเสนอขาดหลักวิชาการและคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง แต่ผู้เขียนมั่นใจในข้อมูลจากนักข่าวอาวุโส นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในท้องถิ่นต่างๆ และ กอ.รมน.ที่ลงไปทำงานสัมผัสชาวบ้านทุกเขตเลือกตั้ง
ส่วนสาเหตุที่คอลัมน์นี้ไม่กล่าวถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ กับพรรคพลังประชารัฐเพราะไม่รู้จักพื้นฐานทางการเมืองและยุทธศาสตร์หาเสียงของสองพรรคนี้ว่าจะเล่นเกมใต้ดินบนดินดังที่ นายธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเส้นเลือดใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ เคยประกาศไว้หรือไม่
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี