เข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลปีใหม่ไทย ที่ประชาชนต่างเฝ้าคอยที่จะกลับไปภูมิลำเนาเพื่อกลับไปหาครอบครัวหรือเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ รดน้ำดำหัวเป็นสิริมงคล แต่กลับกันสำหรับคนในแวดวงการเมืองแล้ว เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ อาจเป็นอีกหนึ่งสัญญาณ ที่บ่งบอกว่าเหลือเวลา อีกเพียงแค่ไม่กี่อึดใจเท่านั้น ก่อนที่การเลือกตั้งจะเดินทางเข้ามาถึง
หากนับเวลาที่เหลืออยู่ในมือตอนนี้ คงเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก่อนจะถึงเวลาเลือกตั้งล่วงหน้า และเลือกตั้งจริง สงกรานต์ปีนี้จึงไม่ได้มีเพียงคนในครอบครัวที่จะกลับมาเยี่ยมเยียน แต่จะมีแขกที่ไม่ได้รับเชิญมาเยี่ยมเยียนถึงหน้าประตูบ้านทุกวัน
อาจเพราะด้วยปัจจัยของพรรคการเมืองในปัจจุบัน ที่ไม่ได้มีแค่สองหรือสามพรรคหลัก แต่ด้วยในสถานการณ์ปัจจุบันจำนวนพรรคการเมืองที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะพรรคขนาดกลางที่มีมากขึ้น ทำให้ประชาชนคาดเดาการแข่งขันได้ยากขึ้น และจากคู่แข่งทางการเมืองที่มากขึ้นนั้นเอง ก็ยิ่งทวีคูณความยากลำบากในการปักธงชัยในแต่ละพื้นที่ของแต่ละพรรคนั้นยากขึ้นไปอีกด้วยหรือไม่?
แต่สำหรับสำหรับบางพรรคการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ก็เหมือนเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ว่าถ้าถูกทางก็จะยิ่งก้าวกระโดด แต่ถ้าไม่ ก็อาจเสี่ยงที่จะออกมาจากจุดเดิม?
แน่นอนว่าพรรคการเมืองหลายพรรคในปัจจุบันนั้น กำลังเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายอย่างมาก ทั้งการเปลี่ยนแปลงความคิดของประชาชน ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และความกดดันทางการเมืองจากภายในพรรคเอง ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายนอก เช่น คดีต่างๆ จึงเป็นตัวบีบให้ต้องตัดสินใจปรับเปลี่ยนโครงสร้างตัวเอง ทั้งๆ ที่ครั้งที่แล้วก็ได้คะแนนค่อนข้างดีอยู่แล้ว?
หนึ่งในพรรคการเมืองที่เพิ่งเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่ชัดเจนคงหนีไม่พ้นพรรคก้าวไกลมีการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน เพราะในตอนนี้พรรคก้าวไกลไม่ได้มี 3 ทหารเสือ อย่างนายธนาธร นายปิยบุตร และพรรณิการ์ (เมื่อครั้งพรรคอนาคตใหม่) มาคอยช่วยขับเคลื่อนพรรคก้าวไกลแบบเต็มรูปแบบอย่างเช่นเมื่อการเลือกตั้งครั้งก่อน ซึ่งแม้พรรคก้าวไกลจะถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีจุดเด่นและมีเอกลักษณ์อย่างชัดเจนเฉกเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ แต่การที่โครงสร้างของพรรคนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ก็น่าสนใจว่าเมื่อไม่มีผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่มาเป็นคนคุมเกมเลือกตั้งโดยตรงในครั้งนี้ หรือตลอดจนแม่เหล็กที่แข็งแกร่งในการดึงดูดคะแนนแล้วพรรคก้าวไกลจะมีผลตอบรับเป็นอย่างไรหรือจะตัดสินใจเดินอย่างไร?
เพียงแค่การขับเคลื่อนพรรคก้าวไกลอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ดูจะเป็นนายพิธา ที่ออกมาหน้าแถวพาพรรคก้าวไกลขับเคลื่อนหน้าม่าน? แต่ว่ากันตามตรงแม้นายธนาธร และอดีตแกนนำหัวเรือใหญ่จะต้องยุติบทบาท การทำงานหน้าม่านไปแล้ว แต่พอถึงเวลาหาเสียงของก้าวไกลจริง ก็ยังคงเห็นความเคลื่อนไหวของพวกเขาเหล่านั้นอยู่หรือไม่? ทั้งการขึ้นรถที่ดูจะเป็นไปในลักษณะของเชิงหาเสียง การเดินสายลงไปยังชุมชนต่างๆ รวมถึงการร่วมดีเบตตามเวทีต่างๆ ตามโอกาส ตลอดจนการให้คำสัมภาษณ์ทางการเมืองที่อาจมีผลต่อคะแนนนิยมหรืออาจถูกมองว่าชี้นำประชาชนได้หรือไม่?
อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งในครั้งนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่สำคัญสำหรับพรรคก้าวไกลโดยเฉพาะในเรื่องของฐานคะแนนเสียงว่าจะมีความหนักแน่น และจงรักภักดีต่อพรรคแบบไม่เปลี่ยนแปลง หรือไม่ เพราะครั้งที่แล้วส่วนหนึ่งก็มองว่าได้คะแนนในเขตที่ไทยรักษาชาติได้วางตัวไว้? หรือคะแนนที่มีต่อตัวตนนายธนาธรในอดีตจะแปลงค่ากลายมาเป็นคะแนนของพรรคก้าวไกลในวันที่นายธนาธรไม่ได้แกนนำจริงได้หรือไม่
ก็น่าสนใจว่านายพิธาเองจะสามารถสร้างอิมแพคในฐานะของหัวหน้าพรรคก้าวไกลได้มากน้อยเพียงใดจะสามารถเทียบเคียงกับผู้นำทัพคนเก่าของอนาคตใหม่ได้หรือไม่? ทั้งนี้ส่วนสำคัญอีกส่วนคือการยอมรับจากคนในพรรคเพราะก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลภายใต้การนำทัพของนายพิธา ก็ได้ถูกกระแส โปลิตบูโร เล่นงานมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากการที่ถูกอดีตแนวร่วมคนสำคัญของพรรคออกมาโจมตีระบบการทำงานภายในของพรรคมาจนเกือบเสียหลักแล้ว แต่ก็ยังถือว่าโชคดีไม่น้อยเพราะกระแสข่าวเรื่องของการแตกคอระหว่างนายปิยบุตรและนายพิธา ที่ท้ายที่สุดกลับมากอดคอชักภาพร่วมกัน ก็ดูจะกลบกระแสข่าวโปลิตบูโรไปเสียหมดหรือไม่? และจบด้วยการที่ได้เห็นนายธนาธรลงมาช่วยจนถึงตอนนี้จนกระแสขยับดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อพรรคก้าวไกลแต่ไม่รู้ว่าจะส่งผลแบบไหนต่อนายพิธาในฐานะหัวหน้าพรรค?
แต่แม้ว่ากระแสของพรรคก้าวไกลดูจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเพียงใดแต่สำหรับขั้วที่ปักป้ายประชาธิปไตยแล้วกระแสของพรรคก้าวไกลในยามนี้ก็ดูจะยังเป็นรองพรรคเพื่อไทยอยู่ไม่น้อย ว่ากันตามตรงแล้วพรรคเพื่อไทย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งพรรคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในเชิงอำนาจและภาพของการแข่งขัน ที่ครั้งก่อนคุณหญิงสุดารัตน์ถือเป็นทั้งแม่ทัพและภาพลักษณ์หลักในการคุมหาเสียงครั้งที่แล้วคู่กับภาพของนายชัชชาติ แต่ครั้งนี้นายชัชชาติก็ไปเป็นผู้ว่าฯกทมแล้ว ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ก็ย้ายออกไปตั้งพรรคใหม่ การคุมเกมพรรคตอนนี้จึงมาอยู่ที่หมอชลน่านและแบรนด์ใหม่ของพรรคคือแพรทองธาร ชินวัตร และเศรษฐา ทวีสิน แม้หนึ่งในแคนดิเดตพรรคเพื่อไทย ยังมีอีกคนคือ นายชัยเกษม นิติสิริ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก เพราะแวดวงทางการเมืองหลายสำนัก ก็ต่างมีการคาดเดากันไว้แล้ว อีกทั้งหากยังจำกันได้ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 นายชัยเกษม ก็ได้รับเลือกให้เป็นแคนดิเดตของพรรคเช่นเดียวกัน แต่ครั้งนี้ที่มาดูเหมือนจะต่างออกไปหรือไม่
ว่ากันตามตรงตัวของนายชัยเกษมก็เป็นอีกหนึ่งท่านที่มีความชำนาญด้านกฎหมายอย่างเป็นที่ประจักษ์ทั้งการที่เคยเป็นถึงอดีตอัยการฯ สูงสุด ก็น่าจะการันตีถึงฝีไม้ลายมือของนายชัยเกษมในระดับหนึ่งแล้วหรือไม่? แต่ภาพลักษณ์ของนายชัยเกษมในตอนนี้ก็ดูจะแตกต่างจาก แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทั้งสองท่านของพรรคเพื่อไทย
เป็นที่ถูกพูดถึงกันไม่น้อย หลังจากการที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 2 ท่าน ของทางพรรคเพื่อไทยนั้นๆ ไม่ได้ลงสมัคร สส.ในรูปแบบบัญชีรายชื่อ ไม่ว่าจะเป็นทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน หรือแม้กระทั่งบุตรสาวของพ่อใหญ่แพทองธารเอง แต่ในส่วนของนายชัยเกษมนั้น มีอยู่ในบัญชีรายชื่อ ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งแม้ว่าการปรากฏชื่อของนายชัยเกษมจะถูกมองว่าอาจไม่ได้สร้างอิมแพคเท่าชื่อที่ได้มีการเผยมาก่อนหน้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรากฏชื่อของนายชัยเกษม ทั้งในแง่ของแคนดิเดตรวมและบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยนั้นก็เปรียบเสมือนการเติมเต็มให้รูปแบบการเดินเกมของพรรคเพื่อไทยนั้นสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งหลุดจากคำวิจารณ์ถึงเรื่องที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไม่ได้ลงเป็น สส. ซึ่งขัดกับเจตจำนงและความพยายามของพรรคเพื่อไทยก่อนหน้านี้หรือไม่?
แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เปลี่ยนไปของพรรคเพื่อไทยคือ การเน้นชูนโยบายประชานิยม ที่นับเป็นจุดเด่นของพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด รอบนี้มาโดยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้ต้องตาลุกวาวอย่างในเรื่องของนโยบายเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย 10,000 บาท แต่ด้วยกฎหมายปัจจุบันทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งด่วนให้แจกแจงที่มาของวงเงิน แต่ว่ากันตามตรงในเรื่องนี้ก็ดูจะไม่ได้กระทบต่อพรรคเพื่อไทยมากสักเท่าไหร่นัก แต่อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่าไม้เด็ดของพรรคเพื่อไทยนั้นคงยังไม่จบเท่านี้อย่างแน่นอนหรือไม่?
หากมองเป้าหมายของเพื่อไทยในตอนนี้ ที่ดูจะพุ่งเป้าหมายไปที่การแลนด์สไลด์ และดูจะเป็นความพยายามที่แม้จะยาก แต่พรรคเพื่อไทยก็ดูจะไม่ปิดประตูความเป็นไปได้ และเดินหน้าอย่างเต็มอัตราเพื่อให้ได้มาซึ่งการแลนด์สไลด์ ก็น่าสนใจว่าอะไรคือที่มาและสาเหตุที่ทำให้พรรคเพื่อไทย มั่นใจเรื่องแลนด์สไลด์ในครั้งนี้
ซึ่งหากวิเคราะห์ปัจจัยโดยรวมแล้ว หนึ่งในความมั่นใจของพรรคเพื่อไทยอาจเกิดมาจากการที่ พรรคเพื่อไทยได้ต่อสู้ในรูปแบบของกฎและกติกาที่ตนเองถนัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรูปแบบการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบที่ก็ยิ่งทวีความมั่นใจให้กับพรรคเพื่อไทยมากยิ่งขึ้นไปอีกหรือไม่? และหากยังจำกันได้การเลือกตั้งครั้งก่อนๆ หากสู้กันภายใต้กติกาบัตรสองใบพรรคเพื่อไทยก็มักจะทำผลงานออกมาได้ดีเสมอ โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี 2548 ที่พรรคไทยรักไทยได้คะแนนไปถึง 18.9 ล้านคะแนน หรือแม้กระทั่งในปี 2554 ที่พรรคเพื่อไทยได้คะแนนไปถึง 15.7 ล้านคะแนนซึ่งหากในครั้งนี้พรรคเพื่อไทยสามารถกวาดคะแนนได้ใกล้เคียงการเลือกตั้ง 2 ครั้งที่กล่าวมาข้างต้น ก็น่าจะทำให้ฝันของพรรคเพื่อไทยเป็นจริงก็เป็นได้หรือไม่? รวมถึงครั้งนี้ไม่มีการแบ่งคะแนนแบบเว้นเขตไม่ลงแบบครั้งที่แล้ว แล้วก็ทำให้น่าจะมีคะแนนเพิ่มขึ้นจากส่วนนี้ด้วย
ซึ่งแม้ว่าจะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่หากลองดูจากสถิติและโพลล์จากสำนักต่างๆ ที่ออกมาแล้วนั้น ก็จะพบว่าคะแนนของพรรคเพื่อไทยนั้นติดลมบน และยิ่งได้ลูกสาวพ่อใหญ่ออกฉากหน้ามาเป็นดั่งแม่เหล็กเรียกคะแนนเสียงจากเหล่าสาวก ก็อาจเป็นการปลุกกระแสแลนด์สไลด์ให้ตื่นขึ้น ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีตก็เป็นได้หรือไม่?
อย่างไรก็ตามแม้ในตอนนี้พรรคเพื่อไทยจะมีโอกาสไม่น้อยที่จะสามารถกวาดคะแนนเสียงจากพี่น้องประชาชนได้ ซึ่งอาจนำไปสู่โอกาสที่จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนประเทศในรัฐบาลสมัยหน้า แต่จนบัดนี้ ก็ยังคงมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่คลายข้อสงสัยว่า หากพรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนในคะแนนที่ท่วมท้น จะพาให้ใครได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีกันแน่ เพราะก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยก็มีข่าวจับมือกับพลเอกประวิตรตลอด
ซึ่งในเรื่องนี้เองก็อาจส่งผลให้ประชาชนที่นิยมขั้วประชาธิปไตย ที่ยังคงลังเลใจอยู่ว่าจะกาคะแนนเสียงให้พรรคใดกันแน่ รวมถึงแฟนคลับพรรคเพื่อไทยบางส่วนที่ยังไม่มั่นใจอาจหันไปเลือกพรรคก้าวไกลที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกันแทน ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยต้องการผลการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ก็ไม่อาจละเลยคะแนนเสียงเหล่านี้ได้หรือไม่?
เช่นเดียวกันกับ พรรคพลังประชารัฐที่แม้จะมีพลเอกประวิตร ซึ่งเปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรใหญ่ คอยให้ร่มเงาแก่ลูกพรรค แต่หากว่ากันถึงฐานคะแนนเสียงแล้ว ฐานคะแนนเสียงของพรรคพลังประชารัฐก็ดูจะยังไม่ชัดเจนมากนัก เพราะหากว่ากันตามตรงแล้วเมื่อพูดถึงขั้วอนุรักษ์นิยมหน้าของพลเอกประยุทธ์ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็จะผุดขึ้นมาในหัวเป็นชื่อแรกๆ หรือไม่?
พรรคพลังประชารัฐถือว่าเป็นอีกหนึ่งพรรคที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในการสู้ศึกเลือกตั้งมากที่สุดพรรคใหม่ เพราะนอกจากสส.และแกนนำจะย้ายพรรคไปเป็นจำนวนมากแล้ว ครั้งที่แล้วแคนดิเดตนายกฯยังเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์อยู่พรรคเดียวแต่ถือเป็นตัวดึงคะแนนหลักของพรรค แต่ครั้งนี้พลเอกประยุทธ์ถูกเสนอโดยรวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐเสนอพลเอกประวิตร ทำให้หลายคนมองว่านี่จะเป็นบทท้าทายพรรคพลังประชารัฐอย่างแท้จริงว่าหากจะเดินบนเส้นทางการเมืองหลังจากนี้ ด้วยตนเองจะเป็นอย่างไร
นี่จึงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่นายไพบูลย์ นิติตะวันหนึ่งในผู้หลักผู้ใหญ่ภายในพรรค ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความสนิทชิดเชื้อกับพลเอกประวิตร ได้โร่ออกมาแจ้งถึงแนวทางในอนาคตว่า จะไม่ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคก้าวไกลอีกด้วยซึ่งก็น่าแปลกใจไม่น้อยที่การประกาศตนของนายไพบูลย์ว่าจะไม่ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยนั้น เป็นช่วงระยะเวลาหลังจากที่หมอชลน่านได้มีการประกาศกร้าวแบบทุบโต๊ะเช่นเดียวกันว่าจะไม่ร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐและพลเอกประวิตรอย่างแน่นอนเช่นเดียวกัน
ที่ต้องบอกว่าน่าแปลกใจเพราะก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ครั้งใดหรือเวทีใดก็ตาม เมื่อพูดถึงโอกาสในการร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐก็มักจะได้คำตอบที่เหมือนไม่ใช่คำตอบสักเท่าไหร่นัก
แต่อย่างไรก็ตามการหาเสียงก็คือการหาเสียง เมื่อเลือกตั้งเสร็จก็อาจมีเหตุผลอะไรอีกหลากหลายที่ทำแต่ละพรรคต้องตัดสินใจกันใหม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย?
“ความมักใหญ่ใฝ่สูงก็คล้ายเป็นน้ำป่า ยามเมื่อทะลักลงมา จะไม่มีผู้ใดสามารถควบคุมบังคับได้ กระทั่งตัวเองก็ไม่อาจ ดังนั้น มักใหญ่ใฝ่สูง มิเพียงทำลายผู้อื่นเท่านั้น ยังทำลายตัวเองด้วยเช่นกัน
และมักจะทำลายตัวเองก่อนที่ได้ทำลายผู้อื่นเสมอมา แต่ทว่า หากมนุษย์เราไม่มีความมักใหญ่ใฝ่สูงโดยสิ้นเชิง ชีวิตไยมิใช่ชืดชาไร้รสชาติยิ่ง นี่ไยมิใช่ เป็นโศกนาฏกรรมประการหนึ่งของมนุษย์เรา”
โกวเล้ง จาก เหยี่ยวเดือนเก้า
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี